x close

ภัยเอเลี่ยนสปีชีส์ ซัคเกอร์ทำลายยับ

ปลาซัคเกอร์

ปลาซัคเกอร์  - ปลาเทศบาล



ภัยเอเลี่ยนสปีชีส์ ซัคเกอร์ทำลายยับ (ไทยโพสต์)

          นักวิชาการห่วงปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพไทย ทำพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไทยสูญหาย เผยผลศึกษา "ปลากดเกราะ" หรือ ปลาซัคเกอร์ รุกรานปลาท้องถิ่นจนใกล้สูญพันธุ์จากแหล่งน้ำ เตรียมวิจัยนำปลาซัคเกอร์มาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อควบคุมประชากร ส่วน "จอกหูหนูยักษ์" ระบาดหนักในแม่น้ำแม่กลอง ปกคลุมพืชตับเต่าจนเกือบหมด

          เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย จัดเสวนา "เอเลี่ยนสปีชีส์ ภัยร้ายความหลากหลายทางชีวภาพ" หวังกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาการรุกรานชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และร่วมกันหาแนวทางป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในอนาคต

          ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ถือเป็นปัญหาหนึ่งของภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะจะก่อให้เกิดการครอบครองพื้นที่โดยชนิดพันธุ์เดียว และอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์พื้นเมืองได้ อีกทั้งยังนำเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคต่อคน สัตว์และพืชเข้ามาแพร่ระบาดด้วย

          ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลเอเลี่ยนสปีชีส์ที่แพร่ระบาดและมีศักยภาพรุกรานความมั่นคงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ไส้เดือนยักษ์แอฟริกา หอยเชอรี่ หอยทากแอฟริกา หอยกะพงเทศ ต้นสาบหมา นากหญ้า แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล กกบอเมริกันบูลล์ฟรอก เต่าแก้มแดง และตะพาบไต้หวัน อย่างไรก็ดี หากยังคงมีการนำเข้าเอเลี่ยนสปีชีส์โดยไม่ควบคุม เชื่อว่าในอนาคตจะส่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

          ดร.รัฐชา ชัยชนะ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2551 มีรายงานการพบปลากดเกราะ หรือ ปลาซัคเกอร์ - ปลาเทศบาล จำนวนนับหมื่นตัวในคลองหนองใหญ่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ดังนั้น จึงได้ลงพื้นที่ศึกษาปริมาณและการแพร่กระจายของพันธุ์ปลาต่างถิ่นในคลองหนองใหญ่ โดยร่วมมือกับ ดร.สันติ พ่วงเจริญ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์เก็บตัวอย่างข้อมูลคุณภาพน้ำและตัวอย่างปลาทั้งหมด 5 สถานีในคลองหนองใหญ่ พบว่าแม้คุณภาพน้ำจะเสื่อมโทรม มีความขุ่นสูงออกซิเจนละลายในน้ำมีค่าค่อนข้างต่ำ แต่กลับพบว่าประชากรปลากดเกราะมีสูงถึง 70% ขณะที่พบปลาท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ เพียง 30% เท่านั้น

          "ตัวอย่างพันธุ์ปลาท้องถิ่นในคลองหนองใหญ่มีทั้งสิ้น 11 วงศ์ 17 ชนิด ถือว่ามีความหลากหลายต่ำ ที่สำคัญยังพบปลาดุกด้าน ซึ่งจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ น่าเป็นห่วงว่าหากไม่ควบคุมประชากรปลากดเกราะได้ ก็จะทำให้ปลาดุกและปลาท้องถิ่นหลายชนิดสูญหายไปจากแหล่งน้ำแห่งนี้"

          สาเหตุที่ปลากดเกราะแพร่ขยายพันธุ์ได้ดี เนื่องจากเป็นปลาที่ทนต่อสภาพแวดล้อมมาก สามารถโผล่ขึ้นมารับอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง เจริญเติบโตอยู่ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ จากข้อมูลสำรวจพบว่า ปลากดเกราะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในคลอง โดยไปแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยปลาท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งยังมีพฤติกรรมหากินอยู่ตามพื้นท้องน้ำด้วยการดูดเศษอินทรียวัตถุต่าง ๆ

          ขณะนี้คณะวิจัยได้นำปลากดเกราะมาทดลองเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามดูพฤติกรรมการกินอาหาร ก็พบว่าสามารถกินไข่หรือตัวอ่อนปลาที่วางไข่อยู่บริเวณพื้นท้องน้ำได้จริง

          ดร.รัฐชา กล่าวอีกว่า ในงานวิจัยยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ บริเวณคลองช่วงที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนจะมีปริมาณปลากดเกราะที่หนาแน่นมาก สันนิษฐานว่าน้ำทิ้งจากบ้านเรือนอาจมีส่วนอย่างมากต่อการแพร่ขยายพันธุ์ เพราะสารอินทรีย์และเศษอาหารต่าง ๆ จากน้ำทิ้งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของปลากดเกราะ ทุกวันนี้ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำในบ้านเรากำลังถูกคุกคามจากปลากดเกราะซึ่งแนวทางในการกำจัดหรือควบคุมนั้นยังทำได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ล่าปลากดเกราะน้อยมาก

          "มีนกผู้ล่าจำนวนมากได้รับบาดเจ็บหรือตายจากการกินปลากดเกราะเป็นอาหาร เนื่องจากถูกเงี่ยงที่บริเวณครีบหลังและครีบด้านข้างตำคอ ส่วนตัวตะกวดต้องใช้เวลานานมากในการกินปลากดเกราะ สำหรับแผนการวิจัยต่อจากนี้จะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำปลากดเกราะมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ อาทิ การนำมาแปรรูปเป็นอาหาร ทำปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ เพื่อควบคุมประชากรปลากดเกราะให้ได้มากที่สุด" นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ กล่าว

          ด้าน ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ในแม่น้ำแม่กลองเมื่อต้นปี 2553 ผลสำรวจล่าสุดพบว่าได้ส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชท้องถิ่นแล้ว โดยจอกหูหนูยักษ์เริ่มเจริญคลุมพันธุ์ท้องถิ่น อาทิ ตับเต่าเล็ก หรือต้อยติ่งสาย พันธุ์ไม้น้ำที่มีความสวยงาม พบเฉพาะลุ่มแม่น้ำแถบภาคกลางเท่านั้น รวมทั้งผักตับเต่า ผักพื้นบ้านกินกับน้ำพริกต่าง ๆ จากการพูดคุยกับเกษตรกร ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่าบริเวณที่มีจอกหูหนูยักษ์หนาแน่น น้ำมักจะเริ่มเน่าเสียและปลาจะหายไป



จอกหูหนูยักษ์

จอกหูหนูยักษ์



          "จอกหูหนูยักษ์เมื่อเจริญเบียดกันมากจะซ้อนทับกันเป็นชั้นหนาถึง 30-40 เซนติเมตร ประกอบกับมีรากยาวมาก ทำให้แสงและอากาศไม่สามารถผ่านลงไปได้ พันธุ์ไม้ใต้น้ำและแพลงก์ตอนจึงไม่สังเคราะห์แสง ขณะเดียวกันซากพืชที่ตายลงก็ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายด้วยส่งผลให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง เป็นอันตรายทั้งสัตว์น้ำและพันธุ์พืชในน้ำหลายชนิด" นักวิชาการกรมวิชาการเกษตรกล่าว และว่าหากประชาชนพบเห็นจอกหูหนูยักษ์อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้จำกัดออกจากแหล่งน้ำให้หมด โดยนำไปตากแห้งแล้วเผาหรือฝังกลบ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวฯและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว, วิกิพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภัยเอเลี่ยนสปีชีส์ ซัคเกอร์ทำลายยับ อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:41:42 54,920 อ่าน
TOP