x close

คมนาคม เปิดทาง กทพ. ขึ้นค่าทางด่วน 5 บาท ก.ย.นี้





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Thai Traffic Police

            รมช.คมนาคม เปิดทางบีอีซีแอล ขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน หวั่นถูกเอกชนฟ้องร้อง โยนการทางพิเศษแบกภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ - ด้าน กทพ. จ่อขึ้นค่าผ่านทาง 5 บาท มีผล 1 กันยายน ปีนี้

            เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ตามสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2556 นี้ว่า ตนได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาตามขั้นตอนและให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. กับบริษัททางด่วน–กรุงเทพ ที่มีเงื่อนไขให้ปรับทุก ๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มขึ้น โดยหากผลพิจารณาออกมาว่าต้องปรับขึ้น ก็คงไม่สามารถยับยั้งได้ เพราะต้องคำนึงถึงสัญญาสัมปทานกับเอกชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นกรณีที่ไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญามาแล้ว ทั้งนี้ ทางผู้บริหารบีอีซีแอลได้มาพบตนแล้ว โดยแจ้งให้ทราบว่าในปีนี้ครบ 5 ปีที่จะต้องขอปรับขึ้นค่าผ่านทาง ตนให้ไปหารือในรายละเอียดสัญญากับ กทพ. และให้เสนอมาตามขั้นตอน

            สำหรับกรณีที่ กทพ. ต้องแบกรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) แทนผู้ใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาทต่อปีสะสมมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น พล.อ.พฤณฑ์ กล่าวว่า ต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนว่าจะเหมาะสมหรือไม่กับการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ใช้ทางในขณะนี้ จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ใช้ทางมากเกินไปหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางด้วย ซึ่งเห็นว่า กทพ. ยังพอรับภาระนี้ต่อไปได้ไม่เสียหายและก่อนหน้านี้เคยรับภาระมาตลอด

            ทางด้าน นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า คาดว่าเบื้องต้นจะปรับขึ้นประมาณ 5 บาท ซึ่ง กทพ. จะเริ่มเจรจากับบีอีซีแอลในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และต้องประกาศล่วงหน้า ซึ่งอัตราใหม่จะมีผลในวันที่ 1 กันยายน 2556 ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ จาก 45 บาท เป็น 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ จาก 70 บาท เป็น 80 บาท และรถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป จาก 100 บาท เป็น 115 บาท

            ส่วนสัญญาสัมปทานทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระหว่าง กทพ. กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพที่จะสิ้นสุดในอีก 9 ปี ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาเพราะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร จะให้ กทพ. บริหารจัดการทางด่วนเอง หรือจะเจรจากับบริษัท ทางด่วน–กรุงเทพเพื่อต่อสัญญา ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว กทพ. ต้องเจรจาต่อสัญญากับบีอี–ซีแอลก่อนวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การบริหารสัญญาเองจะมีข้อดีที่รัฐจะกำหนดหรือลดราคาค่าผ่านทางได้ง่าย โดยไม่ต้องเจรจากับเอกชนก่อน

            ทั้งนี้ ปริมาณจราจรบนทางด่วนล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2555 เฉลี่ย 1.7 ล้านคันต่อวัน โดยเคยสูงสุดถึง  1.8 ล้านคันต่อวัน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 500,000 คันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 2 ล้านคันต่อวันภายในเดือนเมษายนนี้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คมนาคม เปิดทาง กทพ. ขึ้นค่าทางด่วน 5 บาท ก.ย.นี้ โพสต์เมื่อ 14 มกราคม 2556 เวลา 10:25:11 2,720 อ่าน
TOP