วารีนคร
เกษตรลอยฟ้า
ทะเลทรายสีเขียว
เมืองธรรมชาติ
"หอคอย" พลังลม
โรงแรมกลางทะเล
สถาปนิกชั้นนำทั่วโลกต่างพยายามรังสรรค์-เนรมิต "สถาปัตยกรรมสุดขั้ว" ทลายกรอบความคิดเดิมๆ เพื่อใช้รับมือกับวิกฤตประชากรล้นโลก และดูแลรักษาสภาพแวดล้อมไปในตัว ดังเช่น ผลงานทั้ง 6 ชิ้น แม้บางส่วนอาจเกิดจากจินตนาการที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อม แต่ก็ช่วยปลุกเร้าความคิด และพัฒนาการใหม่ๆ เพื่อโลกมนุษย์
1. วารีนคร : Floating Ecopolis
นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าวิกฤตโลกร้อนดำเนินไปจนถึงจุดแตกหัก ประเทศหมู่เกาะและพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกจะถูกน้ำทะเลกลืนหาย รวมถึงเกาะมัลดีฟส์ เพชรเม็ดงามในมหาสมุทรอินเดีย
วินเซนต์ คาเลโบต์ สถาปนิกชาวเบลเยียม จึงออกแบบ "มหานครลอยน้ำ" ซึ่งแต่ละเมืองเป็นเอกเทศแยกออกจากกัน โดยตัวเมืองจะถูกทอดสมอลอยอยู่นอกแผ่นดินใหญ่ และทนต่อแรงซัดของคลื่น วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับประชากรที่ต้องลี้ภัยจากภาวะโลกร้อน แต่ละแห่งรองรับประชากรได้ 50,000 คน
ระบบสาธารณูปโภคสำคัญ คือ ระบบเก็บสะสมและกรองน้ำฝน สร้างภูเขาจำลองเพื่อใช้เป็นจุดก่อสร้างที่พัก ส่วนไฟฟ้าผลิตจากพลังคลื่นและแสงอาทิตย์
2. เกษตรลอยฟ้า
ทุกวันนี้มหานครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาติอภิมหาเศรษฐีธุรกิจน้ำมัน มีประชากรกว่า 800,000 คน ชีวิตประจำวันของผู้คนต้องพึ่งพาโรงผลิตน้ำสะอาดขนาดใหญ่ 5 แห่ง และนำเข้าผักผลไม้เพื่อการบริโภค เพราะสภาพอากาศร้อนแล้ง เนื่องจากเป็นเขตทะเลทราย
บริษัทสตูดิโอโมบายล์ ประเทศอิตาลี นำเสนอแบบแปลน "หอเกษตรลอยฟ้า" ตั้งตระหง่านกลางอาบูดาบี โครงสร้างประกอบด้วยเรือนกระจกขนาดใหญ่ 5 โรง มีหน้าตาเหมือนกับรังดักแด้ โดยดึงน้ำทะเลนอกชายฝั่งมาแปรสภาพเป็นไอน้ำหล่อเลี้ยงพืชผักข้างใน และยังมีกระบวนการแปรรูปน้ำทะเลเป็นน้ำจืดได้ด้วย
3. ทะเลทรายสีเขียว
บริษัทเอ็กซ์พลอเรชั่น อาร์คิเทคเจอร์ ออกแบบโครงการ "ซาฮารา ฟอเรสต์ โปรเจ็กต์" เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนสภาพทะเลทรายตามเขตที่ราบต่ำติดทะเลของ "ทะเลทรายซาฮารา" ให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืช ผลิตน้ำจืด และทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำสำหรับปลูกพันธุ์พืชสีเขียวขจีภายในพื้นที่รัศมีโดยรอบ พลิกฟื้นดินแตกระแหงสู่ความชุ่มชื้น
โครงสร้างหลักของ "ซาฮารา ฟอเรสต์ โปรเจ็กต์" ได้แก่ ระบบดึงน้ำจากทะเลเข้ามาใช้งาน แผงโซลาร์เซลล์แปลงแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าเพื่อใช้เดินเครื่องสร้างไอน้ำ ส่วนน้ำเหลือทิ้งจากระบบจะนำไปใช้รดเพาะปลูกพันธุ์พืชโดยรอบ
4. เมืองธรรมชาติ
ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า "เมืองสีเขียว" 648,000 ตารางเมตร จะถือกำเนิดขึ้นห่างจากตอนใต้ของกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้ 35 กิโลเมตร มีชื่อเรียกว่า "กวางเกียว กรีน พาวเวอร์ เซ็นเตอร์" (ศูนย์พลังงานสีเขียวกวางเกียว) ออกแบบและพัฒนาโดย บริษัทเอ็มวีดีอาร์ เนเธอร์แลนด์
แนวคิดการสร้างเมืองใหม่จงใจออกแบบสิ่งปลูกสร้างลักษณะวงแหวนคล้ายๆ ภูเขา ไล่สูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ ตัวเมืองมีทั้งส่วนที่พักอาศัย แหล่งช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ สถาบันการศึกษา สำนักงาน ศูนย์วัฒนธรรม ที่จอดรถ นอกตัวอาคารทุกแห่งจะมีระเบียงปลูกต้นไม้ไล่ไปทุกชั้น รองรับประชากร 70,000 คน
5. "หอคอย"พลังลม
ยูจีน ซุย สถาปนิกอเมริกันเชื้อสายจีน เริ่มต้นคิดโครงการนี้ และนำไปเสนอกับผู้บริหารนครโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ แต่ไม่ผ่านการอนุมัติ ล่าสุดหอบหิ้วผลงานไปนำเสนอกับผู้บริหารนครเสิ่นเจิ้น เมืองท่าสำคัญของจีน
"หอคอยพลังลม" ของซุย สร้างบนเกาะจำลองขนาดเล็กบริเวณอ่าวนอกชายฝั่งเสิ่นเจิ้น และปลูกป่าโกงกางคอยกรองมลพิษ ตัวหอคอยติดตั้งเทอร์ไบน์กังหันลม ผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งมีส่วนร้านอาหาร และหอสังเกตการณ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว
6. โรงแรมกลางทะเล
บริษัท มอร์ริส อาร์คิเทค มองว่า แท่งสำรวจขุดเจาะน้ำมันเก่าๆ นำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ควรปล่อยทิ้งเป็นขยะกลางทะเล แผนการของบริษัทแห่งนี้ก็คือ เริ่มต้นปรับปรุงสภาพฐานขุดเจาะน้ำมันร้างนอกชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ให้กลายเป็น โรงแรม-แหล่งท่องเที่ยว กลางทะเล มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ ส่วนแหล่งพลังงานใช้ระบบพลังงานทางเลือกจากคลื่นและลม
"เราคิดว่าการปรับโฉมแท่งขุดเจาะน้ำมันเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ยุคสมัยแห่งพลังงานสกปรกกำลังจะหมดไปอีกด้วย" มอร์ริส อาร์คิเทค ระบุ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก cnnas.com