x close

เที่ยวพระตะบอง อภัยภูเบศร


พระตะบอง อภัยภูเบศร



เที่ยวพระตะบอง อภัยภูเบศร (ไทยรัฐ)

          เมืองพระตะบองกับเขตบัตด็อมบอง เป็นชื่อเรียกสถานที่เดียวกัน แต่ผิดกันทั้งคำเรียกขานและความหมาย คนไทยถนัดเรียกพระตะบอง แปลว่า ตะบองของเทวดา หรือตะบองของผู้เป็นเจ้าเป็นนาย ส่วนชาวเขมรเรียก บัตด็อมบอง แปลว่า ตะบองหาย ดังนั้น  สัญลักษณ์ของเมืองบัตด็อมบองจึงเป็นยักษ์ตนใหญ่นั่งถือตะบองจังก้าน่าเกรงขาม

          เราผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง แล้วเดินเฉียดบ่อนไปอย่างน่าหมั่นไส้ อาการนี้เกิดจากชาวคณะของเราไม่มีแววตากระหายในกิจกรรมในบ่อนนั่นเอง

          เรานั่งรอรถอยู่บริเวณวงเวียนขนาดใหญ่ของปอยเปต กลางวงเวียนเคยมีอนุสาวรีย์พระวิษณุโดดเด่น แต่เดี๋ยวนี้หายไป ถามคุณประภาพรรณ หรือแป้น เจ้าของพลอยสยามทัวร์ซึ่งรับทัวร์ทั้งชาวกัมพูชาและไทย จึงทราบว่าเจ้าหน้าที่เพิ่งรื้อออกไป เพื่อเตรียมพื้นที่สร้างรางรถไฟเชื่อมมาจากศรีโสภณ

          ส่วนรูปปั้นพระวิษณุนั้น เจ้าหน้าที่ได้อัญเชิญไปอยู่ที่หน้าศาลาสรุกปอยเปต ห่างจากที่เดิมไปประมาณ 3 กิโลเมตร เชื่อลึกๆ ว่า พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมากกว่าประทับยืนทอดพระเนตรนักพนันแน่ๆ


พระตะบอง อภัยภูเบศร


          วงเวียนแห่งนี้คือจุดเริ่มต้นสู่กัมพูชาไปศรีโสภณ ระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร ไปเสียมเรียบ 150 กิโลเมตร และไปพระตะบอง ประมาณ 110 กิโลเมตร รถโดยสารจากวงเวียนสู่เมืองต่างๆ มีทั้งรถกระบะสองตอนและรถแท็กซี่เช่าเหมา ราคาอยู่ที่ตกลงกัน คณะของเราใช้เส้นทางปอยเปต ศรีโสภณวิ่งชมท้องนา ผ่านหมู่บ้านไปบนทางลาดยางใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ถึงพระตะบอง ถือว่าทำเวลาได้ดีมากๆ เพราะเมื่อปี พ.ศ.2538 เคยใช้เวลาเกือบ 6 ชั่วโมง

          ชื่อเมืองพระตะบองเป็นที่รู้จักชาวไทยมายาวนาน แต่การเยี่ยมเยือนดูเหมือนว่า คนไทยไม่ค่อยได้ไปนัก เพราะว่าชื่อเสียงของสถานที่ท่องเที่ยวไม่ยิ่งใหญ่เท่านครวัด นครธม ที่เมืองเสียมเรียบ

          ไม่ได้หมายความว่า พระตะบองจะไม่มีอะไรให้เยี่ยมชม ไม่มีอะไรเด่น ไม่มีอะไรดี เพราะพระตะบองมีปราสาทนับ 100 แห่ง ปราสาทที่มีชื่อเสียง เช่น ปราสาทวัดเอกพนม ปราสาทบานอน ปราสาทพนมสำเภา ปราสาทบาแสดและปราสาทเสนง เป็นต้น

          เราเยือนพระตะบองคราวนี้ ไม่ได้ไปเยี่ยมชมปราสาทแต่อย่างใด แต่เราไปเที่ยววัด เที่ยววัง และตามหาญาติของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือ ชุ่ม อภัยวงศ์ บิดาของนายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รุ่นแรกเริ่ม

          เจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ายครอบครัวของท่านมาอยู่สยาม เมื่อมณฑลบูรพาเข้าไปอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส เพราะคณะของเรานำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี จุดหมายปลายฝันของเราจึงไปเสาะหาร่องรอยของพระยาอภัยภูเบศรเป็นหลัก และมีเสียงกระซิบแว่วๆ มาว่า ไหนๆ มาแล้วก็ขอเที่ยวมองเนียงลออเป็นรอง  

พระตะบอง อภัยภูเบศร


          เราเริ่มที่วัดดำเริยซอ หรือวัดช้างเผือก เป็นวัดในตระกูลอภัยภูเบศรที่สำคัญแห่งหนึ่งในพระตะบอง ร่องรอยที่เห็นมีตราสัญลักษณ์ เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังพระอุโบสถ ตรานั้นเป็นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 แห่งพระราชอาณาจักรสยาม

          พระอุโบสถแห่งนี้ อาจารย์กังวล คัชชิมา อธิบายว่า เมื่อสมัยเขมรแดงปกครองกัมพูชา หัวหน้าเขมรแดงเข้ามาอาศัยอยู่

          หน้าวัดช้างเผือก มีรูปปั้นพระเวสสันดรทรง ช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ พราหมณ์ เมืองคลิงคราช เข้ามากราบขอพระราชทาน ตวัดสายตาไปหน้าช้าง เห็นหญ้าสดๆ วางอยู่ เรื่องความเชื่อถือศรัทธาเป็นเรื่องใหญ่ ความศรัทธามิเพียงแค่นำหญ้ามาถวายช้างรูปปั้นเท่านั้น การสร้างปราสาทต่างๆ ก็มาจากความศรัทธา

          พระอุโบสถวัดดำเริยซอ กล่าวกันว่า เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) มาอยู่สยาม ได้นำรูปแบบมาสร้างโบสถ์วัดแก้วพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี  จึงทำให้โบสถ์ 2 หลังนี้คล้ายกันมาก เราเลียบแม่น้ำส็องแกไปวัดสำโรงใน

          ใกล้ๆ วัด ชาวบ้านเผาข้าวหลามกันควันโขมง เมื่อเข้าไปทักทาย เจ้าของเชื้อเชิญให้ชิมอย่างไมตรี เราซื้อติดมือกันคนละกระบอกสองกระบอก ครั้นจะช่วยอุดหนุนมากๆ ก็เกรงว่าการหอบหิ้วเข้าวัดนั้น พระคุณเจ้าจะขว้างค้อนเอา

          เข้าไปกราบนมัสการพระประธาน เจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ชื่อมุส สาเรือน ทายาทคนหนึ่งของพระยาอภัยภูเบศรที่ไปจำพรรษาอยู่บอกว่า วัดสำโรงในเป็นอีกวัดหนึ่งของตระกูลอภัยภูเบศร สร้างประมาณ พ.ศ.2250 หน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ด้านซ้ายมือ บรรจุอัฐิของคนในตระกูลอภัยภูเบศร ถึง 12 โกศ ด้านหลังพระประธานยังมีจารึกของคนในตระกูลอภัยภูเบศรอีกด้วย


พระตะบอง อภัยภูเบศร


          เรากลับมาวัดส็องแก หรือภาษาไทยเรียกสะแก ต้นไม้ยืนต้นที่ชอบขึ้นริมแม่น้ำและที่ราบลุ่ม เป็นวัดของคนในตระกูลอภัยภูเบศรเช่นกัน เจดีย์ด้านหน้าพระอุโบสถ 2 องค์ องค์ด้านซ้ายบรรจุอัฐิพระยาอภัยภูเบศร (เยียหรือเรียกอีกชื่อว่าญุญ) ส่วนเจดีย์ด้านขวาบรรจุอัฐิและภรรยาชื่อธิม 

          ตุมเตียวธิม หรือคุณนายธิมนี้เอง ผู้สร้างวัดกำแพง ซึ่งอยู่ในเขตกำแพงบ้านเรือนของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระอาจารย์ยาน โบรา เจ้าอาวาสวัดส็องแกบอกว่า พระประธานในโบสถ์ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต เมื่อคราวสู้รบกันอย่างรุนแรงในกัมพูชา โบสถ์ถูกข้าศึกทำลายอย่างหนัก อาคารกุฏิสงฆ์พังเป็นหน้ากลอง พื้นที่ในโบสถ์ สมัยนั้น ใช้เป็นที่เก็บระเบิด เมื่อระเบิดโดนระเบิดมันก็ระเบิดต่อกัน 7 วัน 7 คืน  แต่น่าอัศจรรย์ที่พระประธานไม่เป็นอะไร  เราได้เยือนศาลาเขตบัตด็อมบอง หรือจวนพระยาอภัยภูเบศร 

          เนียง จันทรา รองเลขาธิการเขตบัตด็อมบองมาต้อนรับและบอกว่ากำลังจะบูรณะ โดยเริ่มจากรื้อหลังคาออกก่อน จากนั้นค่อยซ่อมอาคารทั้งหมด การซ่อมนี้จะพยายามรักษารูปทรงและลวดลายเก่าๆ ไว้ ให้มากที่สุด 

          งบประมาณขั้นแรก  เนียงบอกว่าได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย 1 ล้านบาท นอกเหนือจากนั้นกระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชาจะเป็นผู้ดูแลต่อไป

          เราชมความงามของจวนพระยาอภัยภูเบศรแล้ว เรายังได้พายายบุญทัน สมศรีแก้ว เหลนพระยาอภัยภูเบศรที่มาอยู่เมืองไทย ไปพบกับคุณยาย เชง จืบ อายุ 77 ปี ที่บ้านเลขที่ 297 ถนนโดนเตียว ภูมิวัดรุมดวล สังกัดจำกาสำโรง เขตพระตะบอง

          ทั้ง 2 มีทวดคนเดียวกันคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เมื่อได้พบกัน ก็ส่งภาษาแขมร์ใส่กันอย่างออกรส สายตามองกันอย่างเปี่ยมปีติ

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย วีวา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวพระตะบอง อภัยภูเบศร อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2552 เวลา 17:10:35 17,490 อ่าน
TOP