ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช
ข่าวนํ้าท่วม เขื่อนลำตะคองวิกฤติต้องเร่งระบายน้ำออก
ข่าวนํ้าท่วม เขื่อนลำตะคองวิกฤติต้องเร่งระบายน้ำออก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักโครงการขนาดใหญ่กรมชลประทาน
สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง โคราชน้ำท่วมหนักสุดรอบ 50 ปี ทางด้านเขื่อนลำตะคองไม่สามารถรับน้ำไหวแล้ว ขณะที่กรุงเทพฯ เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม หลังมีรายงานว่า น้ำเหนือไหลมาสมทบที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ต้องระบายน้ำลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยาคาดน้ำจะทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ 20 ตุลาคมนี้
ขณะที่ มีรายงานว่า จระเข้ฟาร์มสีคิ้วหลุดจากฟาร์ม 50 ตัว เพิ่งจับได้ 2 ตัว ทางด้านน้ำล้นเขื่อนลำปะทาวทะลักเข้าท่วม อ.เมืองชัยภูมิแล้ว โดยปริมาณน้ำถูกระบายออกเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ สูงกว่า 2 เมตร ส่วนเขตชุมชนหินตั้ง,หนองบัวเมือง,ห้าแยกโนนไฮ,โนสาทรบางส่วนมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร
ทางด้านสถานการณ์น้ำท่วมบุรีรัมย์ได้ขยายวงกว้าง ล่าสุด น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลทะลักเข้าท่วมถนนหลายสายและไร่นา เสียหายหลายพันไร่ รถสัญจรลำบาก
ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ในระดับใกล้วิกฤติซึ่งปัจจุบันระดับน้ำมีประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์แล้ว จึงขอเตือนให้ประชาชนที่อยู่รอบเขื่อนหรือที่อยู่พื้นที่ลุ่มเตรียมรับผลกระทบ เนื่องจากทางเขื่อนอาจจำเป็นต้องระบายน้ำออก
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช
ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (19 ตุลาคม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางผ่อนผันกฎเกณฑ์ การเบิกจ่ายเงินทดลองจ่าย ให้จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม พร้อมผ่อนผันหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ที่ความเดือดร้อน โดยเบื้องต้นได้เพิ่มเงินทดลองจ่ายจาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท และให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จำเป็น โดยให้กรมบัญชีกลาง เป็นผู้พิจารณาได้ทันที ซึ่งขณะนี้จังหวัดที่ได้รับการพิจารณา คือ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี โดยคาดว่า จ.ลพบุรี นั้นจะเบิกจ่ายเกิน 100 ล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวถึงความเป็นห่วง ในการใช้งบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ถูกต้อง หรือมีการทุจริตว่า ตนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งจะดูแลการกำหนดมาตรการ การนำเงินไปให้ความช่วยเหลือ ให้มีความรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม นายกฯ กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย จะพยายามอย่างดีที่สุด
ขณะที่นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาเมืองและสาธารณภัย แถลงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ล่าสุดมีพื้นที่ประสบภัยรวม 13 จังหวัด 67 อำเภอ 381 ตำบล ได้แก่ จ.ระยอง จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.ชัยภูมิ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.นครนายก จ.สุพรรณบุรี และ จ.ศรีสะเกษ ผู้เสียชีวิต 7 ราย
นอกจากนี้ ภาวะฝนตกหนัก ยังทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนน ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ 15 สาย ใน 4 จังหวัด ดังนี้
- จ.นครราชสีมา 9 สาย
- จ.นครสวรรค์ 1 สาย
- จ.ลพบุรี 4 สาย
- จ.สระแก้ว 1 สาย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งนี้ เนื่องจากเกิดภาวะฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเข้าขั้นวิกฤติ มีปริมาณน้ำเกิดกว่าระดับกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนต้องเปิดประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่พื้นที่ท้ายเขื่อน จึงทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบอุทกภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
ขณะที่นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ กรมสวัสดิการฯ ได้ออกประกาศขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ลูกจ้างที่เดินทางมาทำงานไม่ได้ เนื่องจากเหตุน้ำท่วม ได้ลาหยุดโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นอกจากนี้ ยังขอให้เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย ในการทำงานร่วมมือกับผู้ประกอบการตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักรในสถานที่ทำงานไม่ให้เกิดอันตราย และขอให้นายจ้างดูแลจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ที่ประสบภัยตามความเหมาะสมด้วย
นางอัมพร กล่าวว่า จากการรายงานเบื้องต้นพบว่า จ.นครราชสีมา มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3.63 หมื่นคน จ.พระนครศรีอยุธยา มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3 หมื่นคน จ.นครสวรรค์ 220 คน จ.สระบุรี 178 คน จ.ลพบุรี 463 คนและ จ.ชัยนาท 70 คน
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช
น้ำท่วมโคราช หนักสุดรอบ 50 ปี
สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ซึ่งวิกฤติสุดในรอบ 50 ปี โดยช่วงค่ำวันที่ 18 ตุลาคม) ประชาชนจำนวนมากต้องประสบกับความยากลำบาก ขณะที่บรรยากาศเทศบาลนครนครราชสีมา ยังคงมีฝนตกโปรยปรายเป็นระยะ และอากาศบนท้องฟ้ายังมืดครึ้มตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (19 ตุลาคม)
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจเยื่ยมประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา บริเวณโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา บนถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม
ขณะที่วันนี้โรงพยาบาลมหาราชเตรียมแผนอพยพผู้ป่วยหนักไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ จ.ขอนแก่น จากออกซิเจนสำรองที่มีอยู่ใกล้หมด และรถออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปภายในโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกันห้องไฟฟ้าสำรองของโรงพยาบาลก็มีน้ำซึมเข้าไปท่วมขัง
ทางด้านนายแพทย์ชัชวาล ลีลาเจริญพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย กล่าวยืนยันว่า ทางโรงพยาบาลยังสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทุกประเภท เครื่องมือต่าง ๆ ยังสามารถใช้งานได้ โดยคนไข้ที่ไม่สามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้และถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาลพิมาย ทางทีมแพทย์ก็จะประเมินอาการ หากอาการไม่หนักมากนัก ก็จะรับตัวไปรักษา แต่หากอาการหนัก ก็อาจจะพิจารณานำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย กล่าวยอมรับว่า ออกซิเจนเหลวที่ใช้กับผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัด จึงอยู่ได้เพียงแค่ 2-3 วัน เนื่องจากเส้นทางคมนาคมขนส่งไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะนี้ ซึ่งทางโรงพยาบาลพิมาย มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนเหลว อยู่ 4-5 ราย
ขณะที่อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หากไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามาอีก น้ำจะท่วมขังโรงพยาบาลประมาณ 10-15 วัน แต่หากได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่ซึ่งจะเข้ามาประมาณวันที่ 23-24 ตุลาคมนี้ โรงพยาบาลจะเผชิญปัญหาน้ำท่วมยาวนานถึง 1 เดือน
ทางด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวัง ปัญหาน้ำท่วมขังมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยพบว่า จะเกิดน้ำท่วมสูงอย่างหนักจำนวน 5 ครั้ง โดยวิกฤติร้ายแรงที่สุดคือน้ำท่วมใน จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะในช่วง 3-4 วันนี้ จะมีน้ำป่าจากเขาใหญ่ไหลลงมาอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ไม่สามารถรองรับน้ำได้แล้ว ส่งผลให้มีน้ำท่วมในหลายอำเภอ
ทางด้าน นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปสถานการณ์น้ำท่วม ว่า เตรียมนำข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมเสนอ นายดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมหาราชบ่ายวันนี้ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช
เตือนจังหวัดที่น้ำจากป่าสักชลสิทธิ์ แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 2 ฝั่ง ต้องเตรียมความพร้อม เรื่องน้ำทะเลหนุนและปริมาณน้ำจากเขื่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงนี้ เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำ
ประกอบกับช่วงวันที่ 23-26 ตุลาคม ถือเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด กรมชลประทานจึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม
ข่าวนํ้าท่วม เกาะติดน้ำท่วมกรุงเทพ
เตือน 22 - 25 ต.ค. น้ำเหนือทะลักเข้ากรุงเทพ
ขณะที่กรุงเทพฯ เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม หลังมีรายงานว่า น้ำเหนือไหลมาสมทบที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ต้องระบายน้ำลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 22- 25 ตุลาคม น้ำจะไหลทะลักเข้ากรุงเทพฯ โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ มีการเตรียมสถานีสูบน้ำ 157 แห่ง และประตูระบายน้ำอีก 214 แห่ง ระบายน้ำแล้ว ส่วนจุดที่คาดว่าอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ อาทิ รัชดาฯ ลาดพร้าว บางนา ศรีนครินทร์
ข่าวนํ้าท่วม จ.ปทุมธานี
ข่าวนํ้าท่วม จ.ปทุมธานี
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ปทุมธานี
นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าฯปทุมธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำเหนือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านประตูระบายน้ำบางไทร ประมาณ 2,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คำนวณว่าระดับน้ำจะเพิ่มอีก 10 เซนติเมตรก็จะเท่ากับระดับคันกั้นน้ำ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ได้ออกสำรวจและสั่งการหน่วยงานให้เร่งเสริมกระสอบทราย ตั้งแนวป้องกันน้ำ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ชั้นในคันกั้นน้ำปลอดภัย ส่วนบ้านที่อยู่ชั้นนอกคั้นกั้นน้ำนั้น ขณะนี้น้ำได้ทะลักเข้าท่วมชั้นล่างของตัวบ้านหมดแล้ว โดยพื้นที่ อ.สามโคก อ.เมือง ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่า ระดับน้ำในปีนี้จะสูงเทียบเท่าปี พ.ศ.2549 โดยทางจังหวัด ได้เร่งนำสิ่งของและอาหาร แจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว
ส่วนที่สถานีตรวจคนเข้าเมือง จ.ปทุมธานี หรือโรงพักสามโคกเก่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ ทำให้ พ.ต.ท.วีระศักดิ์ วงศ์ป้อม สว.ตม.จ.ปทุมธานี ได้ประสานไปยังเทศบาลตำบลบางเตยนำกระสอบทรายมาวางเรียงรายทำทางเดินบริการให้ชาวต่างชาติที่จะต้องเดินทางมาต่อวีซ่าหนังสือเดินทางวันละกว่าสองร้อยคน
ข่าวน้ำท่วม จ.ปทุมธานี
ข่าวน้ำท่วม จ.ปทุมธานี
ขณะที่วัดน้ำวน ต.บางเดื่อ อ.เมือง จ.ปทุมธานี น้ำได้ขึ้นสูงมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในวันนี้น้ำได้ท่วมพื้นที่ลานวัดทั้งหมด สูงกว่า 50 ซ.ม. ทำให้ผู้ที่ป่วยโรคทางกระดูกที่ได้มารักษากับพระที่วัดแห่งนี้ ต้องลุยน้ำเข้าไปในวัด และพระเณร จะออกบิณฑบาต หรือออกไปทำธุระนอกวัดจะต้องลุยน้ำออกไป สร้างความเดือดร้อน ทำให้ชาวบ้านที่ตั้งอยู่ 2 อำเภอ คือ อ.สามโคก และ อ.เมืองปทุมธานี ที่มีบ้านเรือนนอกแนวกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบทุกหลังคาเรือน
ทางด้าน นายธานี สามารถกิจ พร้อมด้วย นายโชคชัย เดชอมรธัญ ปลัดจังหวัด ต่างได้ออกไปพบปะชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมทั้ง 2 อำเภอ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ในแนวกั้นน้ำทางจังหวัด ได้มีคำสั่งให้พื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น พร้อมกับนายอำเภอ ออกตรวจสภาพน้ำ และให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนทุกหลังคาเรือน เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ชั้นในมีผลกระทบบางพื้นที่เท่านั้น แต่ได้ทาง อบจ. ได้นำข้าวสารมาแจกจ่ายทุกหลังคาเรือนในจังหวัดปทุมธานี จะได้รับแจกข้าวสาร หลังละ 10 ก.ก. ซึ่งทาง อบจ.นำงบภัยพิบัติ มาจัดซื้อข้าวสารในการแจกครั้งนี้
สถานการณ์น้ำท่วม จ.นครปฐม
ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม
ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม
น้ำในแม่น้ำท่าจีน ที่ไหลผ่าน อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสามารถวัด 2.70 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเลยจุดวิกฤติ และได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนตามที่ลุ่มแล้ว โดยพื้นที่ ตำบลบางหลวง เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วม จากน้ำในแม่น้ำท่าจีน ไหลล้นตลิ่งมากที่สุด
เรือโท กฤษณ์ จินตะเวช นายอำเภอบางเลน กล่าวว่า จากที่ออกตรวจพื้นที่เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่ อ.บางเลน พบว่า มีน้ำท่วมบ้านเรือน ประชาชนไปแล้วประมาณ 5,000 หลังคาเรือนใน 9 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร และทางอำเภอได้ประกาศ ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว พร้อมสำรวจพื้นที่น้ำท่วม ในตำบลอื่น ๆ เพิ่มเติม และได้เสนอให้ทางจังหวัด พิจารณาในการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอีก 3 ตำบล
ด้านการเตือนภัย ได้แจ้งเตือนประชาชน ที่อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ให้เฝ้าติดตามระดับน้ำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้ขนข้าวของ ขึ้นอยู่บนที่สูงไว้ก่อน เพราะปริมาณน้ำท่าจีน ยังคงมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง
น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.ป่าโมก 2 ตำบล โดยประชาชนใน อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ต้องช่วยกันเร่งบรรจุกระสอบทรายเพื่อทำเป็นคันกั้นน้ำ หลังพบว่าระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางจุดสูงจนเกิดคันกั้นน้ำและเริ่มทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้ จากการที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะระบายน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำบางจุดได้สูงกว่าระดับวิกฤติแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ลำปาง
นายสุรพล บุรินทราพันธุ์ นายอำเภอแม่พริก จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ อ.แม่พริก จ.ลำปาง ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำฝนมากถึง 70 เซนติเมตร ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากนั้น ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำผาวิ่งชู้ ต.แม่พริก อ.แม่พริก ระดับน้ำสูงขึ้นใกล้ล้นระดับเหนืออ่างแล้ว ทั้งนี้ทาง อ.แม่พริก จึงประกาศให้ราษฎรจำนวนกว่า 10 หมู่บ้าน ใน อ.แม่พริก เตรียมพร้อมรับมือกับภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันไว้แล้ว
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ ก็ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมากในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 หลังจากในช่วงวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่งทำให้น้ำป่าท่วมบริเวณถนนทางเข้าหมู่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน มาแล้วครั้งหนึ่ง
สถานการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน 5 อำเภอ 54 ตำบล 297 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,494 ครัวเรือน 13,977 คน ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา บางไทร มหาราช ผักไห่ และบางบาล ขณะที่คนงานกรมศิลปากรกว่า 50 คน ต้องเร่งช่วยกันนำกระสอบทรายไปเสริมแนวบังเกอร์คอนกรีตบริเวณวัดธรรมาราม ซึ่งภายในวัดมีหอพระไตรปิฎกเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา หลังพบระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเหลืออีกเพียง 10 เซนติเมตร ก็จะเลยแนวกั้น
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี
น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาดี และกบินทร์บุรี ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ ขณะที่นางร่ม นุชนารถ อายุ 60 ปี และลูกชายอายุ 47 ปี ชาวชุมชนโรงสี เขตเทศบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ต้องนำที่นอนผืนเล็ก มาปูบนแคร่ใต้ร่มไม้ข้างถนน เพื่อใช้เป็นที่หลับนอน โดยมีสังกะสีเก่าเพียงแผ่นเดียวไว้กันฝน หลังบ้านถูกน้ำท่วม จนไม่สามารถพักอาศัยได้เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ทำให้ความเป็นอยู่เป็นไปอย่างยากลำบาก
โดยนางร่ม เล่าว่า หลังเกิดน้ำท่วมยังไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือ แม้แต่หน่วยงานเดียว หากมีฝนตกลงมาความเป็นอยู่จะลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจาก มีเพียงสังกะสีเก่าแผ่นเดียวใช้กันฝน จึงอยากให้น้ำลดเร็วที่สุด เพื่อจะได้กลับเข้าไปอยู่บ้าน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครอบครัวต้องอพยพมาอยู่ริมถนน โดยน้ำเต็นท์มากางเป็นที่นอน แต่สภาพความเป็นอยู่แออัดยัดเยียด เนื่องจาก เป็นครอบครัวใหญ่และมีเต็นท์เพียงหลังเดียว ขณะสถานการณ์น้ำท่วมชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี และตลาดเจ้าสำอาง ย่านธุรกิจสำคัญ ยังคงมีน้ำไหลหลากเข้าท่วมอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และชุมชนตลาดเก่า ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร 90 เซนติเมตร
สถานการณ์น้ำท่วม จ.บุรีรัมย์
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.บุรีรัมย์ ยังคงขยายวงกว้างมากขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก และน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนห้วยเมฆา ได้ไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรที่กำลังตั้งท้องเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ อ.ประโคนชัย และ อ.ละหานทราย จำนวนหลายพันไร่ จากที่ก่อนหน้านี้น้ำได้เอ่อท่วมนาข้าวของเกษตรกรใน อ.บ้านกรวด แล้วกว่า 5 พันไร่ ทั้งนี้คาดว่า หากระดับน้ำไม่ลดลง ภายใน 2-3 สัปดาห์ ข้าวที่ถูกน้ำท่วมจะเน่าตายเสียหาย
นอกจากนี้ น้ำยังได้ไหลบ่าเข้าเอ่อท่วมถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอหลายจุด ทำให้รถสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก ซึ่งทาง อบต. และเทศบาล ได้มีการทำป้ายแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนทราบ ตามบริเวณถนนที่มีน้ำท่วมดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยล่าสุด มีการประกาศ 9 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 13,000 ครัวเรือน จมน้ำเสียชีวิต 4 คน ถนนเสียหาย 98 สาย สะพานขาด 2 แห่ง นอกจากนี้ ประกาศเตือนชาวบ้าน อ.พุทไธสง อ.คูเมือง และ อ.สตึก ที่ติดกับลำน้ำมูล ให้ัเตรียมอพยพขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่บนสูง เนื่องจากน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมา เริ่มไหลหลากลงลำน้ำมูลหนุนสูงอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 2 วันนี้ น้ำจะล้นตลิ่งเข้าท่วม
สถานการณ์น้ำท่วม จ.กาฬสินธุ์
อุตุนิยมวิทยา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ได้ออกวิทยุประกาศเตือนประชานในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ พื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ เนื่องจากเกิดฝนตกระลอกใหม่ และยังพบว่า เกิดปัญหาภาวะน้ำในลำน้ำชีหนุนสูง เนื่องจากอิทธิพลจาก จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ยังพบว่าพื้นที่นา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มใน อ.ร่องคำ อ.กมลาไสย ยังคงถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง
ด้านนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เน้นย้ำให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ กำชับให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะ อ.สมเด็จ อ.คำม่วง ซึ่งติดกับเทือกเขาพูพาน ให้ทำการตรวจสอบกระแสน้ำป่าจากเทือกเขา ซึ่งหอกระจายข่าวจะต้องร่วมทำหน้าที่เตือนภัย ทั้งนี้ปริมาณฝนและสภาพอากาศในปีนี้ นับว่ามีความผิดปกติ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับลำน้ำ ยังจะต้องเฝ้าระวังในส่วนของเขื่อนลำปาว ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,259 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็น
สถานการณ์น้ำท่วม จ.นครสวรรค์
หลังจากที่ฝนได้ตกตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ทำให้ จ.นครสวรรค์เกิดน้ำป่าไหลหลากในเขตหลายอำเภอ ซึ่งล่าสุด จ.นครสวรรค์ ได้ออกประกาศให้พื้นที่ จ.นครสวรรค์ทั้ง 15 อำเภอเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว โดยในพื้นที่ อ.หนองบัว อ.ไพศาลี ถูกน้ำท่วมหนักสุดในปีนี้ และมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย อยู่ที่หมู่ 4 ต.ท่าตะโก อ.ท่าตะโก หลังลงข่ายจับปลาและประสบเหตุจมน้ำเสียชีวิต
น้ำท่วม จ.ชัยภูมิ
สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ ปีนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 12 ปี หลังจากที่ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลลงมาที่เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด ทำให้ต้องมีการระบายน้ำออกจากเขื่อน และไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรใน อ.เกษตรสมบูรณ์ ทำให้มีปริมาณน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร ท่วมสถานที่ราชการหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาลตำบล สถานีตำรวจ และโรงพยาบาล ถนนทางเข้าทางออกอำเภอท่วมสูง รถเล็กวิ่งผ่านไม่ได้
ขณะที่น้ำในเขื่อนลำปะทาวได้ล้นเขื่อนและไหลทะลักเข้าท่วม อ.เมืองชัยภูมิแล้ว ปริมาณน้ำสูง 1.50 เมตร เจ้าหน้าที่เร่งอพยพประชาชนเป็นการด่วน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ที่บ้านท่าศาลา ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส น้ำท่วมเส้นทางเข้าหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน กว่า 80 หลังคาเรือน โดยน้ำจากแม่น้ำชี ไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ขอนแก่น
กระแสน้ำในลำน้ำชี เริ่มเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเขื่อนลำปะทาวและเขื่อนจุฬาภรณ์ ในเขต จ.ชัยภูมิ เริ่มไม่สามารถรองรับระดับน้ำได้ หลังกระแสน้ำจากพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ ไหลหนุนสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ทุกเขื่อนต้องเร่งระบายน้ำตลอด ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้หลายอำเภอของ จ.ขอนแก่น ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วง 1-2 วันนี้
นายพยัต ชาญประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ได้กำหนดแผนได้รับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก มีน้ำท่วมในหลายอำเภอ ทำให้แผนการเตรียมความพร้อม ในเรื่องของการอพยพประชาชน และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมที่จะลงพื้นที่ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
สถานการณ์น้ำท่วม จ.สระแก้ว
สถานการณ์น้ำท่วมของ จ.สระแก้ว ขณะนี้มีประมาณ 30% ของพื้นที่ โดยที่ผ่านมามีปริมาณน้ำท่วมสูงสุดที่ อ.โคกสูง ขณะนี้น้ำได้เริ่มลดลงแล้ว แต่ยังคงปิดเส้นทางบ้านโคกสะแบง- หนองเอี่ยน ด้าน อ.อรัญประเทศ บริเวณตลาดโรงเกลือ หลังจากที่มีปริมาณน้ำเอ่อท่วมถึง 2 วัน ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีเพียงในเขตเทศบาล และบางตำบลที่ยังมีปริมาณน้ำอยู่ เพียงแค่ 30 เซนติเมตร ด้าน อ.วังน้ำเย็น และ อ.เขาฉกรรจ์ มีปริมาณของน้ำท่วมเข้าพื้นที่การเกษตรบางส่วน โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา อ.เมืองสระแก้ว ที่บริเวณคลองหนุมาน ได้มีน้ำเอ่อท่วมที่ ต.สระขวัญ เข้าท่วม 5 หมู่บ้าน 20 ครัวเรือน
สถานการณ์น้ำท่วม จ.สุพรรณบุรี
น้ำในแม่น้ำท่าจีน เริ่มไหลทะลักเข้าบ้านเรือนที่อยู่ใกล้น้ำแล้ว แต่ทางเทศบาลได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่ รวมถึงขอกำลังทหารจากกาญจนบุรี กว่า 100 คน เข้าวางแนวกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำ พร้อมตั้งเครื่องสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง ระบุหากปริมาณน้ำสูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตร น้ำจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือน
ด้านนายเอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีน สูงกว่าระดับถนนพระพันวษาประมาณ 30 เซนติเมตร และน้ำในแม่น้ำท่าจีน สูงประมาณ 5.90 เซนติเมตร และทางเทศบาลสามารถรับน้ำได้เพียง 6.10 เมตร ซึ่งถ้าปริมาณน้ำสูงขึ้นอีก ก็ต้องประกาศเป็นเขตพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากน้ำ
สถานการณ์น้ำท่วม จ.สระบุรี
น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสระบุรี อ.หมวกเหล็ก และ อ.เสาไห้ ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ
น้ำล้นสปริงเวย์เข้าท่วมในพื้นที่ตำบลกันทรอม อ.ขุนหาญ ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ
สถานการณ์น้ำท่วม จ.นครนายก
น้ำท่วมใน อ.บ้านนา 2 ตำบล ราษฎรเดือดร้อน 500 ครัวเรือน 1500 คน
สถานการณ์น้ำท่วม จ.เพชรบูรณ์
น้ำท่วมในพื้นที่ อ.วิเชียรบุรี รวม 14 ตำบล
สถานการณ์น้ำท่วม จ.พิจิตร
ข่าวน้ำท่วม จ.พิจิตร
ข่าวน้ำท่วม จ.พิจิตร
น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งใน 4 อำเภอ 14 ตำบล ได้แก่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนางราง และ อ.โพทะเล
นายสัลเลข คำใจ ปภ.พิจิตร และ นายณรงค์ศักดิ์ หอมมาลัย นายอำเภอบางมูลนาก ได้เปิดเผยถึงเหตุน้ำท่วม หลังจาก 2 วัน 2 คืนที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก ทั้งในเขตพิจิตรและเขต จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นรอยต่อติดกับจังหวัดพิจิตร ทางด้านทิศตะวันออก โดยน้ำป่าได้ไหลหลากมาจาก อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และไหลบ่าเข้าท่วมหลายตำบล โดยเฉพาะในที่ลุ่มของ ต.ห้วยเขน ระดับน้ำได้ท่วมกว่า 1 เมตร ทำให้ต้องอพยพขนย้าย คน สัตว์ สิ่งของ ขึ้นไปอยู่ในที่สูง
นอกจากนี้ น้ำยังได้เอ่อล้นจากคลองส่งน้ำภายในหมู่บ้านไปเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตร ที่เป็นนาข้าวเสียหาย นับพันไร่ รวมไปถึงถนนที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ก็ได้ถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน อีกทั้งในช่วง 1 ถึง 2 วันนี้ ก็ได้ออกประกาศเตือน ให้ระวังน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ จะไหลบ่าเข้ามาซ้ำเติมอีกโดยได้สั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความอุ่นใจให้ชาวบ้านแล้ว
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ตาก
นายธานินทร์ วิชิตตระกูล นายอำเภอบ้านตาก จ.ตาก แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมรับมือน้ำป่า ย้ายของขึ้นที่สูง คาดไหลท่วมเขตเทศบาลใน 1-2 วันนี้ หลังน้ำป่าในลำห้วยทุ่งกระเช้าที่ไหลมาจากยอดเขาในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ป่าแม่ตื่น ไหลผ่านพื้นที่เทศบาลตำบลทุ่งกระเชาะ อ.บ้านตาก จ.ตาก อยู่ในระดับใกล้จุดวิกฤต
และจากการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มีปริมาณเกินกว่า 120 มม. ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน ประกอบกับระดับน้ำในลำห้วยในป่าอุทยานแห่งชาติที่ไหลผ่านในพื้นที่เขตเทศบาล มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม และประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ให้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะนี้
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ชัยนาท
น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ 17 ตำบล 175 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เนินขาม อ.หันคา และ อ.สรรพยา
สถานการณ์น้ำท่วม จ.เพชรบุรี
น้ำท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ 79 ตำบล ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขัง 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านแหลม และอ.บ้านลาด
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ระยอง
น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองระยอง และ อ.วังจันทร์
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ตราด
เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เกาะช้าง และ อ.แหลมงอบ
สถานการณ์น้ำท่วม จ.ลพบุรี
น้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ 75 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองลพบุรี อ.โคกสำโรง อ.ชัยบาดาล อ.พัฒนานิคม อ.ลำสนธิ อ.ท่าหลวง อ.หนองม่วง อ.สระโบสถ์ อ.โคกเจริญ อ.บ้านหมี่ และอ.ท่าวุ้ง
ข่าวนํ้าท่วม แผนที่น้ำท่วมกรุงเทพ จาก Google map
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย "ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน" ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2553
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อไปได้อีก แต่ปริมาณจะลดลง สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก ยังคงต้องระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมต่อไปอีก
ในช่วงวันที่ 19 - 22 ต.ค. มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา
อนึ่ง พายุไต้ฝุ่นเมกี (MEGI) ได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางแล้ว คาดว่า จะเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ใกล้เกาะฮ่องกง ในช่วงวันที่ 22-23 ตุลาคม 2553 ซึ่งพายุนี้จะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย
- ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
- ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7
- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690
- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830
- กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ
- สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
คำแนะนำจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย สำหรับผู้บริจาคขณะเกิดอุทกภัย
1. หากผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
สามารถบริจาคทาง ชื่อบัญชี "สภากาชาดไทย" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ประเภทออมทรัยพ์ เลขที่ 045-2-88000-6 ระบุ ในสลิปโอนเงินว่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของผู้บริจาคให้ชัดเจน แล้ว Fax ใบสลิปนั้นมาที่เบอร์ 0-2250-0120 เพื่อออกใบเสร็จ
2. หากผู้บริจาคประสงค์ที่จะบริจาคเป็นเครื่องอุปโภค-บริโภค
สามารถบริจาคได้ที่ อาคารสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย 1871 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพ 10330 หากมาจากถนนพระราม 4 ให้เลี้ยวตรงแยกอังรีดูนังต์ เมื่อเข้าสู่ถนนอังรีดูนังต์ให้ชิดซ้ายทันที เนื่องจากอยู่ต้นๆถนน (ทางด้านพระราม 4) เบอร์โทรศัพท์ 0-2251-7853 ต่อ 1603,1102 หากเป็นวันหยุดราชการ ต่อ 1302
3. หากประสงค์จะมาช่วยแพ็คชุดธารน้ำใจ
บางครั้งเราอาจต้องการผู้มีกำลังมาช่วยแพ็คชุดธารน้ำใจ หรือช่วยขนพวกข้าวสารอาหารแห้งขึ้นรถบรรทุก แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องการผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถยกของหนักได้ (เพราะงานค่อนข้างหนัก และต้องยกของหนัก) หากเป็นชายก็จะดีมาก
ถ้าผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะมาช่วยแรง ให้โทรมาที่ เบอร์ 0-251-7853 ต่อ 1603 เพื่อลงทะเบียนชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ไว้ หากเราต้องการกำลังพล จะโทรศัพท์ไปติดต่อว่าจะสะดวกมาในวันที่เราแพ็คของหรือไม่ เป็นราย ๆไป
การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม
1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น
2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม
3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)
4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง
5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ
7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม
8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด
10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด
11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน
12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที
13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย
14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์
15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ
16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ
ข่าวน้ำท่วม บริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม คลิกเลยค่ะ
ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม กับกระปุกดอทคอม คลิกเลยค่ะ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา