เอกชนรุมจวกรัฐจ้องโขกภาษีมูลค่าเพิ่ม ซ้ำเติมผู้บริโภค


ซื้อสินค้า




รุมจวกรัฐจ้องโขกภาษีมูลค่าเพิ่ม ซ้ำเติมผู้บริโภคยุคศก.แย่ ดันสินค้าแพงฉุดกำลังซื้อ (ไทยโพสต์)


          เอกชนตบเท้าจวกรัฐจ้องโขกภาษีมูลค่าเพิ่ม ชี้โยนภาระให้ผู้บริโภคช่วงเศรษฐกิจแย่-น้ำท่วม ส่งผลชะลอกำลังซื้อ เหตุสินค้าแพงขึ้น กระตุกต่อม ควรคิดให้รอบคอบ คิดมาตรการช่วยเหลือให้เร็วขึ้น ศุลกากรคาดปิดงบ 54 รีดภาษีทะลุ 1 แสนล้านบาท ด้านสรรพสามิตยอมรับ ลดภาษีดีเซลกระทบแผนเก็บรายได้

          นายสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐมีนโยบายจะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่า (VAT) จาก 7% เป็น 10% ในปี 2555 เพื่อไม่ให้การเก็บรายได้ของภาครัฐมีปัญหานั้น หากมีการปรับขึ้นจริง ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากราคาสินค้าต้องมีการปรับขึ้นตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐคิดถึงเรื่องนี้ให้มาก เพราะไม่ควรสร้างภาระให้กับผู้บริโภค

          "ภาครัฐไม่ควรขยับภาษีขึ้นตอนนี้ เพราะผู้บริโภคกระอักกระอ่วนอยู่แล้วจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จึงมองว่าภาครัฐน่าจะไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคจะดีกว่า เพราะถ้าภาครัฐปรับอัตราภาษีขึ้นจริง ผู้ประกอบการก็ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น ซึ่งตอนนี้ผู้บริโภคประสบกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่แล้ว ในส่วนของบริษัทยืนยันว่าจะตรึงราคาตั๋วหนังให้นานที่สุด แต่ถ้าภาครัฐประกาศขึ้นภาษี ก็คงจะต้องขึ้นราคาตั๋วหนัง เพราะถ้าไม่ปรับก็อยู่ไม่ได้” นายสุวิทย์กล่าว

          นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า หากภาครัฐจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คงไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคจะมีการชะลอกำลังซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะขายสินค้าได้น้อยลง

          ทั้งนี้ คงต้องดูก่อนว่าภาษีที่ภาครัฐจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราเท่าไร แต่ถ้าปรับขึ้นไม่เกิน 10% จากปัจจุบัน 7% มองว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก และจะส่งผลกระทบแค่ช่วงระยเวลาสั้นๆ แต่ถ้าปรับขึ้นเท่าตัวเป็น 14% เชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบโดยตรง

          "หากมองในมุมของผู้บริโภค การปรับภาษีดังกล่าวถือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้น จากสถานการณ์ตอนนี้ ภาครัฐควรช่วยเหลือประชาชน เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีนโยบายที่จะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นจริงควรรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้" นายบุญชัยกล่าว

          นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรกที่ภาครัฐประกาศนโยบาย ซึ่งในส่วนของธุรกิจของบริษัทอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม จากนโยบายดังกล่าวคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้บริโภคจะชะลอกำลังซื้อ

          นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า กล่าวว่า ถ้ารัฐไม่สามารถหางบประมาณมาชดเชยการขาดดุลได้ลงตัว ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะปรับขึ้นภาษี แต่ภาครัฐควรหามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เช่น การยกเลิกมาตรการตรึงราคาสินค้าบางกลุ่ม เป็นต้น

          นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปี 2554 กรมฯ จะเก็บภาษีได้ 1 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2555 กรมฯ มีเป้าเก็บภาษี 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าเก็บได้ตามเป้า

          นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯ มีปัญหาการเก็บรายได้ปี 2555 ที่มีเป้า 4.04 แสนล้านบาท เพราะลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้กรมสูญเสียรายได้ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 9 พันล้านบาท



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เอกชนรุมจวกรัฐจ้องโขกภาษีมูลค่าเพิ่ม ซ้ำเติมผู้บริโภค อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2554 เวลา 10:03:10 18,090 อ่าน
TOP
x close