x close

22 ม.ค. พ.ศ.2486 เริ่มใช้คำว่า สวัสดี อย่างเป็นทางการในไทย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจาก Glitter.kapook.com

           คำว่า "สวัสดี" ของคนไทยนั้น เราจะใช้ทักทายเมื่อพบเจอกันครั้งแรก หรือใช้ตอนที่บอกจากลากันเสมอ ๆ ...แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมถึงต้องพูดคำนี้... แล้วคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร และใครเป็นคนบัญญัติให้คนไทยต้องใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทาย วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันจ้า

           "สวัสดี" คำนี้เป็นคำที่รัฐบาลไทยกำหนดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ให้ใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบหรือจากลา หากย้อนไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ผู้ที่ริเริ่มใช้คำนี้ก็คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยได้นำมาจากศัพท์ "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวสฺติ" ในภาษาสันสกฤต และได้เริ่มใช้ครั้งแรก ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น

           ต่อมา ทางจอมพล ป.พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เห็นชอบให้ใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2486 เป็นต้นมา

          สำหรับคำว่า "สวสฺติ" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า "ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน)" ซึ่งทางพระยาอุปกิตศิลปสาร  ได้ปรับเสียงให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น เป็นสระเสียงยาว เป็นคำว่า "สวัสดี" ให้มีความไพเราะ และลื่นหูมากขึ้น และหลังจากนั้น คำว่า "สวัสดี" จึงใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย



           ส่วนคำทักทายอื่น ๆ ก็ถูกแปลงมาจากภาษาอังกฤษ ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นกัน โดยกำหนดให้คนไทยทักกันในทุกช่วงเวลา...

           ตอนเช้าทักทายว่า "อรุณสวัสดิ์" มาจากคำว่า "good morning"
           ตอนบ่ายทักทายว่า "ทิวาสวัสดิ์" มาจากคำว่า "good afternoon"
           ตอนเย็นทักทายว่า "สายัณห์สวัสดิ์" มาจากคำว่า "good evening"
           ตอนกลางคืนทักทายว่า "ราตรีสวัสดิ์" มาจากคำว่า "good night"

           แต่คำบางคำ ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้สักเท่าไหร่ เหลือเพียงคำว่า สวัสดี, อรุณสวัสดิ์ และราตรีสวัสดิ์เท่านั้น


           นอกจากคำว่า "สวัสดี" จะเป็นการทักทายแล้ว ยังเป็นการอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดีแล้ว คนไทยยังยกมือประนมไหว้ตรงอก โดยมือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้

           ดังนั้น เมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี พร้อมกับยกมือไหว้ ก็จะทำให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังจะให้ผู้ที่พบได้เจอแต่สิ่งที่ดี... เป็นการกระทำที่งดงาม เป็นมงคลต่อผู้พูดและผู้ฟัง และเป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ของคนไทยสืบทอดมายังปัจจุบัน










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
22 ม.ค. พ.ศ.2486 เริ่มใช้คำว่า สวัสดี อย่างเป็นทางการในไทย โพสต์เมื่อ 22 มกราคม 2556 เวลา 11:46:59 19,207 อ่าน
TOP