x close

เปิดชีวิต...หมอหมีแพนด้า




เปิดชีวิต หมอหมี(แพนด้า) (เดลินิวส์)


          "กับชีวิตสัตว์เราไม่เคยเลือกที่จะรัก รักเหมือนกันหมด แต่กับช้างพิเศษมากกว่า เพราะเขาปัญหาเยอะ แต่คนช่วยมีน้อย ทุกวันนี้ยังยืนยันความฝันเดิมว่าที่สุดของชีวิตเราแล้วคือการได้เป็นหมอช้าง รักษาช้าง" เป็นความรู้สึกของสัตวแพทย์หญิง (ส.พญ.) กรรณิการ์ นิ่มตระกูล หรือ หมอก้อย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้มาก่อน เพราะวันนี้เริ่มจะคุ้นชื่อเธอโดยมิใช่เพราะ "ช้าง" แต่เพราะ "หมีแพนด้า"

          "หมอก้อย-กรรณิการ์ นิ่มตระกูล" วันนี้คือหนึ่งในสัตวแพทย์ประจำทีมดูแลแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ เธอเล่าเรื่องชีวิตให้ฟังว่า เป็นคนเชียงใหม่เต็มร้อย เกิดที่นี่ โตที่นี่ เรียนที่นี่ และคาดว่าจะตายที่นี่เช่นกัน เธอเพิ่งผ่านวันครบรอบวันเกิดไปไม่นาน เพราะเกิดเมื่อ 18 มิถุนายน 2520 ตอนนี้ก็อายุ 32 ปี เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ จบ ป.6 ก็เรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นสอบเข้าเรียนที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเป็นนักศึกษารุ่นแรกและเป็นคนแรกของคณะ มีรหัส 01 เหตุเพราะชื่อนำหน้าคือ ก.ไก่ กับเป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะ เพราะเป็นปีแรกที่เพิ่งเปิดตอนที่เธอสอบเข้า
  
          เธอเล่าว่าตั้งแต่จำความได้ก็รักสัตว์แล้ว คุณพ่อ-คุณแม่ เกรียงศักดิ์-สุนันท์ นิ่มตระกูล เล่าให้ฟังบ่อย ๆ ว่าตอนเด็กจะวิ่งเข้าหาหมา-แมวตลอด จนต้องคอยกระชากไว้ ซึ่งที่บ้านไม่มีใครเป็นหมอเลยสักคน คุณพ่อเป็นช่างซ่อมตู้เย็น คุณแม่เป็นแม่ค้าขายของ พี่สาว-พี่ชายทั้ง 2 คนก็ทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์
  
          "พ่อชอบบอกว่าเป็นบ้าแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว (หัวเราะ) และทำไมถึงเลือกเป็นหมอสัตว์ ตรงนี้เกิดจากความรู้สึกตอนที่เห็นหมาเราถูกรถชนตาย ตอนนั้นคิดว่าคงดีกว่านี้ถ้าสามารถช่วยเขาได้ จึงคิดว่าจะดีกว่าถ้าเราจะเป็นสัตวแพทย์ พอได้มาเรียนก็รู้สึกชอบงานด้านสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างจะชอบเป็นพิเศษ"
  
          ตอนเรียนเธอจะให้ความสนใจเรื่องช้างมาก เพราะมีปัญหาเยอะ แต่คนทำงานมีไม่พอเพียงกับปัญหา เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่การดูแลรักษาต้องใช้คนมากกว่าสัตว์อื่นๆ ยิ่งได้ฝึกงานก็ยิ่งรู้สึกรักช้างมากขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนใจ แต่ชีวิตคนเรามีถมไปที่ความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่อง กับหมอก้อยนั้นหลังเรียนจบเธอก็ไม่ได้ทำงานที่อยากทำ สมัครที่ไหนก็ไม่มีการตอบรับ สาเหตุหนึ่งคือยุคก่อนนั้นการยอมรับผู้หญิงเข้าทำงานด้านช้างยังไม่เปิดมาก เท่าเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นงานหนัก ต้องใช้แรงเยอะ เธอจึงต้องเบนเข็มเป็นสัตวแพทย์ในโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะกลายมาเป็น "หมอหมีแพนด้า" และเป็นที่รู้จักของคนไทยในตอนนี้
  
          "ทำอยู่โรงพยาบาลสัตว์ได้ปีครึ่ง ก็ตัดสินใจออกมาตามฝัน ไปสมัครเป็นอาจารย์บ้างก็ไม่ได้ พอดีมีพี่คนหนึ่งที่เขาอยู่ในทีมดูแลแพนด้า เขาบอกว่าที่สวนสัตว์เชียงใหม่มีนโยบาย รับหมอผู้หญิงนะ ก็เลยไปลองสมัครดู ทางเขาก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำไหวไหม เพราะกลัวเราจะหักกลาง (หัวเราะ) ตอนนั้นเราหนักแค่ 45 กิโลกรัมเอง เราก็เลยวัดใจไปเลยว่าขอทำเป็นอาสาสมัครก็แล้วกัน ถ้าเราทำไหวก็สุดแท้แต่เขาว่าจะรับหรือไม่รับ เขาก็บอกลองดู กลางวันเราก็ทำงานที่สวนสัตว์ กลางคืนเราก็ไปหารายได้เสริมที่ผับ เป็นพนักงานเสิร์ฟ"



 

          หมอก้อยเล่าอีกว่า ทำงานเป็นอาสาสมัครแบบไม่รับเงินเดือนอยู่ 2 เดือน ก็ได้บรรจุเป็นลูกจ้าง จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ จังหวะพอดีพี่คนเดิมที่ดูแลอยู่ลาออกไปสอนหนังสือ เธอจึงถูกดึงมาทำตรงนี้ปัจจุบันก็ 4 ปีแล้ว
 
          ชีวิตในฐานะหมอแพนด้าของเธอไม่ง่าย ทุกเรื่องของแพนด้ามีคนสนใจเป็นพิเศษ ทำให้ชีวิตส่วนตัวหายไปบ้าง อย่างไรก็ดี เธอบอกว่าปัจจุบันมีคนรู้ใจแล้ว เขาทำงานด้านธุรกิจอาหาร ชื่อ บอย-สรศักดิ์ จันทรังษี
  
          กับการเป็นที่รู้จักมากขึ้นชั่วข้ามคืน หลัง "แพนด้าน้อย" ลูกสาวของ หลินฮุ่ย-ช่วงช่วง เป็นจุดสนใจ เธอยอมรับว่า ยังไม่ชิน เพราะเป็นแค่หมอตัวเล็กๆ เมื่อต้องมาอยู่ในจุดนี้ก็ทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติ ยิ่งแพนด้าเป็นเรื่องที่คนสนใจ สื่อก็ต้องพยายามหาข่าวเพื่อให้คนรับรู้ ช่วงแรกเธอยอมรับว่าไม่เข้าใจและมีปัญหามาก แต่ก็พยายามปรับตัวและทำความเข้าใจ คิดว่าต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ และพยายามมองด้านที่เป็นประโยชน์ พอความสนใจเยอะ ความช่วยเหลือก็มากขึ้น สัตว์อื่นๆ ก็ได้ประโยชน์ จึงคิดตลอดว่าต้องอดทนๆ เพื่อช่วยสัตว์อื่นด้วย
  
          "ตอนนี้อยู่ตัวแล้ว ช่วงแรกๆ สื่อจะบอกว่ายัยคนนี้เป็นบ้าอะไรนะ ฟาดฟันกับสื่อเหลือเกิน ตอนนั้นไม่เข้าใจ เรามักจะเทความเป็นห่วงไปหาสัตว์ที่เราดูแลมากกว่า เป็นห่วงลูกหมีตัวเล็ก ๆ ว่าเขาจะอดทนพอไหม ยิ่งตอนเขาเกิดมาเขาน่ารัก ทุกคนก็จะเข้าหา จนตอนหลังพี่ที่เขาหวังดีมาสอนเราว่าต้องเข้าใจภาวะของสังคม เขาสนใจก็ต้องเอื้อให้เขารู้ และไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ทุกวันนี้ก่อนเริ่มทำงานเราก็จะต้องนำตารางการตรวจเช็กมาดู เพื่อที่จะพิมพ์เป็นข้อมูลให้ ตรงนี้จริง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เราถือโอกาสให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าไปในตัว"
  
          ในส่วนของพ่อแม่ เธอบอกว่าไม่ค่อยถามอะไร และปกติก็แทบจะไม่ได้เจอกัน ยุ่งขนาดที่เธอบอกว่าตอนไปดูงานที่จีนซื้อของฝากก็ยังไม่มีเวลาเอาไปให้ จนต้องโทรศัพท์ให้มาเอาถึงสวนสัตว์

          "ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะดูจากข่าว โทรคุยบ้างสั้นๆ คุณแม่เดินไม่ได้มา 20 ปีแล้ว กลับไปทีเขาจะจับแข้งจับขาบอกว่าเห็นในทีวีนะ ตอนนี้ (ช่วงที่สัมภาษณ์) คุณพ่อเพิ่งเข้าโรงพยาบาล เวลาไปเยี่ยมก็จะโม้ว่านี่ลูกสาวทำงานแพนด้านะ"
  
          ถามถึงภารกิจประจำวัน เธอเล่าว่า 08.30 น. เข้าทำงาน จากนั้นกิจวัตรก็คือการเข้าไปซักถามพี่เลี้ยงถึงสภาวะสุขภาพต่างๆ โดยแพนด้าจะมีคนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบันทึกพฤติกรรม ถ้าถามแล้วไม่มีอะไรน่าห่วง ตอน 09.00 น.ก็นั่งทำงานวิจัย งานเอกสารที่เกี่ยวข้อง และตั้งแต่ 13.00 น. จนถึงเย็น ก็จะเข้าไปดูพี่เลี้ยงที่ทำการฝึก 2 แพนด้า แต่ช่วงยุ่งๆ จะเริ่มเมื่อใกล้เข้าฤดูผสมพันธุ์ของแพนด้า คือช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่ต้องกินนอนในกรงแพนด้าเพื่อเฝ้ารอจังหวะไข่ตก เมื่อไข่ตกเมื่อไหร่ทางทีมงานก็ต้องพร้อมที่จะผสมเทียมได้ทันที ช่วงนี้จะหนักสุด
  
          สำหรับกระแสที่คนไทยตอนนี้เห่อแพนด้า เธอยอมรับว่าเธอเองก็โหนกระแสนี้ เพราะเป็นโครงการสำคัญ การที่แพนด้าเป็นดาราประจำก็ทำให้คนสนใจมาก รายได้จากตรงนี้ก็เลี้ยงดูหล่อเลี้ยงสัตว์อื่นด้วย ซึ่งที่สวนสัตว์นี้สมัยก่อนคนเข้าไม่มาก ถึงจะมีสัตว์ของไทยดี ๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าดู แต่พอแพนด้ามาสัตว์อื่นๆ ก็เลยได้อานิสงส์ด้วย อย่างห้องแล็บราคา 2-3 ล้าน ที่เพิ่งสร้างก็ได้มาเพราะแพนด้า ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชน์จากแล็บในการเป็นศูนย์ตรวจเชื้อ ตรวจฮอร์โมนให้สัตว์อื่น กับช้างก็ใช้ที่นี่ ตรงนี้ก็ถือว่าแพนด้าให้คุณมาก
  
          "แต่วันหนึ่งเขาก็คงต้องกลับบ้านเขา ถามว่าผูกพันไหม แน่นอนเพราะเราเลี้ยงเขามาเหมือนลูก มีหมวยน้อยเป็นหลาน ถามว่าร้องไห้ไหม มันข้ามช็อตไปแล้ว ส่วนวันที่เขาจะต้องกลับจริงๆ เราจะร้องไห้หรือไม่ เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันนะ" หมอก้อย-กรรณิการ์ นิ่มตระกูล กล่าว




          ทิ้งท้าย หมอหมีแพนด้าคนนี้กล่าวประโยคที่น่าดีใจแทนช้างไทยว่า ถามว่ายังคิดจะกลับไปตามฝันหรือไม่ วันนี้ก็ยังไม่ได้ขาดจากความเป็นหมอช้างนะ ทุกวันนี้ก็จะคุยกับพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ลำปาง ที่ดูช้างกันอยู่ ทุกวันนี้หากมีช่วงว่างก็จะแอบหนีไปลำปางเพื่อไปช่วยงานช้างอยู่เสมอ เพราะเรายังรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ดูแลช้าง แม้จะรักแพนด้ามากแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงยังไงช้างก็ยังเป็นที่สุดของเรา

          หมอก้อยบอกว่า มีหลายเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยทราบ อาทิ ทำไมถึงสนใจการคลอดและเลี้ยงลูกของหลินฮุ่ยมาก คำตอบคือ พฤติกรรมหลินฮุ่ยค่อนข้างเป็นที่แปลกใจของผู้ศึกษาแพนด้า เพราะไม่ทิ้งลูก ทั้งที่วัยเด็กของหลินฮุ่ยถูกแม่ทิ้ง แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญจีนยังทำนายว่าจะต้องทิ้งลูกจนสั่งให้เตรียมตู้อบและนมไว้ แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้, ความอดทนในฐานะแม่ของหลินฮุ่ยมีสูง ปกติแม่แพนด้าจะทนหิวไม่ไหว ต้องวางลูกเพื่อกินอาหาร แต่หลินฮุ่ยไม่ยอมวางลูก ไม่กิน ไม่ถ่าย ไม่นอน ตลอด 5 วัน จนทีมงานอดทึ่งไม่ได้กับความเป็นยอดคุณแม่ กับภาพที่นั่งสัปหงกอุ้มลูก, ทำไมแพนด้าผสมพันธุ์ยาก เพราะตัวผู้อวัยวะเพศสั้น ตัวเมียมีวงรอบปีละครั้ง เป็นสัตว์รักสันโดษชอบอยู่เดี่ยว สนใจการกินมากกว่าการผสมพันธุ์ จึงใช้เวลามาก 5-6 ป ีกว่าจะผสมพันธุ์ติด
  
          และขณะที่คนไทยกำลังลุ้นโหวตชื่อแพนด้าน้อย หมอก้อยเผยว่า มีชื่อจีนที่ทางทีมงานตั้งกันและแอบส่งด้วย แต่ตกรอบ คือ "ไท้ซิง" แปลว่า "หัวใจของคนไทย" อีกความหมายคือดวงดาวที่สวยงามของคนไทย เหมือน "สตาร์ ออฟ ไทยแลนด์" ส่วนชื่อที่ทีมเรียกกันมาแต่แรกและเรียกกันอยู่ก็มีชื่อ "อ้อแอ้" เพราะเขาชอบขี้บ่น คือจะชอบทำปากงุบงิบเหมือนบ่นตลอดเวลา เราก็หมั่นไส้เลยพูดว่าอ้อแอ้เหลือเกิน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์/อนุศร ศรีวิชัย : รายงาน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดชีวิต...หมอหมีแพนด้า อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:26:58 12,729 อ่าน
TOP