x close

สถานทูตเยอรมันแถลงไทยควรจ่ายหนี้

 

ภาพล่าสุดของเครื่องโบอิ้ง 737-400
ภาพล่าสุดของเครื่องโบอิ้ง 737-400


สถานทูตเยอรมันแถลงไทยควรจ่ายหนี้ (ไอเอ็นเอ็น)


          สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์กรณีโบอิง 737 บอกคำตัดสินของศาลเป็นอันสิ้นสุด และจะไม่มีการสืบพยานใด ๆ อีกที่จะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินดังกล่าว วอนไทยชำระเงินที่ค้าง เพื่อคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

          เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ยืนยันคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สั่งให้ประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 36 ล้านยูโร และแสดงความคาดหวังให้ประเทศไทยชำระเงินดังกล่าว เพื่อเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเยอรมัน และจากประเทศอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกครั้ง และจะส่งสัญญาณทางบวกสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมัน-ไทยต่อไปด้วย 

          นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่นิวยอร์ก เป็นไปเพื่อร้องขอคำตัดสินว่า การบังคับคดีในเรื่องนี้ สามารถกระทำในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการสืบพยานใดเพิ่มเติมอีก ที่จะทำให้ประเทศไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำตัดสินได้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลเมืองลานด์ชูต ใกล้เมืองมิวนิค ได้มีคำตัดสินให้ถอนอายัดเครื่องบินโบอิง 737 โดยมีเงื่อนไขคือ ทางการไทยต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันธนาคารมูลค่า 20 ล้านยูโร แต่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะไม่นำเงินประกันไปแลกกับการนำเครื่องบินออกมาจากสภาพการถูกอายัด การสืบพยานที่ศาลประจำรัฐเมืองลานด์ชูต จะมีขึ้นอีกครั้งประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่ากระบวนการพิจารณาทั้งหลายจะสิ้นสุดเมื่อไร

          โบอิง 737 ถูกอายัด หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ตัดสินเมื่อกลางปี 2552 ว่า รัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้กับบริษัท วอลเตอร์ บาว ซึ่งคำตัดสินถือเป็นสิ้นสุด




[25 กรกฎาคม] อสส.โต้ข่าวลือเยอรมันเล็งอายัดเครื่องบินไทยอีกลำ


          อัยการสูงสุด ออกมาโต้ข่าวลือจากสื่อต่างประเทศที่รายงานว่า บ. วอลเตอร์บาว วางแผนอายัดเครื่องบินไทยลำที่2 โดยให้ทนายความทำหนังสือแจ้งไปแล้วว่าเครื่องบินลำที่ 2 นั้นก็ไม่ได้เป็นของกองทัพอากาศจะดำเนินการยึดไม่ได้และบอกว่ายังอยู่ดี ดังนั้นขอให้ทุกคนสบายใจได้

          นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทวอลเตอร์ บาว เตรียมพิจารณาขั้นตอนเพื่ออายัดเครื่องบินไทยลำที่ 2 ที่จอดคู่กับเครื่องบินโบว์อิ้ง ที่ได้ขออายัดไว้ก่อนหน้านี้ว่า เพิ่งได้ยินข่าวลือนี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ตกใจมากตนจึงโทรศัพท์ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้วปรากฏว่าเครื่องบินลำที่ 2 ยังอยู่ดีไม่ได้ถูกยึดแต่อย่างใด

          พร้อมกันนี้ได้ให้ทนายความทำหนังสือแจ้งไปยังเยอรมันแล้วว่าเครื่องบินลำที่ 2นั้นก็ไม่ได้เป็นของกองทัพอากาศจะดำเนินการยึดไม่ได้โดย อัยการสูงสุด กล่าวว่า ตนตรวจสอบแล้ว เครื่องบินลำที่ 2 ยังอยู่ดี ดังนั้นขอให้ทุกคนสบายใจได้

 

[23 กรกฎาคม] พระบรมโอรสาธิราชทรงห่วงความรู้สึกคนไทยกรณีโบอิ้ง 737



          พระบรมโอรสาธิราชทรงห่วงความรู้สึกคนไทยกรณีโบอิ้ง 737 มีพระราชวินิจฉัยไม่ต้องวางเงินค้ำประกัน "จุลสิงห์" ให้ 8 เหตุผลสำคัญยืนยันเครื่องบินเป็นราชพาหนะ 100% เตรียมเร่งศาลเยอรมนีพิจารณาคดีให้จบใน  ส.ค. เตรียมฟ้องกลับแน่ 2 ประเด็นหลัก ยึดเครื่องมั่ว-เนื้อหาคดี

          เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้แถลงความคืบหน้าการถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ โบอิ้ง 737 จากประเทศเยอรมนีว่า ข้อมูลหลักฐานที่อัยการเสนอต่อศาลเยอรมันยืนยันว่าเครื่องบินเป็นทรัพย์สินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ไม่ใช่ของกองทัพไทย จะมายัดเยียดว่าเป็นของกองทัพอากาศไม่ได้ และในบัญชีเครื่องบินของกองทัพอากาศก็ไม่มีเครื่องบินลำนี้อยู่ตั้งแต่เดือน ส.ค.2550 จึงมั่นใจว่าจะสามารถนำเครื่องบินกลับมาได้โดยไม่ต้องเสียเงินค่ามัดจำแม้แต่บาทเดียว 

          "เงินประกันที่ศาลเยอรมนีมีคำสั่งอายัดเครื่องบินจริงๆ ตามข้อกฎหมายแพ่งของเยอรมนีนั้น ทรัพย์ที่ถูกอายัดและไม่มีคำสั่งเพิกถอน เราสามารถใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารไปค้ำประกันโดยไม่ต้องวางเงินสด 20 ล้านยูโร เสียค่าธรรมเนียมเพียง 1-2% ของวงเงิน" นายจุลสิงห์กล่าว 

          นายจุลสิงห์ แถลงต่อว่า เหตุผลที่ศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินไว้ชั่วคราว เพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์เอกชนที่ไหนไม่รู้ระบุว่ากองทัพอากาศยังมีเครื่องบินลำนี้อยู่ แต่เรามีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของไทยที่ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ดังนั้นหากพูดถึงพยานหลักฐานที่มีอยู่ ยืนยันว่าเครื่องบินเป็นของสมเด็จพระบรมฯ 100% เพียงแต่ต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาลเยอรมนี 

          ส่วนการพิจารณาคดีนั้นอัยการร้องขอให้ศาลเร่งพิจารณาคดี โดยขั้นตอนการพิจารณาไต่สวนพยานทั้ง 2 ฝ่ายภายใน 1 วัน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอบัญชีพยานไปแล้ว 3 คน มีทั้งเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์การถวายเครื่องบินโบอิ้ง และเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนที่รู้เรื่องการจดกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานภาพถ่ายเครื่องบินเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในบัญชีกองทัพอากาศ พร้อมใบทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอฟังว่าศาลจะกำหนดฟังคดีเมื่อใด โดยฝ่ายอัยการได้ประสานขอให้เร่งรัดพิจารณาคดีให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

          "จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเฉพาะหน้าของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยผมจะเป็นผู้ดูแลเอง รวมทั้งจะมีการฟ้องกลับแน่นอน 2 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการยึดอายัดเครื่องบินผิดลำ และเรื่องเนื้อหาในคดี โดยได้ตั้งทีมงานขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนจะฟ้องร้องใครบ้างคงจะเปิดเผยอีกครั้ง" นายจุลสิงห์กล่าว และว่า ส่วนบริษัท วอร์เตอร์ บาว ฟ้องรัฐบาลไทยชำระเงินตามคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการนั้น ยืนยันว่าคดียังไม่จบ จะมาบอกว่ารัฐบาลไทยดื้อแพ่งไม่จ่ายเงินไม่ได้ โดยเตรียมยื่นอุทธรณ์ช่วงปลายเดือนนี้ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วหากจะแพ้คดี เราก็ต้องยอมจ่าย เราเป็นประเทศไทยมีอยู่ในแผนที่ ไม่สามารถหนีออกไปนอกโลกได้

          อัยการสูงสุดยังกล่าวอีกว่า ได้เข้าเฝ้าฯ พระบรมฯ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ถูกอายัด พระองค์ท่านก็ทรงห่วงความรู้สึกของคนไทย ว่าพระบรมฯ ทำผิดกฎการบินหรือเปล่า แต่วันที่พระบรมฯ มาเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้ว วันนั้นมีฝนตก และมีประชาชนรอเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญ แสดงความรู้สึกจงรักภักดี ทั้งนี้ พระองค์ท่านเป็นนักบิน รักการบิน เมื่อถูกอายัดเครื่องบินก็ย่อมไม่สบายใจเป็นปกติ แต่เมื่อคนไทยแสดงความรู้สึกดี ท่านก็สบายใจ เรื่องคดีเจ้าหน้าที่ก็กำลังช่วยดูแล และอยากให้คนไทยเข้าใจว่าพระองค์ท่านไม่ได้ทำอะไรผิดกฎการบิน ทรงทำถูกต้องทุกอย่าง ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคดีที่รัฐบาลไทยกับวอร์เตอร์ บาว มีคดีความต่อกัน โดยอัยการได้ถวายรายงานกับคดีความให้พระองค์ท่านทราบแล้ว ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยว่าไม่ต้องวางเงินประกัน แต่รัฐบาลไทยก็พร้อมที่เอาเงินวางเพื่อจะนำเครื่องบินออกมาเพื่อถวายให้พระองค์ท่านทรงใช้งาน แต่พระองค์ท่านไม่ประสงค์ให้นำเงินของรัฐบาลไทยไปวาง

          ในการแถลงข่าว นายจุลสิงห์ยังได้ออกแถลงการณ์ตอกย้ำว่า เครื่องบิน  Boeing 737-400 ที่ถูกอายัดนั้นเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะส่วนพระองค์  เนื่องจาก 

          1. เครื่องหมายตราครุฑสีแดงบนพื้นที่สีน้ำเงินเข้ม เป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้ได้เฉพาะสมเด็จพระบรมฯ 

          2. เครื่องหมายธงชาติที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลม  

          3. หมายเลข "90401"

          4. คำว่า "Royal Fight" ที่ปรากฏบนเครื่องบิน 

          5. ข้อมูลของเครื่องบินที่ปรากฏใน Private Website ที่จัดทำโดยนายไมเคิล ฟาเดอร์ ไม่ถูกต้อง ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกองทัพอากาศไทย 

          6. เครื่องบินลำนี้มีข้อความว่า "ฑีปังกรรัศมีโชติ" ซึ่งเป็นพระนามของพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์  

          7.เครื่องหมาย "HS-CMV" ที่ปรากฏบนตัวเครื่องบิน ยืนยันได้ว่าเครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินพลเรือน โดยคำว่า HS หมายถึงเครื่องบินที่จดทะเบียนในไทยกับกรมการบินพลเรือนตามที่กำหนดไว้ใน ICAO ส่วนคำว่า CMV หมายถึงพระนามย่อของสมเด็จพระบรมฯ เป็นภาษาอังกฤษ 

          8. ใบสำคัญจดทะเบียนเครื่องบินลำนี้ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของสมเด็จพระบรมฯ ออกให้โดยกรมการบินพลเรือน และหนังสือรับรองการเป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้ลงนามโดยอธิบดีกรมการบินพลเรือน

          ขณะเดียวกัน นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เผยว่า  กรมอยู่ระหว่างทำหนังสือขอสัญญาและเอกสารประกอบการยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการจากบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์ เพื่อนำเอกสารดังกล่าวมาหารือร่วมกับ อสส. เพื่อสรุปข้อกฎหมายก่อนให้กรมฟ้องร้องเอกชนต่อไป โดยเชื่อว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการไม่สุจริต โดยคงต้องรอให้บริษัทตอบหนังสือกลับอย่างเป็นทางการก่อน

          "กรมต้องขอข้อมูลจากบริษัททางยกระดับดอนเมือง เพราะเป็นคู่สัญญาสัมปทานโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่วนจะได้รับความร่วมมือหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ หากไม่ได้รับความร่วมมือ กรมจะใช้แนวทางอื่นเพื่อขอข้อมูลต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ แต่จะพยายามให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งการฟ้องร้องจะเป็นการฟ้องร้องในเงื่อนไขใหม่" นายวีระกล่าว

          โดยก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ออกมาระบุว่าพบข้อมูลหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏใหม่ที่จะส่งผลให้กรมทางหลวงในฐานะคู่สัญญาฟ้องร้องคดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ บริษัท วอร์เตอร์ บาว ได้ฟ้องร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยเงิน 29 ล้านเหรียญยูโร และอาจส่งผลให้กรมทางหลวงลดสัญญาสัมปทานของโทลล์เวย์ที่มีอยู่ลง หรืออาจยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ ซึ่งหลักฐานใหม่นั้นจะมีการเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้ง

 


 

 

กษิต ภิรมย์ 



[22 กรกฎาคม] กษิต ลั่นไม่วางมัดจำ 20 ล้านยูโร แลกโบอิ้ง (ไอเอ็นเอ็น)
 
          กษิต ลั่นไทยจะไม่วางเงินประกัน 20 ล้านยูโร แลกเครื่องบินโบอิ้ง ยันเดินหน้าสู้คดีให้ถึงที่สุด

          นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางการไทยจะดำเนินการสู้คดีให้ถึงที่สุด หลังศาลเยอรมนี สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 และยื่นข้อเสนอต่อรองให้มีการวางเงินมัดจำเงิน 20 ล้านยูโร (ประมาณ 850 ล้านบาท) โดยจะไม่ยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อเป็นการมัดจำอย่างแน่นอน

          ทั้งนี้ นายกษิต ระบุว่า กระทรวงต่างประเทศ, อธิบดีกรมการบินพลเรือน, ผู้แทนกองทัพอากาศ และผู้รู้กฎหมาย จะเดินทางเพื่อไปสู้คดี เพื่อพิสูจน์ว่าเครื่องบินลำดังกล่าว เป็นเครื่องส่วนพระองค์ไม่ใช่ของรัฐบาล โดยในวันนี้ (22 กรกฎาคม) จะมีการหารือกับอัยการเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการต่อไป สำหรับเครื่องบินลำดังกล่าว ขณะนี้ยังจอดอยู่ที่เมืองมิวนิก และจะนำกลับมาประเทศไทยได้ หลังศาลได้ตัดสินในขั้นตอนสุดท้ายในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม นี้


กษิต ภิรมย์


[20 กรกฎาคม] ศาลเยอรมนีสั่งถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 แล้ว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก กษิต ภิรมย์


         ศาลเยอรมนีสั่งให้นำเครื่องบินโบอิ้ง 737 ออกจากประเทศได้แล้ว หลังพิจารณาแล้วว่า ไม่ใช่สมบัติของรัฐบาลไทย แต่ต้องวางเงินค้ำประกัน 20 ล้านยูโร

         วานนี้ (19 กรกฎาคม) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางถึงนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี แล้ว เมื่อวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีศาลเยอรมัน อายัดเครื่องบินโบอิง 737 ทั้งนี้ นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ศาลเยอรมัน เปิดโอกาสให้ฝ่ายไทยให้ปากคำ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณา คาดว่า จะมีการพิจารณาและมีคำตัดสินในวันนี้ (20 ก.ค.) และมี นายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้จัดส่งเอกสารสำคัญ ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของเครื่องบินดังกล่าวแล้ว

         ขณะที่นายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีศาลเยอรมัน สั่งอายัดเครื่องบินโบอิง 737 ว่า เจ้าหน้าที่ศาลเยอรมัน เปิดเผยว่า จะไม่มีการพิจารณาใดๆ ก่อนวันที่ 20 ก.ค. นี้ ซึ่งในส่วนของไทย ได้มีการเตรียมข้อมูลเอกสารให้กับศาลเยอรมัน อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ส่วนศาลเยอรมัน จะมีการพิจารณาวันใดนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขณะเดียวกัน ทางศาลเยอรมัน ก็ต้องฟังข้อมูลจากฝ่ายบริษัท วอลเตอร์ บาว (Walter Bau) เช่นกัน

         นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทางศาลเยอรมัน จะทำการตัดสินผลการอายัดเครื่องบินโบอิง 737 ในวันนี้ นั้น ยังไม่ยืนยัน เนื่องจาก ศาลเยอรมัน กล่าวพียงว่า อาจจะทำการตัดสินอย่างเร็วที่สุด 20 ก.ค. นี้ ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถตัดสินได้ในวันนี้ ดังนั้นจึงต้องรอเวลาในช่วงบ่ายของวันนี้ จึงจะทราบว่า ศาลเยอรมัน จะตัดสินเลยหรือไม่ ซึ่งคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประทศ ได้เดินทางถึงนครมิวนิก ประเทศเยอรมัน หลายวันแล้ว เพื่อประสานงานในเรื่องนี้

          และล่าสุด สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ศาลเยอรมนีได้มีคำสั่งถอนอายัดเครื่องบินราชพาหนะโบอิ้ง 737 แล้ว โดยให้นำเครื่องบินลำดังกล่าวออกจากประเทศเยอรมนีได้ แต่ต้องนำเงิน 20 ล้านยูโร หรือประมาณ 846 ล้านบาทมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

          ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวของศาลเยอรมนีเกิดขึ้น หลังจากศาลได้พิจารณาหลักฐานที่ฝ่ายไทยนำเสนอ และยืนยันได้ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ที่กองทัพอากาศไทยน้อมเกล้าฯ ถวายไปเมื่อปี พ.ศ.2550 ดังนั้น จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด





อภิสิทธิ์ พบช่องวอลเตอร์บาว ตุกติก อายัดโบอิ้ง

         "มาร์ค" เอาคืน "วอลเตอร์ บาว" พบข้อมูลบางประการที่บ่งบอกว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลนิวยอร์กภายใน 29 ก.ค. ยันไม่นิ่งดูดาย ครม. เคยถกกรณีโทลล์เวย์ 2-3 ครั้ง หวังศาลเยอรมนีจะถอนอายัดโบอิ้งพระที่นั่งที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินรัฐบาลไทย โดยนำไปสู่การอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 (เครื่องบินพระที่นั่ง)  ที่จอดอยู่ท่าอากาศยานนครมิวนิกว่า วันที่ 20  ก.ค. ศาลเยอรมนีจะออกพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเอกสารที่ยื่นให้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกรรมสิทธิ์ เข้าใจว่าศาลจะให้เวลายื่นเอกสารเพิ่มเติมได้ภายในเวลา 24.00 น. ของวันอังคารที่ 19 ก.ค.  และ คดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เราขอให้ถอนอายัด และตนไม่ขอพูดอะไรเพิ่มเติม เพราะศาลกำลังพิจารณาอยู่

         นายกฯ กล่าวว่า คดีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ไปฟ้องศาลที่ศาลนิวยอร์กให้บังคับเป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยผิดสัญญา เราจะทำการยื่นอุทธรณ์ก่อนวันที่ 29 ก.ค. เพราะเบื้องต้นศาลนิวยอร์กได้ตัดสินให้เราปฏิบัติตามอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นเราจะไปอุทธรณ์ก่อนวันที่ 29 ก.ค. เพราะเป็นสิทธิ์ของเรา ซึ่งทางอัยการสูงสุดได้ยืนยันกับตนแล้วว่ามีเหตุผลที่ดีจะไปอุทธรณ์ รวมถึงการดำเนินการกฎหมายด้านอื่น เพราะว่ากำลังพิจารณาข้อมูลบางประการที่บ่งบอกว่าทางฝ่ายบริษัทใช้สิทธิ์โดย ไม่สุจริต

         เมื่อถามว่า เราปล่อยระยะเวลาในการดำเนินการนานไปหรือไม่จึงทำให้เกิดปัญหา นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยว เพราะว่าเรื่องนี้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว 2 ถึง 3 ครั้ง เมื่อมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เราได้ให้ทางฝ่ายกฎหมายดูว่าจะทำการโต้แย้งอย่างไร จนในที่สุดได้ไปต่อสู้กันที่นิวยอร์ก และเมื่อตัดสินเรานำมาพิจารณาอีกครั้ง และบอกให้อุทธรณ์ แต่บังเอิญไปที่ศาลเบอร์ลิน แล้วให้ทำการอายัด ซึ่งความจริงเข้าใจว่าเคยไปศาลมิวนิก และศาลมิวนิกเขาไม่รับ

         ซักว่าที่ ระบุว่าทางบริษัท วอลเตอร์ บาว ใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตนั้น มีปัญหาเรื่องการทำสัญญา โดยยึดสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดยังอยู่ที่เยอรมนี จะกลับมารายงานตนเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะเป็นข้อมูลเพิ่งปรากฏมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

         ถามว่าคดีที่ต่างชาติมาลง ทุนในบ้านเรายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติว่ากระบวนการของอนุญาโตตุลาการ ต้องค่อนข้างระมัดระวังในการที่จะไปกำหนดให้เป็นตัวที่ชี้หรือใช้ในการหาข้อ ยุติ ข้อพิพาทต่างๆ โดยทางเอกชนมีความต้องการให้เราใช้ แต่เราเห็นว่าหน่วยงานของรัฐที่ผ่านมาเมื่อใช้แล้วเกิดความเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นขณะนี้จะมีการขอเป็นกรณีๆ ไป เช่น กระทรวงพลังงานที่จะไปทำสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ากับต่างประเทศต้องขอ ครม.เป็นครั้งๆ ไปว่าถ้าเกิดปัญหาต้องใช้อนุญาโตตุลาการ เป็นต้น

         เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์อาจมีส่วนรู้เห็นกับการไปฟ้องร้องของวอลเตอร์ บาว เพื่อร่วมคิดกันฉ้อฉล ฉ้อโกง หลอกลวงประชาชนและรัฐบาลไทย มีความเห็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า อัยการสูงสุดกำลังจะรายงานข้อมูลที่เราจะใช้ต่อไป ซึ่งอาจจะนอกเหนือกับการอุทธรณ์



โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม


[18 กรกฎาคม] ศาลเยอรมนีเลื่อนตัดสินคดียึดโบอิ้งไป 20 ก.ค.

          ทนายทักษิณอ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ด้านศาลเยอรมนีเลื่อนตัดสินคดีอายัดเครื่องบินไปวันพุธนี้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงเพิ่มเติม

          จากเว็บไซต์ robertamsterdam.com ลงเมื่อ 17 กรกฎาคม ที่มีข้อความจาก นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยระบุข้อความพาดหัวว่า

          อัมสเตอร์ดัม : ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737

          "ในอาทิตย์นี้ตั้งแต่เครื่องบินโบอิ้ง 737 ถูกเจ้าหน้าที่ทางการเยอรมันยึด ได้มีข่าวลือหลายเรื่องที่พยายามเอาผมเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยตรงกับเรื่องนี้ โดยมีการอ้างว่า ผมมีบทบาทเกี่ยวกับการที่เครื่องบินลำดังกล่าวถูกยึด ผมขอกล่าวอย่างชัดเจนเลยว่า ข้อกล่าวหาจอมปลอมดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่มีมูลความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น

          กลุ่มคนที่ปล่อยข่าวลือดังกล่าว คือ เพียงผลผลิตของคนที่มีจินตนาการเกินจริง และดูเหมือนว่า จะไม่สามารถตัดขาด จาก "การเมืองแบบคร่ำครึ" ที่ครอบงำประเทศไทยมาได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ได้ บุคคลเหล่านี้ คือ กลุ่มที่รู้สึกอบอุ่นใจกับการปกครองแบบสั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งขัดกับเจตจำนงทางประชาธิปไตยของปวงชน และเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่เคยชิน กับความมืดมิดสกปรกโสมมของการเมืองไทย และเลือกที่จะเชื่อเรื่องโกหกหลอกลวง และไม่มีมูลเพื่อใช้ป้ายสีและให้ร้าย ฝ่ายตรงข้ามมากกว่าที่จะเชื่อความจริงที่มีหลักฐานยืนยัน"

           ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ล่าสุด นายคริสตอฟ เฟลล์เนอร์ รองประธานศาลแขวงแลนด์ชัต เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ทางศาลจะยังไม่ตัดสินคดีถอนอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่บริษัทวอลเตอร์ บาว อายัดไว้เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นสมบัติของรัฐบาลไทย โดยทางศาลเยอรมนีจะตัดสินคดีดังกล่าวในวันพุธที่ 20 กรกฎาคมนี้ เวลาประมาณ 05.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเข้าชี้แจงเพิ่มเติม




เครื่องบิน

[17 กรกฎาคม] เปิดปมร้อน เหตุ โบอิ้ง 737 เครื่องบินไทยถูกอายัด

          กระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าคดีโบอิ้ง 737 ศาลเยอรมนีขอเอกสารกรรมสิทธิ์เอกชนเพิ่มเติม ยังไม่ยืนยันจะตัดสินเมื่อใด สื่อนอก คาด 18 ก.ค.นี้ ด้านนายกฯ เชื่อทุกอย่างคลี่คลายได้ เพราะศาลเข้าใจคลาดเคลื่อน

          นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลเยอรมนีได้สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 สัญชาติไทย แต่ไม่ใช่ทรัพย์สินของทางรัฐบาลว่า หลังจากเมื่อวานนี้ ศาลเยอรมันได้มีการไต่สวน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และคณะ ซึ่งได้เดินทางไปร่วมรับฟังการพิจารณา พร้อมกับยื่นเอกสารต่าง ๆ เพื่อเป็นการคัดค้านไปแล้ว

          โดย นายเจษฎา ระบุว่า ภายหลังจากมีการยื่นเอกสารไปแล้วส่วนหนึ่ง ทำให้ศาลเยอรมนีเลื่อนการตัดสินที่กำหนดไว้ เมื่อวานนี้ออกไป และมีการขอเอกสารกรรมสิทธิ์ของเอกชนจากอัยการของฝ่ายไทยเพิ่มเติม เนื่องจากการแสดงเอกสารที่กองทัพอากาศ ได้ยื่นไปว่า ได้ถวายเครื่องบินลำดังกล่าวไป เมื่อปี 2550 แต่ยังไม่เพียงพอ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า การร้องขอของไทยได้รับการตอบรับที่ดี จนเป็นที่มาของการออกแถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว

          นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศ ยังรายงานด้วยว่า ศาลเยอรมนีได้มีการเลื่อนตัดสินเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ไทยได้ยื่นเอกสารไปว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล แต่ยังไม่เพียงพอและต้องการเอกสารเพิ่ม จึงอาจจะมีการตัดสินในสัปดาห์หน้า แต่ไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจน โดยคาดกันว่า อาจจะตัดสินในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้
     
          ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากทางอัยการสูงสุดได้เดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงที่ศาลเยอรมนีแล้ว ทางฝ่ายไทยหวังว่าศาลจะเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน เพราะที่ผ่านมา ศาลเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเครื่องบินลำนี้เป็นของรัฐบาล ซึ่งความจริงไม่ใช่ และเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะคลี่คลายได้

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีหลักเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยนั้น อยู่ระหว่างที่กำลังยื่นอุทธรณ์ที่ศาลนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไม่ทราบว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาคดีจะใช้เวลามากพอสมควร ขณะนี้ทางอัยการสูงสุดมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในชั้นอุทธรณ์

          เมื่อถามว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาที่จะอาจจะถูกอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ควรจะมีเรื่องนี้เกิดขึ้น และทางอัยการสูงสุดกำลังดำเนินการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เพราะเป็นช่วงรอยต่อของคดีที่ไทยเตรียมยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาอายัดทรัพย์สิน เพราะเมื่อชั้นสุดท้ายศาลตัดสินอย่างไรหรือให้ประเทศไทยชำระหนี้เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว รัฐบาลไม่มีทางหนีไปไหน ทรัพย์สินของรัฐบาลมีอยู่มากมาย และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ทางการเยอรมนีจะต้องมาดำเนินการอะไร

          ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการไต่สวนของเยอรมนีทำไมไต่สวนฝ่ายเดียว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากไปวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม แต่เราข้องใจว่าทำไมถึงไต่สวนฝ่ายเดียว เข้าใจว่าฝ่ายผู้ร้องคงจะอ้างว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน และเป็นมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน อย่างไรตาม ขณะนี้ภารกิจสำคัญคือให้มีการถอนอายัดเครื่องบินของพระองค์ท่านเสียก่อน และต่อไปไม่ควรมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชน

เปิดปมร้อน เหตุเครื่องบินไทยถูกอายัด

          สำหรับกรณีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ของเยอรมนี สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 สัญชาติไทยนั้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งเรื่องสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี พ.ศ.2548 ที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ผู้ถือหุ้นบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด มหาชน ในสัดส่วนร้อยละ 9.87 ยื่นฟ้องรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้จ่ายค่าชดเชยที่ผิดสัญญาโครงการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการไทยและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

          จากนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้ไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี ปี 2545 และให้ไทยต้องจ่ายค่าชดเชย 29.21 ล้านยูโรพร้อมดอกเบี้ย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีกกว่า 1,800,000 ยูโร

          ก่อนที่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 บริษัท วอลเตอร์ บาว จะยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐอเมริกา บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลสหรัฐฯ ก็ได้พิพากษารับรองคำสั่งดังกล่าว และสั่งให้ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว ซึ่งหากไทยไม่ยอมชำระตามคำตัดสิน อาจขอให้ศาลบังคับเอากับทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตอำนาจได้

          คำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประชุมเป็นวาระเร่งด่วนในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เพราะมีกระแสข่าวว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว เตรียมจะอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในต่างแดน แต่สุดท้าย ทางรัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาต่อสู้คดี เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ต้น เพราะมองว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว ฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วยเจตนาไม่สุจริต และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ยุติธรรม

          นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังมองว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว ไม่ใช่คู่สัญญากับรัฐบาลโดยตรง เพราะเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นของบริษัททางยกระดับดอนเมืองเท่านั้น และรัฐบาลเคยชดใช้ค่าชดเชยให้กับดอนเมืองโทลล์เวย์ไปแล้ว ทั้งการขยายสัมปทานออกไปถึงปี พ.ศ.2577 รวมทั้งให้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง เมื่อปี พ.ศ.2552 ขณะที่ค่าชดเชยรายได้จากการให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย กรมทางหลวงได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 30 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท วอลเตอร์ บาว จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องรัฐบาลไทย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะทำงานฝ่ายไทยเสนอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ศาลปกครองกลางของไทยชี้ขาด แต่ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้กระบวนการต่อสู้หยุดชะงักตั้งแต่นั้นมา และรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายใด ๆ ให้บริษัท วอลเตอร์ บาว ซึ่งปัจจุบันนี้ บริษัทสัญชาติเยอรมนีรายนี้ล้มละลายไปแล้ว ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ต้องเร่งแปรทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่ให้เกิดมูลค่า นำไปสู่การอายัดเครื่องบินสัญชาติไทยในครั้งนี้





[15 กรกฎาคม] เยอรมนี อายัดเครื่องบินไทย เหตุรัฐบาลไทยไม่จ่ายหนี้

          กษิต จวกศาลเยอรมนี อายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ ชี้เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง เพราะไม่ใช่เครื่องบินของรัฐ เผยเหตุเป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมจ่ายหนี้ที่ยืดเยื้อมานาน

          เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดแถลงข่าวถึงกรณีที่เครื่องโบอิ้ง 737 เครื่องบินสัญชาติไทย ที่ตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยซึ่งเป็นพระราชพาหนะของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถูกทางการเยอรมนีอายัดที่ท่าอากาศยานเมืองมิวนิค เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการขัดแย้งสัมปทานโทลเวย์ดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ.2548 และได้มีการดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว โดยไทยต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับ บริษัท วอลเตอร์ บาว คู่กรณี เป็นเงินประมาณ 30 ล้านเหรียญยูโร รวมกับค่าดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ล้านเหรียญยูโร เนื่องจากรัฐบาลไทยในช่วงนั้นผิดพันธะสัญญา แต่ยังไม่มีการดำเนินการจ่ายค่าเสียหายใด ๆ ทางศาลของเยอรมนี จึงได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ให้อายัดเครื่องบินสัญชาติไทย ที่จอดอยู่ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี 

          นายกษิต กล่าวต่อว่า ทางเจ้าทุกข์และศาลเยอรมนีสามารถอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ แต่เครื่องบินลำนี้เป็นของส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทย จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ซึ่งตนได้ยืนยันเรื่องนี้ผ่านทางการทูตแล้ว โดยได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึง รมว.ต่างประเทศของเยอรมนี  ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ติดต่อกับกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีอย่างใกล้ชิด และได้ยื่นหลักฐานคือ ใบทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้แล้ว


          รมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า  คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของไทย  ได้เดินทางไปยังนครมิวนิคแล้ว พร้อมกันนี้ ตนจะเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เพื่อพบปะกับรัฐบาลเยอรมนี โดยจะแสดงความกังวลใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี ที่ไต่สวนแต่เพียงฝ่ายโจทก์เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังได้รับข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากทนายฝ่ายโจทก์ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเมื่อทางการเยอรมันได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากทางฝั่งไทย คงจะสามารถหาข้อยุติได้ภายในเร็ว ๆ นี้ 


          ส่วนกรณีที่ถามว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า แน่นอน ประเทศไทยถูกโลกตะวันออกเพ่งเล็งมาตลอด แต่ทางไทยก็ได้ดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใส  และไทยก็อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเยอรมนีต่อไป


          ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเอพี ระบุว่า รัฐบาลไทยติดหนี้บริษัทก่อสร้าง  วอลเตอร์ บาว ซึ่งปัจจุบันบริษัทนี้ล้มละลายไปแล้ว  หลังจากที่รัฐบาลได้ทำสัญญาให้บริษัทดังกล่าวก่อสร้างและบริหารเส้นทางโทลเวย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับสนามบินดอนเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การยึดเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยครั้งนี้ จึงถือเป็นหนทางสุดท้ายที่บริษัทจะนำมาเป็นหลักประกันในการจ่ายหนี้ และเป็นไปตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ศาลแต่งตั้งขึ้น  

 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สถานทูตเยอรมันแถลงไทยควรจ่ายหนี้ อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2554 เวลา 08:52:49 223,924 อ่าน
TOP