x close

24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ


          วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เพราะอะไรจึงถูกกำหนดขึ้นในวันนี้ อ่านประวัติความเป็นมาวันศิลปินแห่งชาติกันเลย

 

วันศิลปินแห่งชาติ

          ศิลปะชั้นเลิศ มักถูกถ่ายทอดจากความรู้สึกนึกคิด และความสามารถของผู้ที่เป็น "ศิลปินชั้นเอก" ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินสาขาต่าง ๆ มากมาย ที่สร้างผลงานน่าประทับใจ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงกำหนดให้มี วันศิลปินแห่งชาติ และจัดให้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ "ศิลปินแห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี


ประวัติความเป็นมา วันศิลปินแห่งชาติ


          วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ

          ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณา


ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ


          ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ศิลปินแห่งชาติ มาเมื่อปี พ.ศ. 2527  และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่าง ๆ มาแล้วหลายคน

ค่าตอบแทน-สวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ


          สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท สามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี มีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน 50,000 บาท ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้งต่อครั้ง และหากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 20,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึกไม่เกิน 150,000 บาท และค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มีดังนี้


          1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน

          2. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น

          3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน

          4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น

          5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน

          6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน

          7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ


การจำแนกสาขาศิลปะของศิลปินแห่งชาติ


          1. สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดังต่อไปนี้

                - จิตรกรรม หมายถึง ภาพเขียนสีและภาพลายเส้น

                - ประติมากรรม หมายถึง งานปั้นและแกะสลัก

                - ภาพพิมพ์ หมายถึง ศิลปะการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โลหะ ฯลฯ

                - ภาพถ่าย หมายถึง ผลงานศิลปะภาพถ่ายที่เสนอด้วยสื่อและกรรมวิธีต่าง ๆ

                - สื่อประสม หมายถึง ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยกรรมวิธีและเทคนิคต่าง ๆ อย่างอิสระ

          2. สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึง งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

          3. สาขาวรรณศิลป์ (Literature) หมายถึง บทประพันธ์ที่ปลุกมโนคติของผู้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี สำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ หนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

          4. สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่

                4.1 การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)

                4.2 การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล

                     - นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ

                     - นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่าง ๆ และสามารถแหล่ทำนองต่าง ๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)

                     - นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ทั้งทางร้องและทางดนตรี

                     - ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น

                     - ผู้ผลิตเครื่องดนตรี

                4.3 การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ อัปเดตล่าสุด 20 ธันวาคม 2566 เวลา 19:28:19 134,674 อ่าน
TOP