มาบตาพุด ปัญหาใหญ่ ที่ยังไร้ทางออก


มาบตาพุด


มาบตาพุดปัญหาใหญ่ที่ยังไร้ทางออก (ไทยรัฐ)


          หากพูดถึงแหล่งการลงทุนด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทย หลาย ๆ คนคงนึกถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่พื้นที่กว้างและความพร้อมทั้งด้านสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 มีเนื้อที่เริ่มแรก 7,092 ไร่ จากนั้นในปี พ.ศ. 2531 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับการพัฒนาจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยรัฐบาลได้มอบให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

          ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมประเภท ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็กและโลหะ โรงกลั่นน้ำมัน เอกชน 4 ราย จึงร่วมกันขยายพื้นที่เพิ่มจาก 7,092 ไร่ เป็น 20,000 ไร่ และการขยายพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้การร่วมกลุ่มของอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนการผลิตและขนส่ง ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

          ขณะเดียวกัน จากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างรวดเร็วและการรวมกลุ่มของกลุ่ม อุตสาหกรรมในพื้นที่ทำให้ประสบกับปัญหาการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและชีวอนามัย  เช่น ผลกระทบด้านคุณภาพอากาศ  ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ  การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ  ปัญหาต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องจากประชาชนให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  และการมีส่วนร่วมในการรับรู้ของประชาชน





          จากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เริ่มจากช่วงปี พ.ศ. 2543-2546  ปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน จากโรงงานปิโตรเคมี และโรงกลั่น สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน โดยขาดพื้นที่กันชน แต่การดำเนินการแก้ไขได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วยดีจน ปัญหาทุเลาไปเป็นอันมาก

          ปี พ.ศ. 2548  ปัญหาเรื่องภัยแล้ง เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความระแวงในการแย่งใช้น้ำระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐได้ประสานการแก้ไขปัญหาและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม จนกระทั่งปัญหานี้ผ่านพ้นไปด้วยดี

          ปี พ.ศ. 2550 - ปัจจุบันความต้องการให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาการปนเปื้อนในน้ำบ่อตื้น ปัญหาเรื่องสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ทำให้องค์กรเอกชนเคลื่อนไหว รณรงค์ให้รัฐบาลพิจารณาประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2552 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งบรรเทาทุกข์โดยให้ระงับ 76 โครงการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2552 ที่อนุญาตให้มีการออกใบอนุญาตแก่โรงงาน ที่จะก่อสร้างใน เขต อ. มาบตาพุด จ.ระยอง ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตามคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 43 คน ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 8 คน ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รวมทั้งขอให้มีคำสั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรมใดที่จะก่อสร้างใน เขต อ.มาบตาพุด





          คำสั่งศาลปกครองดังกล่าวได้ทำให้เอกชนและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่างออกมาเร่งให้รัฐบาลดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยด่วน เนื่องจากโครงการที่มาบตาพุดมีมูลค่าสูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล พร้อมเร่งออกกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่การออกกฎหมายดังกล่าวก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งระหว่างที่รอกฎหมายลูกบังคับใช้ รัฐได้เลี่ยงบาลีเพื่อลดผลกระทบด้วยการออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่ง ชาติ ตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อกำหนดรายละเอียดดำเนินการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรา 67 ในการกำหนดหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตของนักลงทุน

          ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรม กกร. มีมติเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหามาบตาพุด 5 ประเด็น ประกอบด้วย

          1) สนับสนุนนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

          2) สนับสนุนให้รัฐบาลจัดตั้งพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียงให้เป็นเขต เศรษฐกิจพิเศษ โดยนำเงินที่เสียภาษีของภาคธุรกิจครัวเรือนหรือภาษีเงินได้มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี ให้ลงสู่ท้องถิ่นทั้งหมด

          3) สนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนบ้านประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานจากแหล่งอื่นมาอยู่ ที่จังหวัดระยอง

          4) เอกชนพร้อมดำเนินการใช้เงินกว่า 17,000 ล้านบาท ในการจัดทำแผนลดมลพิษ เพื่อให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

          5) เอกชนยืนยันว่า 76 โครงการที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนินการนั้น ได้ดำเนินการตามกฎหมาย มีแผนจัดการลดมลพิษ แผนจัดการสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ โดยข้อสรุปข้างต้นนี้ได้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

          ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม กรอ.ได้ทำความเข้าใจกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการและการดำเนิน กิจกรรมของอุตสาหกรรม 76 โครงการ ในเขตพื้นที่มาบตาพุด เพราะตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ากฎหมายกำลังส่งไปที่รัฐสภา และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะประชุมใน วันที่ 2 พ.ย. เพื่อให้ได้ตัวร่างประกาศตามกฎหมายสิ่งแวด ล้อมปัจจุบันให้ครอบคลุมทุกเรื่อง

          "วันนี้ภาคเอกชนเข้าใจในสิ่งที่ รัฐบาลได้อธิบาย เพราะหลังจากที่ศาลมีคำวินิจฉัยแล้วและหลายคนเข้าไปร่วมในการอุทธรณ์ก็ทราบ ประเด็นข้อกฎหมาย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

          ขณะที่นายนันดอร์ วอน เดอลูว์ ประธาน หอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) กล่าวว่า กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศปัจจุบันถือว่าเข้มงวดมาก ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติก็ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่มาโดยตลอด แต่กรณีที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ชะลอโครงการลงทุนต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดความสับสนของนักลงทุนต่างชาติพอสมควร อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไข สร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และไม่ใช่เพียงแต่พื้นที่ มาบตาพุดเท่านั้น ต้องครอบคลุมการลงทุนทั่วประเทศด้วย ถ้าล่าช้าจะเกิดผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยในอนาคตได้

          นายฟูคุ จิโร่ ยามาเบะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหามาบตาพุดเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น สร้างความสับสนเป็นอย่างมาก บริษัทลูกที่เข้ามาลงทุน ไม่สามารถตอบคำถามบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ จึงอยากให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เร่งแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย ให้ทุกอย่างดำเนินการไปได้ต่อเนื่อง

          เหลือเพียงประเทศไทยเท่านั้นว่าจะหาทางออกอย่างไร


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาบตาพุด ปัญหาใหญ่ ที่ยังไร้ทางออก อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16:59:49 31,278 อ่าน
TOP
x close