มะเมี๊ยะ
เจ้าน้อยศุขเกษม
ตำนานพื้นบ้านของไทยที่ถูกเล่าขานต่อกันมาตั้งแต่ในอดีตมีอยู่มากมาย แต่หากจะเอ่ยถึงตำนานรักอันได้อ้างอิงจากบุคคลผู้มีชีวิตจริงในอดีต ซึ่งสร้างความประทับใจกึ่งสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่ได้ทราบเรื่อง และยังถูกเก็บงำรายละเอียดไว้เป็นปริศนานั้น เห็นจะหนีไม่พ้นตำนานของ มะเมี๊ยะ กับ เจ้าน้อยศุขเกษม
ตำนานของ มะเมี๊ยะ เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมแห่งความรักของคู่หนุ่มสาวที่มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ และชนชั้น โดยฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าชายจากล้านนา กรุงสยาม และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิงสาวแม่ค้า ชาวพม่า แต่แม้ว่าทั้งคู่จะถูกกีดกันด้วยความต่างและสถานการณ์บ้านเมือง แต่ทั้งสองก็ยังคงมีจิตใจรักมั่นต่อกัน จนกระทั่งตายจากไป ซึ่งความประทับใจระคนเวทนาที่มีต่อความรักของคนทั้งคู่นี้เองที่ทำให้เรื่องราวของ มะเมี๊ยะ ถูกเล่าสืบต่อกันมา
ตามตำนาน เล่ากันว่า มะเมี๊ยะ มีชีวิตอยู่จริงในช่วงปี พ.ศ. 2430-พ.ศ. 2505 นางเป็นหญิงสาวชาวพม่า ที่หน้าตาสะสวย จิ้มลิ้มพริ้มเพรา และเป็นเพียงแม่ค้าขายบุหรี่ซะเล็ก (บุหรี่พม่ามวนโต) อยู่ที่ตลาดใกล้บ้านในเมืองมะละเหม่ง ในตอนที่นางมีอายุ 16 ปีนั้นเอง ก็ได้พบกับ เจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าชายแห่งเมืองล้านนาผู้ซึ่งเดินทางมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเซนต์แพทริก ในพม่า ทั้งคู่ต่างถูกใจในตัวกันและกัน จึงได้คบหาดูใจกันเรื่อยมา และหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ด้วยการสนับสนุนจากทางบ้านของ มะเมี๊ยะ
ในวันพระ ทั้งคู่มักจะพากันไปทำบุญตักบาตรและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองมะละแหม่งอยู่เสมอ จนกระทั่งในวันหนึ่ง ณ ลานกว้างหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่น ทั้งสองก็ได้กล่าวคำสาบานรักต่อกันว่าจะรักกันตลอดไป และจะไม่ทอดทิ้งกัน หากมีผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น
แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของคนทั้งคู่ก็สั้นนัก เพราะจากนั้นไม่นานกำหนดการที่เจ้าน้อยศุขเกษม จะต้องเดินทางกลับเชียงใหม่ก็มาถึง ขณะนั้นเจ้าน้อยที่มีอายุเพียง 20 ปีได้ตัดสินใจให้ มะเมี๊ยะ ปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนเสด็จกลับไปยังเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า โดยที่เจ้าน้อยฯ ไม่ได้รู้เลยว่า เจ้าแก้วนวรัฐ และ เจ้าแม่จามรี ผู้เป็นเจ้าพ่อและเจ้าแม่ของพระองค์ได้หมั้นหมาย เจ้าหญิงบัวนวล ธิดาของเจ้าสุริยวงษ์ (คำตัน สิโรรส) ให้เป็นคู่หมั้นของพระองค์แล้ว ตั้งแต่ปีที่เจ้าน้อยฯ เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในเมืองพม่า
เมื่อขบวนของ เจ้าน้อยศุขเกษม และ มะเมี๊ยะ เดินทางมาจนถึงเชียงใหม่ เจ้าน้อยฯ ก็จำต้องพา มะเมี๊ยะ ไปแอบซ่อนไว้ที่บ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งที่เจ้าพ่อและเจ้าแม่จัดเตรียมไว้ให้เป็นที่พัก เจ้าน้อยฯ ได้ใช้เวลาคิดใคร่ครวญอยู่หลายวันก่อนจะตัดสินใจเล่าความจริงเรื่องที่พระองค์มี มะเมี๊ยะ เป็นภรรยาอยู่แล้วให้ทั้งสองฟัง ซึ่งแม้ทั้งคู่จะไม่พูดอะไร แต่ เจ้าน้อยศุขเกษม ก็พอจะทราบได้ว่าทั้งคู่ไม่ยอมรับ มะเมี๊ยะ เนื่องจากปัญหาใหญ่ในขณะนั้น คือ เจ้าน้อยเป็นผู้ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะได้รับตำแหน่งเจ้าหลวงองค์ถัดไป จากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ซึ่งหากพระองค์เลือก มะเมี๊ยะ มาเป็นศรีภรรยา ประชาชนย่อมต้องเกิดความอึดอัดใจในการยอมรับ มะเมี๊ยะ ผู้เป็นหญิงต่างชาติมาดำรงฐานะศรีภรรยาของเจ้าเมืองอย่างแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นยังน่าหวั่นวิตก เมื่อมหาอำนาจอังกฤษกำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วดินแดนในคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มะเมี๊ยะ ซึ่งเป็นคนจากแผ่นดินพม่าอันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อาจกลายเป็นชนวนปัญหาทางการเมืองที่ใหญ่โตได้ในภายหลัง
ในที่สุดเพื่อรักษาความมั่นคงของบ้านเมืองและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เจ้าพ่อและเจ้าแม่จึงได้ยื่นคำขาดให้เจ้าน้อยฯ ส่งตัว มะเมี๊ยะ กลับเมืองมะละแหม่ง และในยามเย็นวันนั้นเอง เจ้าน้อยฯ ก็ได้เข้าพิธีเรียกขวัญและรดน้ำมนต์ที่เจ้าพ่อกับเจ้าแม่จัดขึ้น เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายที่ท่านทั้งสองเชื่อว่า มะเมี๊ยะ ได้กระทำ เป็นเหตุให้เจ้าน้อยฯ หลงใหลในตัวนาง
หลังจากพิธีรดน้ำมนต์ผ่านพ้นไป ช้างพาหนะและไพร่พลที่จะใช้ในการส่งตัว มะเมี๊ยะ กลับเมืองมะละแหม่งก็ถูกจัดเตรียมทันทีตามคำสั่งของ เจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อ เจ้าน้อยฯ กลับไปถึงที่พักในคืนนั้น มะเมี๊ยะ ได้รับการเกลี้ยกล่อมโดยหญิง-ชาย ชาวพม่า ให้นางกลับไปรอเจ้าน้อยฯ ที่เมืองมะละแหม่ง มิฉะนั้นบ้านเมืองอาจเดือดร้อน ซึ่งนางก็ยินยอมจากไปเพื่อมิให้ผู้ใดได้รับความเดือดร้อน แต่แม้ว่าตัวนางจะจากไปไกล แต่ความรักอันมั่นคงของนางก็จะยังคงอยู่ดังคำสาบานที่เคยให้ไว้แก่กันและกัน ฝ่ายเจ้าน้อยฯ เองก็ยังคงยืนยันในความรักที่มีต่อ มะเมี๊ยะ เช่นกัน และขอให้นางกลับไปรอที่บ้านก่อน หากว่าพระองค์มีวาสนาก็จะกลับไปรับนางมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ให้ได้
ในเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน นับเป็นวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมี๊ยะ ณ บานประตูหายยาเนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่ใคร่เห็นโฉมหน้าของ มะเมี๊ยะ ที่ลือกันว่างามนักงามหนา บรรยากาศในยามนั้นเต็มไปด้วยความหดหู่และเศร้าหมอง ทุกคนต่างสะเทือนใจกับการจากลาของคนที่รักกันยิ่งทั้งสอง และเมื่อเจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับ มะเมี๊ยะ ได้เพียงไม่กี่คำ นางก็ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจในอ้อมแขนของ เจ้าน้อยศุขเกษม ด้วยยากจะทำใจแยกจากกันได้ ในที่สุด เจ้าน้อยฯ ก็ได้รับปากกับ มะเมี๊ยะ ว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากพระองค์สมรสกับหญิงอื่นก็ขอให้ชีวิตของพระองค์ประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว นอกจากนี้ เจ้าน้อยฯ ยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับไปหา มะเมี๊ยะ และก่อนจากลา มะเมี๊ยะ ก็ได้คุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้า เจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่เธอจะจากไป
เมื่อกลับไปถึงเมืองมะละแหม่งแล้ว นางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ จนครบกำหนดที่ท่านได้รับปากไว้ แต่กลับไร้วี่แววใด ๆ มะเมี๊ยะ จึงตัดสินใจบวชเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อสัตย์ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม
เวลาผ่านไป จนกระทั่ง มะเมี๊ยะ ได้ทราบข่าวการเข้าพิธีมงคลสมรส ระหว่าง เจ้าน้อยศุขเกษม ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ดำรงยศศักดิ์เป็น ร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศล กับ เจ้าหญิงบัวนวล ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมี๊ยะจึงได้เดินทางมายังเมืองเชียงใหม่ และขอเข้าพบ เจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ขององค์อดีตสวามีผู้เป็นที่รักก่อนที่จะตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต
ทว่า เจ้าน้อยศุขเกษม กลับไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมี๊ยะ ตามที่นางขอร้อง เพราะไม่อาจจะหักห้ามความสงสารที่มีต่อนางได้ ตัวพระองค์ในยามนั้นได้แต่ยึดสุราเป็นที่พึ่งดับความทุกข์จากความรักความอาลัยในตัว มะเมี๊ยะ และชีวิตที่ไม่เคยมีความสุขในชีวิตสมรส ท่านทำได้เพียงแต่มอบหมายให้ เจ้าบุญสูง พี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน 800 บาท ไปมอบให้กับ แม่ชีมะเมี๊ยะ เพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของ เจ้าน้อยฯ ให้กับนาง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสะเทือนใจให้แก่คนทั้งคู่เป็นอย่างมาก เจ้าน้อยฯ เสียชีวิตในอีกไม่กี่ปีต่อมาด้วยพิษสุรา ด้าน แม่ชีมะเมี๊ยะ เมื่อได้จากลากลับไปยังเมืองมะละแหม่งแล้วก็ครองชีวิตเป็นชีดังที่ตั้งใจไว้ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505 รวมอายุได้ 75 ปี
และเรื่องราวดังกล่าวก็คือตำนานรักระหว่าง เจ้าน้อยศุขเกษม และ มะเมี๊ยะ ที่เล่ากันว่า เจ้าหญิงบัวนวล ผู้ซึ่งเป็นคู่หมั้นและภรรยาของเจ้าน้อยศุขเกษมเป็นผู้บันทึกและถ่ายทอด จนได้รับการเผยแผ่ทั้งโดยการเล่าขานสืบต่อกันมา แต่กระนั้นเรื่องราวในรายละเอียดต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่ได้รับคำตอบ เพราะเหล่าผู้ที่อยู่ร่วมยุคร่วมเหตุการณ์ต่างปกปิดข้อมูลเหล่านั้นไว้ มีผู้ที่หลงในเสน่ห์ของตำนานนี้ได้ออกตามหาความจริง และตามหาว่า มะเมี๊ยะ มีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัด มีเพียงผู้ที่พอจะอนุมานว่าเป็นเธอได้เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า มะเมี๊ยะ จะมีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ความรักของเธอและเจ้าน้อยฯ ก็ยังเป็นที่ประทับใจ และถูกยกย่องให้เป็นตำนานของรักแท้ที่มิอาจเลือนหายไปได้แม้ว่าจะถูกพรากจากกันก็ตาม