จับตาอนาคตทีวีไทย กับการเปลี่ยนแปลงจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอล

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการโทรทัศน์เมืองไทย หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า ได้เริ่มวางโครงการประมูลคลื่นโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้ประชาชนชาวไทยมีฟรีทีวีดูมากกว่า 24 ช่อง และคาดว่าภายใน 8 ปี หรือ ใน พ.ศ. 2563 จะมีการยกเลิกระบบอนาล็อกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ จึงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับระบบใหม่ที่กำลังจะมาถึง ทว่า ทีวีจิตอล คืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทำไมการเปลี่ยนแปลงระบบในครั้งนี้ถึงดูยุ่งยากวุ่นวายนัก วันนี้เรามีคำตอบมาฝากจ้า

            โทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Digital television) หรือที่เราเรียกกันว่า ทีวีดิจิตอล คือการส่งผ่านของคลื่นเสียงและวิดีโอโดยใช้สัญญาณดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งความคมชัดของภาพและเสียง และสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบอนาล็อกในหนึ่งช่องสัญญาณ ดังที่เรียกว่า มัลติแคสติ้ง (Multicasting) ฉะนั้น แม้ตัวภาพและเสียงจะคมชัดกว่าแบบอนาล็อก แต่ก็ต้องใช้โทรทัศน์ระบบ HDTV รวมถึงติดตั้งกล่องรับสัญญาณด้วย แต่ข้อดีของระบบดิจิตอล คือ รองรับการใช้งานในรูปแบบสื่อผสมต่าง ๆ ทั้งสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถรับชมรายการได้ทุกที่ไม่มีสะดุด


            แต่การเปลี่ยนระบบในครั้งนี้ ยังมีข้อสงสัยว่า ทีวีดิจิตอล ทั้ง 24 ช่องนี้ สามารถดูผ่านจานรับดาวเทียมได้เหมือน ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และไทยทีพีเอส หรือไม่ แต่ถ้าดูผ่านจานรับดาวเทียมไม่ได้ คำถามใหม่ คือ สำหรับผู้ที่ติดจานดาวเทียมไปแล้วจะทำอย่างไร ระหว่างซื้อกล่องรับสัญญาณเพื่อดู 24 ช่อง หรือดูผ่านทีวีดาวเทียม 200 ช่อง นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย และเพื่อให้ได้รู้จักระบบดิจิตอลกันมากขึ้น เราได้สรุปข้อดีข้อเสียของระบบคร่าว ๆ มาดังนี้

ข้อดีของระบบดิจิตอล

         - ภาพและเสียงคมชัด เพราะไม่มีคลื่นแทรก หรือการสะท้อน

         - มีช่องรายการหลากหลายให้เลือกรับชม

         - ควบคุมสัญญาณได้ง่าย ทำให้เปิดบริการเสริมได้ เช่นเดียวกับระบบเคเบิ้ลรายเดือน

         - สามารถพัฒนาประสิทธิภาพได้ เช่น การรับชมผ่านโทรทัศน์จอกว้าง (WIDE SCREEN) โทรทัศน์ความคมชัดสูง (HDTV)  รวมทั้งการรับชมผ่านทางสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

ข้อเสียของระบบดิจิตอล

         - ควบคุมโฆษณาที่เผยแพร่ผ่านช่องรายการต่าง ๆ ได้ยากขึ้น

         - อาจกลายเป็นช่องทางที่ใช้เพื่อปลุกระดมความขัดแย้งทางการมือง

         - มีค่าใช้จ่ายในการซื้อกล่องรับสัญญานมาติดตั้ง

         - มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนจอโทรทัศน์เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ 
                           
         สำหรับประเด็นการควบคุมการเผยแพร่โฆษณาผ่านทางดิจิตอลทีวีนั้น คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค มั่นใจว่า โฆษณาทางฟรีทีวี หรือ ช่องดิจิตอลนี้ จะควบคุมได้ง่ายกว่า ช่องเคเบิ้ล และทีวีดาวเทียม เพราะเป็นช่องที่เกิดใหม่พร้อมกับกติกาของ กสทช.  และจำนวนนาทีในการโฆษณาจะมีน้อยกว่า ส่วนกรณีที่อาจมีการผลิตรายการเพื่อปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก เกลียดชังนั้น รายการเหล่านี้ก็ต้องปรับผังรายการให้เข้ากับเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ใบอนุญาต เป็นต้น

         ในส่วนของการซื้อกล่องรับสัญญาณภาพนั้น เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา กสทช. มีมติเห็นชอบในแนวทางการแจกคูปองให้กับ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set top box) ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นกระบวนการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบในการส่งสัญญาณโทรทัศน์จากอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลในประเทศไทย

         นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงระบบทีวีอนาล็อกมาสู่ทีวีดิจิตอลนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนรายใหม่ ๆ หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมสื่อกันมากขึ้น และเป็นการลดการผูกขาดสื่อทีวีลงจากเดิม ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นได้รับประโยชน์จากเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงระบบ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแนวทาง รวมถึงอยู่ระหว่างการทดสอบสัญญาณ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่ติดตั้งเคเบิ้ลทีวี หรือจานดาวเทียมต่าง ๆ หรือไม่ ดังนั้นคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทาง กสทช .จะมี บทสรุปเรื่องการปรับเปลี่ยนสัญญาณในครั้งนี้อย่างไรต่อไป   



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตาอนาคตทีวีไทย กับการเปลี่ยนแปลงจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอล โพสต์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:09:44 15,600 อ่าน
TOP
x close