x close

น้ำมันโหดแน่ รัฐหน้ามืดขึ้นภาษีเท่าตัว!

น้ำมัน


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กรุงเทพธุรกิจ และอินเทอร์เน็ต

          เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม น.พ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากความจำเป็นเร่งด่วนเรื่องรายได้รัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลจึงเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มเติม ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มเติมแล้ว โดยภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะขยายเพดานจัดเก็บไปถึง 10 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเพดานจัดเก็บอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร และจัดเก็บเต็มอัตราแล้วในส่วนของน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 ส่วนดีเซลเพดานจัดเก็บอยู่ที่ 4 บาทต่อลิตร แต่จัดเก็บขณะนี้ที่ 3.30 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราที่จะจัดเก็บจริงจะยังไม่จัดเก็บเต็มเพดาน โดยเบนซินคาดว่าจะจัดเก็บเพิ่ม 2 บาทต่อลิตร และดีเซลจะจัดเก็บเพิ่ม 1 บาทต่อลิตร จะมีผลเพิ่มรายได้ให้รัฐต่อปี 5-5.5 หมื่นล้านบาท 

          "แม้ว่าอัตราภาษีน้ำมันจะเพิ่มขึ้นถึงลิตรละ 5 บาท แต่ในการจัดเก็บจริงจะให้มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้อยที่สุด เบื้องต้นประสาน ไปทางกระทรวงพลังงาน เพื่อใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยเหลือ แต่จะออกมาในรูปแบบช่วยจ่ายเต็มหรือแบ่งครึ่งกับผู้ใช้รถในส่วนของราคาที่เพิ่มขึ้นมา เป็นหน้าที่ของคณะกรรม การกองทุนน้ำมันจะเป็นผู้พิจารณา" น.พ.พฤฒิชัย กล่าว 

          รมช.คลัง กล่าวต่อว่า ขณะที่ภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะขยายเพดานจัดเก็บตามมูลค่าที่อัตราไปถึง 90% จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 80% คาดอัตราภาษีใหม่จะอยู่ที่ 85% โดยจะมีผลให้ราคาบุหรี่ต่อซองปรับเพิ่มประมาณ 11-16 บาท บุหรี่ไทย เช่น สายฝน กรองทิพย์ กรุงทอง ปรับเพิ่มขึ้นซองละ 11 บาท โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 45 บาท เสียภาษีอยู่ที่ 23.92 บาท/ ซอง จากอัตราใหม่จะทำให้ราคาขึ้นไปที่ซองละ 56 บาท และเสียภาษีซองละ 34.92 บาท ส่วนบุหรี่นอก เช่น แอลเอ็มจะปรับเพิ่มซองละ 12 บาท และมาร์ลโบโรจะปรับเพิ่มซองละ 16 บาท จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ซองละ 65 บาท เสียภาษีที่ซองละ 32.68 บาท อัตราใหม่จะทำให้ราคาปรับเพิ่มเป็นซองละ 81 บาท และเสียภาษีซองละ 48.60 บาท คาดจะสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่รัฐปีละ 2 หมื่นล้านบาท 




          "กฎหมายที่เสนอให้ปรับเพิ่มภาษีน้ำมันและบุหรี่จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะนำมาใช้จริง ระหว่างนี้สั่งการให้กรมสรรพสามิตเข้มงวดในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า แต่โดยปกติกรมจะมีข้อมูลการ ซื้อแสตมป์บุหรี่จากโรงงานผลิตอยู่แล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าไม่น่าจะกักตุนได้มาก ทั้งนี้ การออกกฎ หมายครั้งนี้เข้มงวดเฉพาะสินค้าบาปแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมากับเหล้ายา สอดคล้องไปกับต้องการลดงบการให้บริการสาธารณสุขที่ต่อปีต้องใช้เพื่อดูแล ผู้ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ถึง 1.5 แสนล้านบาท" น.พ.พฤฒิชัย กล่าว 

          ด้าน นพ. บัณฑิต ศรไพศาล ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสุราและเบียร์ว่า เป็นการขึ้นภาษีเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ได้ผลในการลดปัญหาการบริโภคเท่าที่ควร อีกทั้งยังได้เงินเข้ารัฐน้อยด้วย การขึ้นภาษีสุราและเบียร์จาก 55% เป็น 58%, เหล้าขาวจาก 110 เป็น 120 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ส่งผลให้ราคาเบียร์ขึ้น 4-5 บาทต่อขวด หรือเพิ่มขึ้น 10% และเหล้าขาวขึ้น 2.5 บาทต่อขวด หรือเพิ่ม 3% ถือว่าขึ้นน้อยไป ทั้งที่มีโอกาสทำได้มากกว่านี้ โดยเบียร์สามารถขึ้นภาษีได้เต็มเพดานที่ 60% จะทำให้ได้ภาษีเพิ่มขึ้น 7-9 บาทต่อขวด ราคาขายจะเพิ่มขึ้น 20% ส่วนสุราขาวสามารถขึ้นที่ 200 บาทต่อลิตร จะได้ภาษีเพิ่ม 22.50 บาทต่อขวด โดยราคาขายเพิ่มขึ้น 28% จะมีผลต่อการลด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญ และจะได้ภาษีกว่า 23,000 ล้านบาท แทนที่จะได้เพียง 6,300 ล้านบาท จากการขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้

          "สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะหากรัฐบาลและกรมสรรพสามิตต้องการหาเงินเข้ารัฐก็น่าที่จะขึ้นภาษีในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ให้ส่วนแบ่งรายได้แก่รัฐในอัตราสูง เช่น สุรานำเข้า หรือเบียร์ แต่กลับขึ้นภาษีเหล้าขาว สุราปรุงพิเศษ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้คืนให้แก่รัฐต่ำมาก ที่สำคัญบริษัทผู้นำเข้าสุราต่างประเทศก็จะหันไปผลิตสุราราคาถูกที่มีเพดานภาษีต่ำ ทำให้กลุ่มเป้าหมายในการดื่มขยายวงกว้างขึ้น เพราะผู้บริโภคจะหันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาถูกเพราะเสียภาษีถูกกว่า" น.พ.บัณฑิต กล่าว 

          ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ประกอบการแอลกอฮอล์มีความกังวลว่า หากรัฐมีแนวคิดเรียกเก็บภาษีหน้าโรงงานเพิ่มในอัตราใหม่ 42.93 บาทต่อขวด จากเดิมอยู่ที่ 36.95 บาทต่อขวด ในปริมาณบรรจุ 600 มิลลิลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนหน้าโรงงานที่ใช้คำนวณภาษีสรรพสามิตสำหรับเบียร์ราคาประหยัด หากรัฐนำแนวคิดนี้มาใช้จริงกับผู้ประกอบการเชื่อว่าจะทำให้เบียร์แต่ละยี่ห้อในตลาดต้องปรับราคาเพิ่มเกิน 3 บาทแน่นอน


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ



          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (8 พฤษภาคม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชกำหนด เพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันว่า ขอยืนยันว่าเราได้ขอกระทรวงพลังงาน โดยอาศัยกองทุนน้ำมัน ว่าการขึ้นภาษีจะไม่กระทบราคาน้ำมันปั้ม เพราะฉะนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้มีกาประชุมกองทุนน้ำมันไปแล้ว และจะดูแลเรื่องนี้ และขอยืนยันว่าถ้ามีมาตรการจัดการภาษีน้ำมันเติมเพิ่ม ไม่ให้ส่งผลกระทบถึงผู้บริโภค เพราะจะมีการใช้กลไกของกองทุนน้ำอยู่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันโหดแน่ รัฐหน้ามืดขึ้นภาษีเท่าตัว! อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2552 เวลา 15:43:12 39,334 อ่าน
TOP