x close

มธ. จัด 33 ปี 6 ตุลา ร่วมรำลึกวีรชน

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา



มธ. จัด 33 ปี 6 ตุลา ร่วมรำลึกวีรชน (ข่าวสด)

          ธรรมศาสตร์จัดครบรอบ 33 ปี 6 ตุลา 19 รำลึกเหตุการณ์ล้อมฆ่านักศึกษา - ประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงเช้าทำบุญอุทิศให้วีรชน พร้อมเสวนาแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ กับ เจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา 2519 ด้าน "ภูมิธรรม เวชยชัย" อดีตแกนนำนักศึกษา เผย อยากให้โอกาสนี้ได้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมที่ธรรมศาสตร์ และอยากให้ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งที่รุนแรง รู้สึกให้อภัย และคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ขณะที่ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ระบุว่า การแก้ความขัดแย้งคือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วโอนอ่อนผ่อน ปรน ประนีประนอมมากยิ่งขึ้น จึงจะก้าวผ่านไปได้

          เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นางวิภา ดาวมณี อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ตุลาคม โครงการกำแพงประวัติศาสตร์ : ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะจัดงานรำลึก 33 ปี 6 ตุลา ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร หน้าหอประชุมใหญ่ เวลา 08.00 - 09.00 น. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน จากนั้นวัฒน์ วรรลยางกูร อ่านบทกวีรำลึกวีรชน 6 ตุลา โดยมีตัวแทนญาติวีรชน 6 ตุลาคม ตัวแทน 18 ผู้ต้องหา เลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตัวแทนองค์กรนักศึกษา กลุ่มต่าง ๆ ตัวแทนกรรมกร ชาวนา สมัชชาคนจน สหพันธ์-สหภาพแรงงาน ตัวแทนกลุ่มองค์กรประชาธิปไตย กล่าวไว้อาลัยและสืบสานเจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา

          นางวิภา กล่าวต่อว่า ในเวลา 09.30 - 12.00 น. ที่หอประชุมคณะนิติศาสตร์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล แสดงปาฐกถาเรื่อง "แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี พนมยงค์ กับ เจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา 2519" และวิจารณ์โดย ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากนั้น 12.30 - 17.00 น. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่มแดงสยาม วัฒนะ วรรณ กลุ่มเลี้ยวซ้าย และตัวแทนสมัชชาสังคมก้าวหน้า เสวนาหัวข้อ "อุดมการณ์ 6 ตุลา กับ อำมาตยาธิปไตย"

          ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กนกพร แสนสุขสม นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสรุปบทเรียน 33 ปี 6 ตุลา กับขบวนการขวาใหม่ในไทย เวลา 17.00 - 19.00 น. ที่ลานประติ มากรรมกำแพงประวัติศาสตร์ มีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ดนตรี จากวงดนตรีนักศึกษา

          นางวิภายังกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ว่า ประเทศไทยถอยหลังมากหรือจะเรียกว่าถอยหลังลงคลองก็ได้ ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่อำมาตยาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร อำนาจส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ทหาร คนทำผิดไม่ถูกลงโทษ ทั้งยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน เพราะคนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์ชน ประเทศไทยเละเทะมากแล้ว นอกจากนี้กฎหมายไทยยังเอื้อให้ชนชั้นนายทุน ทำให้ประเทศเข้าตาจนมีแต่ชนชั้นนำ นักการเมืองชั้นสูง ขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับประเทศพม่าเต็มทีแล้ว

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา




          ดังนั้นจึงอยากให้หนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา ช่วยกันรื้อฟื้นเจตนารมณ์ของ 6 ตุลาคม ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อุดมการณ์คืออะไร เพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทำให้บทบาทของคนชั้นล่าง เช่น กรรมกร ชาวนา เป็นต้น มีความสำคัญเพิ่มขึ้น ปัจจุบันรายได้ของคนเหล่านี้มีน้อย เพื่อทำให้คนเหล่านี้มีกำลังใจ รวมทั้งเปิดเสรีภาพ ไม่มีการปิดกั้น เพื่อให้ประชาชนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

          นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา กล่าวถึงวาระโอกาสครบรอบ 33 ปีว่า ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่ไม่ใช้สติ ขาดเหตุผล ทำลายล้างทางการเมืองด้วยความรุนแรง เป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันสังคมไทยไปสู่ความแตกแยก ใช้อาวุธมาประหัตประหารห้ำหั่นกัน อยากให้วาระครบรอบ 33 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสที่ได้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคนที่รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม

          "สิ่งที่เสียใจในวันนี้คือ คนบางส่วนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น แทนที่จะเป็นผู้ที่ร่วมปฏิรูปให้เป็นสังคมที่ดี กลับเป็นผู้มีส่วนทำให้สังคมไทยกลับไปสู่การทำลายล้างกันเช่นในอดีต ผมอยากให้การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในปัจจุบันช่วยกันล้างเงื่อนไขให้เกิดความสามัคคีปรองดอง และช่วยผลักดันให้ประเทศไทยออกจากความขัดแย้งที่รุนแรง ให้มีความรู้สึกให้อภัย และคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ให้ประเทศออกจากวิกฤตและหาทางออก เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ ส่วนตนนั้นในช่วงวันรำลึกเหตุการณ์ เช้าวันที่ 6 ตุลา ตนจะใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่เสียชีวิตทุกท่าน แต่คงจะไม่ไปร่วมงานรำลึกที่ไหน" นายภูมิธรรมกล่าว

          ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตแกนนำนักศึกษา กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหัวก้าวหน้าที่ต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่ไม่ใช่อำมาตยาที่มีความหมายเดียวกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของกลุ่มข้าราชการพลเรือนและทหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศไปตั้งแต่ปี 2500 ไม่รวมกับระบอบอำมาตยาธิปไตยที่แฝงอยู่ตั้งแต่ปี 2475 จนได้รับชัยชนะในปี 2516 แต่จากนั้นอีก 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาหัวก้าวหน้า ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการ เพื่อคนยากคนจนโดยเฉพาะเกษตรกรกับกลุ่มอำนาจเก่า ที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรืออยากให้เกิดความสงบเรียบร้อยจนเกิดความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

          นายอเนก กล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งนั้น หากเกิดขึ้นในปัจจุบันก็อาจจะดูว่าไม่ได้หนักหนาเท่าใด แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหมือนกับสิ่งที่ต้องเกิดเพื่อให้สังคมมันก้าวผ่านไปได้ และกลายเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย ซึ่งตนเห็นว่าเวลาผ่านมา 33 ปี หากดูแล้วเราเรียนรู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีทีเดียว อย่างเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อน 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุม ก็เรียนรู้ได้ดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่เท่านี้คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้

          "การแก้ความขัดแย้งคือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วโอนอ่อนผ่อนปรนให้มากยิ่งขึ้น อย่าไปคิดว่าตัวเองถูกแล้วคนอื่นผิดอย่างเดียว ต้องถ่อมตัว และประนีประนอมมากยิ่งขึ้น แล้วถึงจะก้าวผ่านความขัดแย้งพวกนี้ได้"

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

 

          นายสุธรรม แสงประทุม อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต พอเกิดความคับแค้นก็ระเบิดครั้งหนึ่ง แล้วก็หายกันไป ปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ย้อนกลับคืนมาอีก เหมือนเหตุ การณ์ 6 ตุลา ที่ถูกกดดันจากรัฐบาลจารีตนิยม ทำให้ไม่มีการระบายออก จนเกิดความรุนแรงจนคลี่คลายไปได้ โดยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่กลับมาเยียวยา ให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการนิรโทษกรรมหรือนโยบาย 66/23 หันกลับมาดูในรัฐบาลนี้ ความรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้วอาจจะไม่เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ความเสียหายมีมากกว่าอย่างชัดเจน ทั้งการสูญเสียโอกาสของประเทศ ความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นไปทั่ว

          ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องยึดแนวเดียวกับ สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ จะเรียกว่าการสมานฉันท์ การปรองดองหรือการประนีประนอมก็แล้วแต่ แต่จะต้องเกิดจากการพูดจากัน ผ่อนปรนให้เห็นแนวทางที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย แต่ตอนนี้แม้ว่าจะมีคนพูดเรื่องนี้มาก แต่ก็ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะไม่มีใครที่จะรับงานเป็นเจ้าภาพ ไปทำอย่างจริงจัง จึงเป็นหน้าที่ของประชาชน ที่ต้องการเห็นความปรองดอง ร่วมกันให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองดำเนินการไปในทิศทางที่จะทำให้สังคมสงบได้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม จะมีงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ โดยจะมีการเสวนาวิชาการ การเปิดตัวหนังสือสมุดภาพแห่งความทรงจำ จารึกประวัติ ศาสตร์ 14 ตุลา และเวลา 18.00 น.จะมีการแสดงดนตรีเดือนตุลา เนื่องในโอกาส 36 ปี 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ด้วย


6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา

6 ตุลา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มธ. จัด 33 ปี 6 ตุลา ร่วมรำลึกวีรชน อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2552 เวลา 15:45:39 9,136 อ่าน
TOP