ขึ้นลงบันไดเลื่อน ยืนชิดขวากันเถอะพี่น้อง!!!

บัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส

บัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก bts.co.th , youtube.com โดย คุณ lloydbrookes10

          "ขอทางหน่อยค่ะ" คำพูดนี้อาจออกมาจากปากใครสักคนที่กำลังขอแซงเราขึ้นบันไดเลื่อน หรือเราอาจจะเป็นฝ่ายเคยเอ่ยปากพูดเสียเอง ยามที่เรากำลังรีบไปไหนสักแห่งแล้วมีคนมากมายยืนเกะกะขวางทางบันไดเลื่อนอยู่

         นั่นก็เพราะ (นิสัย) ปกติของคนไทยส่วนใหญ่เวลาขึ้นบันไดเลื่อน จะไม่ค่อยยืนชิดข้างใดข้างหนึ่งอย่างประเทศอื่น ๆ ที่เขาปฏิบัติกัน โดยเฉพาะใครที่มากันเป็นคู่ ๆ หรือกลุ่มใหญ่ ๆ ก็มักจะยืนอยู่ข้าง ๆ กัน หรือเกาะกลุ่มคุยกันที่บันได โดยไม่ได้รู้สึกว่า นี่คือพฤติกรรมที่ไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าไหร่นัก แถมคนอื่น ๆ ก็ยังไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดอะไรมากมายด้วยเสียนี่ จนหลายคนมองว่า นี่กลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทยไปเสียแล้ว

          แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่า จริง ๆ แล้ว การขึ้นบันไดเลื่อนโดยยืนชิดขวานั้น คือสิ่งที่ถูกต้องที่เราทุกคนควรปฏิบัติกันในสังคม เพื่อให้คนที่มีเหตุเร่งรีบจำเป็นผ่านทางซ้ายขึ้นบันไดเลื่อนไปได้โดยเร็ว งานนี้กลุ่มคนไทยขึ้นบันไดชิดขวา จึงริเริ่มหันมาเชิญชวนให้คนไทยมีวินัยกันมากขึ้น ด้วยการเปิดหน้าเฟซบุ๊ก "คนไทยขึ้นบันไดยืนชิดขวา" ขึ้น รณรงค์ให้ทุกคนหันมาทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสังคม เพียงแค่การยืนชิดขวาขณะขึ้นบันไดเท่านั้นเอง   

         หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ...ทำไมถึงต้องยืนชิดขวาด้วยล่ะ? ชิดซ้าย ไม่ได้หรือ? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ คุณหมอแมว จึงได้ค้นคว้าหาเหตุผลต่าง ๆ มาอธิบายให้ฟัง ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะเลือกการ "ยืนชิดขวา" เป็นหลักขณะขึ้นลงบันไดเลื่อน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ขับรถชิดซ้ายเป็นหลักหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมมักถนัดข้างขวา และเห็นว่าการจับราวบันไดขวาถนัดและมั่นคงกว่าฝั่งซ้าย ฉะนั้นแล้วใครที่รีบ ก็ต้องเป็นฝ่ายใช้บันไดฝั่งซ้ายที่ตัวเองไม่ถนัดแทน แต่ก็อาจมีบางเมือง บางประเทศที่เลือกยืนชิดซ้ายเหมือนกันขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเมืองนั้น ๆ


ยืนชิดขวา



         นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ตอกย้ำว่า "ยืนชิดขวา" ดีกว่า "ยืนชิดซ้าย" เป็นไหน ๆ ดังนี้

1.ความเคยชินที่ได้รับการปลูกฝังมา

        หากสังเกตดี ๆ เรามักจะถูกสอนให้เดินชิดขวามาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว ไม่ว่าจะเดินขึ้นสะพานลอย บันได และหากมองให้ละเอียดไปกว่านั้น เราจะเห็นว่า ตามสถานที่ต่าง ๆ มักจะมีลูกศร หรือแบ่งเลนให้เราเดินชิดขวาอยู่ที่พื้น นั่นก็เพราะคนส่วนใหญ่ถนัดขวา มือขวาจึงมีกำลังเหนี่ยวตัว หรือพยุงตัวขึ้นลงบันได้นั่นเอง อย่างเช่นที่ "รถไฟฟ้า BTS" เรามักจะเห็นป้ายติดชัดเจนว่า ให้ยืนชิดขวาและจับราวบันไดเลื่อน

2.ความปลอดภัย

       ขณะขึ้นบันไดเลื่อนซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีใครพิเรนทร์ไปกดปุ่มหยุดบันไดเลื่อน หรือบันไดเลื่อนเกิดขัดข้องกะทันหัน ก็อาจทำให้ผู้ใช้บันไดเลื่อนหกล้มได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้น การใช้มือข้างที่มีกำลังมากกว่า (ซึ่งในคนส่วนใหญ่คือ มือขวา) จับบันไดเลื่อนจะช่วยให้มีแรงเหนี่ยวตัวมากกว่า และจากการทดสอบพบว่า ในคนหนุ่มสาวจะสามารถจับราวบันไดเลื่อนได้ทันภายใน 0.5 วินาทีหากเกิดหยุดกะทันหัน

ยืนชิดขวา

ยืนชิดขวา



        นอกจากนี้ คนที่มักจะยืนจับราวบันไดเลื่อน มักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีกำลัง เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ หรือเด็ก ซึ่งควรจะใช้ "มือขวา" ซึ่งถนัดจับบันไดเลื่อนเพื่อเหนี่ยวตัวไว้ ส่วนใครต้องการแซงก็เท่ากับว่า มีกำลังมากพอที่เดินขึ้นไป และก็ควรจะมีแขนซ้ายในการเดินขึ้น สรุปก็คือควรใช้ฝั่งซ้ายแทนนั่นเอง

         สำหรับผู้สูงอายุที่ขึ้นบันไดเลื่อน ก็เคยมีรายงานการวิจัยจากประเทศเกาหลี บอกว่า คนอายุมากกว่า 65 ปี มักได้รับบาดเจ็บจากจังหวะขึ้นลงบันไดเลื่อนมากกว่าคนอายุน้อยกว่า 65 ปี ประมาณ 20% ซึ่งสาเหตุก็มาจากสุขภาพสายตา ระบบประสาทกล้ามเนื้อแขน ขา ที่ตอบสนองช้า ทำให้ทรงตัวยากกว่าในขณะที่ก้าวถึงจุดเปลี่ยนความเร็วรอยต่อของบันไดเลื่อน เราจึงมักจะสังเกตเห็นผู้สูงอายุใช้มือขวาจับราวบันไดเลื่อนทางขวาให้แน่น เพื่อทรงตัวก่อนที่จะก้าวข้ามไปนั่นเอง

         เหตุผลทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ที่นำมาบอกกัน ก็เพื่อต้องการให้พวกเราทุกคนช่วยกันสร้างความมีระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยของเรา เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่บอกตัวเอง และคนรอบข้าง ให้เปลี่ยนมายืนชิดขวาขณะขึ้นลงบันไดเลื่อนกันดีกว่า เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างระเบียบวินัยที่ดีแล้ว ยังเป็นการแสดง "น้ำใจ" ให้เพื่อนร่วมทางของเราด้วยนะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- คุณหมอแมว (pantip.com)
- facebook คนไทยขึ้นบันไดยืนชิดขวา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขึ้นลงบันไดเลื่อน ยืนชิดขวากันเถอะพี่น้อง!!! อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2554 เวลา 11:13:01 18,258 อ่าน
TOP
x close