ผุดกองทุนออมแห่งชาติ ทันปี 53 รัฐสมทบ (คมชัดลึก)
คลังดันตั้งกองทุนการออมแห่งชาติสุดตัว หวังบังคับใช้ให้ทันปี 2553 คาดเปิดรับสมาชิกได้กลางปี รัฐจ่ายสมทบ 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดช่องขยายเงินสะสมขั้นต่ำได้ในอนาคตตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ไม่เพิ่มขั้นสูงหวั่นอาศัยช่องฟอกเงิน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่าขณะนี้ รมว.คลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน กันยายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 กันยายนนี้ และน่าจะนำเข้าสภาได้ทันในสมัยประชุมนี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปี 2553
"น่ายินดีที่ รมว.คลังจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปีหน้า ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่มอบให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันยามชรากว่า 24-25 ล้านคน และยังแก้ปัญหาภาระงบประมาณหรือภาระการคลังในอนาคตที่จะต้องใช้เงิน ดูแลกลุ่มคนสูงอายุจำนวนมาก" นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ปีหน้า แต่ยังมีกระบวนการและขั้นตอนการจัดตั้งสำนักงานการออมแห่งชาติ (กอช.) และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อหรือเช่าตึกคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จึงน่าจะเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกได้ประมาณกลางปี 2553 และโดยยังเป็นการออมแบบสมัครใจที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกกลุ่มที่ไม่มีระบบการออมหรือสวัสดิการอื่น ๆ รองรับ
ส่วนหลักเกณฑ์การออมยังคงเดิม ที่กำหนดเงินสะสมขั้นต่ำเดือนละ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท โดยหากมีกลุ่มแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกทั้ง 24 ล้านคน หรือ 100% รัฐจะใช้เงินสมทบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมกับเงินสะสมขั้นต่ำก็ทำให้เงินกองทุนเบื้องต้นมีขนาด 5 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เนื่องจากปีแรกอาจเริ่มในช่วงกลางปีทำให้ขนาดเงินกองทุนลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกฎหมายเปิดช่องให้ปรับเพิ่มเงินสะสมและเงินสมทบได้ตามภาวะเงินเฟ้อ เพราะจากที่สำรวจมาพบว่าแรงงานนอกระบบมีความสามารถจะจ่ายเงินสะสมได้ถึง เดือนละ 800 บาท
"เหตุที่กำหนดวงเงินขั้นสูงไม่เกิน 1,000 บาท เนื่องจากต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าสู่ระบบการออมอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้มีการอาศัยช่องการฟอกเงินของบางกลุ่ม โดยการจ่ายสะสมเงินจำนวนมาก ๆ เพื่อให้กองทุนช่วยบริหาร เพราะการจ่ายเงินคืนหลังอายุ 60 ปี รัฐบาลประกันว่าจะต้องได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินฝากเฉลี่ยของ 5 แบงก์ใหญ่ จึงไม่ขาดทุนเด็ดขาด โดยรัฐจะจ่ายชดเชยให้หากการลงทุนด้านอื่นมีผลขาดทุน" นายสมชัยกล่าวและว่า พออายุครบ 60 ปีรัฐจะจ่ายคืนให้เป็นรายเดือน โดยหากออมตั้งแต่อายุ 20 ปีเดือนละ 100 บาทก็จะได้คืนเดือนละ 2,000 กว่าบาท หากออมเดือนละ 500 บาทก็จะได้รับเดือนละประมาณ 4,000 กว่าบาท เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก