x close

เผย 5 ปัจจัย สุขุมพันธุ์ หักโพล นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ต่อ





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักข่าวไทย

            เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 หลังทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรักษาแชมป์นั่งเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพมหานครต่ออีก 1 สมัย ทางเว็บไซต์ siamintelligence.com จึงได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับชัยชนะอีกครั้ง ผ่านบทความชื่อว่า "5 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขุมพันธุ์ กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม." ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

            5 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขุมพันธุ์ กลับมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดย siamintelligence.com


1. Vote สุขุมพันธุ์ Save อภิสิทธิ์


            ปฏิเสธไม่ได้ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกตั้งคำถามกับภาวะผู้นำมาโดยตลอด ทั้งในด้านการบริหารประเทศ และการบริหารพรรค เมื่อนำพรรคแพ้การเลือกตั้งต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระดับเกือบ 100 ที่นั่ง อภิสิทธิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ในเวลานั้นก็ได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง หากประเมินกันแท้จริง อภิสิทธิ์ นำทีมแพ้เลือกตั้งมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของสมัคร สุนทรเวช



            กระแสสื่อได้โยนคำถามข้อใหญ่ไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า "ถ้าหากสุขุมพันธุ์แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ อภิสิทธิ์จะลาออกหรือไม่?" แม้กระทั่งอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง พิชัย รัตตกุล ก็กล่าวว่า อภิสิทธิ์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้เลย เพราะเป็นคนเลือกสุขุมพันธุ์ลงสมัคร ซึ่งอภิสิทธิ์ก็แบ่งรับแบ่งสู้ในการจะลาออกหรือดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ต้องไม่ลืมว่าอภิสิทธิ์ก็มีฐานคะแนนความนิยมจากกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากที่ต้องการให้เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป ดังนั้นการเลือกสุขุมพันธุ์ในทางหนึ่งก็เป็นการค้ำยันให้อภิสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปด้วย สุรินทร์ พิศสุวรรณ หรือคนอื่น ๆ อาจต้องร้องเพลงรอต่อไป


2. ส.ก. และ ส.ข. กับยุทธศาสตร์เคาะประตูบ้าน


            ในขณะที่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะมุ่งเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการวัดระดับคะแนนความนิยมและความต้องการของประชาชน เช่น การทำโพล หรือ แบบสำรวจความคิดเห็น ในครั้งนี้ ชื่อของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กลายเป็นตัวเต็งในทุกสื่อและทุกโพล แม้กระทั่งเอ็กซิทโพล พงศพัศก็ชนะเกือบทุกสำนักยกเว้นโพลนิด้า

            แต่ประชาธิปัตย์กลับใช้กลไกในการมีตัวแทนการปกครองท้องถิ่นอย่าง ส.ก.และ ส.ข. ที่มีจำนวนมากกว่าในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และเลือกที่จะไม่ประกาศสู่สังคมว่าผลการสำรวจเป็นอย่างไร? ในขณะที่โพลไปแห่ให้ความสนใจกับพงศพัศ ซึ่งทำให้ความมั่นใจเทไปที่พรรคเพื่อไทย แต่ในทางมุมกลับเมื่อพงศพัศนำทุกโพลจึงเป็นตัวกระตุ้นให้แฟนประชาธิปัตย์พันธุ์แท้แหวกกระแสฟ้าฝนออกมาโหวตให้พรรค ซึ่งความสำเร็จนี้ต้องขอชมเชยทีมงาน ส.ก. และ ส.ข.ของประชาธิปัตย์ ที่ทำงานกันอย่างหนัก ถึงแม้สุขุมพันธุ์จะเป็นของมีตำหนิ มีแผลให้โจมตีเยอะ แต่จากการทำงานหนักของ ส.ก. และ ส.ข. ทำให้ยังรักษาฐานเสียงเดิมได้ ซึ่งเพื่อไทยก็รักษาฐานคะแนนเดิมได้ เพียงแต่ไม่ได้ขยายฐานเพิ่มมากเท่าที่ควร หากเทียบเป็นสถิติกับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554


3. ยอมรับเสียทีว่าสังคมกำลังเดินเข้าสู่ "การเมืองแบบสองพรรค"


            นี่คือชัยชนะของคนกรุงเทพกลุ่มพลังอนุรักษนิยมอย่างแท้จริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเกือบทศวรรษได้ผลักให้คนไทยเลือกข้างว่า ต้องการพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคที่มีคุณทักษิณมาเกี่ยวข้อง การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงภาพสะท้อนได้ดี เมื่อคะแนนอันดับที่ 1 และ 2 นั้นยอดคะแนนทะลักหลักล้านทำสถิติใหม่ทั้งคู่ และทิ้งที่ 3 และ 4 แบบไม่เห็นฝุ่น

            ก่อนหน้าการเลือกตั้งกระแสของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ,สุหฤท และโฆสิต นั้นถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ถึงกับถูกเชิญไปยังเวทีดีเบตต่าง ๆ ร่วมกับสองตัวเต็ง แต่ถ้าหากรวมคะแนนทั้ง 3 คนแล้ว กลับยังไม่ถึง 3 แสนคะแนนเรียกได้ว่ามีแต่กระแสคะแนนไม่มา หากเทียบมาตรฐานของผู้ที่ได้อันดับที่ 3 เช่น ชูวิทย์ หรือ "คุณปลื้ม" ม.ล.ณัฏฐ์กรณ์ เทวกุล เสียด้วยซ้ำ เมื่อประชาชนเข้าคูหาจึงเป็นสงครามระหว่างพรรคสีฟ้าและพรรคสีแดงเท่านั้น

            อนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องขอบคุณเหล่าคนดังที่ดาหน้าออกมาชูวาทกรรม "ปกป้องเมืองหลวง" ทั้ง บิลลี่ โอแกน, ปู จิตกร บุษบา, ดร.เสรี วงศ์มณฑา หรือแม้กระทั่ง ส.ศิวรักษ์ ที่ล้วนบอกว่าไม่ได้อยากจะเลือกสุขุมพันธุ์ แต่จำเป็นต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หรือ หากกาเบอร์อื่นระวังเสียงจะแตกและเพื่อไทยจะชนะ ดังนั้น 1 ล้านคะแนนไม่ได้มาจากตัวบุคคล แต่มาจากอุดมการณ์และตัวพรรคเสียมากกว่า


4. ผีทักษิณยังขายได้ เผาบ้านเผาเมืองยังขายดี

            ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์จากวาทกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 ถึงแม้เพิ่งจะมีการชี้แจงจากศาลว่า การที่ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์นั้นไม่ใช่การก่อการร้าย ในการเลือกตั้งทั่วไป 2554 สถานการณ์คล้ายคลึงกันมาก เมื่อเพื่อไทยนำในการสำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อการปราศรัยใหญ่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ของอภิสิทธิ์และสุเทพ ในฐานะคู่หูผู้สั่งสลายการชุมนุมกับประโยคเด็ด "ผมนอนร้องไห้ทั้งคืน" สำทับด้วยความมั่นใจของอภิรักษ์ โกษะโยธิน ว่า ให้รอดูผลออกวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคมให้ดี ๆ และสุดท้ายประชาธิปัตย์ก็ชนะในกรุงเทพฯ หักปากกาเซียนทุกโพล

            รอบนี้ก็ยังคล้าย ๆ กัน การเดินสายปราศรัยของประชาธิปัตย์นั้นก็ยังคงปลุกกระแสความกลัว "ผีทักษิณ" ได้ โดยเฉพาะการปราศรัยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งในที่วงเวียนใหญ่กับการถามพี่น้องว่า อยากจะให้คนเผาบ้านเผาเมืองมาครองกรุงเทพฯ หรือ? ทั้งการปราศรัยในเวทีพระราม 4 ที่ทวงบุญคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3 โดยสุเทพทวงบุญคุณว่า ตัวเองเป็นคนช่วยให้ไม่มีคนไปเผาช่อง 3 ควรสำนึกบุญคุณของตนด้วย รวมไปถึงข่าวปล่อยและการฉวยกระแสลือ ทั้งใน FB ในเครือข่ายผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์ที่พร้อมใจกันเรียก "พงศพัศ" ว่า "เพลิงสะพัด" หรือข่าวปล่อยโค้งสุดท้ายว่า ถ้าเลือกเพื่อไทยจะได้ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดงเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ทำให้แฟน ๆ ประชาธิปัตย์ หรือผู้ที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้แต่กลัวผีทักษิณ พากันกอดกันกลมในสายสิญจน์ยี่ห้อสุขุมพันธุ์


5. กรุงเทพฯ อาจไม่ได้ตัดสินด้วยนโยบาย


            รอบนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่สร้างสรรค์ ทุกพรรคนำเสนอนโยบายแข่งขันกันดุเดือด โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ พงศพัศชูแคมเปญ "ไร้รอยต่อ" ส่วนสุขุมพันธุ์ชูนโยบาย "สานงานต่อทันที" ในเชิงข้อเปรียบเทียบนโยบายถือว่าทำได้สูสีกันพอสมควร แต่ปัญหาของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเองก็คือ ความแข็งแรงของนโยบายที่มากเกินไป เพราะไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเลือกตั้งในระดับไหน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะนำนโยบายหลักของพรรคมาย่อส่วนให้เข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ

            แตกต่างกับประชาธิปัตย์ที่ไฟต์บังคับครั้งนี้จะต้องมาเล่นเกมแข่งนโยบายที่ตัวเองไม่ถนัด จนในโค้งสุดท้ายประชาธิปัตย์กลับไปเล่นในเกมที่ตัวเองถนัดที่สุด นั่นคือการใช้วาทศิลป์ในการเรียกคะแนน เนื่องจากในพรรคอุดมด้วยนักปราศรัยฝีมือดีหลาย ๆ คน ที่พูดและจับใจคนได้มากกว่าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของเพื่อไทยคือการเลือก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เป็นของแสลงคนกรุงฯ มาร่วมปราศรัยในหลายเวทีซึ่งจับใจแฟนเสื้อแดงพันธุ์แท้ แต่กลับสร้างความหวั่นไหวให้กับกลุ่มสวิงโหวตได้

            โค้งสุดท้ายนั้นพรรคเพื่อไทยง่วนเกี่ยวกับการแจกแจงนโยบายให้ประชาชนทราบ พงศพัศปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีดีเบตหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ในขณะที่สุขุมพันธุ์ให้ความสำคัญกับการดีเบตมากกว่า ส่วนโค้งสุดท้ายประชาธิปัตย์เริ่มอัดแคมเปญที่ตนเองถนัด เช่น "ซื่อสัตย์ ไม่โกง" , "หยุดการกินรวบอำนาจประเทศไทย" หรือ "ผมทำงานจริงเพื่อคนกรุงเทพฯ" โดยไม่จำเป็นต้องแจกแจงนโยบายใด ๆ ให้ละเอียด ก็ทำให้สะท้อนว่าแท้จริงแล้ว นโยบายอาจไม่ใช่ปัจจัยตัดสินใจของคนกรุงเทพฯ จากบทเรียนนโยบายรถคันแรกที่เพื่อไทยหวังยึดใจคนกรุงฯ แต่กลับเจอกระแส "ซื้อรถเอาภาษีไป ปากก็ด่าเพื่อไทยไป" เพราะประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคที่อยู่คู่กับคนกรุงฯ และชนชั้นกลางซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นอนุรักษนิยมสูงมาช้านาน ครั้งล่าสุดที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูปก็คือกระแส "จำลองฟีเวอร์" ที่ชูภาพคุณธรรม คนดี และอนุรักษนิยมมากกว่าเพียงเท่านั้น

            หลังจากจบการเลือกตั้งในครั้งนี้ SIU ชวนให้ไปหาหนังสือ "สองนคราประชาธิปไตย" ของ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กลับมาอ่านอีกครั้งว่าคำที่พูดว่า "คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล และคนเมืองหลวงล้มรัฐบาล" ยังคงเป็นจริงหรือไม่?


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
siamintelligence.com




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผย 5 ปัจจัย สุขุมพันธุ์ หักโพล นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ต่อ โพสต์เมื่อ 4 มีนาคม 2556 เวลา 11:01:12 3,821 อ่าน
TOP