x close

เปลี่ยนรถเมล์สีส้มแทนสีเขียว แก้ปัญหาอุบัติเหตุ!?


มินิบัสเขียวหายจากถนน (ไทยรัฐ)

         สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 53 ซึ่งเป็นวันแรกที่ ขสมก.สั่งห้ามรถโดยสารมินิบัสสีเขียว วิ่งรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ เด็ดขาด หลังจากครบกำหนดให้ผู้ประกอบการนำรถเก่าไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2553 หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนจะต้องถูกจับทันที เพราะถือว่านำรถผิดกฎหมายมาวิ่งในเส้นทาง ซึ่งจากการตระเวนตรวจสอบถนนสายต่างๆ เช่น ถนนรามคำแหง ถนนเสรีไท ถนนนวมินทร์ ถนนเกษตรตัดใหม่ ถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดี เป็นต้น ไม่พบรถมินิบัสวิ่งรับส่งผู้โดยสารแม้แต่คันเดียว

         นายโอภาส เพชรมุณี ผอ.ขสมก. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสิ้นสุดที่จะผ่อนผันให้รถโดยสารมินิบัสสีเขียวออกมาวิ่งอย่างเด็ดขาด หลังจากผ่อนผันมานานแล้ว จากการตรวจสอบมีประชาชนโทร.แจ้งรถขาดระยะ 2 สาย ได้แก่ สาย 17 ราษฎร์บูรณะ-อนุสาวรีย์ และสาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน จึงได้จัดรถเสริมในเส้นทางให้แล้ว ทั้งนี้ ขณะนี้มีรถโดยสารมินิบัสที่ปรับปรุงและบรรจุเส้นทางแล้ว 259 คัน และมีที่ยื่นเอกสารการปรับปรุงรถอีก 789 คัน ซึ่ง ขสมก.จะตรวจสอบเอกสารเป็นรายๆว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงจะลงพื้นที่ตรวจสอบอู่ต่อรถว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามที่แจ้งมาหรือไม่ โดยใช้เวลาตรวจสอบ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอบอร์ดเห็นชอบ ซึ่งในระหว่างนี้ห้ามผู้ประกอบการนำรถออกมาวิ่ง และหากยังดื้อแพ่งก่อความวุ่นวายก็จะตัดสิทธิ์ทันที

         ช่วงเช้าวันเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารมินิบัส ประมาณ 50 คน ได้เดินทางมาที่ ขสมก.เพื่อขอเจรจากับนายโอภาสจะขอผ่อนผันนำรถมินิบัสสีเขียวออกวิ่งในระหว่างรอรถคันใหม่ โดยนายธีรชัย หอจิตศิริยานนท์ นายกสมาคมผู้ประกอบอาชีพรถโดยสารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งต่อรถใหม่แล้ว และจะพยายามเปลี่ยนรถใหม่ให้ได้ภายใน 6 เดือน ตอนนี้หวังให้ ขสมก.อนุญาตให้รถสีเขียวออกวิ่งบริการได้ระหว่างรอรถใหม่ เพราะพนักงานขับรถและกระเป๋ารถเดือดร้อนจากการขาดรายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผอ.ขสมก.ไม่ได้ให้กลุ่มดังกล่าวเข้าพบแต่อย่างใด

         ที่กระทรวงคมนาคม นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร รมช.คมนาคม ว่า ยอมรับกับเงื่อนไขที่กระทรวงคมนาคม และ ขสมก.มีระเบียบออกมาบังคับใช้ และขณะนี้ตนได้มีการประสานงานและขอความร่วมมือสมาชิกในกลุ่มไม่ให้ปิดถนนตามที่เคยขู่ไว้ เพราะตนก็รู้ว่าผิด ส่วนรถมินิบัส จำนวน 96 คัน ที่ผู้ประกอบการนำมาเปลี่ยนกับอู่ เกียว เวิลด์ นั้น ตนจะนำไปบริจาคกับโรงเรียนระดับมัธยมที่เป็นโรงเรียนชายล้วนทั่วประเทศ   เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำรถไปวิ่งใช้งานจริง   หรือให้เป็นรถตัวอย่างที่นักเรียนจะไว้หัดซ่อมรถ



เปลี่ยนเมล์ ไม่เปลี่ยน(ใจ)คนขับ

         มีหลายเสียงประสานว่า การเปลี่ยนสีรถเมล์เขียวไม่ได้ช่วยอะไร หากพฤติกรรมคนขับและกระเป๋ายังแย่เหมือนเดิม ขณะคุณป้าวัย56ร้องสื่อ อุบัติเหตุจากเมล์นรกทำให้ร่างกายไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก...

         ดีเดย์ไปแล้ว สำหรับการเปลี่ยนรถเมล์ติดก๊าซสีส้มแทนรถเมล์เขียว ตามความตั้งใจของราชการที่จะให้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยในการบริการขนส่งมวลชน โดยตั้งสมมติฐานว่ารถเมล์เขียว ส่วนใหญ่เป็นต้นเหตุทำให้คนใช้รถเมล์บาดเจ็บ ตายจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าวิธีนี้จะเป็นที่ถูกจุด ตรงใจประชาชนคนใช้บริการหรือไม่ หรือว่าจะเป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก เตะหมูเข้าปากหมา (ใครบางคน) หรือไม่ น่าติดตาม   

         โดยเรื่องนี้สาวฉันทนาที่ใช้รถเมล์ของ ขสมก.เดินทางจาก กทม.ไปทำงานย่านอ้อมน้อย จ.นครปฐม พร้อมกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกวัน อย่างนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า เห็นด้วยในการปรับปรุงการให้บริการประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนแค่สี ก็ไม่มีความหมายอะไร หากการบริการ สภาพรถ และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนขับที่ยังขับเร็ว ซิ่ง ฉวัดเฉวียน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มารยาทคนขับ อารมณ์ร้อน ดื่มสุรา ดังนั้น ควรที่จะต้องปรับปรุงสภาพรถให้ดี เน้นเรื่องสภาพรถ ทั้งภายในและภายนอก เช็คเครื่องเป็นระยะ คนขับสมควรที่จะต้องมีการอบรม ทดสอบสมรรถภาพและตรวจดูใบอนุญาตอย่างสมำ่เสมอ ที่สำคัญจะต้องมีใจรักในบริการ คำนึงถึงประชาชนที่นั่งอยู่ในรถ เพราะถ้าหากว่ารถจอดอยู่เฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดอันตรายกับผู้โดยสาร 

         ด้าน กลุ่มตัวแทนคนจนสลัมอย่าง นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า นอกจากการใช้รถเมล์ฟรีแล้ว ช่องทางหนึ่งที่คนจนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณะของการเดินทางไปไหนมาไหนก็คือรถเมล์เขียว แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าการบริการ คนขับใจร้อน ขับเร็ว จอดรถนอกป้าย คนเก็บเงิน ด่าผู้โดยสาร และ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเครื่องยนต์เก่า ไม่มีการปรับปรุง ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ไม่ใช่มาว่ากันเรื่องวิ่งรถสีไหนดีกว่ากัน ความจริงจะสีเหลือง สีส้ม สีเขียว ก็เหมือนกัน ประเด็นอยู่ที่การบริการที่ดี สุภาพ และ ที่สำคัญคนขับรถต้องเป็นคนที่มีศักยภาพ ไม่ประมาท บริการดี ไม่มุ่งแต่จะทำเวลา กินเปอร์เซ็นต์ วิ่งแซงกันบนท้องถนนโดยทำผิดกฎจราจร บางครั้งคนขับ กระเป๋ารถ ทะเลาะกันเรื่องแย่งผู้โดยสาร อันนี้สำคัญกว่าจะเอารถสีไหนมาวิ่ง 

         ทั้งนี้ พบว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าการเปลี่ยนเครื่องรถยนต์นั้นจะเป็นเรื่องสำคัญกว่ามารยาทของคนขับรถและคนเก็บค่ารถโดยสาร ความปลอดภัยในการให้บริการ โดยล่าสุดได้มี นางสุนันทา ประจุศิลป อายุ 56 ปี แม่ค้าขายข้าวแกง แขวงบางศรีเมือง กทม.เข้าร้องเรียนกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงอุบัติเหตุจากความประมาทและมารยาทที่ไม่ดีของคนขับรถสาย 203 จนได้รับบาดเจ็บแขนทั้งสองข้าง หัวเข่า สะโพก กระดูกสันหลัง กระทบกระเทือน ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่ได้รับการชดเชยจาก ขสมก. กำลังได้รับความเดือดร้อน 



         "การเปลี่ยนรถไม่ได้ช่วยอะไรเลย หากเจอคนขับที่ไม่ดี ติดเหล้า สุรา ติดกระท่อม ยาเสพติด ขับรถประมาท อารมณ์ร้อน ไม่สนใจผู้โดยสาร มารยาททราม" นี่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการใช้รถเมล์โดยตรง

         ขณะที่ นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ภาพรวมวันนี้ทุกคน ทุกคันให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีใครฝ่าฝืนออกมาวิ่ง รถเมล์คันใหม่ที่เอามาวิ่งนั้น ก็เพียงพอกับผู้โดยสารจำนวน 1,503 คัน และ ช่วงระยะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนหรือสั่งเพิ่มแต่อย่างไร ซึ่งภาพรวมดูดี ประชาชนให้การตอบรับดีมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราเองต้องทำอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ในส่วนของข้อร้องเรียนต่างๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนขับและคนเก็บค่าโดยสาร ซึ่งได้รับทราบปัญหาตลอด โดยเราจะจัดอบรมเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีการอบรมทั้งคนขับและคนเก็บค่าโดยสารจำนวน 16 รุ่น ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้การบริการดีขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ ของ ขสมก.ซึ่งมีอยู่ 8 เขตทั่ว กทม.ตรวจสอบเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถเมล์ 
         
         ทั้งนี้ สถิติข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรถเมล์เขียว ของ ขสมก. พบว่า ในปี 2552 มีประชาชน ร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 1,488 กรณี น้อยกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย 2551 จำนวน 1,509 กรณี โดยพบว่าสถิติการร้องเรียนเรื่องขับรถประมาท น่าหวาดเสียว จำนวน 512 กรณี เก็บค่าโดยสารเกินกำหนด 169 กรณี  พูดจาไม่สุภาพ 161 กรณี วิ่งเร็วจอดรถไม่ตรงจุด 120 กรณี ขับรถเร็ว ปาดซ้าย ขวา เบรกแรง 84 กรณี และ ไม่จอดส่ง เข้าป้าย 89 กรณี โดยสายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ สาย 6 จำนวน 193 กรณี สาย 1 จำนวน 171 กรณี  สาย 7 จำนวน 115 กรณี และ สายอื่น ๆ ตามลำดับ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ , ข่าวสด

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปลี่ยนรถเมล์สีส้มแทนสีเขียว แก้ปัญหาอุบัติเหตุ!? อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 11:42:19 19,543 อ่าน
TOP