x close

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ


พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก STEPHEN SHAVER/AFP , NICOLAS ASFOURI/AFP ,TANG CHHIN SOTHY /AFP

        หลังจากที่สื่อสำนักข่าวทั่วโลกรายงานข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในกรุงปักกิ่งด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 89 พรรษา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา สร้างความโศกเศร้าให้แก่ชาวกัมพูชาทั่วประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจากการสูญเสียกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชน ผู้ซึ่งนำพากัมพูชาให้เป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคม และยังเป็นที่จดจำในฐานะที่พระองค์ได้นำพากัมพูชาผ่านพ้นช่วงวิกฤติทางการเมืองหลังเป็นเอกราชช่วง พ.ศ. 2493 – 2503 (ค.ศ. 1950-1960)  มาได้

        และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในวันนี้ก็มีพระราชอาคันตุกะและแขกสำคัญจากต่างชาติร่วมพิธีจำนวนมาก อาทิ เจ้าชายอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น, นายกรัฐมนตรีฌอง-มาร์ก เอโรต์ ของฝรั่งเศส, เหงียน ตัน หยุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม, นายทองสิงห์ ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ตลอดจนผู้แทนจากประเทศบรูไน เมียนมาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

        ขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมากก็หลั่งไหลทยอยมาแสดงความเคารพและอาลัยรักครั้งสุดท้าย ต่อพระศพของพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของกัมพูชา โดยชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในความโศกเศร้า โดยบางราย กล่าวว่า ต้องการมาร่วมสวดมนต์เป็นครั้งสุดท้าย ขอให้พระองค์ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยเพราะซึ้งใจในพระมหากรุณาธิคุณและความเสียสละที่อดีตกษัตริย์พระนโรดมสีหนุทำเพื่อประเทศชาติ


 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  

        สำหรับพิธีถวายพระเพลิงส่งเสด็จอดีตกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวกัมพูชานั้น รัฐบาลกัมพูชาจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติตามธรรมเนียมราชประเพณี และเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 07.00 น. แล้ว โดยมีปืนใหญ่ยิงสลุต 101 นัด จากนั้นขบวนแห่พระบรมศพบนราชรถสีทองได้เคลื่อนจากพระบรมมหาราชวัง วนรอบพระบรมมหาราชวัง แล้วเคลื่อนอย่างช้า ๆ ไปตามท้องถนนสู่ทุ่งพระเมรุ โดยเจ้าหน้าที่กัมพูชาคาดว่ามีประชาชนนับล้านคนเฝ้าถวายความอาลัยตลอดระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ผู้คนจำนวนมากในชุดสีขาวพากันคุกเข่าพนมมือสวดมนต์ขณะพระบรมโกศเคลื่อนผ่านหน้า จากนั้นขบวนอัญเชิญพระบรมศพมายังพลับพลาถวายพระเพลิงที่มีพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมถวายสักการะ และไว้อาลัยอย่างเนืองแน่น

        สำหรับธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ในพระราชพิธีศพของราชสำนักกัมพูชา เรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับของไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนแห่ที่ประกอบด้วยข้าราชสำนักที่สวมเครื่องแต่งกายแบบโบราณ หรือแม้แต่ราชรถที่ใช้เข้ากระบวนแห่ ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ สัตว์ในปกรณัมฮินดู ขณะที่องค์พระบรมโกศที่บรรจุพระบรมศพ จะแตกต่างกับของไทยตรงที่เป็นโลงศพยาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนที่โกศแบบโถยอดที่มีลักษณะกลมเป็นทรงสูง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ

        ส่วนธรรมเนียมปลีกย่อยอื่น ๆ ในพระราชพิธีพระบรมศพของอดีตกษัตริย์กัมพูชา ก็คล้ายคลึงกับธรรมเนียมไทยโบราณ ตรงที่มีการแห่พระบรมศพรอบเมือง ก่อนนำขึ้นประดิษฐาน ณ พลับพลาถวายพระเพลิง โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะแต่งกายด้วยชุดขาว ซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมโบราณของประเทศในสุวรรณภูมิ ขณะที่ปัจจุบันไทยใช้สีดำเป็นสีไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมตะวันตก นอกจากนี้ ยังมีชาวกัมพูชาจำนวนมาก ทั้งข้าราชสำนักและประชาชนทั่วไป โกนศีรษะไว้ทุกข์ทั้งหญิงและชาย ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไทยเราเลิกปฏิบัติมานับตั้งแต่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        ทั้งนี้ สำหรับพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุในครั้งนี้ ที่รัฐบาลกัมพูชาต้องการจัดให้ยิ่งใหญ่อลังการที่สุด นอกจากเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่กษัตริย์ผู้ล่วงลับ ยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวกัมพูชาได้สัมผัสถึงพิธีกรรมอันงดงามของพระราชพิธีพระบรมศพตามโบราณราชประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวกัมพูชาที่อายุน้อยกว่า 50 ปีไม่เคยพบเห็น เนื่องจากพระราชพิธีพระบรมศพกษัตริย์กัมพูชาครั้งสุดท้ายนั้น มีขึ้นตั้งแต่เมื่อ 52 ปีที่แล้ว และในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556) กัมพูชาจะเริ่มพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระวรราชบิดาและอดีตกษัตริย์ในเวลา 16.00 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาเดียวกันในไทย

        หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีพระราชพิธีเก็บพระอัฐิต่อในวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยพระสรีรางคารบางส่วนจะถูกอัญเชิญไปลอย ณ จุดบรรจบกันของแม่น้ำโขง โตนเลสาบ และแม่น้ำบาสัก ส่วนพระสรีรางคารที่เหลือจะถูกอัญเชิญไปยังพระบรมมหาราชวังในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เพื่อเก็บไว้ในพระบรมโกศ


 พระราชประวัติ  

        พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่าง พ.ศ. 2484-2498 และ พ.ศ. 2536-2547 ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยว่า "พระกรุณา พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ราชหริวงษ์ อุภโตสุชาติ วิสุทธิวงษ์ อัคคมหาบุรุษรัตน์ นิกโรดม ธัม มิกมหาราชาธิราช บรมนาถ บรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี" และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ขณะมีพระชนมพรรษา 82 พรรษา ปัจจุบันทรงดำรงพระราชอิสริยยศ "พระกรุณา พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติเขมร"

        พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงขึ้นสู่อำนาจหลังได้รับเลือกจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดสืบต่อจากพระราชปิตุลา คือ กษัตริย์สีโสวัฒน์มณีวงศ์ ในปี 2484 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ทว่าหลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็ทรงพยายามผลักดันเพื่อปลดแอกจากปารีส และทรงดำเนินการสำเร็จใน พ.ศ. 2496

        ปลายปี 2503 (ค.ศ. 1960) หลังจากสละราชสมบัติมาเกือบ 10 ปี เพื่อเข้ามาสร้างสมอิทธิพลทางการเมืองโดยตรง สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังคงไม่สามารถหยุดยั้งประเทศจากการถลำเข้าสู่สงครามเวียดนาม และ "ทุ่งสังหาร" ภายใต้การปกครองของเขมรแดงในปี 2513 (ค.ศ. 1970) ที่มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 1.8 ล้านคน ในช่วงปฏิวัติลัทธิเหมาอิสต์สุดโต่งของพอลพต เช่นเดียวกับครอบครัวส่วนใหญ่ในกัมพูชา พระองค์ไม่สามารถรอดพ้นโศกนาฏกรรมจากความเหี้ยมโหดของพอลพต โดยทรงเสียพระโอรสและพระธิดารวม 5 องค์จากที่ทรงมีทั้งสิ้น 14 พระองค์

        และใน พ.ศ. 2513 สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยนายพลลอน นอล ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ซึ่งต้องการขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาและเวียดนามระหว่างเสด็จเยือนมอสโก และต่อมา พ.ศ. 2516 สมเด็จพระนโรดมสีหนุก็ทรงทำข้อตกลงกับกลุ่มเขมรแดง เพื่อร่วมกันต่อต้านระบอบปกครองหุ่นเชิดของสหรัฐฯ

        ภายหลังเขมรแดงได้ชัยชนะยึดครองประเทศได้ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทารุณนาน 4 ปี ซึ่งทำให้ประชาชนเกือบ 1 ใน 4 เสียชีวิตจากการขาดอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ การประหารชีวิตหรือทรมาน สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงมีฐานะไม่ผิดอะไรกับหุ่นเชิด และทรงถูกกักขังเป็นนักโทษภายในพระราชวัง

        เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาและโค่นล้มระบอบปกครองเขมรแดงในปี พ.ศ. 2522 สมเด็จพระนโรดมสีหนุซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำปฏิวัติของจีน คือ เหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล ก็ได้ทรงหนีไปยังแดนมังกร จากนั้นก็ทรงตัดสินพระทัยกลับมาร่วมมือกับพวกเขมรแดงทำสงครามกองโจรกับรัฐบาลของสมเด็จฮุนเซนที่เป็นหุ่นเชิดของฮานอย

        อย่างไรก็ตาม ภายหลังสนธิสัญญาสันติภาพ แม้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533) ทว่าสมเด็จฮุนเซนกลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นทุกที ๆ และสมเด็จพระนโรดมสีหนุก็ทรงกลายเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด ชะตากรรมของราชวงศ์รวมทั้งชะตากรรมของกัมพูชาตกอยู่ในมือสมเด็จฮุนเซน แทบจะสิ้นเชิง

        สมเด็จนโรดมสีหนุทรงสละราชสมบัติอีกครั้งใน พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) และเสด็จพำนักในปักกิ่ง โดยเจ้าชายสีโสวัฒน์ ระบุว่า สาเหตุการสละราชสมบัติครั้งสุดท้ายก็เพื่อรักษาราชวงศ์และทำให้กัมพูชามีเสถียรภาพนั่นเอง

        ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระมหาวีรกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ทรงมีพระกระแสรับสั่งฝากฝังถึงพสกนิกรก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต โดยขอให้จัดการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์ ตามพระราชสาส์นของพระมหาวีรกษัตริย์นโรดม สีหนุ ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555 พระองค์ทรงฝากฝังไปยังพสกนิกรทั้งหมดเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตให้จัดการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์และประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระแก้วมรกต พระบรมมหาราชวัง

        โดยพระราชสาส์นของพระองค์ตรัสใน 3 ประเด็นสั้น ๆ ได้แก่ 

             1. พระองค์ทรงระบุถึงการยกเลิกพระกระแสฝากฝังต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ที่พระองค์เคยประกาศว่า จะไม่ให้พสกนิกรถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์

             2. พระองค์ทรงฝากฝังว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตต้องจัดพิธีถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์ ณ ท้องสนามหลวงตามประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาเขมร

             3. หลังจากถวายพระเพลิงพระศพแล้ว พระบรมอัฐิของพระองค์ต้องล้างทำความสะอาดและบรรจุไว้ในพระโกศที่ทำจากทองคำก็ได้ หรือพระโกศธรรมดาก็ได้ แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์คันธบุปผา ในพระวิหารพระแก้วมรกต พระบรมมหาราชวัง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ โพสต์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:50:35 5,442 อ่าน
TOP