x close

แรงงานไทยระส่ำ! โรงงานเลิกจ้าง-ทยอยปิด สังเวยพิษค่าแรง 300



แรงงานไทยระส่ำ! โรงงานเลิกจ้าง-ทยอยปิด สังเวยพิษค่าแรง 300

         แม้เทศกาลปีใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้เฉลิมฉลองกันอย่างมีความสุข แต่ทว่าเมื่อผ่านพ้นเทศกาลไปแล้ว ฝันร้ายของใครหลายคนก็เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อโรงงานหลายแห่งประกาศปิดตัวลงอย่างกะทันหัน เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลซึ่งดีเดย์มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ได้ ส่งผลให้พนักงานหลายพันชีวิตต้องถูกลอยแพเคว้งคว้างตั้งแต่ต้นปี

ภาคกลาง และภาคตะวันออก 

         อย่างที่เราได้ยินข่าวกันเป็นที่แรกก็คือ ที่จังหวัดสระบุรี เมื่อ บริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในส่งออก ปิดโรงงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา พนักงานกว่า 300 คน ต้องเดินทางไปยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยเหลือ ซึ่งทางผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้พนักงานทุกคนมาลงทะเบียน เพื่อขอรับเงินชดเชยจากนายจ้างต่อไป 

         อย่างไรก็ตาม ภายหลังทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้ออกมาชี้แจงว่า การที่บริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ต้องปิดตัวลงนั้น เป็นเพราะผลประกอบการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปีนี้ได้ขาดทุนไปแล้วกว่า 140 ล้านบาท จึงต้องปิดตัวลง ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าแรง 300 บาทแต่อย่างใด

         ขณะที่ จังหวัดนครปฐม ลูกจ้างชาวไทยและชาวต่างด้าว รวม 89 คน ของ บริษัท มาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้องช็อก เมื่อไม่สามารถทำงานได้หลังจากกลับมาจากหยุดยาวปีใหม่ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าของโรงงานถูกตัดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 ลูกจ้างจึงรวมตัวทวงถามคำตอบจากผู้บริหารโรงงาน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจน ก่อนที่ นายโชคชัย ศรีทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะให้ข้อมูลว่า โรงงานนี้ขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทไปแล้ว แต่ยังไม่สรุปว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างหรือไม่ 

         ส่วนที่จังหวัดสระแก้ว พบว่าสถานประกอบการขนาดกลางที่ทำธุรกิจเสื้อผ้าส่งออกหลายแห่งได้ปิดกิจการลง ทำให้แรงงานกว่า 471 คนต้องตกงาน และได้รับค่าชดเชยไปร่วม 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโรงงานขนาดเล็กที่เลิกจ้างแรงงานไปบางส่วน รวม 207 คน ต้องจ่ายค่าชดเชยไปอีกกว่า 3.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอีก 1 แห่งในอำเภอวัฒนานครที่มีแนวโน้มจะเลิกจ้างแรงงาน เพราะแบกรับภาระค่าแรง 300 บาทต่อไปไม่ไหว

         ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เผชิญกับพิษค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน โดย นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อมูลว่ามีพนักงานกว่า 1 หมื่นคนที่อยู่กับผู้ประกอบการรายย่อยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกบอกเลิกจ้าง เพราะโรงงานไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้ได้  


ภาคเหนือ 

         ที่จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิกจำเป็นต้องใช้แรงงานคน นายจ้างหลายแห่งจึงต้องหาวิธีอื่น ๆ มาลดผลกระทบจากพิษค่าแรง 300 บาท เช่น ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน จากเดิมจ้างรายวันมาเป็นจ้างเหมาแทน โดยผู้ประกอบการชี้แจงว่า หากไม่ทำเช่นนี้อาจจะได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นปิดโรงงาน

         ไม่ไกลกันนัก ที่จังหวัดลำพูน มีรายงานว่า ผู้ประกอบการหลายรายเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องปรับค่าแรงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากวันละ 236 บาท เป็น 300 บาท ทำให้ นายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดลำพูน เตรียมเรียกผู้ประกอบการเข้าประชุม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งทางนายจ้างเตรียมจะลดวันทำงานของแรงงานต่างด้าวจากสัปดาห์ละ 6 วัน เหลือ 4 วัน เพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรง 300 บาทในทุกวันได้


แรงงานไทยระส่ำ! โรงงานเลิกจ้าง-ทยอยปิด สังเวยพิษค่าแรง 300

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

         ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะยังไม่มีข่าวว่าโรงงานแห่งใดปิดตัว แต่หลายแห่งก็เริ่มปลดพนักงานออกแล้ว โดยที่ บริษัท นางรองแอพพาเรล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ปลดพนักงานออก 120 คน เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากผลพวงของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และคาดว่าจะมีโรงงานอีกหลายแห่งใช้วิธีการเลิกจ้าง เพื่อช่วยลดต้นทุนด้วยเช่นกัน ทำให้ทางสำนักจัดหางานจังหวัดเร่งหาตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ว่างงานอีก 10,000 อัตรา

         ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบกิจการทั้งหมด 8,452 แห่ง มีลูกจ้างมากกว่า 2 แสนคน โดยพบว่า โรงงานขนาดกลาง และขนาดย่อมตามเขตหัวเมืองหลัก เริ่มทยอยเลิกจ้างคนงานบางส่วนแล้ว พร้อมกับปรับพฤติกรรมลูกจ้างให้ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เพื่อช่วยลดต้นทุน 

         ทั้งนี้ นางสาวอัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 550 คน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมมานี้ ก็มีพนักงานถูกเลิกจ้างอีก 800 ราย รวมแล้วช่วง 2 เดือนนี้ มีคนตกงานแล้วกว่า 1,300 คน ซึ่งจากการสอบถามทราบว่า ที่ต้องเลิกจ้างแรงงานนั้นก็เพื่อลดค่าใช้จ่าย


ภาคใต้ 

         นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบไปทั่วรวมทั้งภาคใต้ที่มีแรงงานชาวพม่าทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก 

         โดยที่จังหวัดระนอง แรงงานชาวพม่าหลายคนบอกว่าตัวเองถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน เพราะนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าแรง 300 บาทให้ได้ ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีแรงงานชาวพม่าถูกโรงงานเลิกจ้างงานแล้วกว่า 1,000 คน เรื่องนี้ทำให้ นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง ในฐานะเลขานุการและนายทะเบียนสภาอุตสาหกรรม 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมเป็นการด่วน

         ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายประภาส เอื้อนนทัช รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่ของภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้โรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องใช้แรงงานคนเกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมแบกภาระต่อไป จนกระทั่งเมื่อไม่ไหวจริง ๆ ก็คงต้องหยุดกิจการ

         อย่างไรก็ตาม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันว่า การที่บริษัทหลายแห่งปิดตัวลงหลังปีใหม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่เป็นเพราะปัญหาของตัวบริษัทเอง เช่น ไม่มีออเดอร์เข้ามา ดังนั้นจึงไม่ควรเหมารวม พร้อมยืนยันว่า ได้ศึกษาถึงผลกระทบการขึ้นค่าแรงมาอย่างรอบด้านแล้ว และพบว่ามีผลกระทบน้อยมาก อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูผลกระทบ รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป

         สำหรับมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ทางคณะกรรมการร่วมของสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคาร ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไป 27 ข้อ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบในมาตรการ 11 ข้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

         โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบการจำนวน 27 ข้อ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือนั้น เห็นว่าบางเรื่องก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ และที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือออกมาแล้ว โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ได้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี สำหรับ 11 มาตรการในการบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือบางมาตรการยังเพิ่มวงเงินในการให้ความช่วยเหลือ และยังมีทั้งมาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการลดภาระต้นทุนต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะแรงงาน ซึ่งน่าจะเพียงพอ

         "นอกจาก 11 มาตรการที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ยังมีอีก 6 มาตรการที่อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นต้น เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งน่าจะเพียงพอและครอบคลุม" 

         นายกิตติรัตน์ ชี้แจงข้างต้น พร้อมยืนยันว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงที่ 300 บาท ไม่ใช่เป็นการผลักภาระ หรือให้ใครได้รับประโยชน์สูงสุดเพียงฝ่ายเดียว แต่จะช่วยสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ของการผลิตและการบริหารจัดการ ขณะที่ผู้ใช้แรงงานเองก็จะได้รับประโยชน์จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศที่จะสะท้อนกลับมาในแง่ของภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนั้น จึงถือว่านโยบายดังกล่าวมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจทั้งจุลภาคและมหาภาค


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
        



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรงงานไทยระส่ำ! โรงงานเลิกจ้าง-ทยอยปิด สังเวยพิษค่าแรง 300 โพสต์เมื่อ 4 มกราคม 2556 เวลา 16:10:38 5,869 อ่าน
TOP