x close

เปิดนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับคำมั่นที่จะ (ต้อง) ทำ ใน 4 ปี


นโยบาย สุขุมพันธุ์ บริพัตร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

            แม้ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ จะกำชัยในการเลือกตั้งเป็นหนที่ 2 แต่นี่คือการบ้านชิ้นใหญ่กว่าเดิมที่คนกรุงเทพมหานครตั้งความหวังไว้ให้พ่อเมืองมาช่วยแก้ไขจัดการสารพันปัญหาในเมืองหลวงแห่งนี้

            ทั้งนี้ ในการหาเสียงเลือกตั้งตลอด 45 วันที่ผ่านมา มีหลากหลายนโยบายพรั่งพรูออกมาซื้อใจพี่น้องประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนที่ช่วยเทคะแนนให้ นโยบายและโครงการต่าง ๆ เปรียบเสมือนคำสัญญาที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ไว้กับชาวกรุง กระปุกดอทคอม จึงหยิบสิ่งที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เคยหาเสียงไว้มาประมวลอีกครั้ง เพื่อให้ชาวกรุงได้ร่วมกันตรวจสอบตลอดระยะเวลา 4 ปีจากนี้เป็นต้นไป ว่าจะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงการขายฝัน


ด้านคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ


เด็กและเยาวชน
            เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่ Young Designer Market ทั้งแบบถาวร และแบบครั้งคราว และเปิดเว็บไซต์เพื่อคนรุ่นใหม่ ขยายช่องทางสื่อสารงานสร้างสรรค์
            สร้างหอสมุดการเรียนรู้มิติใหม่ มีห้องสมุดการ์ตูนแห่งแรกในประวัติศาสตร์ และพัฒนาประชาชนให้สามารถอ่านหนังสือที่จัดไว้บนรถประจำทาง หรือ รถแท็กซี่ อย่างที่เคยทำมา
            จัดอาหารเช้าให้เด็ก 3.2 แสนคน
            ดูแลป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียน และหากเกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยเรียนควรได้รับการดูแลจากภาครัฐในการเยียวยาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
            เพิ่มอัตราค่าจ้างให้อาสาสมัครศูนย์เด็กเล็ก/อาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท ปวส. 10,000 บาท และ ปวช. 8,600 บาท

นักเรียน-นักศึกษา
            เรียนฟรี 2.0/นักเรียนโรงเรียน กทม. "อิ่มท้อง สมองดี มีวินัย โตไปไม่โกง" จะได้รับการดูแลในโครงการอาหารเช้าและกลางวัน 
            กวดวิชาให้นักเรียน ม.3 และ ม.6 ครบทุกโรงเรียน โดยสถาบันกวดวิชาชื่อดัง 
            ฟรี รถรับ-ส่งนักเรียนโรงเรียน กทม. ในพื้นที่เดินทางไม่สะดวก 
            บริการหมวกกันน็อก สำหรับนักเรียนโรงเรียน กทม. 
            จัดสรรคอมพิวเตอร์ 20,000 เครื่อง เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ 1 คน/เครื่อง
            สร้างโรงเรียนกีฬาและดนตรีแห่งแรกที่เขตบางบอน โดยเป็นโรงเรียนกีฬาและดนตรีแห่งแรกในประเทศไทย คาดว่า 3 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จ

ผู้สูงอายุ
            ดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่บ้านถึงโรงพยาบาลให้ครบวงจร
            รับสมัครอาสาสมัครดูแลจะเริ่มฝึกอบรมรองรับอนาคตที่สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ให้มีทีมแพทย์พยาบาลดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น หากมีโรคที่จำเป็นจะถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลบางขุนเทียน

นโยบาย สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ผู้หญิง

            ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกจุดเสี่ยง ไฟฟ้าส่องสว่างทุกจุดมืด เพื่อความปลอดภัย
            เปิดอบรมเรื่องทักษะป้องกันตัวเอง เพื่อระวังภัย โดยจะให้มีหลักสูตรทั้งในโรงเรียนของ กทม. และเปิดอบรมทั่วไปให้กับประชาชน
            จัดบทเรียนสอนให้เคารพคุณค่าความเป็นคนของทุกเพศในโรงเรียน กทม. ให้ความรู้ผู้ปกครองและคนในชุมชน
            ตั้งศูนย์อนามัยของ กทม. เป็นหน่วยดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจผู้ถูกกระทำ โดยแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ มีกองทุนป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทำงานร่วมกับเครือข่าย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
            เน้นการดูแลป้องกันมะเร็งเต้านมและปากมดลูก และป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม ให้บริการตรวจมะเร็งเต้านมและปากมดลูกฟรี ให้ความรู้ผ่านโรงเรียนและชุมชน และเสริมความรู้เรื่องเพศอย่างปลอดภัยป้องกันท้องไม่พร้อม
            ยกระดับศูนย์ฝึกอาชีพให้ผู้หญิงมีรายได้ มีอาชีพ รองรับได้ 200,000 คน

คนพิการ

            เพิ่มโรงเรียนรองรับนักเรียนความสามารถพิเศษ รวมถึงเด็กออทิสติก อีก 100 โรงเรียน
            เพิ่มแท็กซี่ เพื่อคนพิการ และผู้สูงอายุ เป็น 250 คัน
            สานต่อห้องน้ำคนพิการ ทำไปแล้ว 43 เขต กำลังทำอีก 4 เขต
            สานต่อที่จอดรถคนพิการ โดยทำไปแล้ว 40 เขต อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 เขต
            จัดสรรงบ 639 ล้าน เพื่อทำลิฟต์เพิ่มบนสถานี BTS จาก 11 ตัวเป็น 100 ตัว ภายในปี 57 การติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติมทำได้ล่าช้า เพราะเรื่องข้อกฎหมาย และการประมูลจัดจ้างคนมาสร้างลิฟต์ แต่จะสามารถทำได้แน่นอน

ผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด
            สานต่อการสร้างบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาที่พักอาศัยให้คนในชุมชน


ด้านสุขภาพ และสาธารณสุข


กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ

            รณรงค์ให้มีการเพิ่มพื้นที่สันทนาการและสถานที่ออกกำลังกาย
            สร้างศูนย์กีฬาทันสมัยครบวงจร 4 มุมเมือง 
            ยกระดับลานกีฬาเดิม 200 แห่ง เดินหน้าทันที
            ไม่ป่วยทั้งปี รับฟรี 1,000 บาท แถมตรวจสุขภาพ ฟรี  

การรักษาพยาบาล
            สร้างโรงพยาบาลให้ครบ 4 มุมเมือง   
            ขยายการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ 
            เพิ่มบริการสุขภาพ 24 ชม. ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ทุกพื้นที่ 
            มีสวัสดิการเจ็บป่วยดูแลฟรีทั้งครอบครัว สำหรับ อปพร.และ อสส.
            คู่สมรส หากภรรยาตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีน


ปัญหาปากท้อง/การทำมาหากิน

การสร้างรายได้/พัฒนาเศรษฐกิจ
            ขยายปริมาณและมูลค่าเศรษฐกิจภาคกลางคืน เช่น การขนส่งและกระจายสินค้า และการท่องเที่ยว
            สร้าง Bangkok Brand ให้เป็นที่ยอมรับ ยกระดับ SMEs และ OTOP กทม. เพื่อผลผลิตให้ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า 
            ทำฐานข้อมูล SMEs/OTOP ทุกสินค้าและบริการใน กทม. เพื่อประโยชน์ต่อผู้ซื้อผู้ขาย เชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
            เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้แสดงสินค้า "Young Designer Market"
            ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน โดยจะลดค่าครองชีพ พร้อมยกระดับชีวิตวิถีชุมชนให้ดีขึ้น 

ปัญหาหนี้สิน
            ให้โรงรับจำนำ กทม. รับจำนำดอกเบี้ย 1 สลึง 5,000 บาทแรก
            มีกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงให้กู้ประกอบอาชีพ โครงการยิ้มสู้กู้สร้างอาชีพ หลักสูตรหมอแก้หนี้ ให้ความรู้หลุดวงจรหนี้ถาวร
   

บริการสาธารณะอื่น ๆ

            เพิ่มจุดบริการพิเศษงานทะเบียนราษฎร์ ในห้างสรรพสินค้าและขยายเวลาให้บริการถึง 22.00 น.
            ติดตั้ง Wi-Fi ฟรี 20,000 จุด ต่อด้วยการติดตั้ง Hi-Speed Wi-Fi 4 Mb 5,000 จุด โดยเน้นที่โรงเรียน ห้องสมุด สวนสาธารณะ และสถานที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ


ปัญหาจราจร

            ปรับปรุงถนน ตรอก ซอย ทางลัด 100 สาย
            การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ซึ่งสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันทีหากได้เป็นผู้ว่าฯ อีกสมัย ส่วนอีก 4 แห่งขณะนี้ยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ยังมีการคัดค้านอยู่มากจะต้องมีการศึกษาต่อไป 
            สร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ 5 แห่ง คือ 1. ทางลอดถนนศรีนครินทร์ - ถนนพัฒนาการ-ทางรถไฟสายตะวันออก, 2. ทางลอดรามคำแหง - ทางรถไฟสายตะวันออก, 3. ทางลอดถนนราชปรารภ - ทางรถไฟสายตะวันออก, 4. ทางลอดถนนเพชรบุรี - ทางรถไฟสายเชื้อเพลิง, 5. ทางลอดถนนบางขุนเทียน - ทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยจัดสรรงบทยอยเริ่มสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบงบประมาณภาพรวมของ กทม.
            เช็กระบบการจราจรผ่านสมาร์ทโฟน ด้วยแอพพลิเคชั่น bma live traffic ที่มีอยู่แล้วโดยจะปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนใช้ฟรี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้มากขึ้น
            สร้างที่จอดรถแนวดิ่ง เพิ่มจุดจอด 4 มุมเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้รถไฟฟ้า 


นโยบาย สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ระบบขนส่งมวลชน


            เพิ่มทางเลือกด้วยการเดินทางด้วยเรือโดยสารที่คลองภาษีเจริญ และปรับปรุงท่าเรือ 18 ท่า โดยจะเป็นการเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายสีเขียวกับสีน้ำเงินในอนาคต
            ปรับลดค่าโดยสาร BTS ช่วง อ่อนนุช-แบริ่ง, สะพานตากสิน-บางหว้า เหลือ 10 บาท และลดราคาบีอาร์ทีจาก 10 บาท เหลือ 5 บาทตลอดสาย
            การสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ได้แก่ 1. ไลท์เรล สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2. โมโนเรลจากศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) – อนุสาวรีย์ชัย - ถนนโยธี 3. โมโนเรล ม.รามคำแหง – ทองหล่อ พร้อมเดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการลงทุน ส่วนอีก 2 สายอยู่ในแผนของ สนข. ซึ่งหาก กทม. ดำเนินการเอง สนข. ก็ไม่ขัดข้อง คือสายที่ 4 โมโนเรลสายสีเทา วัชรพล-ลาดพร้าว และ 5. โมโนเรลสายสีฟ้า ดินแดง - สาทร
            ศึกษารายละเอียดของมินิบีอาร์ที ที่จะนำไปวิ่งบนสกายวอล์กที่จะสร้างเพิ่ม 2 เส้นทาง คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สี่แยกปทุมวัน ระยะทาง 3.1 กิโลเมตร มีอาคารที่จะทำทางเชื่อมต่อ 9 อาคาร และอีกเส้นทางจากนานา - แบริ่ง 10 กิโลเมตร มี 44 อาคารที่อยากจะเชื่อมต่อกับ กทม. โดยหลายจุดเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนให้ 


การใช้พาหนะทางเลือก

            ทำเส้นทางจักรยานเพิ่มอีก 30 สาย
            ปรับปรุงผิวถนนและเปลี่ยนฝาตะแกรงท่อระบายน้ำให้เป็นแนวขวาง เพื่อให้ผู้ใช้จักรยานปลอดภัย
            ส่งเสริมให้ข้าราชการ กทม. ปั่นจักรยานมาทำงาน โดยศาลาว่าการ กทม. แห่งใหม่ ที่ดินแดง จะจัดให้มีห้องอาบน้ำและห้องแต่งตัวให้ข้าราชการปั่นจักรยานมาเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทำงานได้
            ส่งเสริมโครงการให้เช่าจักรยานในราคาถูกเพิ่มเติมบริเวณเส้นทาง BTS (บีทีเอส) ให้ได้ 10,000 คัน


การแก้ปัญหาอาชญากรรม

            ติดกล้อง CCTV เพิ่มเติมทั่วทั้งเมือง พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเอกชน 200,000 ตัว 
            อาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังภัย เสริมความปลอดภัยทุกชุมชน
            ดูแลชุมชนให้ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด และให้ อสส. มีบทบาทสำคัญในการติดตามผลหลังจากบำบัดยาเสพติด
            หารือกับสภา กทม. ช่วยเพิ่มสวัสดิการเสริมศักยภาพให้ อปพร. และ อสส. โดยเสริมกำลังทหารกองหนุนช่วยเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อปพร.และ อสส.


การป้องกันภัยพิบัติ


            ระบบป้องกันพร้อมแจ้งเตือนอัคคีภัย อุทกภัย และแผ่นดินไหว
            จัดตั้งโรงเรียนดับเพลิง เน้นการเข้าถึงพื้นที่แคบ ในการควบคุมเหตุเพลิงไหม้
   

ขยะ/ท่อตัน/น้ำเน่าเสีย

            สร้างโรงงานบำบัดน้ำเสียเพิ่มอีก 5 แห่ง พร้อมวางแผนขยายการบำบัดน้ำเสียครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ เพิ่มระบบจัดการขยะ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่จัดเก็บ ขนถ่าย จนถึงเปลี่ยนขยะ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีสะอาด
            เพิ่มการเก็บขยะตามตรอกซอกซอยมากขึ้น
            รณรงค์ลดและแยกขยะ จัดหาสถานที่ชักลากขยะรวมเก็บเป็นเวลาในชุมชน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมรายเดือนให้ชุมชนที่มีส่วนร่วม เพื่อที่พนักงานเก็บขยะจะได้ช่วยเก็บได้ง่ายขึ้น
            จัดหาคนเก็บขยะให้มากขึ้น
            จัดถังขยะ street furniture ใน 50 เขต แบบสนามหลวง 50,000 ใบ
            สร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 2 แห่ง แห่งละ 300 ตัน
            เปิดโรงกำจัดไขมันเพื่อผลิตเชื้อเพลิงแห่งที่ 2 ที่อ่อนนุช
            สร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อด้วยระบบความร้อนสูง
            สร้างโรงผลิตปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ขนาด 1,000 ตัน
            จัดสร้างสถานีขนถ่ายย่อยให้ครบ 6 โซน เพิ่มเที่ยวการขนขยะของรถขยะ กทม.
            สร้างโรงกำจัดและแปรรูปขยะจากสิ่งก่อสร้างแห่งแรกของประเทศ


ปัญหาหาบเร่แผงลอย

            ดำเนินการแก้ไขระเบียบการดูแลหาบเร่แผงลอย จากที่ต้องดูแลร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล มาอยู่ในความดูแลของ กทม. แต่เพียงผู้เดียว เพื่อให้เกิดเอกภาพในการทำงาน
            ลงทุนสร้างตลาดใหม่ เพื่อเปิดให้ผู้ค้าเช่าในราคาถูก
            ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ปฏิบัติตามเกณฑ์และให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบได้ขยับขยายไปขายในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าใกล้เคียง โดยจะประสานขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า
            กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนย่อยเป็นรายจุดผ่อนผัน เพื่อให้พิจารณาผลกระทบจากการอนุญาต หรือการยกเลิกจุดผ่อนผันอย่างครบถ้วน และให้คณะกรรมการชุมชนรายพื้นที่มีอำนาจหน้าที่กำกับการให้การค้าขายในจุดผ่อนผันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ และมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย
            กำหนดให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องหาบเร่แผงลอยโดยตรง เพื่อให้ปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการค้าหาบเร่แผงลอยได้รับการพิจารณาโดยเร็ว
            เปิดช่องทางพิเศษให้มีการร้องเรียนโดยตรงในปัญหาหาบเร่แผงลอย ที่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนทางเท้าเพิ่มเติมจากการร้องเรียนผ่าน 1555 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะจุด มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


พื้นที่สีเขียว

            เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเน้นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 
            สร้างสวนลอยน้ำแห่งแรก
            สร้างสวนสุนัข (Dog Park) 4 มุมเมือง   
            ส่งเสริมสวนบนอาคารสูง (Green Roof) และแนวกำแพงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ ร่วมมือกับภาคเอกชนสร้างสวนแนวตั้งและหลังคาเขียว หรือ Green roofs บริเวณพื้นที่สีลม-สาทร
            ปรับปรุงพื้นที่ว่างและทางสาธารณะให้เป็นเส้นทางเชื่อมพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ตลอดแนว


การปรับปรุงทัศนียภาพ

            ปรับภูมิทัศน์ถนนสายหลัก นำสายไฟฟ้าลงดิน 3 เส้นทาง และย้ายสายโทรศัพท์ - เคเบิล ลงดิน


นโยบาย สุขุมพันธุ์ บริพัตร

การบริหารจัดการน้ำ


            สานต่อเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ และอุโมงค์ยักษ์เพื่อช่วยการจัดการน้ำในพื้นที่ กทม. โดยอุโมงค์รัชดาภิเษก - สุทธิสาร/บึงหนองบอน/คลองเปรมประชากร ระบายน้ำได้จากพื้นที่รวม 250 ตารางกิโลเมตร 
            เพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำที่ฝั่งธน จากคลองทวีวัฒนาสู่ภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนาสู่ราชมนตรี และแนวนอกแนวคันกั้นน้ำ และสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม 6 แห่ง เป็นอุโมงค์ยักษ์ 3 แห่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตรขนาดเท่ากับที่พระราม 9 
            เน้นการจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเป็น 4.07 แสนล้านลูกบาศก์เมตร 
            สร้างคันกั้นน้ำบนแม่น้ำเจ้าพระยา 77 กิโลเมตร


การจัดการดูแลโซนต่าง ๆ


            พลิกโฉมพื้นที่ชั้นในย่านธุรกิจ เช่น สยามสแควร์ ราชประสงค์ เพลินจิต
            เพิ่มและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงอนุรักษ์ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
            เน้นการดูแลอนุรักษ์วัฒนธรรม คือการดูแลพื้นที่วัฒนธรรมย่านกุฎีจีน รวมถึงการส่งเสริมด้านรวมกลุ่มประชาชนในการพัฒนาตลาดน้ำในเขตตลิ่งชัน
            พัฒนากุฎีจีน บางลำพู ตลาดพลู และเยาวราช นำร่องเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
            ผลักดันให้เยาวราชเป็นไชน่าทาวน์ระดับโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจะพัฒนารักษาคุณภาพของอาหารข้างทางและอาหารในภัตตาคารต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งจะผลักดันให้เมนูอาหารของธุรกิจขนาดเล็กแต่ละแห่งมีภาษาอังกฤษด้วย
            ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งต่างจังหวัดและต่างชาติให้มากขึ้น
            พัฒนาฝั่งธนบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม โดยจะปรับปรุงทางเดินริมน้ำ ส่งเสริมให้มีการปลูกผักตามแนวรั้ว ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม พัฒนาท่าน้ำวัด สร้างสวนลอยน้ำ
            ทำระบบขนส่งมวลชนแบบราง แทนระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่


ความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน


            เด็กกรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษแข็งแรง พร้อมรับประชาคมอาเซียน 
            จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน และศูนย์กลางการค้าครอบคลุมกลุ่มประเทศอินโดจีนและจีนตอนใต้ และเป็นฐานหลักการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา
            ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ของอาเซียนและของโลก
            จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SMEs อาเซียน และจัดทำ BMA SMEs ASEAN Data Bank
            ส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาลรองรับสมาชิกประเทศอาเซียนมากขึ้น
            ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดนโยบาย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับคำมั่นที่จะ (ต้อง) ทำ ใน 4 ปี โพสต์เมื่อ 5 มีนาคม 2556 เวลา 07:36:52 15,329 อ่าน
TOP