เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เตือนประชาชน อย่าตื่นตระหนกข่าวลือซูเปอร์มูนเป็นวันหายนะโลก ชี้ดวงจันทร์ใกล้โลกคืนวันเพ็ญ 6 พฤษภาคม เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวแน่
หลังมีข่าวลือว่า การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าใกล้โลก หรือปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน เป็นวันหายนะโลก ที่บ่งบอกถึงภัยพิบัติล่วงหน้า ล่าสุด ในวันนี้ (4 พฤษภาคม) นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเกิดซูเปอร์มูนในวันที่ 6 พฤษภาคม จะเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 10.34 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี โดยมีระยะห่าง 356,953 กิโลเมตร และเนื่องจากเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี ผู้คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์
นายศรัณย์ ยังกล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์ดวงจันทร์โคจรใกล้โลก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปกติ เพราะดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี ทำให้ในทุก ๆ เดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลก และดวงจันทร์ใกล้โลก ซึ่งการที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลกอาจส่งผลให้น้ำขึ้นน้ำลงเพิ่ม ขึ้นเพียง 1-12 เซ็นติเมตร แต่ยืนยันว่า ปรากฎการณ์นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดหายนะโลก เช่น แผ่นดินไหว หรือสึนามิ แต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกไปกับข่าวลือนี้
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกในคืนวันเพ็ญลักษณะเช่นนี้ เกิดครั้งล่าสุดในวันที่ 20 มีนาคม 2554 ตามเวลาในประเทศไทย 02.10 น. ที่ระยะห่าง 356,577 กิโลเมตร
NASA ชี้แสงฝนดาวตกอาจบัง ซูเปอร์มูน 6 พ.ค.
NASA ชี้แสงฝนดาวตกอาจบังซูเปอร์มูน 6 พ.ค. (ไอเอ็นเอ็น)
ผู้เชี่ยวชาญองค์การ นาซ่า ชี้ ปรากฏการณ์ ซูเปอร์มูน ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 6 พ.ค.นี้ อาจถูกบดบังแสงจากฝนดาวตกที่เกิดจากเศษฝุ่นที่เหลือของดาวหางฮัลเลย์ แต่ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นดาวตกลูกไฟที่สว่างที่สุดของฝนดาวตก เอ-ตา อะควอริด
วันนี้ (4 พฤษภาคม) เว็บไซต์ SPACE.com เว็บข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ชื่อดัง รายงานว่า ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือซูเปอร์มูน ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ อาจจะถูกบดบังและรบกวน จากความสว่างของฝนดาวตกเอ-ตา อะควอริด ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำปีที่เกิดจากเศษฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ เพราะในช่วงที่จันทร์เต็มดวงนั้น ตรงกับช่วงที่มีฝนดาวตกหนาแน่นพอดี
โดยในเรื่องนี้ บิล คุ๊ก ผู้เชี่ยวชาญด้านฝนดาวตกขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซ่า จากศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลสหรัฐฯ ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ซูเปอร์มูน เพิ่มเติมว่า แม้ว่าแสงของดวงจันทร์อาจถูกบดบังจากแสงของฝนดาวตก เอ-ตา อะควอริด แต่ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นดาวตกลูกไฟที่สว่างที่สุดของฝนดาวตกชุดนี้ โดยผู้เฝ้าชมปรากฏการณ์นี้จากซีกโลกใต้จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกได้ชัดเจนกว่าซีกโลกอื่น
ทั้งนี้ ฝนดาวตกเอ-ตาอะควอริด ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 โดยจะตกชุกสุด 60 ดวงต่อชั่วโมงในวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2555 ตามเวลาทางซีกโลกตะวันตก ซึ่งฝนดาวตกชุดนี้เป็น 1 ในฝนดาวตก 2 ชุดที่เกิดจากฝุ่นดาวหางฮัลเลย์ ที่มีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 76 ปีโดยฝนดาวตกอีกชุด คือ โอไรออนิด ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคม
***ทั้งนี้ภาพประกอบข่าวด้านบน เป็นรูปซูเปอร์มูน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ปีที่ผ่านมา โดยเป็นภาพดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ด้านหลัง หอวิทยุและโทรทัศน์ ฟังค์เทิร์ม ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศ เยอรมัน
[3 พฤษภาคม] ชวนดู ซูเปอร์มูน ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 6 พ.ค.นี้
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ชวนดู ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์มูน ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้
เตรียมชมปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก หรือ ซูเปอร์มูน ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2555 ซึ่งดวงจันทร์จะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางราว 356,955 กิโลเมตร โดยปรากฏการณ์ในครั้งนี้ จะทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ และให้แสงสว่างมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ามาใกล้โลกที่สุดในรอบปีของดวงจันทร์อีกด้วย
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ ปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน จะทำให้ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติร้อยละ 14 และมีแสงสว่างมากกว่าปกติร้อยละ 30 ซึ่งไม่มีผลกระทบใด ๆ กับโลก แต่กระแสน้ำทะเลจะแรงขึ้นร้อยละ 42 เป็นเวลา 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากต้องการชมปรากฏการณ์ซูเปอร์มูนให้ชัดเจนที่สุด ให้รอชมในช่วงที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นจากขอบฟ้า หรือ ก่อนลับขอบฟ้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับประเทศไทย ประมาณเวลา 10.30 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลากลางวัน
นอกจากนี้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่กลับกัน นั่นคือ ดวงจันทร์จะโคจรออกห่างจากโลกมากที่สุด ส่งผลให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กลง เช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก