เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คสรท.ให้เวลารัฐบาลปู 6 เดือน หากขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศไม่ได้ภายใน 1 มกราคม 2555 เจอม็อบแรงงานแน่ ลั่นอย่าใช้สองมาตรฐาน ต้องครอบคลุมแรงงานต่างด้าวด้วย "ปลอด" รับปากทั้งประเทศได้เท่ากันหมด จับตาประชุม กกร. ภาคเอกชนยันไม่เพียงกระทบเฉพาะอุตสาหกรรม ภาคเกษตรก็โดนเต็ม ๆ
เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้ รัฐบาลชุดใหม่ต้องเดินหน้าด้วยสัจจะประชาธิปไตย โดยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องได้ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนของพรรคในการรับเรื่อง
โดยแถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหาขอให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าปฏิบัติตามสัจจะที่ให้ไว้ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ยื่นข้อเสนอ 9 ข้อต่อพรรคการเมือง ซึ่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ลงนามรับข้อเสนอดังกล่าวไปดำเนินการในวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว จึงถือว่าเป็นสัญญาประชาคม ทาง คสรท.จึงขอย้ำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคเพื่อไทยต้องดำเนินการทันที เนื่องจากเป็นสัญญาประชาคมต่อผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้พรรคเพื่อไทย สานต่อเรื่องรับรองอนุสัญญาการรวมตัวกลุ่มสหภาพแรงงาน และการต่อรองระหว่างลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งขณะนี้ไม่มีการคุ้มครองผู้ก่อตั้งสหภาพฯ ทำให้นายจ้างสามารถปลดผู้ก่อตั้งออกจากโรงงานได้ โดย คสรท. ให้โอกาสพรรคเพื่อไทย บริหารประเทศ 6 เดือน หากยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ ก็จะออกมาทวงถามอย่างแน่นอน ส่วนกรณีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย พวกตนเห็นว่า ต้องให้ความเท่าเทียมเรื่องค่าจ้าง ไม่ใช้สองมาตรฐาน และ หากไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ทันวันที่ 1 ม.ค. 55 ขบวนการแรงงานกว่า 37 ล้านคนทั่วประเทศ จะออกมาทวงถามเรื่องนี้
ขณะที่นายจิรายุ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอยากฟังจากตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งฟังความเห็นจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และตัวแทนแรงงาน เพื่อนำมุมมองของภาคอุตสาหกรรมและข้อเรียกร้องของตัวแทนแรงงาน มาพิจารณาแก้ปัญหาหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วน
ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยตั้งเอาไว้ที่ 300 บาท ซึ่งไม่เกี่ยวข้องว่าจะอยู่ที่ภาคส่วนหรือจังหวัดใด แรงงานทุกคนถือเป็นคนเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นก็ต้องได้ค่าแรงเท่าเทียมกัน ถ้าค่าแรงของเมืองใหญ่กับชนบทแตกต่างกัน จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดจากการย้ายที่ทำกินเข้าสู่เมืองหลวง
ด้านนาย สุชาติ ธาดาธำรงเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความเห็น ซึ่งทางพรรคยืนยันว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปได้ และภายหลังจากการแถลงนโยบาย ตนจะจัดทำเวิร์กช็อปให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมกร, นายจ้าง ให้ได้เข้ามาแสดงความเห็น โดยเบื้องต้นอาจจัด 1-2 วัน ทั้งนี้ เป้าหมายของนโยบายการขึ้นค่าแรง ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือคนจน ประชาชน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เขาบอกว่า พรรคได้คำนวณไว้หมดแล้ว ดังนั้นที่หลายฝ่ายวิจารณ์ ความจริงนั้นไม่ได้กระทบต่อการเงิน การคลังของประเทศ เพราะหากขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ประชาชนจะได้รับเงินเดือนเพียง 7,600 บาทเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่พอต่อการดำรงชีวิต
"วันนี้พี่ชายคนโต ต้องกระจายรายได้ไปให้กับน้องๆ เพื่อให้พี่ชายคนโตรวยเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันเขาทำงานแต่ไม่สามารถซื้อของที่เขาทำได้ เช่น รองเท้าของเราผลิตและส่งออกนอกประเทศอย่างเดียว หากน้องสามารถซื้อรองเท้าจากที่ทำงานได้ จะขายได้ปีละ 4 แสนคู่ เห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนร่ำรวยขึ้น ไม่ใช่ยากจน" นายสุชาติกล่าว
วันเดียวกันนี้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 20 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดพิเศษ เพื่อหารือผลกระทบนโยบายรัฐบาลใหม่ต่อการปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เนื่องจากเห็นว่า หากมีการดำเนินงานตามนโยบายจริงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการจำนวนมาก และท้ายสุดจะนำมาซึ่งปัญหาราคาสินค้าปรับตัวสูงตาม ดังนั้น จึงต้องการส่งสัญญาณให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอย่างรอบคอบ และทุกอย่างควรให้เป็นไปตามกลไกตลาด
"เราไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าจ้าง และเงินเดือน แต่จะต้องมองให้รอบด้านและยึดกลไกตลาด เพราะหากรายได้ต่อประชากรที่สูงขึ้น ย่อมทำให้ค่าครองชีพสูงเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้า มีการลงทุนในประเทศและส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจะสามารถทำให้เกิดความเข้มแข็งได้ และถึงจุดนั้นทุกอย่างจะเป็นไปตามกลไกเอง” นายพยุงศักดิ์ กล่าว
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท. กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่เข้ามาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทต่อวัน จะยิ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวสูงขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ และจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อของไทยมาก
ด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ไม่เพียงกระทบต่อเฉพาะภาคอุตสาหกรรม หากแต่ภาคเกษตรกรรมก็จะได้รับผลกระทบด้วย และจะเป็นจุดให้ราคาสินค้าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อถึงจุดนั้นรัฐบาลก็ควรจะปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดด้วย ไม่ใช่เข้ามาควบคุม เพราะจะทำให้ธุรกิจอยู่ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เพราะแค่ได้ยินข่าวยังแห่มากันเป็นจำนวนมาก และหากมีการขึ้นจริงจะทำให้แรงงานต่างด้าวยิ่งไหลเข้าไทยเพิ่ม ดังนั้น รัฐควรจะต้องหาวิธีทำอย่างไรให้การเข้ามาแบบถูกกฎหมาย แล้วต้องบังคับไม่ให้มีการเปลี่ยนนายจ้างด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาสังคมจะตามมาอีกมาก
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)กล่าวว่า โครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของเอสเอ็มอีเฉลี่ยคิดเป็น 16.2% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 0.16% ดังนั้น นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น 5.8-13.0% ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมไม้ (เฟอร์นิเจอร์), อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องหนัง และภาคการก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) นอกจากนี้ จะเป็นการกดดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านราย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย
[18 กรกฎาคม] เพื่อไทย ยันค่าแรง 300 ทำได้ ต่ำกว่านี้ไม่พอใช้
เพื่อไทย แจงทำไมต้อง 300 บาท เพราะเชื่อค่าแรงต่ำกว่านี้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในทุกพื้นที่ มั่นใจทำได้ กัด ปชป. ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดี เริ่มตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล
วันนี้ (18 กรกฎาคม) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสาเหตุที่ พรรคเพื่อไทย กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท เนื่องจากพรรคได้คำนึงว่า ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน ที่ต่ำกว่า 300 บาท ขณะนี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ภาคหรือจังหวัดใด แรงงานทุกคนต้องได้ค่าแรงเท่าเทียมกัน
หากค่าแรงในเมืองหลวงและชนบทแตกต่างกันในเมืองหลวง ก็จะเกิดปัญหาความแออัด โดยคนชนบทจะย้ายที่ทำกินเข้ามาส่งผลให้ครอบครัวอ่อนแอ เมื่อแรงงานต้องทิ้งครอบครัวเข้าสู่เมืองหลวง ซึ่งพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า วิธีนี้เช่นนี้จะทำให้ประเทศชาติเจริญเติบโตขึ้นได้
นอกจากนี้ ยืนยันอีกว่า นโยบายต่าง ๆ พรรคเพื่อไทย ลงมือทำทันที แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ยังมีการประชุมเรื่องนโยบายต่าง ๆ ทุกวัน ส่วนที่ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการพูดเรื่องต่าง ๆ ให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยนั้น ตนก็มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างดี เพราะถือว่าได้มีการเตรียมยื่นญัตติ ไม่ไว้วางใจพวกตนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากการเตรียมข้อมูลยื่นให้มีการยุบพรรค
นักการเมืองบอกทำได้ทันที ประชาชนเข้าใจผิด หรือ ว่าใครโง่ ?
ปลอดประสพ รับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ทำไม่ได้ทันทีตามที่หาเสียง แต่ตั้งใจทำแน่นอน ฟุ้งตั้งเป้าปรับให้ถึง 1,000 บาท ในอีก 9 ปีข้างหน้าด้วย ด้าน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ชี้หากพรรคเพื่อไทย ปรับค่าแรงเป็น 300 บาทไม่ได้ทั่วประเทศ ถือว่าผิดคำพูด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับความสนใจและถูกจับจ้องอย่างมากก็คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศทันที ทว่าล่าสุด นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมากล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า คงไม่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้ทันทีภายในระยะเวลาอันใกล้ได้ หรือใน 1-6 เดือนนี้ได้ แต่ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่มีการยกเลิกแน่นอน
"สิ่งที่พรรคหาเสียงไว้ว่าจะทำทั่วประเทศ และทำทันทีนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว คงทำไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจด้วยว่า นั่นเป็นการพูดเพื่อหาเสียง แต่ทั้งหมดนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำให้ได้เร็วที่สุด แต่คงไม่ใช่ทันที" นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแรงนั้น น่าจะเป็นจำนวนที่แรงงานสามารถอยู่รอดได้ และสาเหตุที่ต้องขึ้นให้ทั่วประเทศ ก็เนื่องจากไม่อยากให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทะลักเข้ามาในกรุงเทพมหานคร และยังเป็นการกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัดด้วย ที่สำคัญเป้าหมายของพรรคไม่ได้อยู่ที่ 300 บาทเท่านั้น แต่อยู่ที่ 1,000 บาท ในอีก 9 ปีข้างหน้า
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศได้ ก็ถือว่าไม่รักษาคำพูด เนื่องจากช่วงหาเสียงได้มีการปราศัยทุกวันว่า จะมีการปรับขึ้นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีทั่วประเทศ จนผู้ใช้แรงงานให้ความไว้วางใจให้เข้ามาเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งถือว่า ทำให้ผู้ใช้แรงงานผิดหวัง
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพรรคเพื่อไทย เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ปรับขึ้นในบางจังหวัด ก็ถือว่าไม่จริงใจและไม่ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้
คลิปยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาเสียง ณ สนามกีฬาราชมังคลาภิเษก หัวหมาก เมื่อวันที่่ 1 ก.ค. 54 ได้มีการพูดถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงทันที จะไม่ทำให้พี่น้องผิดหวัง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก