x close

มือถือไม่ใช่สื่อล่อฟ้า ชี้ของสูงเหนือหัวตัวเสี่ยง


มือถือไม่ใช่สื่อล่อฟ้า ชี้ของสูงเหนือหัวตัวเสี่ยง (ไทยรัฐ)

          เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. จัดงานเสวนา "ฟ้าผ่า ข้อเท็จจริงที่ควรรู้" เพื่อร่วมไขข้อสงสัยของสังคมในเรื่องการเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ตลอดจนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสื่อล่อ อาทิ ตะกรุด สร้อย โทรศัพท์มือถือ และ MP3 ว่าเป็นสื่อล่อฟ้าหรือไม่ ขณะที่ ข้อสรุปของเสวนาครั้งนี้ คือ ควรปฏิบัติเมื่อเกิดฟ้าผ่า และลดปัญหาการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าของคนไทย ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการสาธิตปฏิบัติการจำลองฟ้าผ่า พิสูจน์สื่อล่อโลหะ โทรศัพท์มือถือ และสัญญาณโทรศัพท์มือถือด้วย 

          นายบัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า เบื้องต้นวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือ วัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศรีษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ อันตรายนอกจากการถูกฟ้าผ่าโดยตรง เช่น การหลบอยู่ใต้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า หรือเพิงที่เปิดด้านใดด้านหนึ่ง กระแสไฟฟ้าก็อาจจะกระโดดเข้าสู่ตัวคนทางด้านข้างได้ 

          "ส่วนโลหะและโทรศัพท์มือถือไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าแน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้ แต่การใช้โทรศัพท์อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจจะมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้" ที่ปรึกษาด้านวิชาการฯ สวทช.กล่าว


          นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. กล่าวว่า การนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างๆ พบว่า เหตุการณ์ฟ้าผ่าจนทำให้คนไทยเสียชีวิต 39 คน และบาดเจ็บ 16 คน และหลายกรณีถูกระบุว่า มีสาเหตุมาจากการพกพาหรือใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่ฝนตก รวมทั้งในต่างประเทศก็มีหลายกรณีระบุว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุให้เกิดฟ้าผ่าเช่นกัน 

          ผอ.สบท.กล่าวต่อว่า ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถยืนยันว่าโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อล่อฟ้าได้ แต่เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ประชาชนควรปิดมือถือเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะฝนตกฟ้าคะนอง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในจุดเสี่ยง เช่น ที่โล่งแจ้ง สระน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ การชี้แจงเรื่องฟ้าผ่าครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจกับการเกิดฟ้าผ่าที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการเกิดฟ้าผ่าได้


                              คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มือถือไม่ใช่สื่อล่อฟ้า ชี้ของสูงเหนือหัวตัวเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2552 เวลา 16:48:15 10,621 อ่าน
TOP