x close

10 ที่สุด ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14

ประชุมอาเซียนซัมมิท



10 ที่สุด ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14  (มติชน)

          การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14 ปิดฉากลงแล้วอย่างเป็นทางการ แต่การประชุมที่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ครั้งนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่กลายเป็นสถิติ "ที่สุด" เหนือกว่าการประชุมอาเซียนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา "ที่สุด" ที่น่าสนใจ 10 ลำดับแรกมีดังนี้

1.เปลี่ยนสถานที่จัดประชุมมากที่สุด

          เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 จะต้องได้รับการบันทึกไว้ในฐานะการประชุมผู้นำอาเซียนที่มีการเปลี่ยนสถานที่จัดประชุมมากครั้งที่สุดคือ 4 ครั้ง กว่าจะมาลงตัวที่โรงแรม ดุสิตธานี หัวหิน ก็ผ่านมาแล้วทั้งโรงแรมเซนทารา แกรนด์ กรุงเทพ ไปถึงโรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ กลับมาที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ก่อนที่มายุติที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แห่งนี้

          การย้ายสถานที่จัดประชุมบ่อยๆ นี้ยังทำให้ของที่ระลึกที่เตรียมไว้เพื่อแจกผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวยังมี "รุ่นพิเศษ" ที่ทำขึ้นตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนที่ จังหวัดเชียงใหม่ มาแจกเพิ่มหลังจากของใหม่ที่เตรียมไว้หมดลง

2.ผ่านมือรัฐมนตรีมาเยอะที่สุด

          กว่าจะมาถึงนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ไทยในฐานะประธานอาเซียนน่าจะเป็นชาติเดียวที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรียกได้ว่า "ทุกครั้ง" ในการประชุมหรือพบปะกับประเทศสมาชิกนับตั้งแต่ครั้งแรกที่เรารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

          เริ่มจากนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องไปเป็นมวยแทนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์ เพราะไทยต้องไปรับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งจะลาออกจากตำแหน่งได้ไม่นานนัก

          ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็ไปทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งก็ไปเพื่อรักษาหน้าประเทศชาติทั้งที่ถือว่ายังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มตัว เพราะรัฐบาลในขณะนั้นของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยังไม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้นายสมพงษ์เดินทางไปเพื่อเป็นประธานการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่การขึ้นกล่าวถ้อยแถลงที่ประชุมในสมัชชาสหประชาชาติก็ยังไม่ทำ เพราะเกรงจะเกิดปัญหาทางการเมืองตามมา

          สุดท้ายแม้จะไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็เป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีของไทยที่ไปปรากฏตัวในการพบกันเนื่องจากโอกาสสำคัญของอาเซียนเช่นกัน คือเมื่อครั้งเกิดเหตุขัดข้องทำให้รัฐบาลนายสมชายต้องตัดสินใจเลื่อนวันประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ออกไปจากเดือนธันวาคม 2551 แต่เนื่องจากหลายประเทศรวมถึงไทยเองด้วยก็เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการจัดพิธีฉลองเนื่องในโอกาสที่ "กฎบัตรอาเซียน" ที่ถือเป็นเอกสารสำคัญที่สุดที่จะนำอาเซียนเข้าสู่ยุคใหม่มีผลบังคับใช้ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ธันวาคม 2551

          บังเอิญว่าวันดังกล่าวตรงกับวันประชุมสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีการขับเคี่ยวกันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ทำให้ไม่มีใครกล้าเดินทางไปร่วมประชุมเพราะกลัวจะตกเก้าอี้กลางที่ประชุม หลังประสานงานจนปวดเศียรเวียนเกล้ากันไปหลายรอบเพราะต้องควานหาตัวผู้แทนระดับรัฐมนตรีก็ได้ผู้กล้าคือ นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในขณะนั้น

          และในที่สุดก็คือนายกษิต ที่ทำหน้าที่ในประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประธานคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อเตรียมการก่อนการประชุมผู้นำอาเซียนในครั้งนี้จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ

          มากกว่านี้จะมีอีกไหม?

3."กาลาดินเนอร์"แพงที่สุด

          เกือบ 19 ล้านบาท คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำของผู้นำอาเซียนซึ่งจัดขึ้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันในค่ำวันที่ 28 กุมภาพันธ์

          อย่าตื่นตกใจไป งานนี้ไม่ได้เสิร์ฟหนวดเต่า เขากระต่าย ที่ล้ำค่าหายากจนแพงมหาศาล ชนิดที่หลายคนคงตาค้างเมื่อรู้ว่างานเลี้ยงอาหารค่ำ 1 มื้อ จะใช้เงินมากถึงขนาดนี้ในสภาวะที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนป่าวร้องว่าจะอาศัยโอกาสนี้สื่อสารให้โลกรู้ว่า เราต้องร่วมกันแก้ไขเศรษฐกิจและการเงินโลกเป็นการด่วน

          ราคาอาหารค่ำ สำหรับแขก 350 คน จากโรงแรมชั้นนำของเมืองไทย แมนดาริน โอเรียลเต็ล ที่จริงแล้วเป็นเงินไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก แต่ที่ทำให้ยอดรวมของค่าใช้จ่ายพุ่งสูงถึงเกือบซื้อคฤหาสน์สุดหรูได้ก็เป็นเพราะนี่เป็นยอดค่าใช้จ่ายที่รวมถึงการปรับปรุงสถานที่ ทำห้องน้ำใหม่เพื่อรองรับแขกนับร้อยซึ่งปาเข้าไป 3 ล้านกว่าบาท ปรับปรุงพื้นไม้ด้านล่างของพระที่นั่งเสียใหม่สำหรับรองรับแขกอีกล้านห้า ค่าปรับภูมิทัศน์ 3 ล้านกว่าบาท ค่าจัดดอกไม้ประดับประดา 3 ล้านกว่าบาท ค่าการแสดง บวกกับค่าแสง สี เสียง อีก 3 ล้านบาท ฯลฯ บวกไปบวกมาก็ปาเข้าไปใกล้ๆ 19 ล้านบาทแล้ว !!!

          เอ้า พี่น้องชาวไทย ขอเชิญชนแก้วฉลองให้งานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียนกันหน่อยจ๊ะ

4.การจัดแถลงข่าวที่แพงที่สุด

          6 ล้านบาทคือค่าใช้จ่ายในการแถลงข่าว "โหมโรงอาเซียน" โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

          ถึงจะแถลงข่าวในทำเนียบรัฐบาลที่ไม่ต้องเสียค่าสถานที่ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทออร์แกไนเซอร์ในการประสานงานเชิญแขก ซึ่งประดาผู้ไม่หวังดีบอกว่า มีตัวแทนจากสถานเอกอัครทูตต่างๆ เข้าร่วมแค่ไม่ถึง 10 คน ผู้ร่วมฟังการแถลงข่าวส่วนใหญ่คือคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี แถมมีการจัดเลี้ยงของว่างแก่ผู้สื่อข่าวที่หลายคนก็บอกว่าไม่สนใจ เพราะอยากได้เนื้อหาสาระมากกว่า แต่ดูเหมือนจะมีอะไรใหม่ไม่มากนัก แต่ค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดในงาน "โหมโรงอาเซียน" คือการจัดทำเพลงโปรโมตซึ่งเชิญอ่านรายละเอียดได้ใน "ที่สุดอาเซียน" ข้อต่อไป

ประชุมอาเซียนซัมมิท



5.เพลงโปรโมตที่แพงที่สุดและถูกที่สุด

          ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 พี่น้องชาวไทยคงได้ยินเพลงหลายเพลงผ่านหูเมื่อดูรายงานข่าวหรือสกู๊ปพิเศษ เกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลสั่งสื่อของรัฐว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ รายการข่าวเกี่ยวกับอาเซียนจึงถูกนำมากระหน่ำนำเสนอให้ดูกันแทบทุกวัน

          ตามบทบัญญัติข้อ 40 ของกฎบัตรอาเซียน กำหนดให้มีการจัดทำเพลงประจำอาเซียน หรือ ASEAN anthem โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เปิดให้ผู้ที่สนใจส่งเพลงเข้าประกวดเพื่อคัดเลือกเป็นเพลงประจำอาเซียน หลังผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายประเทศ ที่สุดแล้วเพลง "วิถีอาเซียน" หรือ "ASEAN Way" ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย 3 ท่าน คือ นายกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) นายสำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และนางพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) ก็ได้รับชัยชนะในการประกวดครั้งนี้จากเพลงจำนวนทั้งหมด 99 เพลง ซึ่งส่งเข้ามาประกวดจากทั้ง 10 ประเทศอาเซียน โดยมีเงินรางวัล 7 แสนบาท

          แต่เพลงประจำอาเซียนที่ว่านี้ไม่ใช่เพลงโปรโมตอาเซียนที่พูดถึง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงการเป็นเจ้าภาพอาเซียนให้มากขึ้น เพลงโปรโมตที่แพงที่สุดคือเพลง "อาเซียนร่วมใจ" ที่เปิดตัวในงานโหมโรงอาเซียน และเห็นกันตามหน้าจอโทรทัศน์แบบสั้นๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผลิตรวมถึงการทำเอ็มวีตกอยู่ที่ราว 4 ล้านบาท สามารถเสิร์ชหาเวอร์ชั่นเต็มมาฟังเล่นๆ ได้จากเสิร์ชเอนจิ้นทั่วไป

          ส่วนเพลงโปรโมตที่ถูกที่สุด คือเพลง "รวมเทียนไทยสู่อาเซียน" ที่แอ๊ด คาราบาว ได้ประพันธ์คำร้อง ทำนอง เรียบเรียงดนตรี และขับร้องให้โดยไม่คิดค่าใช่จ่าย จะมีก็เพียงแค่ค่าใช้จ่ายด้านการผลิตซึ่งตกอยู่ที่ราว 90,000 บาทเท่านั้น ผู้ที่อยากฟังสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/ 

6.ของที่ระลึกให้ผู้นำมากชิ้นที่สุด และน่าจะใช้งานได้จริงมากที่สุด

          ที่ว่าของที่ระลึกมากชิ้นที่สุดไม่น่าจะผิดพลาด เพราะจากเดิมที่เคยมีของแจกผู้นำที่ทำกันอย่างวิจิตรพิสดารเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพประชุมระหว่างประเทศอย่างเสื้อทอแบบพิเศษตอนเอเปค หรือเก้าอี้ที่ทำขึ้นตามขนาดตัวผู้นำตอนประชุมอาเซม คราวนี้เราหันมาใช้นโยบายส่งเสริมสินค้าไทยที่ไม่จำเป็นต้องราคาแพง แต่ทุกชิ้นสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่แค่เอาไปวางโชว์

          ครั้งนี้ของที่ระลึกสำหรับผู้นำรวมถึงคู่สมรสทั้งหมดจัดทำโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และโครงการพัฒนาดอยตุง ภายใต้นโยบาย "รักษ์โลก ลดโลกร้อน เศรษฐกิจพอเพียง ใช้ได้จริง แสดงถึงความเป็นไทย" รวม 6 ชิ้น ประกอบด้วย เสื้อสำหรับผู้นำ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าสะพายสตรี กระเป๋าเดินทาง ชุดผ้ารองจาน และชุดกาแฟและผลิตภัณฑ์อาหารจากโครงการพัฒนาดอยตุง

7.มีชื่อเอกสารที่แปลกที่สุด

          นั่นคือ "ปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ. 2009-2015" ซึ่งเป็นเอกสารฉบับเดียวที่ลงนามโดยผู้นำอาเซียนในการประชุมครั้งนี้ จากเดิมที่เราเคยเห็นชื่อแถลงการณ์ที่มักจะใช้ชื่อสถานที่จัดประชุมเพียงชื่อเดียวเพื่อง่ายต่อการอ้างอิงถึง แต่ด้วยเหตุที่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน แต่ตั้งอยู่ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ขณะที่ผู้นำอาเซียนจะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล ที่อยู่ในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไม่ให้เป็นที่น้อยอก น้อยใจของประชาชนทั้งสองจังหวัดที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการประชุมอย่างแข็งขัน ที่สุดแล้วเราจึงได้ชื่อเอกสารอ้างอิงที่แปลกและแหวกแนวอย่างที่เห็น

8.ใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากที่สุด

          คือ 5,700 คน ยังไม่รวมฝ่ายสนับสนุนที่สามารถเรียกมาเสริมกำลังได้ทันที ตามที่พลตำรวจเอกวิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจอำนวยความสะดวกการรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แถลงเพื่อยืนยันความพร้อมของการรักษาความปลอดภัย เรียกได้ว่าจุดกลับรถบนถนนเพชรเกษม ตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงหัวหินมีตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยให้อุ่นใจแน่นอน

9.ไม่ย่อท้อที่สุด

          ตำแหน่งนี้มีผู้สมควรได้รับรางวัลหลายคน แต่คนแรกที่ต้องพูดถึงคือนายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน ตั้งแต่ความพยายามในการชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกรัฐสภา และคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องเพื่อโน้มน้าวให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ความเห็นชอบกับเอกสารต่างๆ ที่จะมีการลงนามหรือให้การรับรองในการประชุมครั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ ม.190 ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านจนกลายมาเป็นรัฐบาล ทั้งยังต้องไปร่วมประชุมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย รวมถึงคอยคิดแผนสำรองสำหรับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เรียกได้ว่ามีทั้งความพากเพียร น้ำอดน้ำทน และความสามารถในการพลิกแพลงสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ได้ตลอดเวลา

          ที่เหลือคือข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมมาแล้วถึง 4 รอบจึงจัดการประชุมได้จริงในที่สุด วุ่นวายยุ่งยากและบากหน้ากันถึงขนาดที่ตอนนี้บอกต่อๆ กันว่า จากนี้ไปถ้าจะจองโรงแรมเพื่อจัดงานอะไร อย่าเผลอไปบอกว่ามาจากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะคงถูกโรงแรมในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ขึ้นบัญชีดำไปแล้ว โทษฐานที่ขอให้เขาปิดโรงแรมเพื่อรองรับการประชุมแล้วยกเลิกในนาทีสุดท้ายมาหลายหน

10.นัดประชุมผู้นำถี่ที่สุด

          ผู้นำอาเซียนมีกำหนดนัดพบกันรอบใหม่ในเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า คือระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ ในการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ

          เข้าใจว่าผู้นำอาเซียนไม่เคยเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตาในการประชุมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่สองในระยะเวลาที่สั้นเพียงราว 40 วันแน่นอน ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือความสามารถของไทยที่จะจัดประชุมครั้งใหม่ ทั้งที่บอกว่ายังไม่ได้กำหนดสถานที่ได้ หรือนี่จะเป็นหนึ่งในมาตรการแสดงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนก็เป็นได้

          พบกันใหม่ในอีก 40 วันข้างหน้าจ๊ะ!

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ที่สุด ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14 อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2552 เวลา 17:00:03 13,678 อ่าน
TOP