'เวิลด์แบงก์' เตือนหนี้สินทะลัก! (ไทยโพสต์)
ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโดยรวมปีนี้ลงจาก 7.9% เหลือ 7.8% พร้อมเตือนระดับหนี้สินของไทย-มาเลเซีย-จีนที่พุ่งเกินกว่า 150% ของจีดีพีแล้ว "กรณ์" ตามบี้เงินกู้ 2 ล้านล้าน จี้รัฐบาลระบุให้ชัด ถ้าหนี้สาธารณะพุ่งเกิน 50% ของจีดีพีให้หยุดกู้ทันที
ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ได้ปรับข้อมูลการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตโดยรวมของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกประจำปี 2556 ลงมาอยู่ที่ 7.8% จากระดับ 7.9% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ยังเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่อัตราขยายตัวอยู่ที่ 7.5% นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ยังทำนายด้วยว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปี 2557 จะลดลงมาอีกที่ 7.6%
รายงานกล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารแห่งญี่ปุ่นที่ออกมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน โดยจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อทำลายวงจรเงินฝืดและยุติภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยาวนานกว่า 20 ปีของญี่ปุ่น ว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ เช่น ของไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนให้อุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่น
การปรับตัวเลขล่าสุดนี้ เวิลด์แบงก์ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลง 0.1% จากคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม เนื่องจากรัฐบาลจีนกำลังดำเนินความพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของตน โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนปี 2556 จะขยายตัว 8.3% และปีหน้า 8.0% เช่นเดียวกับคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียปีนี้ ที่ถูกปรับลดลงจาก 6.3% มาอยู่ที่ 6.2%
ส่วนของไทยและมาเลเซีย เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นจากของเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 5.3% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิม 0.3% ส่วนปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 5.0% เพิ่มจากตัวเลขคาดการณ์เดิม 0.5% ของมาเลเซียปีนี้น่าจะขยายตัว 5.1% และปีหน้า 5.4%
รายงานยังได้แสดงความเป็นห่วงระดับหนี้สินที่สูงของไทย, มาเลเซียและจีนด้วย กรณีของจีนนั้นหนี้สินภาครัฐในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 22.2% เพิ่มขึ้นจาก 19.6% เมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนหนี้สินนอกภาคสถาบันการเงินพุ่งขึ้นแตะ 126.4% ของจีดีพี จากระดับ 113.6% ของจีดีพีเมื่อปี 2550 ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนในจีนอยู่ที่ 29.2% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2550 มากกว่า 10%
"สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการขยายตัวของหนี้ภาครัฐก็คือ การขยายตัวของหนี้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ยอดรวมของหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจนอกสถาบันการเงิน และหนี้ครัวเรือนในมาเลเซีย, ไทย และจีน ขณะนี้เกินกว่า 150% ของจีดีพีแล้ว" รายงานธนาคารโลกกล่าวเตือน
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึง ร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จากการพิจารณาชั้นแรกของกรรมาธิการฯ พบว่าไม่มีความพร้อม โดยคาดว่ามูลค่าของโครงการที่ดำเนินการได้เลยมีแค่ 5 แสนล้านบาทเท่านั้นจากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท นอกนั้นยังไม่มีความชัดเจน
บี้รัฐบาลระบุให้ชัด
เขาบอกว่า หากพิจารณาตามแผนบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลัง พบว่ามีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินไว้เป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปี 2556-2560 จึงอยู่ในวิสัยที่กำหนดวงเงินไว้ในงบประมาณปกติได้ แต่ถ้ารัฐบาลใช้วิธีการกู้เงินแบบเปิดตัวเลขไว้ก่อนแล้วค่อยเบิกจ่ายเป็นงวดๆ นั้น ก็เชื่อว่าน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการออกเป็น พ.ร.ก.ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่เมื่อมีการแบ่งการใช้เงิน 5 ปีตามแผน ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เร่งด่วนจริง ส่วนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ คงต้องรอดูให้ชัดเจนก่อนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
นายกรณ์ยังกล่าวถึงช่วงเวลาการใช้เงินกู้ทั้งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านที่เป็นช่วงเวลาเดียวกัน ว่าจะกระทบต่อปริมาณหนี้สาธารณะอย่างแน่นอน แม้กระทรวงการคลังจะยืนยันสามารถดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ของจีดีพีได้ก็ตาม ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความมั่นใจจริง พรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอให้รัฐบาลเขียนในกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 50% รัฐบาลควรยุติการกู้เงิน จนสถานการณ์หนี้สาธารณะจะปรับระดับลดลงมาต่ำกว่า 50% เพื่อยืนยันความมั่นคงทางการคลังของประเทศ และจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจมากขึ้นว่าการกู้เงินมหาศาลนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในเรื่องภาระหนี้สิน
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหารถไฟความเร็วสูง ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่มีสมมติฐานว่าขาดทุนแน่ โดยมีการคำนวณในกรรมาธิการฯ กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ว่าเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่นั้น กระทรวงคมนาคมศึกษาพบว่าจะขาดทุนปีละ 2-2.5 หมื่นล้านบาท จึงต้องถามว่าความหมายคืออะไร ต้องให้คนไทยที่เสียภาษีทั้งหมดนำเงินมาชดเชยปีละ 2.5 หมื่นล้านใช่หรือไม่
เขากล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่าเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ จะทำถึงแค่พิษณุโลก หรือยาวไปถึงเชียงใหม่ โดยยังอยู่ในระหว่างการรอคำตอบว่า การกู้เงินสองล้านล้านไปถึงพิษณุโลกหรือเชียงใหม่กันแน่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือไม่ว่าจะถึงที่ไหนก็แล้วแต่ เช่นถึงหัวหิน แล้วจะดำเนินการต่อไปปาดังเบซาร์ เป็นการพูดถึงอนาคตที่ไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินจากไหนมาสร้างต่อ เพราะต้องใช้เงิน 5-6 แสนล้านเป็นอย่างน้อย แต่ตามแผนที่เสนอมาใช้เงินกู้เต็มจำนวนแล้ว และรัฐบาลก็ตั้งสมมติฐานว่าจะจัดงบสมดุลในปี 2560 จึงต้องถามว่า หากรัฐบาลไม่รู้จะจบยังไงควรจะเริ่มทำหรือไม่ รัฐบาลต้องให้ความกระจ่างมากกว่านี้
นายกรณ์กล่าวว่า หากเทียบกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งมีแนวคิดให้ผู้โดยสารเช็กอินที่มักกะสันได้ มีการลงทุนถึง 500 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัทดูแลเดือนละ 4 ล้านบาท แต่มีผู้ใช้บริการเพียงวันละ 4 คน เดือนละ 120 คน คิดราคาต่อหัวประมาณ 33,000 บาท จึงต้องถามว่าคุ้มค่าไหม เพราะไม่มีคนใช้ แต่กลับเป็นภาระต่อประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้ จึงย้ำว่าแต่ละโครงการต้องศึกษาให้รอบคอบถึงความคุ้มค่า ไม่ใช่เห็นเขามีแล้วอยากมีบ้าง นอกจากนี้ผลการศึกษาของสภาพัฒน์มีการคำนวณเงินลงทุนในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าว่าต้องใช้ 8 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลกู้ 2 ล้านล้านเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม โดยไม่มีการพูดถึงการศึกษา, สาธารณสุข และแหล่งน้ำ ก็ต้องถามว่าเป็นการพิจารณาที่เหมาะสมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องมีคำชี้แจง
"คงต้องรอให้กฎหมายผ่านวาระ 3 ในสภาฯ ก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยยังสงวนสิทธิ์ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเจตนารัฐธรรรมนูญชัดเจนว่า ให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินบรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณ และมีกฎหมายเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีรัฐบาลสามารถกู้ยืมในการใช้จ่ายได้ไม่เกินเท่าไหร่ จึงมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลมีอำนาจในการสร้างภาระหนี้สินเกินกว่ากรอบวินัยทางการคลัง ดังนั้น การที่รัฐบาลไปหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณปกติด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.น่าจะขัดต่อหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ 2550" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก