x close

ถ่ายภาพสวย ด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ


เทคนิคการถ่ายภาพ


COMPOSITION Symmetry / Framing / Leading Lines (FOTOINFO)
SPECIAL SECTION เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ FOTOINFO

          การจัดองค์ประกอบภาพนั้นแม้จะดูเป็นเรื่องซ้ำซากจำเจ แต่เชื่อหรือไม่ว่าภาพที่ไม่น่าสนใจโดยส่วนใหญ่กว่า 50% ในปัจจุบันมาจากปัญหาในการจัดองค์ประกอบภาพ หลังจากที่กล้องดิจิตอลเข้ามาแก้ปัญหาใหญ่ของการถ่ายภาพเรื่องการทำให้กล้องได้แสงที่พอดีในการถ่ายภาพได้แล้ว เนื่องจากการที่เราสามารถดูภาพได้ทันทีหลังการถ่ายภาพและแก้ไข เพื่อถ่ายภาพใหม่ได้ง่าย ๆ การที่ภาพได้รับแสงมืดเกินไปสว่างเกินไปไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักในปัจจุบัน

          แต่สำหรับปัญหาเรื่องการจัดองค์ประกบภาพนั้นยังคงอยู่ หัวใจของการจัดองค์ประกอบภาพในการถ่ายภาพก็คือ จะทำอย่างไรที่จะนำเอาสิ่งที่เห็นที่ต้องการถ่ายภาพที่เรามองด้วยตาเป็นสามมิติมาลงอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าลองมิติที่มีแค่กว้างคูณยาวเท่านั้น สิ่งที่ได้ยินเสมอเมื่อบุคคลทั่วไปดูภาพของนักถ่ายภาพมือสมัครเล่นคือ "ทำไมถ่ายภาพออกมาแล้วไม่เห็นสวยเหมือนของจริงเลย" ในขณะที่ดูภาพของนักถ่ายภาพมืออาชีพแล้วกลับพูดกันว่า "ดูในภาพสวยจังไปเห็นของจริงไม่เห็นมีอะไรเลย"

          ...คำตอบของทั้งสองประโยคนี้คือการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งเคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพนั้นมีมากมาย หยิบจับเรื่องอะไรมานำเสนอก็เกี่ยวโยงกับการจัดองค์ประกอบภาพไปเสียเกอบทั้งหมด เคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพที่นำเสนอในครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่หลายคนคุ้นเคยผ่านตามาแล้ว แต่จะพยายามเพื่อเติมในรายละเอียดไป และหาภาพเปรียบเทียบเพื่อแสดงให้เห็นด้วยว่า เมื่อจะต้องตัดสินใจวางองค์ประกอบภาพเคล็ดลับเดียวกันนั้น จะเลือกวางองค์ประกอบภาพอย่างไร หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร


สมมาตรอย่างสมบูรณ์ (Symmetry)

          ซัปเจคต์ที่เราพบโดยส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นแบบสมมาตรเสมอ เพราะโดยธรรมชาติแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมักจะถูกสร้างมาอย่างสมดุลกัน ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หากสังเกตให้ดีจะพบว่ารอบๆ ตัวเรานั้นเต็มไปด้วย วัตถุที่มีความสมมาตรทั้งนั้น ตั้งแต่ของใช้ขนาดเล็กดอกไม้ ไปจนถึงสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ ในการถ่ายภาพเราใช้ความสมมาตรนี้เป็นหนึ่งในเคล็ดลับของการจัดองค์ประกอบภาพ การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตรหมายถึงการถ่ายภาพให้ภาพสองส่วนมีลักษณะเหมือนกันใช้เคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพนี้ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมค่อนข้างบ่อย

          ความสำคัญของการจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตรนี้ก็คือ จะต้องวางซัปเจกต์ทั้งสองส่วนให้เท่ากัน ไม่เอียง ระดับการวางกล้องให้ขนานจึงสำคัญ นั่นคือเรื่องพื้นฐาน แต่หากเราพิจารณารายละเอียดของซัปเจกต์ที่มีความสมมาตรแล้วเราก็จะพบว่ามีลักษณะของสมมาตรซ้อนสมมาตรอยู่เสมอ และนี่คือข้อสำคัญที่เราต้องพิจารณาว่าเราควรเก็บรายละเอียดเหล่านั้นมามากน้อยเท่าไหร่ในภาพ ซึ่งส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่ความชื่นชอบโดยส่วนตัว


เทคนิคการถ่ายภาพ


          จากภาพตัวอย่าง ผมถ่ายภาพพระพุทธรูปในโบสถ์วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน ในตอนแรกผมถ่ายภาพโดยเก็บเป็นมุมกว้าง ๆ จัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร ซึ่งเป็นมุมมองพื้นฐาน ภาพก็ดูธรรมดา ใช้งานได้ ไม่โดดเด่น เมื่อดูภาพพิจาณาอยู่สักพักผมรู้สึกว่าน่าจะถ่ายภาพให้องค์ประกอบภาพแน่นกว่านี้อีกหน่อย จึงเลือกอีกหนึ่งเคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพที่เรียกว่า Cropping เข้ามาช่วย ให้ได้ภาพที่แน่นอนขึ้น ทำให้ภาพได้อารมณ์ของพระประธานองค์ใหญ่ดูเข้มขลังกว่า ตัดส่วนบนทิ้งไป ให้สายพระพักต์ทอดยาวลงมา ซึ่งผมชอบภาพนี้มากกว่า และองค์ประกอบภาพก็ยังคงเป็นแบบสมมาตรอยู่เช่นเดิม ภาพในสถานที่เดียวกัน จัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตรเหมือนกัน แต่ภาพดูน่าสนใจ ให้อารมณ์ต่างกัน


เทคนิคการถ่ายภาพ


ใส่กรอบให้ภาพ (Framing)

          การใส่กรอบให้กับภาพนั้นเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพที่เราใช้กันมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อ ลดพื้นที่ว่าง บีบสายตาทำให้ซัปเจกต์ดูโดดเด่นน่าสนใจขึ้น กรอบภาพนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ เราหากรอบภาพได้ไม่ยากนักกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เพราะมีซุ้มประตู ขอบหน้าต่าง ต้นไม้ ฯลฯ ให้เลือกใช้เป็นกรอบภาพได้มากมาย แต่สำหรับการถ่ายภาพธรรมชาตินั้น กรอบภาพอาจจะมีให้เลือกใช้ไม่มากนัก และก็มักจะคาดการณ์ได้ยากกว่า และบางครั้งอาจต้องยอมเลี่ยงไม่ได้ในมุมที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อให้มีกรอบภาพ และให้ผลโดยรวมแล้วให้ภาพที่น่าพอใจกว่า

          กรอบภาพ มีส่วนอย่างมากที่ช่วยทำให้ภาพดูโดดเด่นขึ้น นอกจากจะเป็นการลดพื้นที่ว่างในได้อย่างดี บีบสายตาให้มองภาพไปยังซัปเจกต์หลักแล้ว การใช้กรอบภาพยังเป็นการเพิ่มมิติให้กับภาพ เป็นฉากหน้าให้กับภาพ และเมื่อประกอบกับแสงเงาที่ตกกระทบให้ความสว่างแตกต่างกันด้วยแล้วจะยิ่งเพิ่มมิติให้กันภาพอย่างมาก กรอบภาพในภาพส่วนใหญ่มักจะอยู่ด้านบนและด้านข้างของภาพ กรอบภาพยังช่วยลดความเปรียบต่างของแสงในภาพให้ดูสมดุลกันอีกด้วย


เทคนิคการถ่ายภาพ


          จากตัวอย่างภาพ ผมแวะไปถ่ายภาพน้ำตกเล็ก ๆ ข้างทางแห่งหนึ่ง มุมกแรกที่ถ่ายภาพคือมุมหน้าตรง ซึ่งมักเป็นมุมหน้าตรง ซึ่งมักเป็นมุมพื้นฐานของการถ่ายภาพ แม้ผมจะพยายามเอารากไม้ข้างหน้ามาเพิ่มมิติ แต่ภาพก็ดูไม่น่าสนใจนัก เพราะแสงด้านบนแตกต่างกับแสงบริเวณน้ำตกมาก รกรบกวนสายตาไม่น่าสนใจ ผมเดินเลี่ยงไปทางขวา ซึ่งไม่ไกลจากเดิมนัก เพื่อใช้ต้นไม้บริเวณนั้นเป็นกรอบภาพ บังส่วนบนของภาพที่มี่แสงแตกต่างกันมาก ฉากหน้าที่ได้รับแสงน้อยกว่ากลายเป็นกรอบภาพโดยปริยาย ภาพดูน่าสนใจขึ้น แสงที่ตกเป็นหย่อม ๆ ช่วยสร้างมิติให้กับภาพ แม้ว่าที่นำตกจะได้ความน่าสนใจลดลง แต่ภาพรวมของภาพดูน่าสนใจกว่ามาก และผมก็ชอบภาพนี้มากกว่า


เทคนิคการถ่ายภาพ


เส้นนำสายตา (Leading Lines)

          เรื่องของเส้นในภาพนั้น เป็นประเด็นที่พูดกันได้ไม่รู้จบ เพราะในภาพหนึ่งภาพนั้นประกอบไปด้วยเส้นต่าง ๆ มากมาย วัตถุแต่ละอย่างก็ประกอบขึ้นมาจากเส้นต่าง ๆ มาประกอบกัน และครั้งที่ผ่านมาเราก็พูดกันถึงเรื่องเส้นไปแล้ว แต่เป็นประเด็นที่แตกต่างกัน ในการใช้เส้นครั้งนี้เราจะใช้เส้นเพื่อสร้างมิติแนวลึกให้กับภาพและเพิ่มระยะ ทิศทางการมองภาพไปยังซัปเจกต์ตามที่ต้องการ เราเรียกเส้นแบบนี้ เส้นนำสายตา

          เคล็ดลับในการจัดองค์ประกอบภาพด้วยการใช้เส้นนำสายตานั้นได้ผลดีเสมอ เส้นนำสายตาในภาพจะเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้งก็ได้ เส้นจะวางตัวในแนวเฉียง ตรง หรือนอนในแนวระนาบก็ได้เช่นกัน แต่โดยปกติแล้วเส้นที่วางตัวในแนวลึกจะช่วยเพิ่มมิติให้กับภาพด้วย จึงเป็นแนวการวางเส้นนำสายตาที่นิยม เส้นนำสายตาไม่ใช่เรื่องราวในภาพ เพียงแต่เป็นส่วนเติมเต็มให้ที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจ จุดเด่นของภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น หัวใจสำคัญในการวางเส้นนำสายตานั้น คือ จุดหยุดสายตา เราจะเลือกวางเส้นนำสายตาไปที่ใดก็ได้ในภาพ แต่ที่จุดสิ้นสุดของเส้นนำสายตานั้นจะต้องมีซัปเจกต์หลักที่เป็นเรื่องราวของภาพรออยู่


เทคนิคการถ่ายภาพ


          ภาพที่ใช้เส้นนำสายตาที่สมบูรณ์แบบนั้น จะเป็นภาพที่มีซัปเจกต์สองตำแหน่งที่อยู่ห่างกันในภาพ แล้วถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยเส้นนำสายตา เช่น ฉากหน้ามีคนโบกมี ฉากหลังมีความรถไฟโบกมือตอบ ทั้งสองส่วนถูกเชื่อมโยงกันด้วยเส้นนำสายตาของรถไฟรางรถไฟ เป็นต้น แต่สถานการณ์ที่สมบูรณ์แบบนี้ไม่ได้พบเจอได้ง่าย ๆ ในการถ่ายภาพทั่วไป เรามักจะมีเส้นนำสายตาและซัปเจกต์หัก โดยไม่มีซัปเจกต์รองมาให้เชื่อมโยงกัน

          โดยปกติแล้วการเลือกวางตำแหน่งของเส้นนำสายตาและซัปเจกต์นั้น มักจะใช้ซัปเจกต์เป็นจุดหยุดสายตา และใช้เส้นนำสายตาเป็นจุดเริ่ม ผู้ดูภาพจะถูกเส้นนำสายตาชักนำไปสู่ซัปเจกต์ เส้นนำสายตาในภาพนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ที่เราพบได้ทั่วไป รางรถไฟ ถนน แม่น้ำ ต้นเสา ราวระเบียง ฯลฯ แต่ก็มีในบางสถานการณ์ที่เราเลือกวางซัปเจกต์ไว้ที่จุดเริ่มต้นของภาพ แล้วปล่อยให้เส้นนำสายตาอยู่ทางด้านหลัง ปล่อยให้เส้นเดินทางไปในภาพโดยไม่มีจุดรองรับสายตาที่จุดสุดท้าย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้เส้นนำสายตาที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจได้เช่นกัน

          การวางเส้นนำสายตาไว้ด้านหลังเช่นนี้ จะเป็นเหมือนการเล่าเรื่อง เส้นนำสายตาที่ถูกวางไว้ข้างหลังนั้นคืออดีต เช่น ภาพคนเดินบนถนน วางคนไว้เป็นฉากหน้า ถนนเป็นเส้นนำสายตาลึกเข้าไปในภาพ เป็นเหมือนการบอกเล่าทางเดินที่ผ่านมา ตัวอย่างภาพที่นำมานี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการเลือกวางเส้นนำสายตาในภาพว่าพุ่งเข้าหาซัปเจกต์หรือเลือนลางออกจากซัปเจกต์ไป ซึ่งในสถานการณ์นี้ผมชอบภาพที่เส้นนำสายตาที่เลือนลางออกจากซัปเจกต์ไปมากกว่า






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถ่ายภาพสวย ด้วยการจัดองค์ประกอบภาพ อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2554 เวลา 15:14:05 27,002 อ่าน
TOP