x close

วันกองทัพเรือ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี

           วันกองทัพเรือ ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญและหน้าที่อันใหญ่หลวงของ กองทัพเรือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกองรบที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของไทย

วันกองทัพเรือ

บิดาทหารเรือไทย


             พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

กำเนิดกองทัพเรือ


          กองทัพเรือ มีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทย นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียว มิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า "ทัพบก" หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า "ทัพเรือ" การจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติสมัยนั้นยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหาร "ทัพบก" และ "ทัพเรือ" รวม ๆ กันไป

          ในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักรหรือนอกอาณาจักร มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เครื่องศัสตราวุธเรือ นอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก ๆ เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำ แล้วจึงยกทัพต่อไปทางบก


          เรือรบที่เป็นพาหนะของกองทัพไทยสมัยโบราณมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ เรือรบในแม่น้ำและเรือรบในทะเล เมื่อสันนิษฐานจากลักษณะที่ตั้งของราชธานี ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบ และมีแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางในการคมนาคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำในการบริโภคและการเกษตรกรรมแล้ว เรือรบในแม่น้ำคงมีมาก่อนเรือรบในทะเล เพราะสงครามของไทยในระยะแรก ๆ จะเป็นการทำสงครามในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือ เป็นการทำสงครามกับพม่าเป็นส่วนมาก

เรือรบนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่


เรือรบในแม่น้ำ


          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2076-2089) ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย คืนจากพม่า ใน พ.ศ. 2081 ต่อจากนั้นไทยก็ได้ทำศึกสงครามกับพม่ามาโดยตลอด เรือรบในแม่น้ำในสมัยนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะใช้ทำศึกสงครามมากกว่าเรือรบทางทะเล เรือรบในแม่น้ำเริ่มต้นมาจากเรือพาย เรือแจวก่อน เท่าที่พบหลักฐาน ไทยได้ใช้เรือรบประเภทเรือแซเป็นเรือรบในแม่น้ำ เพื่อใช้ในการลำเลียงทหารและเสบียงอาหารมาช้านาน โดยใช้พาย 20 พายเป็นกำลังขับเคลื่อนให้เรือแล่นไป

เรือรบในทะเล


          สำหรับเรือรบในทะเล ในสมัยแรกยังไม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะเท่าเรือรบในแม่น้ำ เนื่องจากลักษณะที่ตั้งตัวราชธานีอยู่ไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา ความจำเป็นในการใช้เรือจึงมีน้อยกว่าในยามปกติ จึงนำเอาเรือที่ใช้ในทะเลมาเป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายยังหัวเมืองชายทะเลต่าง ๆ และประเทศข้างเคียง ครั้นเมื่อบ้านเมืองมีศึกสงครามก็นำเรือเหล่านี้มาติดอาวุธปืนใหญ่เพื่อใช้ทำสงคราม

          แต่ครั้งโบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยได้เริ่มใช้เรือรบในทะเลในการทำศึกสงครามบ้างแล้ว เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. 2135 และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพเรือไปตีเมืองบันทายมาศ เมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นต้น ส่วนเรือรบในทะเลจะมีเรือประเภทใดบ้างยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเรือใบหลายประเภทด้วยกัน ถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ส่วนมากจะเป็นเรือสำเภาแบบจีน เรือกำปั่นแปลง แต่ถ้าเป็นเรือขนาดย่อมลงมาจะเป็นเรือสำปั้นแปลง เรือแบบญวน เรือฉลอม เรือเป็ดทะเล และเรือแบบแขก เป็นต้น

วันกองทัพเรือ
ภาพจาก : Surachai / shutterstock.com

ประวัติ วันกองทัพเรือ (Royal Thai Navy Day)

          ในสมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกกำลังการรบทางเรือออกจากทางบก กระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งแยกการรบออกจากกัน และได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 เป็น วันกองทัพเรือ จวบจนปัจจุบัน

          หลังจากมีการแบ่งแยกกำลังทางรบระหว่างทางบกและทางเรือออกจากกันแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมทหารเรือขึ้น แต่ทั้งนี้ ในสมัยนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือ ผู้บัญชาการป้อมต่าง ๆ

          ต่อมาภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงว่าทหารจากต่างประเทศที่เข้ามาประจำตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะมีกำลังไม่มากพอที่จะรักษาอธิปไตยของชาติได้ และอาจจะรักษาอธิปไตยได้ไม่ดีเท่าคนไทยด้วยกันเอง จึงประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนชาวต่างชาติได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์" พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ


          ทั้งนี้ หลังจากพระราชโอรสทรงสำเร็จการศึกษา จึงทรงกลับมารับราชการในกรมทหารเรือ และจัดฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกบริเวณอู่หลวงใต้ วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ เพื่ออบรมนายทหารชั้นประทวนและฝ่ายช่างกล ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ทรงตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น จากนั้นในปี พ.ศ. 2440 ได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรืออีกโรงเรียนหนึ่ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2442 ได้ตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) โดยมี นาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก

          และในปีถัดมา (พ.ศ. 2443) เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับ ได้ว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังดังกล่าวให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา

          โดยได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน มีความว่า...

          "วันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า"

          ทั้งนี้ ทางราชการทหารเรือจึงได้ถือ "วันกองทัพเรือ" เป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี ตราบจนปัจจุบัน

ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ


           ขนบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือนั้น เป็นประเพณี พิธี หรือรูปแบบการปฏิบัติ ที่ได้รับการปฏิบัติสืบช่วงต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ พร้อมด้วยเหตุผลไม่ในทางมารยาทก็ในทางความรู้สึก หรือไม่ก็ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือหลายประการรวมกัน 

           ปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือนี้นับว่าแพร่หลายไปทั่วโลกที่มีกองทัพเรือ บางอย่างก็มีลายลักษณ์อักษร บางอย่างก็ไม่มี ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรืออาจไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ก็เป็นที่ทราบและนิยมปฏิบัติกันมา และในทุก ๆ ชาติพันธุ์ก็มีประเพณีของตนเอง อาจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน บางชาติอาจรับมาจากอีกชาติหนึ่ง และดัดแปลงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสม 

           สำหรับ "ราชนาวีไทย" ได้ถือเอาแบบอย่าง "ราชนาวีอังกฤษ" เป็นหลัก ถึงแม้จะมีประเพณีอีกเป็นอันมากที่ยังไม่ได้รับรองเป็นทางการก็ตาม แต่เชื่อว่าทหารเรือของประเทศทั้งหลายก็คงไม่ยอมให้ประเพณีเหล่านั้นเปลี่ยนไป หรือทอดทิ้งละเลยให้สูญไปเสีย และเป็นหน้าที่ของทหารเรือรุ่นหลังทุกคนที่ต้องพยายามศึกษาให้รู้และปฏิบัติตาม การที่จะเป็นผู้มีวินัยดีย่อมเกิดจากการปฏิบัติตามแผนที่ดีและแบบแผน ธรรมเนียมที่ดีเหล่านี้จะคงอยู่ด้วยการร่วมมือกันปฏิบัติทั่วทุกคนทั้งนายทหารและทหาร โดยเฉพาะผู้น้อยควรลงมือปฏิบัติก่อนเสมอ

ยุทธการต่าง ๆ ที่สำคัญของทหารนาวิกโยธินกองทัพเรือ


ยุทธการสามชัย


          ปลายปี พ.ศ. 2515 ถึงต้นปี พ.ศ. 2516 มีการปฏิบัติการจริง ที่แฝงมาในคำว่า "ฝึก" มีชื่อเป็นทางการว่า "การฝึกร่วม 16" เป็นการปราบในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย

ยุทธการผาภูมิ


          หลังฝึกร่วม ปี พ.ศ. 2516 ตามแผนยุทธการสามชัยที่ภูหินร่องกล้าแล้วอย่างได้ผล ผบ.ทหารสูงสุด ได้มี คำสั่งให้มีการฝึกร่วมในปี พ.ศ. 2517 อีกครั้งหนึ่ง ตามแผนยุทธการผาภูมิ เพื่อปราบปรามในพื้นที่ดอยผาจิ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของเชียงรายและน่าน

 ยุทธการกรุงชิง


          ปี พ.ศ. 2520 กองทัพบกพิจารณาเห็นว่านาวิกโยธินสามารถปฏิบัติการบนบกได้ดี จึงได้พิจารณาจัดนาวิกโยธินไปปฏิบัติการปราบปรามในพื้นที่กองทัพภาค 4 ในชื่อ "ฉก.นย.201" หรือ "หน่วยเฉพาะกิจ ทักษิณ"

          นี่คือความเป็นมาของวันกองทัพเรือ พร้อมเหตุผลที่ว่า ทำไมวันกองทัพเรือจึงตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี

เช็ก ปฏิทิน 2566 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความวันสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันกองทัพเรือ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11:08:45 82,231 อ่าน
TOP