x close

ไอโอดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ?




 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด และเกิดการรั่วไหลที่ประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ก็ทำให้ประชาชนต่างหวาดผวา กลัวว่าสารกัมมันตรังสีจากเหตุระเบิดจะส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือหนาหูในประเทศไทยถึงประเด็นดังกล่าวทั้งทาง SMS 1และฟอร์เวิร์ดเมล ( forward mail ) ว่า แรงลมจากประเทศญี่ปุ่นได้พัดพาสารกัมมันตรังสีมายังประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  ทำให้เป็นอันตรายโดยตรงต่อคนที่สัมผัส  โดยเฉพาะเวลาฝนตกช่วงนี้ควรงดออกจากบ้าน และหากโดนฝนให้ใช้เบตาดีนเช็ดบริเวณที่โดน เพราะถ้าซึมเข้าผิวหนังจะทำให้ป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ หรือไม่ก็ต้องไปซื้อไอโอดีนมาทาน ไม่งั้นอาจจะทำให้เสียชีวิตได้!!!

          อย่างไรก็ตาม หลังได้รับข้อความและข่าวลือดังกล่าว อาจจะยังมีหลายคนไม่เข้าใจว่า สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมานั้นคืออะไร มีผลร้ายกับมนุษย์แค่ไหน เราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร และการที่คนแห่ไปซื้อไอโอดีนมาทานกันนั้น เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสารกัมมันตรังสีอย่างถูกต้อง คุณ CMV แห่งเว็บไซต์พันทิป จึงได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ค่ะ

          สำหรับ สารกัมมันตรังสีที่รั่วออกมา และตรวจจับได้ในครั้งนี้ คือ I-131 และCs (ซีเซียม) ซึ่งไม่ใช่สารเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ แต่เป็นผลผลิตจากการแตกตัวของอะตอมของสารเชื้อเพลิง โดย Iodine-131 (I-131) หรือไอโอดีนที่เป็นสารกัมมันตรังสี ทางการแพทย์จะใช้สำหรับรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยการให้คนไข้กลืนแร่นี้เข้าไปหยุดการทำงานของต่อมไทรอยด์ ถึงตรงนี้ คนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อคนไข้ทานได้ แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ๆ รับแร่ตัวนี้ไปจะเป็นอันตรายได้อย่างไร

          คำตอบก็คือ ในการใช้ I-131 รักษาคนไข้นั้น แพทย์จะให้คนไข้ทานครั้งเดียว และให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลที่มีฉากตะกั่วกั้นทั้งสองด้าน เพื่อไม่ให้สารกัมมันตรังสีแพร่กระจายออกไป จากนั้นสารไอโอดีนจะถูกขับออกมาทางเหงื่อและปัสสาวะ ซึ่งมีปริมาณน้อยมากแทบไม่มีผลต่อคนที่อยู่ด้วยใกล้ ๆ

          แต่ทว่า I-131 ที่ออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ถือเป็นอันตรายเนื่องจากหากได้รับสารตัวนี้นาน ๆ เข้า ไม่ว่าจะมาจากการสะสมทางอาหาร ฯลฯ มันจะไปหยุดการทำงานของต่อมไทรอยด์ และไปสะสมในต่อมไทรอยด์ เมื่อได้รับต่อเนื่องกันเป็นปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ จนทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรืออย่างเบา ๆ ก็คือไทรอยด์อักเสบได้

          ทั้งนี้ I-131 มีค่าครึ่งชีวิต (Half Life) อยู่ที่ 8 วัน แต่การจะถือว่าสารรังสีตัวนั้นตายแล้ว ต้องผ่านไป 10 Half Life เพราะฉะนั้นในกรณีของ I-131 จะเท่ากับ 80 วัน แต่ในความเป็นจริง ประมาณ 5 Half Life หรือ 40 วันสารก็แทบจะหมดแล้ว แต่หาก I-131 จะปนเปื้อน คงจะปนเปื้อนผ่านทางอาหารการกิน เช่น ผัก ผลไม้ นม เนื้อวัว มากกว่า ดังนั้น ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้ I-131 เข้าสู่ร่างกาย ด้วยการแจกไอโอดีน (ธรรมดา) ให้ทานล่วงหน้า โดยไอโอดีนจะถูกนำไปเก็บไว้ในต่อมไทรอยด์ เพื่อแย่งจับกับ Receptor ที่ต่อมไทรอยด์ก่อนที่จะโดน I-131 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีแย่งจับ เหมือนเป็นการรีบเติมไอโอดีนธรรมดาให้เต็มไว้ล่วงหน้า เพื่อว่าเวลาที่เราอาจรับสาร I-131 เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ I-131 จะได้ไม่เข้าไปเก็บสะสมในต่อมไทรอยด์ เพราะเรามีไอโอดีน (ธรรมดา) เก็บไว้เต็มแล้วนั่นเอง

          ส่วนสารกัมมันตรังสีอีกตัวที่ตรวจจับได้ว่ารั่วไหลออกมา คือ Caesium (Cs) หรือ ซีเซี่ยม ซึ่งมีอยู่ถึง 39 ไอโซโทป สำหรับตัวที่รั่วไหลออกมาคือ ไอโซโทป 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี แม้พิษจะรุนแรงน้อยกว่าตัว I-131 แต่หากได้รับซีเซี่ยมเข้าไปตรง ๆ ในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการแพ้ คันอย่างรุนแรง หรือชักเกร็งกระตุกได้

          ทั้งนี้ ตัว Cs-137 มักจะปนเปื้อนตกค้างในพืชผัก แต่โชคดีที่ว่า Caesium (Cs) ไม่ใช่สารกัมมันตรังสีที่จะเข้าไปสะสมในร่างกายได้เหมือน I-131 เพราะฉะนั้น เมื่อเผลอทานซีเซี่ยมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ร่างกายจะขับออกมาได้เองอย่างรวดเร็วผ่านทางเหงื่อ และปัสสาวะนั่นเอง ดังนั้นแล้วจึงไม่ต้องกังวลว่า ซีเซี่ยม จะก่อให้เกิดมะเร็ง เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับซีเซี่ยม เป็นระยะเวลานานมาก ๆ เท่านั้น ก็อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด

          แต่สำหรับสัตว์ อย่างเช่น "ปลา" ที่อยู่ตามทะเลแถบนั้น ย่อมหนีไม่พ้นที่จะได้รับสาร I-131 และ Cs-137 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะตัว Cs-137 ที่มีครึ่งชีวิตถึง 30 ปี จะเจือปนในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล รวมทั้งน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวด้วย เหตุนี้หลายคนจึงกลัวที่จะทาน "ปลาดิบ" จากญี่ปุ่น เพราะเกรงว่าจะรับสารเข้าไปนั่นเอง



          อย่างไรก็ตาม หลังจากข่าวการรั่วไหลของสาร I-131 แพร่สะพัดออกไป ก็ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มเสี่ยงเริ่มสั่งซื้อไอโอดีน นั่นจึงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนเกี่ยวกับการใช้ไอโอดีนว่า อย่าซื้อไอโอดีนมาใช้เองเป็นอันขาด และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะไอโอดีน แม้จะสามารถต่อต้านสารกัมมันตรังสีบางชนิดได้ แต่ไม่สามารถต่อต้านสารกัมมันตรังสีอย่างซีเซียมที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นในขณะนี้ได้ กลับกันมันยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพกับคนบางกลุ่ม รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ด้วย นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้นำ "ไอโอดีนเหลว" หรือ "เบต้าดีน" ที่ชาวเอเชียใช้ล้างแผลมาดื่มหรือทา เพราะไอโอดีนเป็นยาที่อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาล และต้องได้รับการอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น

          โดย เภสัชกรพอล โฮ จากกัวลาลัมเปอร์ ได้เปิดเผยว่า "มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย ประชาชนหลายประเทศทั่วโลกอ่านข่าวเกี่ยวกับการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น จากนั้นก็สั่งไอโอดีนชนิดเม็ดกันเป็นจำนวนมาก แถมเภสัชกรก็ยังยอมจ่ายยาให้อีก นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตอีกว่า การทาไอโอดีนเหลวที่คอจะช่วยป้องกันสารกัมมันตรังสีซึมเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย ตรงนี้ผมไม่รู้ว่าประชาชนทำกันจริง ๆ หรือเปล่า แต่เราต้องลบล้างความเข้าใจผิดนี้เสียตอนนี้"

          ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดเผยว่า ไอโอดีนไม่สามารถต้านสารกัมมันตรังสีซีเซียมที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าได้ แต่ประชาชนก็สามารถป้องกันสารกัมมันตรังสีได้ด้วยตัวเอง โดยการปิดประตูหน้าต่างให้สนิททั่วบ้าน ไม่เปิดแอร์ บริโภคอาหารและดื่มน้ำจากภาชนะที่ปิดแน่น และพยายามอย่าออกนอกอาคารเด็ดขาด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ก็ควรใช้ผ้าปิดจมูกหรือสวมหน้ากากป้องกันให้เรียบร้อย

 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณ CMV เว็บไซต์พันทิป  ,






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไอโอดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ? อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2554 เวลา 18:16:37 34,051 อ่าน
TOP