สธ.แนะเลี่ยงกินผักสด-ผลไม้ต้องปอกเปลือก ป้องกันอีโคไล






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

     
   สธ.แนะเลี่ยงกินผักสด ผลไม้ต้องปอกเปลือก อาหารต้องปรุงสุกอย่างน้อย 70 องศา  ทางด้านเยอรมนี ชี้เชื้ออีโคไลมีต้นตอมาจากถั่วงอก

          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไล (E.coli O 104) ในแถบประเทศยุโรปทั้ง 12 ประเทศว่า ในวันนี้ (6 มิถุนายน) ทาง สธ. จะทำการประชุมหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง มาหารือเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังของเชื้อดังกล่าว

          โดย นายแพทย์ไพจิตร์ ได้กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต จึงไม่จำเป็นที่จะส่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคไปที่สนามบิน เพราะทางไทยได้มีระบบตรวจสอบผู้โดยสารขาเข้าอยู่แล้ว ถ้ามีผู้ป่วยที่เข้าข่าย เจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดและขอที่อยู่หรือที่พำนักในประเทศเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

         ทางด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป สธ. กล่าวว่า เชื้ออีโคไล (E.coli O 104) เป็นเชื้อที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่มีการติดเชื้อจากภายนอก ทำให้เกิดโรคระบาด ส่วนทางด้านยุโรป เชื่อว่า เชื้อดังกล่าวอาจจะปนเปื้อนมากับอาการทำให้ เชื่อ อีโคไล กลายเป็นสายพันธ์ใหม่ ที่เรียกว่า เอสทีอีซี (STEC-Shiga toxin-producing Escherichia coli) หรือ E.coli O 104 ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงกว่าเดิม ไปสร้างสารพิษทำลายลำไส้ ทำให้ลำไส้มีเลือดออก และอุจจาระเป็นเลือด ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกในกระแสเลือด อาจจะทำให้ไตวายได้ และหากรักษาไม่ทันจะเสียชีวิตในที่สุด

         อย่างไรก็ตาม นายแพทย์โอภาส ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรป้องกันด้วยการดูแลสุขอนามัย ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และปรุงอาหารให้สุกตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งจะทำลายเชื้อดังกล่าวได้ ส่วนผักผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักสด ส่วนผลไม้ก็ควรปอกเปลือก เพราะเชื้อประเภทนี้จะติดบริเวณเปลือก แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องกังวลมาก เพราะประเทศไทยนำเข้าผัก ผลไม้จากต่างประเทศน้อยมาก

        ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของยุโรป เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ว่า ขณะนี้เริ่มทรงตัวแล้ว โดยยอดผู้ติดเชื้อในเยอรมนี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดนั้นลดลง แต่ทางด้านแพทย์ได้ออกมาเตือนว่า ถึงการแพร่เชื้อจะลดลง แต่การระบาดก็ยังไม่สิ้นสุด

       ทั้งนี้ จากการตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่  1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้ออีโคไล 2,153 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 22 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศเยอรมนี โดยทางเยอรมนีได้ประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานผักสดแล้ว

      ขณะที่ ทางกระทรวงเกษตรของเยอรมัน ได้ตรวจสอบสาเหตุของการแพร่ระบาดเชื้ออีโคไลแล้ว โดยเชื่อว่า เชื้อดังกล่าวมีต้นตอมาจากถั่วงอก ที่เพาะปลูกในฟาร์มเรือนกระจก ทางแคว้นโลเออร์ แซกโซนี ทางเหนือของประเทศ

        โดยนายเกิร์ต ฮาห์เน โฆษกกระทรวงเกษตรแคว้นโลเออร์ แซกโซนี ของเยอรมัน เผยว่า จากการตรวจสอบเชื่อว่า ถั่วงอกของท้องถิ่นดังกล่าวคือต้นตอของการแพร่เชื้อ จึงได้ขอเตือนประชาชนให้งดบริโภคถั่วงอกจากพื้นที่ดังกล่าว และอาการที่มีถั่วงอกเป็นส่วนประกอบ




[5 มิถุนายน] ยอดผู้เสียชีวิตเหตุติดเชื้ออีโคไลในยุโรป เพิ่มเป็น 20 ราย




          ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล ในประเทศยุโรป เพิ่มเป็น 20 ราย และยังพบผู้ติดเชื้อเกือบ 2 พันคน ด้านรัฐบาลเยอรมันแนะนำพลเรือน หลีกเลี่ยงการบริโภคผักดิบ 

          ความคืบหน้าการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล โอ 104Ž ในประเทศแถบยุโรป 12 ประเทศ โดยเฉพาะในเยอรมัน ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มีผู้ป่วยหญิงวัย 80 ปี ในรัฐเมคเลนบูร์ก - เวสเทิร์น พอเมอราเนีย ทางตอนเหนือของเยอรมัน ติดเชื้อ อี.โคไล โอ 104 เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อ อี.โคไล ทั่วโลกในขณะนี้เพิ่มขึ้นรวมกันเป็นทั้งสิ้น 19 ราย แล้ว และทำให้มีผู้ติดเชื้ออีกเกือบ 2,000 คน

          หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของเยอรมัน รายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ อี.โคไล อาจมีความเกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลเมืองฮัมบูร์ก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากในเยอรมนี และต่างประเทศ เดินทางมาเที่ยวชมในงานนี้มากถึงราว 1.5 ล้านคน เนื่องจากมีรายงานผู้ติดเชื้อ อี.โคไล รายแรก หลังงานเทศกาลนี้เพียง 1 สัปดาห์ 

          นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า ชายวัย 50 ปี ที่เสียชีวิตในเมืองบรันเดนบูร์ก อาจเป็นเหยื่อรายที่ 20 ที่เสียชีวิตจากเชื้อ อี.โคไล แต่สาเหตุการตายยังไม่ทราบชัดเจน เนื่องจากตรวจพบว่า ชายผู้นี้ติดเชื้อโรคอื่นด้วย นอกเหนือจากเชื้อ อี.โคไล

          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ อยู่ระหว่างเร่งแกะรอยพิสูจน์หาต้นตอการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล ในภูมิภาคยุโรป ทำให้รัฐบาลเยอรมนี ต้องประกาศแนะนำพลเรือน หลีกเลี่ยงการรับประทานผักดิบชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ผลิตและจำหน่ายพืชผักสดเกือบทุกชนิดต่างได้รับผลกระทบ

          ขณะที่องค์การอนามัยโลก แถลงยืนยันการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล ในยุโรป ทั้งยังระบุว่า แบคทีเรียชนิดนี้ เป็นสายพันธุ์อันตรายที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน และยังไม่มีวิธีใหม่ ๆ รักษาผู้ติดเชื้อ ดังนั้น การป้องกัน คือ หนทางที่ดีที่สุด โดยต้องรักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัย หมั่นล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนสัมผัสอาหาร


[4 มิถุนายน] เชื้ออีโคไล ตัวใหม่ ทนยาปฏิชีวนะได้




          นักวิทยาศาสตร์ระบุ อีโคไลตัวใหม่นอกจากจะผลิตสารพิษร้ายแรงได้ ยังสามารถฝังตัวในลำไส้ผู้ป่วย ซ้ำร้ายทนทานยาปฏิชีวนะได้สูง คาดใช้เวลานับเดือนกว่าจะหาทางแก้ได้ 

          องค์การอนามัยโลกระบุว่า แบคทีเรียอีโคไลที่กำลังระบาดคร่าผู้ติดเชื้อชาวยุโรป 17 ราย และทำให้ล้มป่วยอีก 1,624 ราย เป็นเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแหล่งที่มาของโรคน่าจะอยู่ในเยอรมนีเอง

          โดยปกติแบคทีเรีย "เอสเคอริเคียโคไล" หรืออีโคไล ไม่มีอันตราย แต่สายพันธุ์ใหม่ที่สังหารผู้ได้รับเชื้อในยุโรปนั้น มีชื่อสายพันธุ์ว่า "0104:H4" และจัดอยู่ในสายพันธุ์ที่สามารถผลิตสารพิษชิกะท็อกซิน 

          อีโคไลสายพันธุ์นี้สามารถฝังตัวเองในลำไส้ใหญ่แล้วผลิตสารพิษออกมาสู่ร่างกายเหยื่อ ทำให้มีอาการคลื่นไส้และท้องร่วง ไปจนถึงมีอาการ "เม็ดเลือดแดงแตก-ไตวาย" (เอชยูเอส) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต

          ดร. โรเบิร์ต ต็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรคที่แพร่กระจายผ่านอาหาร แห่งสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ ระบุว่า ขณะนี้ในเยอรมนีมีผู้ป่วยอาการเอชยูเอสทั้งหมด 470 รายแล้ว นับว่ามีจำนวนเป็น 10 เท่า ของการแพร่ระบาดเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใกล้เคียงกันในสหรัฐปี 2537

          สถาบันพันธุกรรมวิทยากรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดวางรหัสพันธุกรรมของเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ ชี้แจงว่า อีโคไลสายพันธุ์ใหม่นี้มีความทนทานต่อยาปฏิชีวนะ ดร.ต็อกซ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุใดเชื้อสายพันธุ์จึงมีภูมิต้านทานยาสูง และแนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาผู้ป่วย เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อยามาขึ้น

          การแพร่ระบาดของเชื้อโรคยังส่งผลต่อการค้าและทำให้เกิดความขัดแย้งในทวีปยุโรป ด้านรัสเซียได้สั่งแบนสินค้าพืชผักที่นำเข้าจากยุโรป ส่งผลให้สหภาพยุโรปวิจารณ์ท่าทีดังกล่าวและเรียกร้องให้ยกเลิกการแบนสินค้าโดยทันที ส่วนเยอรมนี ออกมาขอโทษสเปนหลังก่อนหน้านี้กล่าวหาว่าผักนำเข้าจากสเปนเป็นต้นเหตุการระบาด แต่ผลการพิสูจน์พบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน


[3 มิถุนายน] โรคระบาด เยอรมนีสั่งห้ามกินผัก หลังคนตาย - ป่วยอื้อ เพราะกินแตงกวา          



          เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานว่า เชื้อแบคทีเรีย "อีโคไล" ที่ปนเปื้อนในผักเริ่มระบาดเป็นวงกว้างขึ้นไปทั่วยุโรป ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 คน และล้มป่วยอีกกว่า 1,500 คนแล้ว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ชี้นี่เป็นการระบาดของเชื้อโรคในอาหารที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

          รายงานระบุว่า หลังจากที่เชื้อแบคทีเรีย "อีโคไล" ระบาดในเยอรมนี คร่าชีวิตประชาชนไป 15 คน และล้มป่วยอีก ประมาณ 1,200 คน ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด มีรายงานว่า ขณะนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ได้ระบาดขยายวงกว้างไปทั่วยุโรปแล้ว โดยในอังกฤษ พบผู้ป่วยติดเชื้ออีโคไลแล้ว 7 ราย และเสียชีวิตอีก 1 ราย ขณะที่ประชาชนที่ติดเชื้ออีโคไลทั่วยุโรปตอนนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1,500 คนแล้ว ซึ่งกว่า 500 คน มีอาการระบบไตล้มเหลวรุนแรงและอาจจะเสียชีวิต ทำให้หลายประเทศในยุโรปต้องประกาศห้ามประชาชนทานผักสดทุกชนิด ส่งผลให้ธุรกิจค้าผักสดขาดทุนหลายพันล้านบาท

         จากเหตุการณ์ดังกล่าว องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง WHO ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ที่มีอันตรายกว่าเดิมมาก ทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด เม็ดเลือดแดงแตก และระบบไตล้มเหลว เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงถือเป็นเชื้อโรคในอาหารที่มีพิษรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากมันจะส่งผลร้ายดังที่กล่าวมาแล้ว เชื้อแบคทีเรียตัวนี้ยังติดต่อกันได้ถ้ามีความแข็งแรงพอ โดยไม่จำเป็นต้องรับเชื้อโดยตรงจากการบริโภคผักเลย

           ส่วนทางด้านประเทศเยอรมนี ที่เป็นพื้นที่แพร่เชื้อแหล่งใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ทางการยังคงประกาศเตือนให้ประชาชนงดบริโภคผักสดชั่วคราว เพราะยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่นี้แพร่ระบาดมาจากไหน อีกทั้งยังแนะนำให้ประชาชนล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนอีกด้วย


[1 มิถุนายน] เยอรมนีสั่งห้ามกินผัก หลังคนตาย-ป่วยอื้อ เพราะกินแตงกวา




          เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวเยอรมันเสียชีวิตกว่า 15 คน และล้มป่วยอีกหลายร้อยคน หลังทานแตงกวาที่วางขายตามท้องตลาด จนทางการต้องออกประกาศเตือนห้ามทานผักสดทุกชนิด

          รายงานระบุว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนหลายร้อยพากันล้มป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ขณะที่อีก 15 คนเสียชีวิตหลังมีภาวะอาหารเป็นพิษโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้สถาบันศึกษาวิจัยโรคแห่งชาติของเยอรมนี ต้องนำศพผู้เสียชีวิตไปชันสูตร และพบว่า ผู้เสียชีวิตแต่ละรายล้วนได้รับเชื้อแบคทีเรีย "อีโคไล" เช่นเดียวกันทั้งหมด ซึ่งต่อมาก็มีการตรวจพบว่า แบคทีเรียดังกล่าวนี้ มาจากแตงกวาที่วางขายในท้องตลาด ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และขณะนี้ก็มีผู้ป่วยที่ทานแตงกวาและป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษทั่วประเทศแล้วเกือบ 1,200 คน 

          จากการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว ทางด้านศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป ในกรุงสตอกโฮล์ม ได้ออกมาเปิดเผยว่า นี่เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ร้ายแรงที่สุดในโลก และในเยอรมนีเลยทีเดียว โดยผู้ที่ได้รับเชื้อดังกล่าว จะมีอาการท้องร่วง ปวดท้องอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด ตับได้รับความเสียหายอย่างฉับพลัน และทำให้เสียชีวิตได้ 

          ซึ่งจากความร้ายแรงของเชื้อดังกล่าวนี้ ทำให้ทางการเยอรมนีต้องออกประกาศห้ามประชาชนบริโภคผักสดทุกชนิดแล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะมีเชื้อแบคทีเรียอีโคไลในผักชนิดอื่นด้วย พร้อมกับได้สั่งห้ามนำเข้าผักสดทุกชนิดจากประเทศสเปนด้วย หลังจากมีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในแตงกวาชีวภาพที่นำเข้าจากสเปน ทำให้การส่งออกแตงกวาและผักสดของสเปนต้องหยุดชะงัก เกษตรกรในสเปนขาดทุนรวมกันแล้วกว่า 9,300 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า เชื้อแบคทีเรียอีโคไล ไม่ได้ระบาดเฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังตรวจพบผู้ป่วยจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวทั่วยุโรปรวมแล้วกว่า 1,000 คน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในสเปน สวีเดน ฝรั่งเศส อังกฤษ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ โดยผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมโยงกับผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเยอรมนี

          ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีการระบาดในญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมีการตรวจพบเชื้อดังกล่าวในบาร์บีคิวจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในโตเกียว ทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต 4 คน และล้มป่วยอีกไม่ต่ำกว่า 20 คน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ.แนะเลี่ยงกินผักสด-ผลไม้ต้องปอกเปลือก ป้องกันอีโคไล อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2554 เวลา 08:15:29 67,891 อ่าน
TOP
x close