x close

ปภ. เตือนพายุฤดูร้อน!!! รับมือได้

พายุฤดูร้อน

        กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ โดยสำรวจบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้าน ต้นไม้ ป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนภัยให้เก็บสิ่งของที่ปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด ในช่วงที่เกิดพายุควรหลีกเลี่ยงการหลบใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ไม่แข็งแรง ไม่ประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต   

        นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า  ในช่วงฤดูร้อนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน โดยที่ผ่านมาได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและลพบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังพายุฤดูร้อนที่มักเกิดขึ้นในช่วงนี้

        โดยลักษณะอากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะมีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน ลมสงบ พายุฝนฟ้าคะนอง  ลมกระโชกแรง ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฟ้าแลบ ฟ้าคะนองในระยะไกล และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งปลูกสร้างและพืชผลทางการเกษตร เพื่อความปลอดภัย จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปฏิบัติตน ดังนี้ 

        ก่อนเกิดพายุ ควรดูแลสภาพบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยควรดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขโดยด่วน กรณีที่พบว่าสายไฟฟ้าพาดกับกิ่งไม้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไขทันที หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศแจ้งเตือนภัยให้จัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวตามลมได้อย่างมิดชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ และวิทยุไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกผล เพื่อป้องกันผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย 

        ขณะเกิดพายุฤดูร้อน ควรเข้าไปหลบในอาคาร หรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตู หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันการกระแทกและสิ่งของปลิวเข้ามาจนบ้านเรือนได้รับความเสียหาย หากประตูหรือหน้าต่างไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้ทาบตีตะปูปิดตรึงไว้ เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย หลีกเลี่ยงการหลบพายุใต้ต้นไม้ เสาไฟฟ้าหรือใกล้ป้ายโฆษณา เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ที่สำคัญควรงดเว้นการประกอบกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนอง เช่น  ทำการเกษตร เล่นกีฬา เป็นต้น

        และอยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เพราะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง มักเกิดฟ้าผ่า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ กรณีอยู่ในที่โล่ง ควรคุกเข่า และโน้มตัวไปข้างหน้า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ตลอดจนระมัดระวังอันตรายจากลูกเห็บที่ตกลงมาอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ 

        หลังเกิดพายุฤดูร้อนหากต้นไม้ภายในบ้านโค่นล้ม ควรดำเนินการตัดทิ้งทันที กรณีพบเห็นเสาไฟฟ้าล้มหรือมีสายไฟขาด ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขโดยด่วน กรณีมีผู้บาดเจ็บควรรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทันที           

        สุดท้ายนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปภ. เตือนพายุฤดูร้อน!!! รับมือได้ อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 15:31:23 10,558 อ่าน
TOP