ทุ่ม 14 ล้าน บูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงกลับเป็นล้านนา








เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม

         ศิลปากรให้งบ 14 ล้าน บูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงครั้งใหญ่ ให้กลับมาเป็นแบบล้านนาดังเดิม

         เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พระครูนิกรนพกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางวัดพระธาตุลำปางหลวงกำลังบูรณะและซ่อมแซมวิหารหลวง อายุกว่า 600 ปี โดยมีการรื้อหลังคา และโครงสร้างไม้บางส่วนของหลังคาวิหารหลวงออก แต่ทางวัดยังคงเปิดให้กราบไหว้องค์พระธาตุลำปางหลวงตามปกติ

         สำหรับการบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีอายุกว่า 1,329 ปี ในครั้งนี้ พระครูนิกรนพกิจ ระบุว่า ได้รับงบประมาณมาจากกรมศิลปากร จำนวน 14 ล้านบาท เพื่อบูรณะซ่อมแซมหลังคาของวิหารหลวงให้กลับไปเป็นรูปแบบล้านนาเหมือนเดิม จากที่เมื่อปี พ.ศ.2466 หรือเมื่อ 89 ปีก่อน เคยมีการบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงครั้งแรก และได้เปลี่ยนหลังคาวิหารหลวงกลายเป็นแบบยุครัตนโกสินทร์ แต่ในการบูรณะครั้งนี้ จะเปลี่ยนช่อฟ้าให้เป็นแบบล้านนาที่แท้จริง ตามภาพเก่าในอดีตก่อนที่จะถูกบูรณะ และจะเปลี่ยนจากกระเบื้องหลังคาที่เป็นดินเคลือบมาเป็นกระเบื้องดินเผาแทน เพื่อแสดงถึงความเก่าแก่

         อย่างไรก็ตาม พระครูนิกรนพกิจ ยังยืนยันด้วยว่า การบูรณะดังกล่าวไม่ได้เป็นความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อให้หลังคาวิหารหลวงกลับไปเป็นแบบล้านนาดังเดิม



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


[23 มีนาคม] อาจารย์ มช.โวย กรมศิลป์ซ่อมวัดพระธาตุลำปาง เสียหาย


วัดพระธาตุลำปาง

วัดพระธาตุลำปาง

วัดพระธาตุลำปาง

วัดพระธาตุลำปาง





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร้องกรมศิลปากรรับผิดชอบ กรณีทำ ลายคำวัดพระธาตุลำปาง อายุกว่า 300 ปีเสียหาย เผย ใช้ช่างฝีมือหยาบ-ลวดลายไม่เหลือเค้าเดิม

           เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า นายสุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร้องเรียนว่า บริษัทรับเหมาที่ว่าจ้างให้มาซ่อมแซมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ได้สร้างความเสียหายแก่ ลายคำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 300 ปี ประดับอยู่บนประตูวิหารพระพุทธ ที่มีอายุกว่า 500 ปี ซึ่งลายคำ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะล้านนาที่มีลวดลายขนาดใหญ่งดงาม ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทดังกล่าว ได้ปิดทอง เขียนลวดลายใหม่ทับของเดิม

           นายสุรชัย กล่าวว่า โบราณสถานต่าง ๆ ในวัดพระธาตุลำปาง อันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ วิหารหลวง วิหารพระพุทธ วิหารน้ำแต้ม ถือเป็นศิลปะล้านนาที่ยังคงความรุ่งเรืองเอาไว้มากที่สุด และตกทอดมาถึงปัจจุบัน  แม้กระทั่งจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ยังไม่มีศิลปะที่คงความสมบูรณ์เอาไว้เช่นนี้ โดยเฉพาะวิหารพระพุทธ อายุราว 500 ปี ที่เหลือเพียงไม่กี่หลังในปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทที่ทำการซ่อมแซมวัด ได้รับการคัดเลือกและควบคุมการก่อสร้างโดยกรมศิลปากร ได้สร้างความเสียหายต่อลายคำ รูปเทวดาพนมมือขนาดใหญ่ 2 องค์ ที่ประดับอยู่ประตูวิหาร โดยบริษัทผู้รับเหมา ได้ปิดทองและเขียนลายทับลงไปใหม่ ไม่เหลือร่องรอยของเดิมแม้แต่น้อย อีกทั้งช่างที่ซ่อมยังเป็นช่างฝีมือหยาบ ทำให้ลวดลายขาดความปราณีตงดงาม

           นอกจากนี้ นายสุรชัย ยังกล่าวต่อไปว่า ลายคำในวิหารพระพุทธ ฝีมือของช่างเดิมที่มีอายุกว่า 300 ปีนั้น เป็นการสร้างลวดลายโดยใช้วัสดุปลายแหลมขูดลงไปบนทองคำเปลว ให้เส้นนั้นเล็กเท่าเส้นผม ซึ่งลายดังกล่าวเป็นลายเทวดาประดับเครื่องทรงที่มีความละเอียดปราณีต เทคนิคการขูดลายดังกล่าวเรียกว่า ฮายดอก ซึ่งเป็นเทคนิคการทำลวดลายที่พบเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น หาชมได้ในจังหวัดลำปาง

           ทั้งนี้ กรมศิลปากรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสงวนรักษาศิลปกรรมของชาติ แต่การซ่อมแซมดังกล่าวได้ทำให้ลวดลายเสียหาย และการบูรณะศิลปกรรมชิ้นอื่น ๆ ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน อาทิ วิหารน้ำแต้ม ที่กรมศิลปากรเพิ่งซ่อมแซมไปก่อนหน้านี้ ได้อาคารที่มีสภาพเหมือนใหม่ และลวดลายคำภายในวิหารอายุหลายร้อยปีก็ถูกซ่อมทับใหม่ แม้ว่าลวดลายเดิมจะสมบูรณ์อยู่ก็ตาม เรื่องนี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และสร้างความเสียหายอย่างมาก นายสุรชัยจึงอยากรู้ว่า กรมศิลปากรจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทุ่ม 14 ล้าน บูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงกลับเป็นล้านนา อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2555 เวลา 15:44:40 30,753 อ่าน
TOP
x close