x close

ประวัตินางในวรรณคดี หญิงงามในบทประพันธ์

นางในวรรณคดีไทย

          วรรณคดี ถือเป็นวรรณกรรมหรืองานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่า นอกจากจะมีเนื้อหาสาระในเชิงสร้างสรรค์แล้ว ยังมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ สามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตามเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ วรรณคดีส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญที่ตัวละคร รวมถึงการดำเนินเรื่อง และสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากไม่แพ้เนื้อหา คือ นางในวรรณคดี ที่แต่ละเรื่องที่มีอุปนิสัยแตกต่างกัน ซึ่งนางในวรรณคดีเหล่านี้บ้างก็พบกับโชคชะตาที่ยากลำบาก หรืออุปสรรคต่าง ๆ กระทั่งนำไปสู่บทสรุปที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

          เนื่องจากวรรณคดีมีมากมายหลายเรื่อง ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักนางในวรรณคดีมากขึ้น เราจึงนำเรื่องราวของนางในวรรณคดีจากเรื่องต่าง ๆ มากฝากกันค่ะ


          กากี จากเรื่อง กากาติชาดก

          นางกากี นอกจากจะมีรูปกายงดงามราวกับเทพธิดาแล้ว ยังมีกลิ่นกายหอมชวนหลงใหล เมื่อชายใดแตะต้องหรือ สัมผัสนาง กลิ่นกายนางก็จะหอมติดชายคนนั้นไปถึงเจ็ดวัน เดิมทีนางกากีเป็นพระมเหสีของท้าวบรมพรหมทัต ซึ่งโปรดการเล่นสกามาก และมีพระยาครุฑเวนไตยซึ่งแปลงร่างเป็นมานพรูปงามมาเล่นสกาอยู่ด้วยเนือง ๆ จนวันหนึ่งท้าวบรมพรหมทัตเล่นสกาเพลิน มิได้ไปหานางกากี นางจึงมาแอบดูและสบตาเข้ากับพระยาครุฑแปลง จากนั้นทั้งสองต่างเกิดอาการหวั่นไหว จนพระยาครุฑได้ตัดสินใจลักพาตัวนางไปอยู่ที่วิมานฉิมพลี ทำให้ท้าวพรหมทัตกลัดกลุ้มพระทัยมาก ดังนั้น คนธรรพ์นาฏกุเวร (คนธรรพ์คือเทวดาชั้นผู้น้อยที่มีความชำนาญด้านดนตรี) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของท่านท้าวท้าวบรมพรหมทัตจึงอาสาพานางกลับมา โดยการแปลงตัวเป็นไรแทรกอยู่ในขนครุฑเพื่อตามไปที่วิมานของครุฑ

          จากนั้นเมื่อพระยาครุฑบินออกไปหาอาหารคนธรรพ์นาฏกุเวรก็ปรากฏกายออกมา แต่แทนที่จะพานางกากีกลับเมือง กลับเกี้ยวพาราสีและเล้าโลมนางจนได้เสียกัน ต่อมาคนธรรพ์นาฏกุเวรกลับมารายงานท้าวบรมพรหมทัตว่า นางกากีจะอยู่กับครุฑและตนได้เสียกับนางแล้วเพื่อให้ท้าวบรมพรหมทัตรังเกียจนาง ซึ่งท้าวบรมพรหมทัตก็โกรธแต่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อพระยาครุฑแปลงกายมาเล่นสกาอีกก็ถูกคนธรรพ์นาฏกุเวรเยาะเย้ย เมื่อพญาครุฑทราบเรื่องทั้งหมดก็โกรธนางกากีมาก ถึงขั้นนำนางมาปล่อยไว้ในเมือง ส่วนท้าวบรมพรหมทัตเอง เมื่อเห็นนางก็ต่อว่าถากถางก่อนนำนางไปลอยแพกลางทะเล ระหว่างนั้นนางกากีได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภา ก่อนตกเป็นภรรยาของชายผู้นี้

          แต่เคราะห์กรรมนางก็ยังไม่หมด เมื่อถูกโจรลักพาตัวไปเพราะหลงใหลรูปโฉม แต่ปรากฏว่า ในหมู่โจรก็เกิดการแย่งชิงนางเกิดขึ้น เมื่อนางหนีไปได้ก็ได้ไปเป็นมเหสีของท้าวทศวงศ์ กษัตริย์อีกเมืองหนึ่ง เมื่อคนธรรพ์นาฏกุเวรได้ครองเมืองแทนท้าวบรมพรหมทัตที่สวรรคตลง ก็ได้ตามไปชิงนางกลับคืนมาโดยการฆ่าท้าวทศวงศ์ เรื่องจึงจบลง ซึ่งนับดูแล้วพบว่า นางกากีมีสามีถึง 5 คน และต้องตกระกำลำบาก รวมถึงถูกสังคมประณามเนื่องจากมีเสน่ห์มากเกินไป
           มโนราห์ จากเรื่อง พระสุธน-มโนห์รา

          นางมโนราห์ เป็นธิดาองค์เล็กของท้างทุมราชผู้เป็นพระยากินนร  นางมีพระพี่นางอีกหกองค์ล้วนมีหน้าตาเหมือน กันและงดงามยิ่งกว่านางมนุษย์  โดยทุกองค์มีปีกและหางที่ถอดออกได้  เมื่อใส่ปีกใส่หางแล้วกินนรก็สามารถบินไปยังที่ต่าง ๆ ได้ นางมโนราห์และพี่น้องทั้งหกได้ไปเล่นน้ำที่สระน้ำอโนดาต เจอพรานบุญที่ต้องการจับตัวนางกินรีเพราะเห็นว่านางงดงามคู่ควรแก่พระสุธน โอรสแห่งเมืองปัญจาลนคร  พรานบุญจึงไปยืมบ่วงนาคบาศจากท้าวชมพูจิต พญานาคราช ทำให้สามารถจับนางมโนราห์ไปถวายแค่พระสุธนได้ พระสุธนเมื่อเห็นนางเข้าก็เกิดหลงรักและพานางกลับเมืองจนได้อภิเษกกัน

          ต่อมาปุโรหิตคนหนึ่งได้เกิดจิตอาฆาตแค้นแก่พระสุธน เพราะพระสุธนไม่ให้ตำแหน่งแก่บุตรของตน เมื่อถึงคราวเกิดสงคราม พระสุธนออกไปรบ เมื่อพระบิดาพระสุธนได้ทรงพระสุบิน ปุโรหิตจึงทำนายว่าจะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ โดยให้นำนางมโนราห์ไปบูชายัญเพื่อแก้เคล็ด เมื่อท้าวอาทิตยวงศ์ยินยอมตามนั้น นางมโนราห์ที่รู้เข้าก็เกิดตกใจ จึงออกอุบาย ของปีกกับหางขอนางคืน เพื่อร่ายรำหน้ากองไฟก่อนจะตาย เมื่อนางได้ปีกกับหางแล้ว นางจึงร่ายรำสักพักก่อนบินหนีไป ไปเจอฤาษี

          จากนั้นนางได้กล่าวกับฤาษีว่า หากพระสุธนตามมาให้บอกว่าไม่ต้องตามนางไป เพราะมีภยันอันตรายมากมาย และได้ฝากภูษาและธำมรงค์ให้พระสุธน เมื่อนางมโนราห์ได้กลับไปที่เมืองก็ได้มีพิธีชำระล้างกลิ่นอายมนุษย์ ฝ่ายพระสุธนที่กลับจากสงครามได้ลงโทษปุโรหิต และติดตามหานางมโนราห์ เมื่อเจอพระฤาษี พระสุธนจึงติดตามนางมโนราห์ต่อไป โดยมีพระฤาษีค่อยช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเวรกรรมจากชาติปางก่อน เนื่องจาก นางมโนราห์ คือ พระนางเมรี และพระสุธนคือ พระรถเสน ทำให้พระสุธนได้รับความลำบากมาก

          เมื่อพระสุธนมาถึงสระน้ำอโนดาต ได้แอบเอาพระธำมรงค์ใส่ลงในคณโฑของนางกินรีนางหนึ่ง ซึ่งนางกินรีได้นำน้ำนั้นไปสรงให้นางมโนราห์ พระธำมรงค์ได้ตกลงมาที่แหวนของนางพอดี ทำให้นางรู้ว่าพระสุธนมาหานาง นางจึงแจ้งให้พระบิดาและพระมารดาทราบ ดังนั้นเมื่อพระบิดาของนางมโนราห์ต้องการทราบว่าพระสุธนมีความรักต่อนางมโนราห์จริงหรือไม่ จึงได้ทำการทดสอบพระสุธน โดยให้บอกว่า นางไหนคือนางมโนราห์ ซึ่งนางมโนราห์และพี่ ๆ ต่างมีหน้าตาเหมือนกัน ด้านพระอินทร์เกิดเห็นใจจึงให้ความช่วยเหลือจนทำให้นางมโนราห์และพระสุธนได้เคียงคู่กันอย่างมีความสุข

นางในวรรณคดีไทย


           พระเพื่อน พระแพง จากเรื่อง ลิลิตพระลอ

          เจ้าราชวงศ์แมนสรวงกับเจ้าราชวงศ์สรองเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่โอรสและธิดาของ 2 เมืองนี้เกิดรักกันและยอมตายด้วยกัน ฝ่ายชายคือ พระลอ เป็นกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง มีพระชายาชื่อ นางลักษณวดี สำหรับ พระลอ นั้น เป็นหนุ่มรูปงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนทำให้พระเพื่อน พระแพง เกิดความรักและปรารถนาที่จะได้พระลอมาเป็นสวามี พี่เลี้ยงของพระเพื่อน พระแพง ชื่อนางรื่น นางโรย จึงได้ออกอุบายส่งคนไปขับซอยอโฉมพระเพื่อน พระแพง ให้พระลอฟัง และให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเกิดความรักหลงใหลคิดเสด็จไปหานาง

          แต่เมื่อพระนางบุญเหลือชนนีของพระลอทราบเรื่องเข้าจึงได้หาหมอแก้เสน่ห์ แต่ปู่เจ้าสมิงพรายได้เสกสลาเหิน(หมากเหิน) มาให้พระลอเสวยในตอนหลังอีก ทำให้พระลอถึงกับหลงใหลธิดาทั้งสองมากขึ้น พระลอจึงทูลลาชนนีและพระนางลักษณวดีไปยังเมืองสรอง พร้อมกับนายแก้ว นายขวัญ ที่เป็นพี่เลี้ยง จนกระทั่งพระลอได้พบกับพระธิดาทั้งสอง และได้พวกนางเป็นชายา รวมทั้งนายแก้ว นายขวัญ ก็ได้กับนางรื่น กับนางโรย พี่เลี้ยงเป็นภรรยาด้วยเช่นกัน

          ต่อมา เมื่อพระพิชัยพิษณุกร พระบิดาของพระเพื่อน พระแพง ทราบเรื่องก็ทรงกริ้ว แต่พอทรงพิจารณาเห็นว่าพระลอมีศักดิ์เสมอกันก็หายกริ้ว แต่พระเจ้าย่า (ย่าเลี้ยง) ของพระเพื่อน พระแพง โกรธมาก เพราะแค้นที่พระบิดาของพระลอได้ประหารท้าวพิมพิสาครสวามีในที่รบ พระเจ้าย่าจึงถือว่าพระลอเป็นศัตรู และได้สั่งทหารให้ไปล้อมพระลอที่ตำหนักกลางสวน พร้อมทั้งสั่งประหารด้วยธนู ทำให้ พระลอ พระเพื่อน พระแพง ที่ร่วมกันต่อสู้กับทหารของพระเจ้าย่า สิ้นชีพเคียงข้างกันทั้ง 3 พระองค์ 

          ด้านท้าวพิชัยพิษณุกร ทรงทราบว่าพระเจ้าย่าสั่งให้ทหารฆ่าพระลอพร้อมพระธิดาทั้งสององค์ ก็ทรงกริ้วและสั่งประหารพระเจ้าย่าเสีย เนื่องจากมิใช่พระชนนี แล้วโปรดให้จัดการพิธีศพพระลอกับพระธิดาร่วมกันอย่างสมเกียรติ โดยส่งทูตนำสาส์นไปถวายพระนางบุญเหลือ ชนนีของพระลอ ที่เมืองแมนสรวง สุดท้ายเมืองสรองกับเมืองแมนสรวงจึงกลับมามีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน

           สุวรรณเกสร จากเรื่อง เจ้าหญิงนกกระจาบ

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ชายป่าแห่งหนึ่ง มีนกกระจาบสองผัวเมียพร้อมด้วยลูกเล็ก ๆ อีก 4 ตัวทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ แม่นกนั้นคอยอยู่ดูแลลูกอ่อน ส่วนพ่อนกมีหน้าที่บินออกไปหาเหยื่อมาเลี้ยงลูกเมีย วันหนึ่งพ่อนกบินหาอาหารออกไปไกลถึงกลางบึงใหญ่ ซึ่งมีดอกบัวขึ้นอยู่มากมายทำให้พ่อนกเพลิดเพลินจนลืมเวลา ครั้นถึงตอนเย็นดอกบัวก็หุบกลีบเข้าหากันและได้ขังพ่อนกเอาไว้ข้างใน แม้ว่าพ่อนกจะพยายามดิ้นรนอย่างไรก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้

          ฝ่ายแม่นกและลูก ๆ รออาหารอยู่ด้วยความหิวโหย บังเอิญคืนนั้นเกิดไฟไหม้ป่า แม่นกไม่สามารถช่วยลูก ๆ หนีภัยได้ จึงทิ้งรังไว้จนลูกนกโดนไฟคลอกตายทั้งหมด ส่วนแม่นกนั้นเกาะกิ่งไม้ร้องไห้ด้วยความอาลัยรักลูก ๆ ของตน พอถึงเวลาเช้าดอกบัวสยายกลีบพ่อนกก็รีบบินกลับรัง ครั้นพบแต่รังที่กลายเป็นเถ้าถ่านรู้สึกเสียใจมากจึงรีบเข้าไปหาแม่นก แต่นางนกกระจาบได้ตัดพ้อต่อว่าหาว่าพ่อนกมัวไปติดพันนางนกอื่นอยู่ไม่ยอมกลับรัง แม้พ่อนกจะพยายามอธิบายอย่างไรนางนกกระจาบก็ไม่ยอมฟัง นางจึงอธิษฐานว่าชาติของให้เกิดเป็นหญิง และจะไม่ยอมพูดกับผู้ชายคนไหนอีกเลย แล้วนางนกกระจาบก็บินเข้าสู่กองไฟตายตามลูก ๆ ไป

          พ่อนกเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งเสียใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ อธิษฐานว่าด้วยความสัตย์จริงในสิ่งที่ตนกระทำลงไปโดยมิได้มีเจตนานอกใจนางนกกระจาบ ขอให้ตนเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่นางนกกระจาบซึ่งไปเกิดใหม่ยอมพูดด้วย แล้วพ่อนกก็โผเข้ากองไฟสิ้นใจตามไปอีกตัว ต่อมานางนกกระจาบได้เกิดใหม่เป็น เจ้าหญิงสุวรรณเกษร ราชธิดาของท้าวพรหมทัต และพระมเหสี ซึ่งมีนามว่า พระนางโกสุมา แห่งเมืองโกสัมพี (บางตำนานว่ามาเกิดเป็นเจ้าหญิงสุวรรณโสภา ราชธิดาของพระเจ้าอุสภราช และพระนางกุสุมพา กษัตริย์ผู้ครองเมือง ศิริราชนคร)

          พระธิดาสุวรรณเกสรนั้นเป็นผู้ที่มีรูปลักษณ์สิริโฉมโสภาเกินกว่าหญิงใดในหล้า แต่เมื่อเกิดมาจวบจนถึงวัยครองเรืองนางกลับไม่ยอมเอ่ยปากพูดกับผู้ชายคนไหนทั้งสิ้น แม้แต่ผู้เป็นพระบิดาของตนเอง ท้าวพรหมทัตรู้สึกทุกข์ในพระทัยยิ่งนัก ถึงกับให้มีประกาศไปทั่วทุกแคว้นแดนดินว่า หากชายใดสามารถทำให้พระธิดายอมพูดด้วยก็จะให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสุวรรณเกสรทันที

          บรรดากษัตริย์รวมทั้งเศรษฐีจากเมืองต่าง ๆ ได้ส่งพระโอรสและทายาทของตนมาขอทดสอบ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนเจ้าหญิงสุวรรณเกสรก็ไม่ยอมเอ่ยปากเจรจากับเจ้าชายหรือทายาทหนุ่มของเศรษฐีคนใดเลยแม้แต่เพียงคำเดียว  กล่าวถึงพ่อนกกระจาบซึ่งได้มาเกิดใหม่เป็น เจ้าชายสรรพสิทธิ์ พระโอรสของ พระเจ้าวิชัยราช กับพระนางอุบลเทวี แห่งอลิกนคร เมื่อทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ พระธิดาสุวรรณเกษร ทำให้เจ้าชายสรรพสิทธิ์สนใจนึกอยากจะไปทดสอบดู เพราะพระองค์และชานุ ผู้เป็นพี่เลี้ยง เคยไปเรียนวิชาเกี่ยวกับการถอดจิต จึงใช้กลอุบายดังกล่าวจนสามารถทำให้พระธิดาสุวรรณเกษรเอ่ยปากพูดได้ เจ้าชายสรรพสิทธิ์และสุวรรณเกสร จึงได้อภิเษกสมรสกันและครองเมืองอลิกนครอย่างมีความสุข

นางในวรรณคดี
 
ชื่อภาพ สังข์ทอง ตอนพระสังข์ถอดรูปเงาะ ผลงานโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ภาพจาก เฟซบุ๊ก จักรพันธ์ โปษยกฤต (รวมผลงาน)


           รจนา จากเรื่อง สังข์ทอง

          พระสังข์ เป็นโอรสของ ท้าวยศวิมลกับมเหสีชื่อนางจันท์เทวี แต่พระองค์และพระมารดาได้ถูกเนรเทศออกจากวัง เนื่องจากสนมเอกของท้าวยศวิมลที่ชื่อนางจันทาเทวี เกิดความริษยาจึงติดสินบนโหรหลวงให้ทำนายว่าหอยสังข์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความหายนะ ท้าวยศวิมลหลงเชื่อจึงจำใจต้องเนรเทศนางจันท์เทวีและหอยสังข์ไปจากเมือง

          นางจันท์เทวีพาหอยสังข์ไปอาศัยอยู่กับตายายชาวไร่ เป็นเวลาถึง 5 ปี ระหว่างนั้นพระโอรสในหอยสังข์ก็แอบออกมาช่วยทำงานบ้านตอนที่ไม่มีใครอยู่ เมื่อนางจันท์เทวีทราบก็ทุบหอยสังข์เสีย เพื่อให้พระสังข์ได้ออกมาอยู่ตน ทว่า ในเวลาต่อมาพระนางจันทาเทวีได้ไปว่าจ้างแม่เฒ่าสุเมธาให้ช่วยทำเสน่ห์เพื่อที่ท้าวยศวิมลจะได้หลงอยู่ในมนต์สะกด และได้ยุยงให้ท้าวยศวิมลไปจับตัวพระสังข์มาประหาร แต่ท้าวภุชงค์ที่เป็นพญานาคได้มาช่วยไว้ และนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ก่อนจะส่งให้นางพันธุรัตเลี้ยงดูต่อจนพระสังข์มีอายุได้ 15 ปี

          วันหนึ่งพระสังข์ได้แอบไปเที่ยวเล่นที่หลังวัง จนได้พบกับบ่อเงิน บ่อทอง รูปเงาะ เกือกทอง และไม้พลอง รวมถึงกับซากโครงกระดูก ทำให้พระสังข์ทราบว่านางพันธุรัตเป็นยักษ์ จึงเตรียมแผนการหนีด้วยการกระโดดลงไปชุบตัวในบ่อทอง ก่อนสวมรูปเงาะ กับเกือกทอง และขโมยไม้พลองเหาะหนีไป

          จากนั้นพระสังข์ได้เดินทางมาถึงเมืองสามล ซึ่งมีท้าวสามลและพระนางมณฑาปกครองเมือง ซึ่งท้าวสามลและพระนางมณฑามีธิดาล้วนถึง 7 พระองค์ โดยเฉพาะพระธิดาองค์สุดท้องที่ชื่อ รจนา มีสิริโฉมเลิศล้ำกว่าธิดาทุกองค์ จนวันหนึ่งท้าวสามลได้จัดให้มีพิธีเสี่ยงมาลัยเลือกคู่ นางรจนาที่เห็นรูปทองก็ได้เลือกเจ้าเงาะเป็นสวามี ด้านท้าวสามลที่โกรธจัด เนื่องจากนางรจนาเลือกเจ้าเงาะที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ดังนั้นจึงสั่งเนรเทศนางไปอยู่ที่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ

          แม้รจนาต้องปลูกผักกินเอง และต้องหุงหาอาหารต่าง ๆ โดยที่นางไม่เคยได้ทำ แต่เจ้าเงาะก็ได้สอนการเป็นแม่บ้านแม่เรือนให้กับนาง  จนนางทำได้ทุกอย่างและอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข  แต่บรรดาพ่อแม่และพี่ ๆ ก็ยังคอยกลั่นแกล้งนางรจนากับเจ้าเงาะตลอด จนพระอินทร์เกิดสงสารจึงคิดอุบายตีเมืองของท้าวสามนต์ เพื่อให้เจ้าเงาะถอดรูปออกมารบจนชนะ เมื่อท้าวสามลทราบความจริงก็พอใจเป็นอย่างมาก จึงให้ทั้งสองเข้ามาอยู่ในวังด้วยกันดังเดิม  


           จินตะหราวาตี จากเรื่อง อิเหนา

          นางจินตะหรา เป็นพระธิดาท้าวหมันหยากับนางจินดาส่าหรีประไหมสุหรี เกิดในปีเดียวกับอิเหนาแต่อ่อนเดือนกว่า จึงมีฐานะเป็นน้อง แต่ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือและทำให้อิเหนาหลงใหลจนไม่อยากกลับบ้าน แต่ขณะนั้นอิเหนามีคู่หมั้นแล้ว คือ นางบุษบา ขณะที่จะอภิเษกสมรสกับนางบุษบา อิเหนาได้หนีออกไปประพาสป่า และได้ปลอมตัวเป็นโจรชื่อ ปันหยี โดยตั้งใจเดินทางไปเมืองหมันหยา ระหว่างทางได้พบเจ้าเมืองรายทางรวมทั้งได้รับการถวายพระธิดา คือ นางสการะวาตีกับนางมาหยารัศมี ให้เป็นข้ารับใช้ อิเหนาได้สู่ขอนางจินตะหรา แต่ท้าวหมันหยาไม่กล้ายกให้ บอกให้อิเหนาไปคุยกับนางจินตะหราเอง อิเหนาจึงไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา ท้าวดาหาโกรธมากจึงรับสั่งว่า ใครมาสู่ขอจะยกให้ แต่เมื่อจรกามาสู่ขอและได้เกิดศึกชิงนางบุษบาขึ้น อิเหนาจึงจำใจยกทัพไปช่วย  แต่เมื่อได้พบนางบุษบา อิเหนาเกิดหลงรักนางขึ้นมา จึงไม่ยอมกลับไปที่เมืองหมันหยาตามที่ตั้งใจไว้

          ด้านนางจินตะหราน้อยใจมากที่อิเหนาลืมนาง ต่อมานางได้พบกับอิเหนาอีกครั้ง เมื่อท้าวกุเรปันส่งสารมาให้นางไปเข้าพิธีอภิเษกพร้อมกับนางบุษบา แม้นางจินตะหราไม่อยากไปร่วมพิธี แต่ขัดไม่ได้ จึงพานางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีไปด้วย  ในพิธีอภิเษก นางบุษบาได้อยู่ในตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย ขณะที่จินตะหราวาตีอยู่ในตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา ด้วยความเห็นชอบของท้าวดาหา แต่นางจินตะหราไม่มีความสุขกับตำแหน่งนั้น เพราะอิเหนาไม่ได้รักนางเหมือนเมื่อก่อน

          ดังนั้นเมื่ออิเหนามาหา นางก็ได้ทวงสัญญาเมื่อครั้งเก่า ทำให้อิเหนาเสื่อมรักนางมากขึ้น แต่ไม่สามารถขัดคำสั่งของประไหมสุหรีของท้าวดาหาได้ ดังนั้นอิเหนาจึงจำใจต้องไปง้อนาง แต่เมื่อท้าวหมันหยากับประไหมสุหรีได้ทราบเรื่องนี้ จึงเรียกนางจินตะหราไปตักเตือน ทำให้นางจินตะหราทราบว่า แท้จริงแล้วตัวนางเสียเปรียบนางบุษบามาก หากนางทำตัวเช่นนี้มีแต่จะทำให้เรื่องแย่ลง นางจินตะหราจึงยอมคืนดีกับอิเหนาและเป็นฝ่ายเข้าหานางบุษบาแต่โดยดี


           บุษบา จากเรื่อง อิเหนา

          นางบุษบา เป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง และเมื่อประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา ทั้งนี้ นางบุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวา กิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคน ใจกว้างและมีเหตุผล จึงทำให้อิเหนารักใคร่หลงใหลนางยิ่งกว่าหญิงใด

          ทว่า นางถูกเทวดาบรรพบุรุษของวงค์อสัญแดหวา คือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนาเป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย ทั้งนี้ การที่นางยอมให้อิเหนายกนางจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี ด้วยเห็นว่านางจินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญ ซึ่งข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือนและนับว่านางบุษบาเป็นหญิงไทยในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง


           สุวรรณมาลี จากเรื่อง พระอภัยมณี

          นางสุวรรณมาลี เป็นธิดาของท้าวสิลราช กษัตริย์เมืองผลึก กับนางมณฑา นางมีรูปโฉมงดงามมาก แต่มีนิสัยขี้หึง ซึ่งพระบิดาได้หมั้นหมายนางสุวรรณมาลีไว้กับอุศเรนโอรสกษัตริย์เมืองลังกา นางลงเรือไปเที่ยวทะเลกับท้าวสิลราชแล้วได้ไปพบกับพระอภัยมณีที่เกาะแก้วพิสดาร สินสมุทรบุตรของพระอภัยมณีพยายามเป็นสื่อให้นางรักใคร่กับพระอภัยมณี ครั้นได้กลับไปถึงเมืองผลึกนางก็ได้เข้าพิธีแต่งงานกับพระอภัยมณี ทั้งสองมีธิดาฝาแฝดชื่อสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา ต่อมาพระอภัยมณีตัดสินใจบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญศีลอยู่ที่เขาสิงคุตร์ นางสุวรรณมาลีก็บวชตามไปปรนนิบัติด้วยความจงรักภักดี

          นอกจากนางจะเป็นหญิงที่มีความงามแล้ว นางยังมีความสามารถมีสติปัญญาเทียบเท่าผู้ชาย มีความรู้ในการรบ รู้ตำราพิชัยสงคราม และยังมีความเฉลียวฉลาดสามารถเอาตัวรอดและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะที่โดดเด่นของนางในวรรณคดีตัวนี้ที่เห็นได้ชัดเจนทีเดียว


           ละเวงวัณฬา จากเรื่อง พระอภัยมณี

          นางละเวงวัณฬา เป็นธิดาของของกษัตริย์เมืองลังกา และเป็นน้องสาวของอุษเรนผู้เป็นคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี เมื่อนางอายุได้ 16 ปี นางต้องสูญเสียบิดาและพี่ชายในสงครามสู้รบระหว่างเมืองลังกาและเมืองผลึกเพื่อแย่งชิงนางสุวรรณมาลีกลับคืนจากพระอภัยมณี แม้จะเสียใจจนคิดที่จะฆ่าตัวตายตามพ่อและพี่ชายไป แต่ด้วยความแค้นและภาวะที่บ้านเมืองกำลังขาดผู้นำ นางจึงขึ้นครองเมืองลังกาแทนบิดา และตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้แค้นแทนบิดาและพี่ชายให้จงได้

          ในตอนต้นนางทำศึกด้วยการใช้เล่ห์กลอุบายตามคำแนะนำของบาทหลวง ทั้งนี้ ด้วยความแค้นที่พ่อและพี่ชายถูกฆ่าตายด้วยฝีมือชาวเมืองผลึก แม้ว่าความพยายามของนางในตอนต้น ๆ จะไม่ได้ผล นางก็ไม่ละความพยายาม จนกระทั่งพระอภัยมณียกทัพไปราวีกรุงลังกาเสียเอง ทั้ง ๆ ที่มีความเกลียด ความโกรธ ความอาฆาตแค้นอยู่เต็มอก แต่พอนางได้พบหน้าและได้ต่อปากต่อคำกับพระอภัยมณีศัตรูคนสำคัญเพียงครั้งเดียว นางก็เกิดรู้สึกเสน่หาในตัวพระอภัยมณี แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าเมืองลังกา นางละเวงวัณฬาจึงต้องยอมตัดใจเป็นเด็ดขาดและคิดที่จะยกกองทัพกลับมาต่อสู้ให้ชนะจงได้
 

           เมรี จากเรื่อง นางสิบสอง

          นางเมรี เป็นธิดาของ นางยักษ์สนธมาร เมื่อนางยักษ์สนธมารได้ออกอุบายให้พระรถเสน ซึ่งเป็นลูกของนางสิบสอง กับ พระรถสิทธ์ราช ผู้ครองเมืองกุตารนคร ไปตามหา  “มะม่วงหาว มะนาวโห่” มีอยู่ที่เมืองคชปุรนคร เพื่อรักษาอาการป่วยของนาง โดยนางสนธมารได้เขียนสารให้พระรถเสนนำไปยื่นที่เมืองคชปุรนครด้วย จากนั้นเมื่อพระรถเสนได้ขี่ม้าไปจนถึงอาศรมพระฤาษี ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงหลับลงที่นั่น เมื่อพระฤาษีได้ทราบถึงอุบายของนางยักษ์สนธมารที่เขียนสารให้นางเมรีกินพระรถเสนผู้ถือสารทันทีที่ไปถึงเมืองดังกล่าว พระฤาษีจึงทำการแปลงสารว่า ให้นางเมรีรับพระรถเสนเป็นสวามี ดังนั้นถึงพระรถเสนเมืองคชปุรนคร นางเมรีจึงได้จัดการอภิเษกพระรถเสนกุมารให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และอภิเษกสมรสนางเป็นมเหสี ครอบครองราชสมบัติในคชปุรนคร

          ต่อมาพระรถเสนเกิดคิดถึงมารดาอยากกลับพระนคร จึงได้ออกอุบายโดยทรงแสร้งทำเป็นว่าเสวยสุรากับนางเมรี  จนนางเมรีมีอาการเมามาย ขณะที่พระรถเสนทอดพระเนตรดูสิ่งของต่าง ๆ ในปราสาทนั้น ทรงพบห่อของห่อหนึ่งจึงสอบถามนางเมรีที่ไม่ได้สติ จนทราบว่าเป็นห่อลูกตาของนางสิบสอง และยังได้ทราบสรรพคุณของห่อยาวิเศษต่าง ๆ  โดยหนึ่งในนั้นเป็นยาทิพย์ที่สามารถรักษาตาของนางสิบสองได้ พอนางเมรีหลับพระรถเสนจึงนำห่อลูกตาและห่อยาเหล่านั้นรีบขึ้นม้าหนีออกไปในเวลากลางคืน

          เมื่อนางเมรีไม่เห็นพระรถเสนก็ตกใจเที่ยวค้นหาจนทั่วปราสาท เมื่อรู้ว่าพระรถเสนหนีไป นางจึงออกติดตามพระรถเสนทันที แต่พระรถเสนได้บอกลานางโดยกล่าวว่า แม้ตนจะรักนางเพียงใด แต่ตนต้องกตัญญูต่อมารดา จึงจำต้องลากจากนางไป เมื่อนางเมรีเห็นพระรถเสนทิ้งนางไปเช่นนั้น นางเมรีก็ทรงกันแสงเสียพระทัยจนสิ้นชีพในที่สุด โดยในท้ายเรื่องพระรถเสนสามารถช่วยมารดาและบรรดาป้า ๆ ของตนได้ ส่วนนางยักษ์สนธมารเมื่อเห็นพระรถเสนกลับมาอย่างปลอดภัยก็มีความเสียใจจนสิ้นชีวิตอยู่บนปราสาทของนางนั้นเอง
 

           วันทอง จากเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน

          นางวันทอง เป็นธิดาคนเดียวของพันศรโยธาและนางศรีประจัน ครอบครัวของนางวันทองเป็นตระกูลพ่อค้าที่มีฐานะดีพอสมควร นางจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ความสวยของนางวันทองปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อนางเติบโตขึ้นก็ยิ่งมีความงามมากขึ้น เป็นชนวนเหตุให้ขุนแผนและขุนช้างมีจิตใจผูกพันรักใคร่ ส่งผลให้เกิดเรื่องราววุ่นวายตามมา

          นางวันทองมีลักษณะสาวชาวบ้านจึงเป็นคนซื่อ ไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน เมื่อโตเป็นสาวก็เริ่มคิดเรื่องคู่ครอง อันเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติ แต่สังคมไทยมีความจำกัดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของประเพณี จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว

          อย่างไรก็ตาม นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จากการที่แม้นางจะไม่ได้รักขุนช้าง แต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุขและความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย หรือ อารมณ์ที่ละเอียดอ่อนในการเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี เช่น ความประณีตในการปักม่าน นอกจากนี้ นางวันทองยังเป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น


           ศรีมาลา จากเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน

          นางศรีมาลา เป็นลูกของพระพิจิตรกับนางบุษบา นางเป็นหญิงที่งดงามทั้งรูปร่างหน้าตา กิริยามารยาท และงามน้ำใจ นางได้พบและรักกับพลายงาม ลูกของขุนแผนกับนางวันทอง ตอนที่พลายงามกับขุนแผนยกทัพไปทำสงครามกับเชียงใหม่แล้วได้แวะเยี่ยมพ่อแม่ของนาง

          หลังจากเสร็จสงคราม นางศรีมาลาได้แต่งงานกับพลายงามพร้อมกับนางสร้อยฟ้า นางได้รับความรักจากพลายงามและนางทองประศรีมากกว่าจึงทำให้นางสร้อยฟ้าอิจฉา นางสร้อยฟ้าจึงทำเสน่ห์ให้พลายงามหลงใหลและเกลียดชังนางศรีมาลา ทำให้นางศรีมาลาปวดร้าวและขมขื่นใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากบางครั้งนางได้ถูกพลายงามทุบตี เพราะเชื่อที่นางสร้อยฟ้าใส่ความ ครั้นนางสร้อยฟ้าต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากถูกจับได้เรื่องทำเสน่ห์ใส่พลายงาม นางจึงอ้อนวอนให้นางศรีมาลาช่วยขออภัยโทษให้  โดยอ้างถึงลูกในท้องที่จะต้องตายไปกับนางด้วย เมื่อนางศรีมาลาใจอ่อนยอมขออภัยโทษให้ นางสร้อยฟ้าจึงเพียงแค่ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เชียงใหม่ตามเดิม โดยในเวลาต่อมา นางก็คลอดบุตรชายมีชื่อว่า พลายยง
 

           มัทนา จากเรื่อง ตำนานรักดอกกุหลาบ

          นางมัทนา เป็นนางฟ้าที่มีรูปโฉมงดงาม จนจอมเทพสุเทษณ์ติดตาตรึงใจและใคร่จะได้นางเป็นชายา แต่นางมัทนาไม่เคยสนใจจอมเทพสุเทษณ์ เพราะได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะครองคู่กับชายที่ตนรักเท่านั้น ด้านจอมเทพสุเทษณ์เป็นเทพผู้ใหญ่บนสรวงสวรรค์ แต่กลับเป็นทุกข์อยู่ด้วยความลุ่มหลงเทพธิดามัทนา แม้จิตระรถสารถีคู่บารมีจะนำรูปของเทพเทวีผู้เลอโฉมหลายต่อหลายองค์มาถวายให้เลือกชม จอมเทพสุเทษณ์ก็มิสนใจไยดี และไม่ว่าเกี้ยวพาหรือรำพันรักอย่างไร นางมัทนาก็ได้แต่ปฏิเสธว่า ไม่มีจิตเสน่หาตอบ ดังนั้นจอมเทพสุเทษณ์จึงโกรธมาก กระทั่งจะสาปนางมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์

          แต่นางมัทนาขอให้ตนเองได้ไปเกิดเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอมเพื่อให้มีประโยชน์บ้าง จอมเทพสุเทษณ์จึงสาปนางมัทนาให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบที่งามทั้งกลิ่น ทั้งรูป และมีแต่เฉพาะบนสวรรค์ ยังไม่เคยมีบนโลกมนุษย์ โดยทุก ๆ วันเพ็ญของแต่ละเดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้เพียงหนึ่งวัน หนึ่งคืน เท่านั้น หากนางมีความรักเมื่อใด นางก็จะไม่ต้องคืนรูปเป็นกุหลาบอีก แต่นางจะได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความรักจนมิอาจทนอยู่ได้ และเมื่อนั้นถ้านางอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ จอมเทพสุเทษณ์จึงจะงดโทษทัณฑ์นี้ให้แก่นาง

          ต่อมานางมัทนาไปจุติเป็นกุหลาบงามอยู่ในป่าหิมะวันแลได้พบรักกับพระรถเสน แต่นางต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ จนนางต้องอ้อนวอนขอร้องให้จอมเทพสุเทษณ์ช่วยนาง ด้านจอมเทพสุเทษณ์ยินดีแก้คำสาปให้แต่ยังคงต้องการรับนางเป็นมเหสีอยู่เช่นเดิม แต่นางมัทนาได้ปฏิเสธอีกครั้ง ดังนั้นจอมเทพสุเทษณ์จึงสาปส่งให้นางมัทนาเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มิอาจกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีก

          เมื่อท้าวชัยเสนตามมาถึงในป่าและทราบเรื่องทั้งหมด พระองค์จึงร่ำไห้ด้วยความอาลัยก่อนรำพันถึงความหลงผิดและรำพันความรักที่มีต่อนางมัทนาให้ต้นกุหลาบได้รับรู้ จากนั้นจึงขุดต้นกุหลาบเพื่อนำกลับไปปลูกในอุทยาน และขอให้พระฤๅษีช่วยให้พรวิเศษเพื่อทำให้ต้นกุหลาบงดงามมิโรยราตราบจนกว่าพระองค์จะสิ้นอายุขัย ซึ่งพระฤาษีก็ประสิทธิประสาทพรให้กุหลาบนั้นดำรงอยู่คู่โลกนี้มิมีสูญพันธ์ตลอดมา


           พินทุมดี จากเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์

          พระสมุทรโฆษเป็นโอรสของพระเจ้าพินทุทัตและนางเทพธิดาแห่งเมืองพรหมบุรี  มีชายาชื่อนางสุรสุดา ทางทิศใต้ของเมืองพรหมบุรีมีเมืองรมยนคร เจ้าเมืองชื่อพระเจ้าสีหนรคุปต์ มเหสีชื่อนางกนกพดี  และมีพระธิดาชื่อนางพินทุมดี ต่อมาพระสมุทรโฆษออกประพาสป่าเพื่อจับช้างป่า คืนวันนั้นเทพารักษ์ได้อุ้มพระสมุทรโฆษไปยังปราสาทนางพินทุมดี  พอจวนรุ่งเทพารักษ์ก็อุ้มคืนยังพลับพลาในป่า พระสมุทรโฆษจึงเที่ยวติดตามค้นหานางพินทุมดี แต่เมื่อไม่พบก็กลับไปบ้านเมืองไป

          ด้านนางพินทุมดีซึ่งโศกเศร้าถึงบุรุษผู้มาเป็นคู่ในคืนนั้น พระเจ้าสีหนรคุปต์จึงจัดให้มีพิธียกโลหธนูเพื่อเสี่ยงหาคู่ให้นางพินทุมดี  ด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์ทำให้พระสมุทรโฆษสามารถยกโลหธนูได้จึงได้อภิเษกกับนางพินทุมดี วันหนึ่งขณะเสด็จอุทยานได้พบพิทยาธรตนหนึ่งชื่อรณาภิมุข  ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับพิทยาธรชื่อรณบุตร  ซึ่งจะแย่งชิงนางนารีผลผู้เป็นชายา พระสมุทรโฆษช่วยพยาบาลรณาภิมุข  รณาภิมุขจึงถวายพระขรรค์อันมีฤทธิ์ทำให้เหาะได้แก่พระสมุทรโฆษ  พระสมุทรโฆษจึงพานางพินทุมดีเหาะไปประพาสป่าหิมพานต์

          ขณะที่พระสมุทรโฆษบรรทมหลับได้ถูกพิทยาธรตนหนึ่งลักพระขรรค์ไป  ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จมาถึงฝั่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวและเกาะขอนไม้ข้ามฟาก แต่เกิดพายุพัดขอนไม้ขาดเป็นสองท่อน ทำให้พระสมุทรโฆษต้องพลัดพรากจากนางพินทุมดี แต่ในเวลาต่อมาพระอินทร์ได้ให้นางเมขลามาช่วยเหลือ จึงได้ทั้งสองพบกันและกลับคืนสู่รมยนครอีกครั้ง ก่อนจะครองเมืองด้วยความผาสุกจนสิ้นพระชนม์แล้วไปบังเกิดในสวรรค์


           เทราปตี จากเรื่อง ภควัทคีตา

          นางเทราปที มีนามจริงคือ กฤษณา แปลว่าดำ เพราะนางมีผิวคล้ำ แต่มีความงามยอดยิ่ง นางเทราปตี เป็นธิดาของท้าวทุรบท เจ้าเมืองแห่งแคว้นปัญจา เมื่อนางเจริญวัยถึงคราวควรจะมีคู่ ท้าวทุรบทได้ประกาศพิธีสยุมพรให้แก่นาง โดยเชิญหน่อกษัตริย์ทั้งหลายมาประชุมแข่งขันแสดงฝีมือยิงธนู ปรากฏว่า เจ้าชายอรชุนผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่เจ้าชายปาณฑพห้าองค์ได้ชัยชนะ จึงได้รับเลือกให้เป็นสามีของนางเทราปที เมื่อเจ้าชายอรชุนพานางกลับมายังตำหนักในป่า ด้วยความดีใจเจ้าชายอรชุนได้ทูลพระนางกุนดีผู้เป็นพระมารดาว่า ตนได้ลาภมา พระนางกุนดีจึงตรัสว่า จงแบ่งกันระหว่างพี่น้องเถิด เนื่องจากไม่ทราบว่าลาภดังกล่าวคือนางเทราปตี ดังนั้นนางเทราปตีจึงจำต้องมีสามีทั้งห้าคน นับแต่นั้นเป็นต้นมา


           ศกุนตลา จากเรื่อง ศกุนตลา

          นางศกุนตลา เป็นธิดาของพระวิศวามิตรกับนางฟ้าเมนกา แต่นางได้ถูกทิ้งไว้ในป่าตามลำพัง ต่อมานางนกมาพบเข้าจึงนึกสงสารและและนำตัวนางกลับไปเลี้ยงดูเหมือนลูกแท้ ๆ ที่อาศรมของตน ต่อมานางศกุนตลาเติบโตเป็นสาวรุ่นที่งดงามอย่างหาที่ติไม่ได้ นางได้พบกับท้าวทุษยันต์ กษัตริย์จันทรวงศ์ แห่งนครหัสดิน จนทั้งคู่ได้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน แต่เมื่อท้าวทุษยันต์ต้องเดินทางกลับเมือง จึงทำการมอบแหวนวงหนึ่งไว้ให้แก่นาง จนกระทั่งเช้าวันหนึ่งพระฤาษีทุรวาสผู้มีปากร้าย ได้มาเรียกนางที่หน้าประตู แต่นางไม่ได้ออกไปต้อนรับ ทำให้พระฤาษีทุรวาสโกรธสาปให้นางถูกคนรักจำไม่ได้ ต่อมาเมื่อพระฤาษีทุรวาสหายโมโหแล้ว เพราะรู้ว่านางไม่ได้ตั้งใจแสดงอาการไม่เคารพกับตนจึงให้พรกำกับว่า หากคนรักของนางได้เห็นของที่ให้ไว้เป็นที่ระลึกก็จะจำนางได้

          ทว่า ระหว่างเดินทางแหวนที่ท้าวทุษยันต์ประทานให้นางไว้เกิดตกหายไปในแม่น้ำ เมื่อไปถึงที่หมายท้าวทุษยันต์ทรงจำนางไม่ได้ จนกระทั่งชาวประมงจับได้ปลาที่กลืนแหวนซึ่งนางศกุนตลาทำหาย พอเห็นแหวนท้าวทุษยันต์ก็ได้สติจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ทั้งสองจึงครองคู่กันอย่างมีความสุขอีกครั้ง
 
นางในวรรณคดีไทย
ภาพจาก Background All / Shutterstock

           ทมยันตี จากเรื่อง พระนลคำหลวง

          นางทมยันตี เป็นธิดาของพระเจ้าภีมราชแห่งเมืองคันธปุระ เมื่อโตเป็นสาวก็มีพระสิริโฉมงดงามและเป็นกุลสตรีที่ดี ต่างก็ร่ำลือกันไปไกลจนถึงสวรรค์ ส่วนพระนลเป็นเจ้าชายเมืองนีษระ เป็นคนเก่ง ฉลาด และรูปลักษณ์งดงามมาก ต่างก็ยกย่องและร่ำลือกันไปไกล เมื่อทั้งคู่เติบโตอยู่ในวัยหนุ่มสาวต่างก็ใฝ่ฝันและถวิลหาซึ่งกันและกัน

          ต่อมาพระเจ้าภีมราชได้ประกาศพิธีสยุมพรของพระนางทมยันตีขึ้น โดยเชิญเจ้าชายและกษัตริย์ทุกเมืองมาร่วมพิธี โดยการทำให้นางพึงพอใจและเลือกคู่เอง นางทมยันตีจึงได้เลือกพระนลเป็นสวามี ทว่า กลี และ ทวารบร ซึ่งจะมางานนี้แต่ทราบว่านางได้เลือกพระนลไปแล้ว ก็โกรธเคืองสัญญาว่าจะทำลายความรักของทั้งคู่และจะทำให้แตกแยกและพลัดพรากจากกันให้ได้ หากตัวเองไม่ได้นางมาครอง ซึ่งเป็นเหตุให้พระนลกับนางทมยันตีต้องพบพานกับอุปสรรคนานัปการ รวมถึงต้องพัดพรากจากกันเป็นเวลานาน แต่ในท้ายที่สุดทั้งคู่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนสามารถกลับมาครองคู่กันด้วยความสุขได้ดังเดิม


           สาวิตรี จากเรื่อง ภควัทคีตา

          นางสาวิตรี เป็นบุตรของมหาราชอัชวาปตีกับมหารานีมัลวี ซึ่งมหาราชอัชวาปตีนั้น ไม่มีบุตรชายเลย จึงได้ทำพิธีภาวนาต่อพระแม่มาเตสวาตี (พระแม่กายาตรี) ถึง 16 ปี จนพระแม่มาประทานพรให้ แต่เนื่องจากในโชคชะตาของมหาราชนั้น ไม่ได้มีพรของบุตรชายเลย พระแม่จึงได้มอบบุตรสาวที่เก่งกาจสามารถ มีสติปัญญา และรูปโฉมอันงดงามให้ เทวฤาษีนารัทมุนีได้ตังชื่อให้เด็กน้อยว่า สาวิตรี นางเป็นหญิงที่ฉลาดและงดงามมาก จนไม่มีชายใดกล้ามาสู่ขอ มหาราชอัชวาปตีจึงได้มอบหมายให้นางออกหาสามีเอง จนกระทั่งนางได้พบกับพระสัตยวาน บุตรของอดีตมหาราชจันทราเซนซึ่งตาบอด

          ต่อเมื่อในงานอภิสมรส เมื่อพระยมราชที่มาร่วมงานด้วยได้แจ้งว่า พระสัตยวาน เหลือเวลาบนโลกมนุษย์อีกเพียง หนึ่งปีเท่านั้น เมื่อนางสาวิตรีรู้ข่าวก็ได้เข้าไปภาวนาต่อพระแม่มาเตสวตี ซึ่งพระแม่มาเตสวตีได้แนะนำหนทาง โดยให้นางถือศีลอดอาหารอย่างเคร่งครัด เพื่อขอพรให้กับพระสัตยวาน ซึ่งในขณะที่นางถือศีลอยู่นั้น ยมราชได้พยายามมาก่อกวนนางทุกทาง เมื่อพระสัตยวานสิ้นพระชนม์ลง นางสาวิตรีที่มีใจรักสวามีมาก จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อลงไปยมโลก ก่อนใช้กลอุบายในการต่อรองกับยมราช จนสุดท้ายยมราชจึงยอมคืนวิญญาณพระยาสัตยวาน ทำให้ทั้งคู่ได้ครองคู่กันอย่างมีความสุข


           จิตรางคทา จากเรื่อง มหาภารตะ

          พระราชาแห่งแคว้นมณีปุระเป็นผู้ไร้ราชโอรส มีแต่พระราชธิดาองค์เดียวชื่อ จิตรางคทา (จิด-ตะ-ราง-คะ-ทา) นางมีเรือนร่างแข็งแกร่งบึกบึน มีใบหน้าแสนจะขี้ริ้วขี้เหร่และมีน้ำเสียงแหบห้าวเหมือนผู้ชายอกสามศอกคนหนึ่ง แถมพระบิดายังทรงเลี้ยงดู จิตรางคทา ในแบบของผู้ชายแท้ ทั้งสอนให้ฝึกหัดขี่ม้า ฝึกปรือเพลงอาวุธทุกชนิดอย่างแคล่วคล่อง จนไม่มีชายใดอยากได้นางเป็นคู่ครอง 

          กระทั่งวันหนึ่ง พรานป่า ได้ดูถูกว่านางว่าเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดา จึงไม่คิดจะต่อสู้ด้วยให้เสียศักดิ์ศรี พร้อมกล่าวว่านางลำพองใจในฝีมือของตนเองมากเกินไป ทำให้จิตรางคทาโกรธมาก และเมื่อนางทราบว่าพรานป่าคนดังกล่าว คือ เจ้าชายอรชุน ยอดวีรกษัตริย์ ที่นางเคารพบูชามาตลอด ยิ่งทำให้นางรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าน่าอดสู เพราะเกิดมาเหมือนชายแม้ไม่ใช่ชาย และไม่เป็นหญิงในทรรศนะของผู้ชาย

          เมื่อนางได้รับคำแนะนำให้ไปหาพระกามเทพ นางจึงอธิษฐานขอเทวานุเคราะห์ พระกามเทพจึงหาหนทางช่วยโดยใช้เทวมายาทำให้นางกลายเป็นหญิงงามเพื่อให้อรชุนหลงรัก แต่พระกามเทพได้เตือนว่า เทวมายานี้มีผลแค่หนึ่งปีเต็มเท่านั้น  และการจะประคับประคองให้ความรักเป็นไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้นก็เป็นหน้าที่ของนางเอง ต่อมา เมื่อจิตรางคทาอยู่ในร่างของหญิงงาม นางจึงเดินทางไปหาเจ้าชายอรชุน โดยใช้ชื่อ ชยา ฝ่ายเจ้าชายอรชุนเมื่อพบหญิงงามดั่งนางฟ้าอยู่ตรงหน้า พระองค์จึงยอมรับนางเป็นชายาด้วยความเต็มใจ

          ทว่า ในระหว่างหนึ่งปีที่จิตรางคทาเสวยสุขอยู่กับเจ้าชายอรชุนในบรรณาศรมกลางป่า นางไม่รู้เลยว่า แคว้นมณีปุระของตนถูกข้าศึกจากปัจจัตประเทศรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนภายในราชอาณาเขตก็ชุกชุมด้วยโจรผู้ร้าย และเมื่อนางได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากเหล่าชาวบ้าน นางก็ยอมกลับสู่ร่างที่แท้จริงทันที โดยได้เล่าความจริงทั้งหมดให้เจ้าชายอรชุนทราบและขอให้เจ้าชายอรชุนยกโทษให้ เนื่องจากนางทำไปเพราะความรัก แต่นางมีหน้าที่สำคัญคือต้องไปปราบศัตรูแผ่นดินแม้อาจไม่มีชีวิตรอดจากศึกครั้งนี้

          ด้านเจ้าชายอรชุนเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดเลื่อมใสนางยิ่งนัก เนื่องจากนางเป็นผู้มีน้ำใจงามประเสริฐ มีความกล้าหาญ เสียสละ ดังนั้นพระองค์ก็พร้อมที่เคียงข้างนางในสนามรบเช่นกัน ด้านจิตรางคทาได้ย้ำว่าตนเองอัปลักษณ์ไม่คู่ควรกับเจ้าชายอรชุน แต่เจ้าชายอรชุนได้กล่าวว่า เมื่อพระองค์รักนางด้วยพระทัย ทุกสิ่งในโลกนี้ก็สวยงามไปหมด และยืนยันว่าความรักของพระองค์ที่มีต่อนางจะยั่งยืนตลอดไป มิใช่ความรักฉาบฉวยเพียงชั่งหนึ่งปีอันเกิดจากเทวานุภาพของพระกามเทพเช่นที่ผ่านมา
 

           สีดา จากเรื่อง รามเกียรติ์

          นางสีดาคือพระลักษมีจุติลงมาตามบัญชาของพระอิศวรเพื่ออัญเชิญพระนารายณ์อวตาร นางสีดาเกิดจากนางมณโฑและทศกัณฐ์ พิเภกได้ทำนายดวงชะตานางสีดาว่าจะเกิดมาทำลายเผ่ายักษ์ นางจึงถูกทิ้งให้ลอยน้ำมาในผอบทอง ดังนั้นพระฤาษีชนกก็รับเลี้ยงนางสีดาเป็นธิดา ต่อมาเมื่อนางได้อภิเษกกับพระราม และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นเมื่อนางถูกทศกัณฐ์จับตัวไปเพื่อให้เป็นมเหสีเนื่องจากความงามเป็นเลิศของนาง จึงเกิดการรบกันระหว่างฝ่ายพระรามและทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น

          ทั้งนี้ ลักษณะนิสัยนางสีดาเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสามีอย่างเป็นเลิศ เช่น ในตอนที่พระรามต้องออกดินป่า นางก็ขอตามเสด็จไปด้วยโดยไปเกรงกลัวต่อความยากลำบากที่จะต้องพบ นางสีดานั้นรักนวลสงวนตัว รักในเกียรติของตนเอง เช่น ในตอนที่หนุมานอาสาจะพานางกลับไปหาพระรามโดยให้นั่งบนมือของหนุมาน นางก็ปฏิเสธทั้งที่มีโอกาสหนี แต่ด้วยเหตุที่ไม่อยากให้ใครมาถูกเนื้อต้องตัวจึงยอมทนทุกข์อยู่เมืองลงกาต่อ

          ส่วนการมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เช่น ตอนที่นางสีดายอมลุยไฟเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตน นางสีดามีความรู้คุณ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ในตอนที่นางสีดากล่าวขอบคุณพระลักษมณ์ที่ช่วยเหลือนางมาตลอด เมื่อรู้ว่าตนทำผิดก็รู้จักขอโทษ เช่น ในตอนที่รู้ว่าตนทำผิดที่ไม่เชื่อคำของพระรามว่าเป็นกลลวงของยักษาที่แปลงกายเป็นกวางเพื่อหลอกล่อนาง แต่นางก็ไม่ฟัง จึงได้กล่าวขอพระราชทานอภัยโทษจากพระรามที่ได้กระทำผิดไป นางเป็นคนใจแข็ง ไม่ยอมเชื่อใครโดยง่าย ทั้งยังรักศักดิ์ศรีของตน เช่น ในตอนที่พระรามตามง้อขอคืนดี นางก็ปฏิเสธไปเพราะยังมีทิฐิ 
 

           เบญจกาย จากเรื่อง รามเกียรติ์

          นางเบญกาย เป็นธิดาของพิเภกและนางตรีชฎา ในคราวที่ทศกัณฐ์ทราบว่า พระรามยกทัพข้ามมาถึงกรุงลงกา ทศกัณฐ์ได้สั่งให้นางเบญกายแปลงกายเป็นนางสีดาแกล้งทำเป็นตายลอยน้ำไปที่ค่ายพระราม เพื่อให้พระรามหมดกำลังใจรบ จะได้ยกทัพกลับไป

          ด้านนางเบญกายทำตามบัญชาของทศกัณฐ์ เมื่อพระรามเห็นศพนางสีดาลอยน้ำมาก็เสียใจมากที่ต้องมาสูญเสียนางอันเป็นที่รักไป พาลต่อว่าหนุมานที่หนุมานเข้าไปเผากรุงลงกาในคราวนั้น ทศกัณฐ์คงเจ็บใจและสังหารนางสีดา แต่หนุมานรู้สึกถึงความผิดปกติ จึงทูลขอศพนางสีดานั้นไปเผาไฟ ทำให้นางเบญกายทนไม่ได้ต้องกลับคืนร่างเดิมก่อนเหาะขึ้นฟ้าไป แต่ก็ถูกหนุมานตามไปจับตัวกลับมาได้

          แม้โทษของนางเบญกายจะถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากพระรามเห็นว่านางเบญกายเป็นบุตรสาวของพิเภกผู้มีความยุติธรรม จึงได้ปล่อยนางเบญกายไป โดยให้หนุมานไปส่งนางเบญกายที่กรุงลงกา แต่ระหว่างทาง หนุมานซึ่งมีจิตปฏิพัทธ์นางเบญกายจึงได้เกี้ยวพาราสีจนได้นางเบญกายเป็นภรรยา


           สุพรรณมัจฉา จากเรื่อง รามเกียรติ์

          นางสุพรรณมัจฉา เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางปลา เป็นพี่น้องร่วมบิดากับนางสีดา ถึงแม้นางจะเป็นถึงธิดาของเจ้าผู้ครองกรุงลงกา แต่เจ้าหญิงองค์นี้ ก็ไม่มีโอกาสจะอยู่ในเวียงวังดังผู้อื่น เพราะนางอยู่ได้เฉพาะแต่ในน้ำ ดังนั้นที่อยู่ของนางจึงอยู่กลางทะเลใหญ่

          ครั้งเมื่อพระรามจะยกทัพข้ามมหาสมุทรมาตีเมืองลงกา และได้ให้หนุมานกับนิลพัท พาพลวานรเอาหินมากองทำถนนข้ามมหาสมุทร ฝ่ายทศกัณฐ์รู้ข่าวจึงขอให้นางสุพรรณมัจฉาพาบริวารปลาไปคาบก้อนหินของฝ่ายพระรามไปทิ้ง ซึ่งนางสุพรรณมัจฉาก็ทำตาม จนทำให้การทำถนนไม่สำเร็จ เมื่อหนุมานมีความสงสัยจึงได้ดำน้ำลงไปใต้สมุทรพบฝูงปลากำลังขนหิน โดยมีนางสุพรรณมัจฉาเป็นหัวหน้า หนุมานจึงชักตรีออกมาไล่ฆ่านางสุพรรณมัจฉา แต่ในที่สุดหนุมานกลับเกิดความรักต่อนางและได้นางสุพรรณมัจฉาเป็นภรรยา


           ทิพเกสร จากเรื่อง ลักษณวงศ์

          ท้าวพรหมทัต มีมเหสี ชื่อ สุวรรณอำภา และมีพระราชโอรส ชื่อ ลักษณวงศ์ วันหนึ่งท้าวพรหมทัตทรงพามเหสีพร้อมพระราชโอรสเสด็จประพาสป่า จนพบนางยักษ์แปลงเป็นสาวสวยทำเล่ห์กลจนท้าวพรหมทัตลุ่มหลง ต่อมาท้าวพรหมทัต ได้จึงสั่งประหารมเหสีและพระโอรส แต่เพชฌฆาตสงสารจึงปล่อยไป

          ต่อมานางสุวรรณอำภาถูกพระยายักษ์พาตัวไป ขณะที่ฤๅษีนำพระลักษณวงศ์ไปเลี้ยงคู่กับนางทิพย์เกสร เมื่อโตขึ้นเรียนวิชาจนสำเร็จและได้นางทิพย์เกสรเป็นชายา พระลักษณวงศ์ได้ฝากนางทิพเกสรไว้กับฤๅษี เพื่อออกตามหามารดาจนพบและ กู้บ้านเมืองได้ แต่ตอนนั้นพระลักษณวงศ์ได้นางยี่สุ่นเป็นชายา เมื่อนางทิพย์เกสรปลอมเป็นพราหมณ์หนุ่มติดตามมาจนพบพระลักษณวงศ์และทราบเรื่องของนางยี่สุ่นด้วยความน้อยใจ จึงไม่แสดงตนให้พระลักษณวงศ์รู้

          ด้านนางยี่สุ่นริษยาที่เห็นสวามีโปรดพราหมณ์หนุ่มมากถึงขั้นอนุญาตให้เข้ามานอนในห้องเดียวกัน ทำให้นางยี่สุ่นเกิดริษยา จึงออกอุบายเพื่อกำจัด จนกระทั่งพราหมณ์เกสรถูกสั่งประหารชีวิต และเมื่อพระลักษณวงศ์ได้รู้ความจริงก็โศกเศร้าเสียใจมาก เพราะได้สั่งประหารมเหสีอันเป็นที่รักโดยไม่รู้ตัว

          จนถึงวันเผาศพนางทิพเกสร วิญญาณของฤๅษีมหาเมฆ พระอาจารย์ของพระลักษณวงศ์และนางทิพเกสรได้ลงมาเปิดโกศเพื่อนำศพของนางทิพเกสรไปทำพิธีชุบชีวิตขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น นางจันทรังสี เมื่อพระลักษณวงศ์พบว่า ศพของนางทิพเกสรหายไป ก็ให้โหราจารย์ทำนายดู จนทราบว่า มีผู้นำศพของนางทิพเกสรไปทำพิธีชุบชีวิต พระลักษณวงศ์ดีจึงออกตามหานางทิพเกสร ซึ่งกว่าจะตามหานางทิพเกสรพบก็ผ่านเรื่องราวอีกมากมาย แต่สุดท้ายจบลงอย่างมีความสุข


           กนกเรขา จากเรื่อง กนกนคร

          พญากมลมิตร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ได้นางอนุศยินีนางฟ้ารูปงามเป็นคู่ครองตามพรของพระอิศวร กมลมิตรคุยโอ้อวดกับเพื่อนคนธรรพ์ถึงความงามของภรรยาของตนว่า อาจยั่วตบะของฤาษีตนหนึ่งได้ ดังนั้น จึงถูกฤาษีสาปลงมาเกิดในโลกมนุษย์

          นางอนุศยินี เป็นธิดากษัตริย์เมืองอินทิราลัย ได้นามว่า กนกเรขา เมื่อเจริญวัยนางไม่พอใจชายใด แต่พระบิดารบเร้าจะให้มีคู่ครอง ในที่สุดนางรับจะอภิเษกกับชายที่มาจากกนกนครตามนิมิตฝัน พระบิดาจึงป่าวประกาศว่า ชายใดที่เคยเห็นกนกนครจะยกพระราชธิดาให้ ขณะที่พญากมลมิตรถูกสาปไปเกิดเป็นโอรสกษัตริย์ ทรงพระนามว่า อมรสิงห์ และไม่คิดมีคู่เช่นเดียวกับนางกนกเรขา เมื่อพระบิดาเร่งรัดให้อภิเษกกับเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่ง อมรสิงห์ก็แย้งว่าเป็นหญิงอย่างในนิมิตฝันเท่านั้น ทำให้พระบิดาทรงกริ้วจึงให้นำไปจองจำไว้ แต่เมื่ออมรสิงห์หนีไปได้ พระองค์ก็ได้จึงเดินทางไปถึงเมืองของนางกนกเรขาและเข้าไปลวงนางว่าเคยเห็นกนกนคร เมื่อนางจับพิรุธก็ขับไล่ไป

          หลังจากนั้นอมรสิงห์จึงออกค้นหากนกนครจนกระทั่งพบศพนางกนกเรขาที่เมืองนั้น พอตื่นขึ้นอมรสิงห์รู้สึกตัวว่ากลับมาอยู่เมืองอินทิราลัย จึงขออนุญาตเข้าไปเล่าเรื่องกนกนครให้นางกนกเรขาฟัง เมื่อนางระลึกความหลังได้ว่า อมรสิงห์เคยเป็นพระสวามี แต่จะต้องพรากกันอีกเมื่อครบสองครั้งแล้วจึงจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสุขสบายเช่นเดิม หลังจากนั้นไม่นานนางก็สิ้นชีพลง ฝ่ายอมรสิงห์เมื่อเห็นนางกนกเรขาสิ้นใจไปต่อหน้าก็เสียใจซัดเซพเนจรไปสู่ป่า โดยไม่รู้ว่าวิญญาณของนางกนกเรขาได้กลับไปสู่ร่างที่กนกนคร ซึ่งภายหลังทั้งสองได้รอนแรมผจญอุปสรรคต่าง ๆ จนกระทั่งพ้นจากคำสาปและได้กลับขึ้นไปอยู่บนเมืองสวรรค์ด้วยกันในที่สุด


           อุษา จากเรื่อง อุณรุท

          พระยายักษ์ชื่อท้าวกรุงพาณ ครองรัตนานคร ประพฤติเป็นพาล ก่อความเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดาและนางฟ้า ครั้งหนึ่งทำอุบายลอบเข้าชมนางสุจิตรามเหสีของพระอินทร์ พระอิศวรจึงต้องทูลเชิญพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดในเมืองณรงกา ทรงพระนามว่าพระบรมจักรกฤษณ์ มีมเหสีชื่อจันทมาลีและพระโอรสชื่อไกรสุท ต่อมาพระไกรสุทได้อภิเษกกับนางรัตนา มีโอรสชื่อ อุณรุท ซึ่งได้อภิเษกกับนางศรีสุดา

          นางสุจิตรามีความแค้นเคืองท้าวกรุงพาณและปรารถนาจะจุติไปเกิดในโลกมนุษย์เพื่อแก้แค้น พระอินทร์จึงพานางไปเฝ้าขอพรจากพระอิศวร นางได้รับเทวบัญชาให้ไปเกิดในดอกบัว ซึ่งฤๅษีสุธาวาสเก็บไปเลี้ยงและตั้งชื่อว่า นางอุษา ต่อมาท้าวกรุงพาณก็ขอนางไปเลี้ยงดูเป็นธิดาบุญธรรม วันหนึ่งพระอุณรุทได้พานางศรีสุดาประพาสป่าล่าสัตว์ พระอินทร์ให้มาตุลีแปลงเป็นกวางทองมาล่อ นางศรีสุดาใคร่ได้กวางทองจึงของให้พระอุณรุทไล่จับ กวางทองจึงแสร้งหนีไปทางด้านที่พระอุณรุทสกัดอยู่ พระอุณรุทให้นางศรีสุดากลับเข้าเมืองไปก่อน ส่วนพระองค์จะไล่จับกวางต่อไป โดยมีราชบริพารส่วนหนึ่งตามเสด็จ จนได้พักแรมที่ร่มไทรใหญ่

          ก่อนบรรทมพระอุณรุทบวงสรวงขอพรพระไทรเทพารักษ์ ด้านพระไทรทรงเมตตาอุ้มไปสมนางอุษา และสะกดไม่ให้ทั้งสองพูดจากัน พอใกล้รุ่งก็อุ้มพระอุณรุทกลับมาที่เดิม พระอุณรุทก็คร่ำครวญถึงนางอุษา จนพระพี่เลี้ยงต้องพากลับเมือง ฝ่ายนางอุษาก็เศร้าโศกถึงพระอุณรุท นางศุภลักษณ์พรพี่เลี้ยงใคร่ทราบว่าชายใดที่นางอุษาหลงรัก จึงวาดรูปเทวดาและกษัตริย์ให้นางชี้ตัว ครั้นทราบว่าเป็นพระอุณรุทจึงเหาะมาสะกดไว้ที่พระตำหนัก

          ด้านทศมุขอนุชาของนางอุษาทราบความจึงไปบอกท้าวกรุงพาณบิดา ท้าวกรุงพาณขอให้ท้าวกำพลนาค ซึ่งเป็นสหายมาร่วมรบกับพระอุณรุท ท้าวกำพลนาคจับพระอุณรุทมัดตอนหลับแล้วนำไปประจานที่ยอดปราสาท เทวดาทั้งหลายทราบข่าวก็พากันไปกราบทูลพระบรมจักรกฤษณ์ พระองค์ทรงครุฑมาช่วยพร้อมกับมอบธำมรงค์วิเศษไว้ให้ เมื่อพระอุณรุทปราบท้าวกรุงพาณได้ก็อภิเษกทศมุขขึ้นครองเมืองแทน โดยพระอุณรุทกับนางอุษากลับไปครองเมืองณรงกา แม้นางศรีสุดาแม้เกิดความหึงหวงแต่ก็สามารถประนีประนอมในภายหลังได้


           เอื้อย จากเรื่อง ปลาบู่ทอง

          เศรษฐีทารก (อ่านว่า ทา-ระ-กะ) มีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อ ขนิษฐา มีลูกสาวชื่อ เอื้อย ส่วนคนที่สองชื่อ ขนิษฐี มีลูกสาวชื่อ อ้าย และ อี่ วันหนึ่งเศรษฐีทารกพาขนิษฐาไปจับปลาในคลอง แต่ไม่ว่าจะเหวี่ยงแหไปกี่ครั้งก็ได้เพียงปลาบู่ทองที่ตั้งท้องตัวเดียว จนกระทั่งพลบค่ำเศรษฐีจึงตัดสินใจที่จะนำปลาบู่ทองตัวนั้นกลับบ้าน

          ทว่า ขนิษฐา สงสารปลาบู่ จึงขอให้สามีปล่อยปลาไป ด้านเศรษฐีทารกเกิดบันดาลโทสะจึงฟาดนางขนิษฐาจนตายก่อนโยนร่างทิ้งลงคลอง จากนั้นนางขนิษฐาจึงกลายเป็นปลาบู่ทองมาคอยฟังเอื้อยปรับทุกข์ เนื่องจากถูกนางขนิษฐีและลูก ๆ กลั่นแกล้งตลอดเวลา โดยเศรษฐีทารกไม่รับรู้และไม่สนใจ
         
          เมื่อนางขนิษฐีและลูก ๆ ทราบเรื่องปลาบู่ทอง จึงได้หาหนทางกำจัด และยังคงหาวิธีกลั่นแกล้งเอื้อยอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งพระเจ้าพรหมทัตได้มาพบกับเอื้อย เมื่อทั้งสองเกิดต้องตาต้องใจกัน พระเจ้าพรหมทัตจึงชวนเอื้อยเข้าไปอยู่ในวังและแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสี ด้านนางขนิษฐีและลูกสาวที่นึกอิจฉาก็ได้ออกอุบายเพื่อลวงเอื้อยไปฆ่า ก่อนที่จะให้ลูกตนสวมรอยเป็นพระมเหสีแทน ในตอนท้ายเมื่อพระเจ้าพรหมทัตทราบความจริงทั้งหมด พระองค์จึงสั่งประหารชีวิตอ้าย อี่ และนางขนิษฐี ก่อนไปรับเอื้อยที่พระฤาษีช่วยชีวิตไว้ เพื่อกลับมาครองบัลลังก์ร่วมกันอีกครั้ง

         
           นางไอ่ จากเรื่อง ผาแดง-นางไอ่

          เรื่องท้าวผาแดงกับนางไอ่ เป็นตำนานที่ผูกพันกับ ทะเลสาบหนองหาร จ. สกลนคร ตามตำนานเล่าว่าเดิมบริเวณที่หนองหารนั้น เคยเป็นเมืองใหญ่ชื่อว่า เอกชะทีตา มีพระยาขอมองค์หนึ่งปกครองอยู่ พร้อมมเหสีนามว่านางจันทร์เทียม ซึ่งพระยาขอมมีธิดาซึ่งมีรูปโฉมงดงามชื่อ นางไอ่คำ หรือบางทีก็เรียกว่า นางไอ่

          เมื่อนางไอ่มีอายุได้ 15 ปี ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือมาก จน ท้าวผาแดง กษัตริย์แห่งเมืองผาโพงต้องเสด็จมายังเมืองเอกชะทีตาเพื่อชมความงามของนาง จากนั้นทั้งสองได้ผูกพันกันทั้งกายและใจ แต่ท้าวผาแดงต้องลานางไอ่เพื่อกลับไปยังเมืองผาโพง โดยสัญญาว่าจะรีบกลับมาสู่ขอตามประเพณีโดยเร็ว

          ทว่า ฝ่ายพระยาขอมที่ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เมื่อเห็นว่าธิดาเจริญวัยควรมีคู่ครองได้แล้ว จึงได้ประกาศว่า หากผู้ใดปรารถนาได้นางไอ่ไปเป็นคู่ ให้ทำบ้องไฟมาประกวดกัน ใครสามารถจุดบ้องไฟให้ขึ้นไปสูงที่สุดผู้นั้นจะได้เป็นสวามีของนางไอ่ แต่ท้าวผาแดงกลับพ่ายแพ้ในการแข่งครั้งนั้น

          ขณะเดียวกัน บุตรชายของพญานาค ชื่อ สุวรรณภังคี ที่ได้ยินคำร่ำลือถึงความงามของนางไอ่ ก็ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือกที่มีแหวนศักดิ์สิทธิ์ห้อยไว้ที่คอ เพื่อมาชมความงามของนาง ทว่า สุวรรณภังคีได้ถูกทหารยิงตาย เพราะนางไอ่ต้องการแหวนศักดิ์สิทธิ์วงดังกล่าว

          เมื่อข่าวการตายของสุวรรณภังคีรู้ถึงพญานาคผู้เป็นบิดา พญานาคจึงพาบริวารมาถล่มเมืองเอกชะทีตาจนกลายเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ คือ ทะเลสาบหนองหาร ส่วนท้าวผาแดงที่พานางไอ่ขึ้นหลังม้าหนีการทำล้ายล้างเมืองของพญานาค เกิดพบกับแผ่นดินถล่มระหว่างทาง จนทำให้นางไอ่พลัดตกลงจากหลังม้าเสียชีวิต ทำให้ท้าวผาแดงต้องเดินทางกลับเมืองผาโพงตามลำพัง

          ดังนั้น จึงเชื่อกันว่างานเซิ้งบั้งไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องมาจากการจุดบ้องไฟเพื่อช่วงชิงนางไอ่ไปเป็นคู่ครอง จนต่อมาได้มีการปฏิบัติกันเป็นประเพณีประจำปี และรักษากันไว้จนทุกวันนี้


           โมรา จากเรื่อง จันทโครพ

          เจ้าชายจันทโครพได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระฤาษีอัศโมพระโคดมจนกระทั่งสำเร็จวิชา วันหนึ่งพระฤาษีได้มอบผอบทองให้ โดยกำชับกับเจ้าชายจันทโครพว่า อย่าเพิ่งเปิดผอบระหว่างทาง แต่ความที่อยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น ทำให้จันทโครพตัดสินใจเปิดผอบออกดู จนได้พบกับนางโมราซึ่งเป็นหญิงที่เกิดจากการปลุกเสกจากขนนกยูง ดังนั้นจึงมีรูปร่าง หน้าตา งดงามมาก และเมื่อเจ้าชายจันทโครพได้เห็นนางโมราก็เกิดหลงรักทันที และได้นางเป็นชายาที่กลางป่านั่นเอง

          ขณะที่ทั้งคู่เดินทางกลับเมืองได้ถูกโจรป่าปล้น โดยโจรหวังจะชิงนางโมราไปจึงเกิดการต่อสู้กัน แต่นางกลับหันไปช่วยโจรป่าแทน จนทำให้เจ้าชายจันทโครพถูกตาย เมื่อโจรได้นางโมราไปแล้วก็เกิดไม่แน่ใจ กลัวถูกทรยศเหมือนเจ้าชายจันทโครพ โจรป่าจึงแอบหนีนางไป ทำให้โมราต้องระหกระเหินหิวโหยอยู่ในป่า

          จากนั้นเมื่อพระอินทร์มาเห็นเข้าก็นึกเวทนา จึงแปลงร่างเป็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อมาลองใจนาง โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อให้ชิ้นเนื้อแล้ว นางต้องยอมมาเป็นภรรยาของตน ซึ่งนางโมราก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด พระอินทร์เห็นเช่นนั้นจึงโกรธและหาว่านางเป็นหญิงมักมากในกาม โดยไม่เลือกว่าเป็นโจรหรือสัตว์ จึงสาปนางให้กลายเป็นชะนี ส่งเสียงร้องโหยหวนเรียกหาสามีของตนตลอดไป


           แก้ว จากเรื่อง แก้วหน้าม้า

          นางแก้ว เป็นธิดาสามัญชนชาวเมืองมิถิลา เหตุที่นางมีชื่อเช่นนี้เพราะก่อนตั้งครรภ์ผู้เป็นมารดาได้ฝันว่าเทวดานำแก้วมาให้ แต่เนื่องจากใบหน้าเหมือนม้า ชาวบ้านจึงเรียกว่า นางแก้วหน้าม้า วันหนึ่งนางแก้วเก็บว่าวจุฬาของพระปิ่นทองได้ เมื่อพระปิ่นตามมาขอว่าวคืน นางแก้วจึงขอคำสัญญาว่า ถ้าคืนว่าวต้องกลับมารับนางเข้าวังไปเป็นมเหสี ซึ่งพระปิ่นทองก็ยอมรับปากเพียงเพราะหวังอยากได้ว่าวคืน เมื่อนางแก้วรออยู่หลายวันก็ไม่เห็นพระปิ่นทองมารับ นางจึงเล่าเรื่องให้พ่อกับแม่ฟังและขอให้ช่วยไปทวงสัญญา

          เมื่อพ่อแม่นางไปทวงสัญญา ท้าวภูวดลทรงกริ้วมากนึกว่าทั้งสองปั้นเรื่องจึงตรัสให้นำตัวไปประหาร แต่พระนางนันทาได้เรียกพระโอรสมาสอบถามจนทราบเรื่อง ดังนั้นพระนางนันทาจึงสั่งให้ไปรับตัวนางแก้วมาอยู่ในวัง ด้านท้าวภูวดลกับพระปิ่นทองที่ต่างรังเกียจรูปร่าง หน้าตา รวมถึงกริยามารยาทกระโดกกระเดกของนางแก้วเหมือนกัน ทั้งสองจึงคิดหาทางกำจัดนางแก้ว แม้ว่าพระนางนันทาจะเอ็นดูนางแก้วก็ตาม

          ต่อมาท้าวภูวดลกับพระปิ่นทองได้ออกอุบายให้นางแก้วไปยกเขาพระสุเมรุมาไว้ในเมืองภายใน 7 วัน หากทำไม่สำเร็จจะต้องได้รับโทษประหาร แต่ถ้าทำได้จะจัดพิธีอภิเษกสมรสกับพระปิ่นทอง ซึ่งนางแก้วได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าทวยเทพ และพระฤาษี ช่วยถอดหน้าม้าให้ จนนางแก้วกลายเป็นหญิงงาม ทั้งยังช่วยให้นางสามารถยกเขาพระสุเมรุมาไว้ในเมืองได้สำเร็จ

          ทว่า ชีวิตนางก็ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากท้าวภูวดลและพระปิ่นทองไม่ชอบในรูปลักษณ์ภายนอกของนาง เพราะยังเห็นว่านางเป็นแก้วหน้าม้า แต่ด้วยความดี และความสามารถของนาง  สุดท้ายนางแก้วจึงสามารถเอาชนะใจทั้งคู่ได้ โดยในภายหลังนางแก้วได้ยอมถอดหน้าม้าออก เมื่อท้าวภูวดลและนางนันทาทราบเรื่องก็ดีพระทัยนัก ก่อนจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางแก้วเป็นมเหสีของปิ่นทองอย่างเอิกเกริก พร้อมตั้งชื่อใหม่ให้นางแก้วว่า มณีรัตนา จากนั้นนางแก้วจึงให้คนไปรับพ่อกับแม่มาลี้ยงดูในวังอย่างมีความสุข


           โสนน้อย จากเรื่อง โสนน้อยเรือนงาม

          เมื่อครั้งพระราชธิดาของกษัตริย์นครโรมวิสัยประสูติได้มีเรือนไม้เล็ก ๆ ติดมือออกมาด้วย เมื่อพระธิดาเจริญวัยขึ้น เรือนไม้นี้ก็โตขึ้นตาม ดังนั้น พระบิดาจึงตั้งชื่อพระธิดาว่า โสนน้อยเรือนงาม เมื่อโสนน้อยเรือนงามมีอายุ 15 ปี โหรทูลว่านางกำลังมีเคราะห์ ควรให้ออกไปจากเมือง พระบิดาและพระมารดาจึงจำใจต้องให้โสนน้อยเรือนงามออกจากเมืองไปโดยลำพัง ด้านพระอินทร์มีความสงสารนาง จึงแปลงร่างเป็นชีปะขาวมามอบยาวิเศษสำหรับรักษาคนตายให้ฟื้นได้ เมื่อโสนน้อยเรือนงามพบนางกุลาถูกงูกัดตายในป่า นางจึงนำยาของชีปะขาวมารักษานางกุลา ดังนั้นนางกุลาจึงขอเป็นทาสติดตามโสนน้อยเรือนงามไปด้วย

          ด้านกษัตริย์นครนพรัตน์เมืองใกล้เคียงโรมวิสัยมีพระราชโอรสนามว่า พระวิจิตรจินดา แต่พระวิจิตรจินดาถูกงูพิษกัดจนสิ้นพระชนม์ พระบิดาและพระมารดาเศร้าโศกเสียใจมาก แต่โหรทูลว่า พระวิจิตรจินดาจะสิ้นพระชนม์เพียง 7 ปี แล้วจะมีพระราชธิดาของเมืองอื่นมารักษา พระบิดาและพระมารดาจึงเก็บพระศพของพระวิจิตรจินดาไว้ และประกาศหาคนมารักษา

          เมื่อโสนน้อยเรือนงามและนางกุลาเดินทางมาถึงเมืองนพรัตน์และได้ทราบจากประกาศ นางจึงเข้าไปในวังและอาสาทำการรักษาพระวิจิตรจินดา โดยขอให้กั้นม่านเจ็ดชั้นไม่ให้ใครเห็นเวลารักษา เมื่อโสนน้อยเรือนงามทายาให้พระวิจิตรจินดา พิษของนาคราชทำให้นางรู้สึกร้อนมาก นางจึงถอดเครื่องทรงพระราชธิดาออกแล้วเสด็จไปสรงน้ำ ระหว่างนั้นนางกุลาได้นำเครื่องทรงของโสนน้อยเรือนงามมาใส่ พอดีกับที่พระวิจิตรจินดาฟื้นขึ้นมา ทุกคนจึงคิดว่านางกุลาเป็นพระราชธิดาที่รักษาพระวิจิตรจินดา 

          แต่ในท้ายที่สุดเมื่อพระวิจิตรจินดาทราบว่า โสนน้อยเรือนงามเป็นพระราชธิดาที่รักษาตน จึงได้สั่งให้ประหารนางกุลาที่โกหกหลอกลวง แต่โสนน้อยเรือนงามได้ขอชีวิตนางกุลาไว้ จากนั้นพระวิจิตรจินดาจึงได้อภิเษกกับโสนน้อยเรือนงามและอยู่ด้วยกันมีความสุข


           แตงอ่อนอรดี จากเรื่อง เจ้าหญิงแตงอ่อน

          เจ้าหญิงแตงอ่อนอรดี เป็นธิดาของกษัตริย์เมืองตะนูวดี มีพี่ชายชื่อ เจ้าชายสุดชฎา
และมีพี่ชายต่างมารดาชื่อ พระไวยราช ทั้งนี้ พระไวยราชถูกมนต์สะกดของอสูรร้ายให้กระทำการชั่วต่าง ๆ นานา ทั้งยึดเมืองและต้องการได้นางแตงอ่อน น้องสาวต่างมารดามาเป็นมเหสี

          เมื่อนางแตงอ่อนไม่ยินยอมจึงถูกฆ่าตาย ด้านพระสุดชฎาที่เสียใจมากได้อุ้มศพนางแตงอ่อนหนีไปถึงหน้าผาในป่า และตั้งใจจะกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายตามน้องสาว พระอินทร์จึงแปลงร่างลงมาขัดขวางและเกลี้ยกล่อมให้พระสุดชฎายอมรับอาหารที่ตนมอบให้ พระสุดชฎาจึงป้อนอาหารให้ศพเจ้าหญิงแตงอ่อน จนกระทั่งนางจึงฟื้นขึ้นมา

          จากนั้นทั้งสองจึงได้ซัดเซพเนจรไปอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ ที่ชายเขตแดนเมืองโกสี ซึ่งใต้ดินที่ปลูกกระท่อมนั้นมีถ้ำพญาจระเข้จำศีลอยู่ นางแตงอ่อนเผลอเทน้ำข้าวเดือดลงไปบนพื้นดิน พญาจระเข้ที่จำศีลอยู่เมื่อถูกน้ำข้าวเดือดลวกจึงออกจากถ้ำขึ้นมาบนบึงน้ำ เมื่อเกล็ดจระเข้กระเด็นตกลงไปในหม้อข้าว ทันทีที่พระสุดชฎาเสวยข้าวปนเกล็ดจระเข้ลงไป ทำให้พระสุดชฎากลายเป็นจระเข้ พระสุดชฎาจึงบอกให้นางแตงอ่อนปักปิ่นลงบนศีรษะตน เพื่อจะได้เป็นที่สังเกตและแยกออกว่าจระเข้ตัวไหนเป็นพี่ชายของนาง

          ขณะเดียวกันเจ้าชายไพรงามแห่งเมืองโกสีออกประพาสป่ามาพบนางแตงอ่อนก็เกิดหลงรักจึงรับนางไปเป็นชายา และพาจระเข้พระสุดชฎาเข้าไปเลี้ยงในวังด้วย แต่พวกนางสนมของพระไพรงามอิจฉาริษยานางแตงอ่อน จึงออกอุบายสับเปลี่ยนโอรสของนางแตงอ่อนและใส่ร้ายว่านางคบชู้ พระไพรงามโกรธจึงขับไล่นางแตงอ่อนและจระเข้พระสุดชฎาออกจากเมือง

          พระอินทร์นึกสงสารจึงให้นางแตงอ่อนบำเพ็ญพรตเพื่อช่วยให้พระสุดชฎากลับคืนร่างเป็นมนุษย์ ฝ่ายโอรสของนางแตงอ่อนที่ถูกนำไปฝังได้นางไม้พฤกษาช่วยไว้ และตั้งชื่อว่า เกตุทิพย์บดี เมื่อเกตุทิพย์บดีเจริญวัยจึงกลับเข้าเมืองโกสีและบอกความจริงทั้งหมด นางสนมจึงถูกเนรเทศ พระไพรงามและเกตุทิพย์บดีออกตามหานางแตงอ่อนและพยายามคืนดี แต่ระหว่างเดินทางกลับเมือง นางแตงอ่อนถูกพญายักษ์ลักพาตัวไป

          ที่เมืองของพญายักษ์มีกุมารีเกิดขึ้นในดอกบัว พญายักษ์ตั้งชื่อให้ว่า ปทุมวดี เจ้าหญิงปทุมวดีสนิทสนมกับนางแตงอ่อนจนเรียกว่าแม่ ทำให้มเหสียักษ์ไม่พอใจคิดจะทำร้ายนาง พระไพรงามกับเกตุทิพย์บดีตามมาช่วยและพานางแตงอ่อนกับปทุมวดีกลับเมืองโกสี ระหว่างทางได้พบพระไวยราชที่คลายจากมนต์สะกดของอสูรร้าย โดยพระไวยราชตั้งใจจะคืนราชสมบัติให้พระสุดชฎา แต่พระสุดชฎาละจากโลกีย์วิสัยแล้วจึงออกบวชแสวงหาธรรมะ ในขณะที่เจ้าหญิงแตงอ่อนได้อยู่พร้อมหน้าโอรสและพระสวามีอย่างมีความสุข


           จันท์สุดา จากเรื่อง นางผมหอม

          นางจันท์สุดา เป็นราชธิดาท้าวพรหมจักรแห่งจันทรนคร นอกจากรูปงามแล้วยังผมหอมอีกด้วย นางมีชีวิตอยู่เป็นสุขจนกระทั่งวันหนึ่งบ้านเมืองก็เกิดอาเพศ  มีนกอินทรียักษ์บินมาโฉบเอาผู้คนไปกินจนเกือบหมดเมือง ด้านท้าวพรหมจักรที่ทรงอับจนหนทาง ด้วยความเป็นห่วงธิดา จึงสั่งให้สร้างกลองใหญ่ขึ้นใบหนึ่ง แล้วซ่อนนางจันท์สุดาไว้ในนั้น

          วันหนึ่ง คาวีชายหนุ่มรูปงามเดิมเป็นลูกโค แต่พระฤาษีชุบชีวิตให้เป็นมนุษย์เดินทางมาถึงจันทรนคร เห็นปราสาทราชวังรกร้างก็สงสัย จึงเข้าไปตรวจตราภายใน จนพบซากโครงกระดูกมนุษย์กระจายเกลื่อน และพบกลองใบใหญ่ผิดปรกติอยู่ใบหนึ่ง แต่เมื่อลองตีกลองดังกล่าวดูกลับไม่มีเสียงดังออกมา คาวีที่สงสัยจึงใช้พระขรรค์ประจำตัวซึ่งพระฤาษีถอดดวงใจคาวีซ่อนไว้ในนั้น แหวกหน้ากลองออกจนพบนางจันทร์สุดา

          จากนั้นคาวีที่ร่ำเรียนวิชาอาคมมาจากพระฤาษี จึงอาสาให้ความช่วยเหลือ และเมื่อคาวีฆ่านกอินทรียักษ์ได้ เขาจึงได้อภิเษกสมรสกับนางจันทร์สุดา  แต่วันหนึ่งขณะที่นางจันทร์สุดาอาบน้ำ เมื่อนางสระผมแล้วเห็นผมร่วงหลายเส้นก็นึกเสียดาย เพราะผมของนางมีกลิ่นหอมจึงเก็บใส่ผอบลอยน้ำไป จนกระทั่ง ท้าวสันนุราช กษัตริย์เฒ่าแห่งเมืองพัทธพิสัยทรงเก็บผอบดังกล่าวได้ จึงได้บังเกิดความลุ่มหลงในผมของนางจันทร์สุดา ก่อนใช้อุบายให้คนนำพระขรรค์ของคาวีไปเผาไฟจนคาวีเสียชีวิตและชิงนางจันทร์สุดามาได้สำเร็จ แต่ท้าวสันนุราชไม่อาจเข้าใกล้นางจันทร์สุดาได้ อันเนื่องมาจากอำนาจความซื่อสัตย์ที่นางจันทร์สุดามีต่อสามี

          ด้านพหลวิชัยซึ่งแต่เดิมเป็นลูกเสือ ที่พระฤๅษีชุบชีวิตให้เป็นมนุษย์พร้อมกับคาวี และเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน รู้สึกสังหรณ์ใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับน้องชาย พหลวิชัยจึงตามหาร่างคาวีจนพบ ก่อนชุบชีวิตให้คืนชีพ และช่วยเหลือคาวีกำจัดท้าวสันนุราช โดยการเที่ยวประกาศว่าตนเป็นฤๅษีมีฤทธิ์สามารถชุบคนแก่ให้กลับคืนเป็นหนุ่มได้ ท้าวสันนุราชที่เกิดหลงกล และอยากเป็นหนุ่มรูปงามเพื่อหวังว่านางจันท์สุดาจะรับรัก จึงให้ฤๅษีปลอมทำพิธีชุบตัวให้ เมื่อเข้าพิธี พหลวิชัยได้ผลักท้าวสันนุราชตกลงไปตายในหลุมไฟ จากนั้นก็ให้คาวีปลอมตัวเป็นท้าวสันนุราชองค์หนุ่มออกมาแทน ดังนั้นคาวีกับนางจันทร์ผมหอมจึงได้ครองเมืองพัทธพิสัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา


          สำหรับประวัตินางในวรรณคดี ทั้ง 33 นางนี้  อาจเป็นเพียงเรื่องย่อสั้น ๆ ที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับตัวละครเหล่านี้มากขึ้น แต่หากมองในภาพรวมแล้วเราจะพบว่า ผู้เขียนมีการถ่ายทอดคติธรรมหรือสอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ผ่านตัวละครหญิงเหล่านี้ได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว ซึ่งทางทีมงานหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างนะคะ 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
thaigoodview.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัตินางในวรรณคดี หญิงงามในบทประพันธ์ อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2560 เวลา 15:31:18 365,615 อ่าน
TOP