x close

จริงหรือ? อาชีพในฝันปัจจุบัน ไม่ใช่ยุคของแพทย์

หมอ

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ


           ต้องยอมรับว่าอาชีพแพทย์ในทุกวันนี้ต้องระมัดระวังการรักษาเป็นอย่างมาก เพราะหากเกิดรักษาผิดพลาดขึ้นมาอาจถูกคนไข้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมากมาย สมมติฐานนี้เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการได้พบปะพูดคุยกับแพทย์หลายต่อหลายคน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีสถิติการฟ้องร้องแพทย์ต่อแพทยสภาและศาลไม่น้อยเลย . . .  แล้วแบบนี้อาชีพในฝันของเยาวชนยังเป็น "แพทย์" อยู่อีกหรือเปล่า...?

อาชีพความหวังสูง

           อาจเพราะแพทย์เป็นอาชีพที่ผู้คนคาดหวังสูง ทำงานอยู่กับชีวิตและลมหายใจของผู้คน นั่นจึงทำให้ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ และที่ผ่านมาก็มีการตรากฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา จำนวนคดีความเกี่ยวกับแพทย์จึงมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เยาวชนตัดสินใจไม่เรียนแพทย์ เมื่อก่อนคนที่ฉลาดที่สุดจะเรียนหมอกับวิศวะ ปัจจุบันคนที่ฉลาดที่สุดไปเรียนนิติศาสตร์ เรียนวิศวะ เรียนรัฐศาสตร์ บ้าง และไม่แน่ว่าอนาคตประเทศไทยอาจต้องนำหมอจากต่างประเทศมารักษาคนไทยก็เป็นไปได้

หมอ : อาชีพในฝัน ?

           ในสมรภูมิสอบเข้ามหาวิทยาลัย "คณะแพทยศาสตร์" เป็นหนึ่งในคณะสุดยอดของเด็กเรียนดี ... แน่ล่ะใครๆ ก็เลือกคณะนี้ นอกจากจะ "มั่นใจ" และ "กล้า" แบบสุดยอดแล้ว คะแนนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์จะต้องสุดยอดด้วย ที่ผ่านมาภาพของ "แพทย์" กับภาพของ "เด็กเรียนเก่ง" จึงกลายเป็นของคู่กันอย่างแยกกันไม่ออก

           "ไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่เทรนด์ของเด็กเก่งเริ่มเปลี่ยนไปไม่เลือกแค่แพทย์ ถ้าเด็กชอบชีวะก็เป็นธรรมดาที่จะเลือกคณะแพทย์ แต่ระยะหลังเริ่มเปลี่ยนแนว คือ เด็กสายวิทย์มีแนวโน้มเลือกคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะเด็กเก่งบางคนมีข้อจำกัด แค่เห็นเลือดก็เป็นลมแล้ว ไม่ใช่ว่าเด็กเรียนสายวิทย์ทุกคนแล้วจะอยากเป็นแพทย์ เพราะวิทยาศาสตร์สอนให้เด็กคิดเป็นกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์ บางคนได้คะแนนพอที่จะเลือกแพทย์แต่เขาชอบงานวิจัยมากกว่า เขาเลยเลือกไปรับทุน พสวท. แบบนี้ก็มี" อาจารย์นิพนธ์ ศรีนฤมล อาจารย์ประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้คลุกคลีกับเด็กเก่งในกลุ่มโอลิมปิกวิชาการกว่า 20 ปี เล่าให้ฟัง

           อาจารย์นิพนธ์บอกว่า ความนิยมในการเลือกคณะแพทย์ในอดีต ส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องของทัศนคติ แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นที่คนเก่งจะต้องเลือกเติบโตในสายอาชีพแพทย์เสมอไป เพราะทุกอาชีพก็มีเกียรติ มีโอกาส ถือว่าเป็นการกระจายอัจฉริยะให้ครอบคลุมทุกๆ อาชีพแพทย์ไม่เกี่ยวกับการเรียนเก่งหรือไม่เก่ง เพราะความเป็นแพทย์ไม่ได้แขวนอยู่แค่คะแนน

           อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่านักเรียนแพทย์ส่วนมากก็ยังเป็นเด็กเก่งอยู่ดี...

เส้นทางสู่เสื้อกาวน์

           ในปีนี้จะเห็นได้ชัดว่าการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยนั้นมีความเปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าจะต้องมีผลต่อการสอบคัดเลือกเข้าเรียนแพทย์ในปีต่อไป นั่นคือข้อสอบที่สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดขึ้นใหม่ คือ การจัดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) และความถนัดเฉพาะด้านวิชาการ (Professional A Aptitude Test หรือ PAT) เพื่อใช้เป็นคะแนนในการนำไปสอบระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางในปี 2553 แทนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET)

           เมื่อไม่มี A-NET แล้ว ดังนั้นทางกลุ่มสถาบันแพทย์ฯ เลือกที่จะจัดสอบด้วยตัวเองโดยไม่ใช้คะแนน GAT และ PAT มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก แล้วเปลี่ยนเป็นการสอบวิชาสามัญ และให้ค่าน้ำหนักวิชาสามัญ 70% แบ่งเป็นวิทยาศาสตร์ 40% คณิตศาสตร์ 20% ภาษาอังกฤษ 20% ภาษาไทย 10% และสังคมศึกษา 10% และยังมีการจัดสอบวิชาเฉพาะมีค่าน้ำหนัก 30% ประกอบด้วยการทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ และการประเมินแนวคิดจริยธรรม

           ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ศิริทรัพย์ รองเลขาธิการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า  กสพท. เลือกสอบรวมกันเพื่อลดปัญหาตรงนี้ และก็มีคำถามว่าทำไมเราไม่เชื่อระบบกลางของประเทศชาติ เพราะเรารู้จักไม่มากพอ การสอบแข่งขันนั้นตัดกันที่จุด ไม่ใช่ที่คะแนน เป็นจุดทศนิยม และจะพบว่าแค่จุดเดียวก็พลิกชีวิตแล้ว ในขณะที่เทสต์ทุกตัวจะมี Variation ดังนั้นการสอบครั้งเดียว และข้อสอบเดียวกันจะทำให้ให้ความยุติธรรมกับนักเรียนมากกว่า กสพท. ก็เลยไม่ขอเลือกใช้ GAT-PAT ในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อแพทย์

           "แพทย์วัดแค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ มีคุณสมบัติหลายอย่างต้องวัด วัดไม่ได้แค่เนื้อหาวิชา ต้องวัดความถนัดด้วย อันที่จริงแล้วเราอยากมีเวลามากพอที่จะสังเกตพฤติกรรม แต่บังเอิญยังทำไม่ได้ การวัดความถนัดคือวัดความสามารถในการวิเคราะห์ ให้เหตุผล สรุปความ เชื่อมโยงความคิด สังเคราะห์ได้ เพราะคนไข้มาหาแพทย์ด้วยอาการมากมาย แต่คนไข้จะไม่บอกว่า...คุณแพทย์คะ หนูเจ็บคอ เจ็บทอนซิล ปวดไซนัส...ดังนั้นแพทย์ต้องเป็นคนที่รวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน หักล้าง สรุป แล้วหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นอะไร อีกทั้งหมอต้องมีความจำ จริงอยู่ที่ทุกอย่างเปิดตำราได้ แต่เราต้องมี core content ในตัว ไม่ใช่ว่าคนไข้มาแล้ว แพทย์ขอเปิดตำราดูก่อน ดังนั้นก็ต้องรู้จักที่จะสรุปใจความ เก็บข้อมูล จับใจความ ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่ได้เลย นอกจากจะจำได้แล้ว ก็ต้องมีความเร็ว มีความสามารถในการประเมินด้านมิติสัมพันธ์ด้วย"

           ส่วนเรื่องแนวข้อสอบจะออกมาเป็นแบบไหนนั้น รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา บอกว่า คนใน กสพท. ยังไม่ทราบกันเลย เพราะข้อสอบนั้นออกโดยกลุ่มคนจำกัด แต่ความเชื่อถือได้ของข้อสอบนั้นมีสูง

           สำหรับคนที่อยากจะเรียนแพทย์ แนะนำว่า ควรจะต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าไว้สัก 3 ปีจะดีที่สุด เพราะสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาคือระบบการสอบจากส่วนกลาง ดังนั้นการเตรียมพร้อมและรู้ตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องดีสำหรับการวางแผนสู่อนาคตที่สดใส

           สำหรับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ประกอบไปด้วย

           คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
           คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
           คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 
           วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
           คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
           วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล 
           วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
           คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
           คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
           คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
           คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คณะยอดนิยม

           ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยมหิดลได้เผยข้อมูลความนิยมในแต่ละคณะ โดยสุ่มตัวอย่างจากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า 

           5 คณะยอดนิยมของเยาวชนชาย คือ

           คณะวิศวกรรมศาสตร์ 16.2%
           คณะแพทย์ศาสตร์ 15%
           คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 8.4%
           คณะนิติศาสตร์ 7.9%
           คณะรัฐศาสตร์ 7.4%

           ส่วนเยาวชนหญิงนั้น คือ

           คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ 20.4%
           คณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และคณะสื่อสารมวลชน 17.3%
           คณะบัญชี 7.6%
           คณะรัฐศาสตร์ 5.2%
           คณะพยาบาลศาสตร์ 4.6%

ขณะที่มหาวิทยาลัยยอดนิยมจัดตามอันดับแล้ว

           อันดับ 1 ตกเป็นของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           อันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           อันดับ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           อันดับ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล

           อันดับ 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           อันดับ 6 มหาวิทยาลัยศิลปากร

           อันดับ 7 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

           อันดับ 8 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

           อันดับ 10 มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คอลัมน์ : STORY
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จริงหรือ? อาชีพในฝันปัจจุบัน ไม่ใช่ยุคของแพทย์ อัปเดตล่าสุด 11 มีนาคม 2552 เวลา 11:27:21 28,650 อ่าน
TOP