x close

สมาคมชาวนาจวกเละ! จำนำข้าวทำเสียแชมป์ส่งออก



          สมาคมชาวนาไทยจวกเละ โครงการจำนำข้าวทำเสียแชมป์ส่งออกข้าวหอมมะลิ บอกตั้งราคา 1.5 หมื่นบาท ขายแพงเกินไป ร้องโครงการประกันข้าวกลับคืนมา ขณะที่สมาคมผู้ส่งออกข้าว เผย รัฐเข้าใจผิด คิดว่าเป็นแชมป์อันดับ 1 จะตั้งราคาเท่าไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้องดูราคาตลาดโลกด้วย 

          วานนี้ (4 มีนาคม) พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดเสวนาสาธารณะเปิดหูเปิดตาประชาชน เรื่อง "จำนำ-จำนน พืชผลเกษตรไทย"  โดยเป็นการวิพากษ์นโยบายการจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

          โดย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุว่า ชาวนาไม่เคยได้รับราคาจำนำตันละ 1.5 หมื่นบาท ตามที่รัฐบาลตั้งไว้เลย เพราะจะอ้างความชื้นว่า เกิน 15% ซึ่งถือเป็นข้าวแห้ง แต่ชาวนาไม่มีข้าวแห้ง เพราะไม่มีที่ตาก เวลาเกี่ยวข้าวแล้วจะเก็บได้ไม่เกิน 3 วัน ไม่เช่นนั้นข้าวจะแตก ซึ่งข้าวส่วนใหญ่จะชื้น 22-30% นอกจากนี้เรื่องราคาข้าว ทางชาวนาอยากได้ตันละ 1.5 หมื่นบาท แต่ทางโรงสีบอกว่า ไม่รับซื้อ นี่คือความช้ำใจของชาวนา พอเอาไปจำนำก็ถูกกดราคา ขายได้แค่ตันละ 1 หมื่นบาท

          ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ ยอมรับว่า มีชาวนาหลายรายทั้งภาคกลางและอีสานออกมาเรียกร้อง ทั้งให้ไปเสนอรัฐบาลให้เอาโครงการประกันกลับมา แต่ก็บอกว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล เราเลือกเขามาแล้วก็ต้องยอมรับ ปัญหาที่เจอก็ต้องทน ๆ ไป

          ส่วนทางด้าน นายสมบัติ ท้าวสาบุตร ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ชี้ว่าปัญหาของโครงการรับจำนำมันคือไม่มีลานมัน เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มโครงการเดือน ก.พ.นี้ แต่ชาวไร่ขุดมันตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้มันกว่า 80% ถูกขุดออกไปแล้ว และเดือน มี.ค.นี้ยังครบกำหนดต้องใช้หนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก ทำให้เกิดการทุจริต เวลาไปจำนำต้องรอคิว ชาวไร่คนไหนรอไม่ได้ก็ขายลานมันที่ไม่ร่วมโครงการ แต่ได้เงินเร็วกว่า แล้วยังขายใบประทวนให้ลานมันนำไปสวมสิทธิ์เข้าโครงการอีกทาง นอกจากนี้ ตนขอยืนยันว่า โครงการประกันรายได้ดีกว่า เพราะถ้าขายต่ำกว่าราคาอ้างอิง ก็ได้เงินส่วนต่าง เงินถึงมือประชาชนแน่ แถมยังไม่มีการซื้อใบประทวน ที่สำคัญประกันไม่มีเพดาน แต่จำนำมันมีเพดาน 

        ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การตั้งราคาจำนำในปัจจุบันผูกติดกับการเมืองมาก ตั้งราคาไม่สมเหตุผล ตั้งตามอำเภอใจ เป็นการช่วยเหลือที่บิดเบือนราคาตลาดมากเกินไป เพราะไปหาเสียงเอาไว้ ซึ่งเคยสอบถามผู้บริหารพรรคเพื่อไทยในรัฐบาลคนหนึ่ง ว่าทำไมต้องกลับมารับจำนำใหม่ เขาก็ตอบว่าอยากยกระดับราคาส่งออกข้าวให้แพงขึ้น เพราะปี 2551 เคยมีราคาสูงถึงตันละ 1,000 ดอลลาร์ อยากให้ได้ตันละ 800 ดอลลาร์ ซึ่งก็บอกว่าไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะปีนั้นมีเหตุการณ์พิเศษ พืชผลทุกชนิดขึ้นราคาหมด

        นายกฯ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยังกล่าวต่อว่า ในเรื่องดังกล่าวนักการเมืองอาจมองว่า เราเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง ควรมีสิทธิตั้งราคาขายเท่าไรก็ได้ แต่มันดูแค่ส่วนเดียวไม่ได้ เพราะถ้าข้าวแพง ประเทศอื่นเขาก็สั่งที่อื่น หรือกินอย่างอื่นแทนได้ สำหรับนโยบายประกันรายได้ ยอดส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10.5 ล้านตัน ไทยเป็นแชมป์มา 31 ปี รองลงมาคือเวียดนาม 7.2 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีอินเดีย ปากีสถาน สหรัฐ บราซิล อุรุกวัย รวมยอดส่งออกข้าว 32 ล้านตัน แต่ปีนี้มีโอกาสมากที่ไทยจะเสียแชมป์ให้เวียดนามและอินเดีย เพราะแค่การส่งออก 2 เดือนแรกไทยก็ส่งออกต่ำกว่าอินเดียแล้ว

        "ที่เคยบอกว่าข้าวไทยดีกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ 10 ปีมานี้ เวียดนามใช้เงินพัฒนาข้าวมากกว่าไทยถึง 10 เท่า ข้าวเวียดนามสมัยนี้สวยเหมือนข้าวไทย พรีเมียมที่ข้าวไทยต้องขายแพงกว่าข้าวประเทศอื่น ๆ เวลานี้ผู้ซื้อให้น้ำหนักน้อยลงเรื่อย ๆ หรือข้าวหอมมะลิที่เคยภูมิใจว่า ไม่มีใครลอกเลียนได้ ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะข้าวหอมเวียดนามและข้าวหอมกัมพูชามีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ขายถูกกว่า ลูกค้าอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์จึงหันไปซื้อข้าวประเทศอื่นมากขึ้น" นายชูเกียรติกล่าว

        ขณะที่ นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าและอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเทศไทยจะเสียแชมป์ขายข้าวอย่างแน่นอน ถ้าคิดว่าจะขายได้ในราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท เพราะไม่มีใครยอมซื้อของแพง อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า การจำนำข้าวไม่ใช่เรื่องผิด แต่หลักการของรัฐบาลนี้ ตนว่าผิด เนื่องจากราคาต้องไม่บิดเบืนตลาดมากเกินไป 

       พร้อมกันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะ รมช.พาณิขย์เงา กล่าวถึงการทุจริตจำนำข้าวว่า มี 3 ระยะ 1.จากข้าวไปถึงโรงสี 2.เวลาเก็บข้าวในโกดัง และ 3.เวลาเอาข้าวมาประมูลขาย โดยมีชาวนาในภาคเหนือมาร้องเรียนบอกว่าโรงสีจะดูหน้าตาชาวนา คนไหนหน้าตาพอจะรู้เรื่องก็ให้เยอะหน่อย ไม่วัดความชื้นเลย ในภาคอีสานอย่าง จ.บุรีรัมย์ มีชาวนาส่งเอกสารมาให้นำข้าวหอมมะลิไปจำนำ ปรากฏว่าถูกโกงทั้งราคาและน้ำหนัก ส่วนการจำนำมัน อยากให้ รมว.พาณิชย์ไปทำความเข้าใจ ที่บอกว่าเดือนพฤษภาคมปัญหาจะคลี่คลาย เพราะเดือน มีนาคม ชาวไร่ก็ขุดมันมาหมดแล้ว 

       ท้ายนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมคงทราบความต่างด้านหลักคิดระหว่างประกันรายได้กับจำนำมันว่าเป็นอย่างไร แม้เมื่อหาเสียงมาแล้วรัฐบาลก็ต้องทำ แต่ทำไปแล้วผลเป็นอย่างไรก็ถึงเวลาต้องกลับมาทบทวน รัฐบาลต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ต้องยอมรับว่ามีปัญหา แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ฝ่ายค้านทำหน้าที่เสริม เอาความจริงมาให้รัฐบาล จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะคิดว่า พร้อมจะจ่ายปีละหลายแสนล้านบาทแล้วได้ผลออกมาอย่างนี้ หรืออยากจะกลับจากโครงการจำนำมาเป็นโครงการประกันรายได้ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 





[1 มีนาคม] อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกแทนที่ไทย






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกแทนที่ไทย ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เก็บเกี่ยวได้น้อยลง รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น

             เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อินเดียกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกแล้ว โดยในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม ปี 2554 ถึงเดือนมกราคม ปี 2555 อินเดียส่งข้าวออกแล้ว 2.3 ล้านตัน  ทำให้วงการข้าวประมาณกันว่า ส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกของอินเดียในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นสามเท่าตัว และการส่งออกอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 6 ล้านตัน แต่อินเดียก็มีข้าวในประเทศมากพออยู่แล้ว โดยสะสมข้าวไว้มากถึง 30 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอฟังรายงานการพยากรณ์อากาศในเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับมรสุมก่อน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อินเดียจะปรับนโยบายการส่งออกข้าว

             โดย นาย Vijay Setia นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดีย ได้กล่าวว่า ธุรกิจข้าวจะก้าวหน้าไปด้วยดีในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะตลาดกำลังคึกคัก มีความต้องการจากหลายประเทศทั้งจากอิหร่าน อิรัค ทั่วทั้งตะวันออกกลาง และลูกค้าในแอฟริกาก็สนใจอยากซื้อข้าวคุณภาพดี ราคาถูก

             ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อค้าข้าวในอินเดียมองการณ์ในแง่ดี นั่นเพราะเมื่อห้าเดือนที่แล้ว รัฐบาลอินเดียประกาศอนุญาตให้ส่งออกข้าวราคาถูก ซึ่งถูกกว่าข้าว basmati ที่เป็นข้าวส่งออกชั้นหนึ่งของประเทศ ได้เป็นครั้งแรกในช่วงสี่ปีมานี้ ทำให้อินเดียสามารถเสนอขายข้าวราคาถูกได้ในตลาดโลก เป็นตัวเลือกแทนที่ข้าวไทย ซึ่งถูกน้ำท่วม เก็บเกี่ยวได้น้อยลง รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น

             ขณะที่นาย Samarenda Mohanty นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ หรือ IRRI ที่ฟิลิปปินส์บอกว่า ข้าวอินเดียช่วยให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่พุ่งสูงขึ้น เพราะอินเดียขายข้าวในตลาดโลกในจังหวะที่เหมาะสมมาก เพราะเป็นเดือนเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น 50% ซึ่งถ้าไม่มีข้าวจากอินเดียเข้าไปแทนที่ ราคาข้าวในตลาดโลก ก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับข้าวไทย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมาคมชาวนาจวกเละ! จำนำข้าวทำเสียแชมป์ส่งออก อัปเดตล่าสุด 5 มีนาคม 2555 เวลา 11:06:45 30,456 อ่าน
TOP