x close

พลทหารมังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล ชาตินักรบ ผู้ไม่ยอมสยบต่อโชคชะตา


 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ.คน

            เปิดประวัติ แชมป์ มังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล ชาตินักรบ ผู้ไม่ยอมสยบต่อโชคชะตา
 
            "ลอตเตอรี่ครับ ช่วยทหารพิการจากภาคใต้ครับ" เสียงพูดที่ฟังไม่ชัดแว่วมาจากแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ระหว่างทางเดินมุ่งหน้าไปศูนย์อาหารในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสียงนั้นเป็นเสียงของอดีตทหารที่ยืนหยัดต่อสู้ชีวิต แม้วันนี้ เขาจะไม่สามารถจับปืนออกไปรบได้อีกต่อไป เพราะเสียงระเบิดที่ดังขึ้นเมื่อช่วง บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้เปลี่ยนชีวิต "แชมป์ มังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล" หรือ "พลทหารมังกรทอง" ชายชาติทหารนักสู้คนหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง

 
            ความฝันของ แชมป์ มังกรทอง ในอดีต ก็เหมือนกับเด็กชายวัยรุ่นหลาย คนที่อยากจะรับใช้ชาติ นั่นจึงทำให้ แชมป์ มังกรทอง ตัดสินใจสมัครเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อตอนอายุ 19 ปี ที่บ้านเกิดจังหวัดเชียงราย โดยมี "นพรัตน์ ลิ้มประเสริฐสกุล" ผู้เป็นพ่อคอยสนับสนุน และเมื่อเขาได้รับคัดเลือก พลทหารมังกรทอง ก็ถูกส่งไปประจำการที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เขายิ้มรับอย่างภาคภูมิใจกับเส้นทางความฝันที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว พร้อมกับวางอนาคตไว้ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีโอกาสสอบนายสิบ แต่หากสอบไม่ผ่าน ก็จะไปสมัครเป็นทหารพราน
 
            แต่ทว่า... แชมป์ มังกรทอง ยังไม่ทันได้เดินถึงเส้นชัยคือการเรียนจบ ก็เกิดจุดพลิกผันขึ้น เมื่อทางหน่วยมีคำสั่งให้พลทหารลงไปปฏิบัติหน้าที่ยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นชุดคุ้มครองครูในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ที่ทุกคนก็รู้ดีว่า พื้นที่สีแดงในชายแดนภาคใต้ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่เด็กหนุ่มผู้วาง "อุดมการณ์" ไว้เหนือ "ชีวิต" ก็ตอบรับด้วยความเต็มใจ เพราะเชื่อว่าเกิดมาแล้วยังไงก็ต้องตาย เพียงแต่ก่อนที่จะตาย ก็ขอให้ได้ทำหน้าที่ในฐานะทหารให้เต็มที่เพื่อตอบแทนแผ่นดิน
 
            ผ่านไปสามเดือนในพื้นที่แห่งความเสี่ยง แชมป์  มังกรทอง ได้เจอกับเหตุระเบิดซึ่ง ๆ หน้า แต่โชคดีที่เขารอดตายมาได้ กระทั่งถึงวันหยุด เขาได้เดินทางกลับไปทานข้าวกับพ่อที่บ้านเกิดอย่างมีความสุข ช่วงเวลาที่อบอุ่นเช่นนี้ ทั้งเขา และพ่อต่างก็ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า นั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้กลับมากินข้าวฝีมือพ่อในสภาพร่างกายที่ปกติครบ 32 ... เพราะหลังจาก แชมป์ มังกรทอง กลับไปลงพื้นที่ได้เพียง 10 วัน ก็เกิดเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล...
 

            เวลา 15.20 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เสียงระเบิดดังขึ้น ขณะที่ แชมป์ มังกรทอง และเพื่อนในหน่วย กำลังขี่รถจักรยานยนต์ลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยให้ครู ตามมาด้วยเสียงปืนที่ระดมยิงใส่กลุ่มทหาร เหล่าทหารหาญลุกขึ้นมาจับปืนต่อสู้ กับคนร้ายอย่างไม่ลดละ กระทั่งคนร้ายต้องล่าถอยไป แต่เหตุการณ์นั้น ทำให้ แชมป์ มังกรทอง ได้รับบาดเจ็บอย่างแสนสาหัส เขาถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขมับซ้าย และยังถูกคมกระสุนเจาะเข้าที่ปาก ส่งผลให้กรามหักทั้งสองข้าง สภาพร่างกายเข้าขั้นสาหัส ผู้เป็นพ่อเมื่อทราบข่าวก็รีบเดินทางลงใต้อย่างไม่รอช้า พร้อมกับโทรศัพท์ถามข่าวคราวเป็นระยะ
 
            นับว่าโชคยังดีที่แพทย์สามารถผ่าตัดเอาสะเก็ดระเบิดที่ฝังอยู่ในสมองด้านซ้ายของแชมป์ออกให้ได้ แต่ไม่สามารถเอาสะเก็ดที่อยู่ด้านขวาของสมองออกให้ได้ เขานอนโคม่าอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดยะลา นานกว่า 10 วัน ก่อนถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินทหารส่งมาทำการรักษาต่อยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในกรุงเทพฯ และที่นี่เขาได้รับการผ่าตัดสมองด้านขวา แต่ผู้เป็นพ่อก็ต้องทำใจกับความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อแพทย์แจ้งว่า ลูกชายมีโอกาสรอดชีวิต แต่ต้องอยู่ในสภาพเจ้าชายนิทราตลอดไป...
 
            นาทีนั้น ผู้เป็นพ่อเฝ้าภาวนาว่า ขอให้ลูกไม่ตาย ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพเช่นไรตนพร้อมจะยอมรับและดูแล ถึงกระนั้น ในใจลึก ๆ ก็ได้แต่ขอให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น และปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน...แชมป์ ฟื้นขึ้นมา
 
            "ดีใจมากครับ นํ้าตาก็ไหล เขาเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเห็นเขา เริ่มกระดิกนิ้วได้ เริ่มลืมตาได้แล้ว สองสามวันปาก เริ่มขยับได้ เราคิดว่าเขาจะพูดได้ แต่พอเอาลวดดัดฟันออก ก็รู้แล้วว่าพูดไม่ได้จริง ๆ เราก็ภาวนาทุกวันให้เขาพูดรู้เรื่อง เราจะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งตอนนั้นเราก็กังวลว่าเขาจะรู้หรือเปล่าว่าเราเป็นพ่อ จำเราได้ไหม เพราะเขายังสื่อสารกับเราไม่ได้" ผู้เป็นพ่อ เล่าวินาทีที่น่าจะดีใจที่สุดในชีวิต
 
            จะเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะจากเจ้าชายนิทราที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ กลับฟื้นขึ้นมาได้ และอาการดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งสามารถหายใจด้วยตัวเองในอีก 6 เดือนถัดมา จากนั้นด้วยการทำกายภาพบำบัด แชมป์ ก็สามารถลุกขึ้นยืนและพอจะก้าวเดินได้ และพูดจาสื่อสารได้บ้าง แม้จะไม่ชัด โดยมีผู้เป็นพ่อคอยเฝ้าอยู่ไม่ห่างที่โรงพยาบาล ตลอด 2 ปีเต็ม ๆ
 
            แม้จะรอดชีวิต แต่สภาพร่างกายของแชมป์ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป จากพลทหารหนุ่มผู้เปี่ยมไปด้วยพลังความมุ่งมั่น ก็ต้องกลายมาเป็นชายพิการอัมพาต ครึ่งซีก แขนขวาต้องใช้อุปกรณ์กายภาพยึด หูข้างขวาสูญเสียการได้ยิน ตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน พูดจาไม่ชัด ซึ่งเป็นผลจากการผ่าตัดสมอง ทำให้เขาต้องใส่กะโหลกเทียมและมีผลต่อความจำ ซึ่งทำให้จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่นานก็ลืมไป
 
            "แรก ๆ เขาก็รับสภาพไม่ได้ นอนละเมอตอน กลางคืนว่า ป๋า... แขนเป็นอะไร... ขาเป็นอะไร... ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ผมกลัวลูกคิดมาก กลัวเขาคิดอะไรไปเอง โดยไม่บอกเรา ผมก็เลยให้กำลังใจเขาว่า พ่อภาคภูมิใจในตัวลูกนะ ที่เราเป็นอย่างนี้เพราะเสียสละทำเพื่อชาติ เหมือนกับชาวบ้านบางระจันที่เป็นวีรบุรุษของเรา อยากให้ลูกได้ภูมิใจในตัวเอง เหมือนที่พ่อภาคภูมิใจในตัวลูก"  ผู้เป็นพ่อ เล่าถึงคำพูดที่ปลอบใจลูก

            อย่างไรก็ตาม พ่อและแชมป์ก็ไม่อยากนั่งรอเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐ และองค์กรต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว จึงตัดสินใจจะประกอบอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งอยู่ในความดูแลของมูลนิธิสายใจไทยฯ และเป็นอาชีพที่ทำให้ผู้เป็นพ่อได้อยู่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทุกวันนี้ แชมป์ จะตื่นแต่เช้าขึ้นมาทำกายภาพบำบัด ก่อนจะเดินทางไปขายลอตเตอรี่จนถึง 2 ทุ่ม และเดินทางกลับบ้าน โดยในทุกกิจกรรมจะมีพ่อคอยดูแลช่วยเหลืออยู่ไม่ห่างเปรียบเสมือนแขนขาอีกข้างที่ช่วยทดแทนสิ่งที่ แชมป์ สูญเสียไป
 
            "ถ้าน้องแชมป์สู้ ไม่ท้อแท้ มีคนช่วยแน่นอน ไม่มีใครทิ้ง เพราะเป็นคนดี เสียสละเพื่อให้เขาได้อยู่สุขสบาย ทุกวันนี้ถ้าไม่มีทหารอย่างน้องแชมป์ที่เสียสละเพื่อปกป้องประเทศไทยพวกเขาก็คงอยู่ลำบาก" ผู้เป็นพ่อ บอกและว่า ตัวเองก็ไม่เคยท้อเช่นกัน และต้องเป็นตัวแทนลูกต่อไป
 
            "ไม่เคยท้อ สู้เพื่อลูกอย่างเดียวครับ เขาเป็นกำลังใจให้เรา ลูกเป็นอย่างนี้ไปแล้ว เราก็ต้องช่วยเขาอีกแรง ช่วยในส่วนที่เขาขาดไป อย่างผลกระทบทางสมองทำให้เขาไม่สามารถคิดวางแผนอนาคตเองได้ เราต้องเป็นตัวแทนตรงนี้ ทุกวันนี้คือพยายามเก็บออมให้เขามากที่สุด สร้างอาชีพให้เขา ส่วนในอนาคตก็วางแผนไว้ว่า คงกลับไปทำอะไรที่เชียงราย เพราะเมื่อเราแก่ตัวไปก็ต้องกลับอยู่ที่นี่ก็ลำบาก" นพรัตน์ บอกเล่าความคิดของคนเป็นพ่อที่ต้องทำหน้าที่ทดแทนแม่ ซึ่งได้เสียชีวิตไปกว่า 10 ปีแล้ว
 

            สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนแวะเวียนมาซื้อสลากกินแบ่งในแผงของแชมป์ ไม่ใช่เพราะต้องการเสี่ยงโชคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะหลายคนเห็นอกเห็นใจและอยากสนับสนุนอดีตทหารเกณฑ์ผู้นี้ ที่ได้สร้างวีรกรรมความเสียสละ เพื่อประเทศชาติ และเห็นว่า แม้เขาจะพิการ แต่ก็ยังต่อสู้ชีวิต พยายามพึ่งพาตัวเอง ประกอบกับการที่แชมป์มีอัธยาศัย พยายามยกมือทั้งสองขึ้นไหว้ขอบคุณผู้ที่อุดหนุนทุกครั้งด้วยความจริงใจ ก็ซื้อใจผู้คนไปเต็ม ๆ



 
            ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือของครอบครัวนี้ อาจทำให้ใครหลายคนมองว่า พวกเขาคงจะรู้สึกเคียดแค้นผู้ที่กระทำให้เขาเป็นเช่นนี้ แต่ทว่า คำตอบที่ได้จากผู้เป็นพ่อคือ เขาไม่เคยเก็บเอาความสูญเสียครั้งนี้มาบั่นทอนจิตใจของตัวเอง และขออโหสิกรรมให้ผู้ก่อเหตุ โดยถือว่าลูกชายได้ใช้หนี้กรรมให้หมดแล้ว ซึ่งถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็ยังคงสนับสนุนให้ลูกชายเป็นทหารอยู่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหนก็พร้อมจะสู้ ด้วยความภาคภูมิใจที่เคยได้ชื่อว่าทหารรับใช้ชาติ
 
            เช่นเดียวกับ แชมป์ ที่ให้คำตอบกับเรื่องนี้สั้น ๆ ว่า "ให้อภัย อโหสิกรรมครับ ไม่เคียดไม่แค้น...แต่อยากเจอหน้าเขา อยากจะถามว่าทำกันทำไม แล้วก็อยากบอกเขาว่า ไม่ต้องทำกับคนอื่น ทำกับผมพอแล้ว..."
 
            แม้วันนี้ อดีตพลทหารหนุ่มจะต้องกลายมาเป็นเพียงคนขายลอตเตอรี่ มิใช่ทหารตามความฝัน อีกทั้งยังไม่สามารถบวชพระซึ่งเป็นอีกหนึ่งความฝันที่เขาอยากทำก่อนตายได้ แต่ท่ามกลางชีวิตที่ไม่เป็นดั่งฝัน ชายหนุ่มห้วใจนักสู้ ก็ยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น
 
            "ไม่เสียใจเพราะเกิดมาได้เป็นทหารแล้ว ภูมิใจครับ ต้องสู้ต่อไป เป็นทหารแล้วจะต้องอดทน ทำให้ดีที่สุด ถึงผมจะพิการ แต่ผมก็อยากทำงานเก็บเงิน ผมไม่อยากให้พ่อลำบาก ถ้าผมตายไปแล้วผมมีเงินมีทองให้พ่อ ผมก็นอนตายตาหลับ สิ่งที่สูญเสียไป ผมก็คิดว่าคุ้ม เพราะดีกว่าไปเกเรก่อกวนผู้อื่น หรือขับรถล้มแล้วพิการไปเอง" แชมป์ พูดทิ้งท้ายอย่างคนที่เข้าใจโลก
 
            ปัจจุบัน แชมป์ พลทหารมังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนยศจากพลทหารเป็นร้อยโท พร้อมเข้าพิธีประดับยศด้วยความภาคภูมิ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่คิดฝันมาก่อนว่าจะได้รับ ขณะที่พ่อของเขาก็ภาคภูมิใจอย่างที่สุด ที่ลูกชายเป็นเกียรติประวัติของตระกูลที่ได้ไปรับใช้ชาติ เป็นผู้กล้าเช่นเดียวกับเหล่าทหารหาญที่เสียสละทั้งร่างกาย และชีวิตเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ แต่ลึก ๆ ในใจของผู้เป็นพ่อนั้น ก็ยังมองว่า ไม่อยากให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นวีรบุรุษแค่วันเดียว ไม่นานก็ลืมกันไป
 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 8 ฉบับที่ 6 (89) เมษายน 2556


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลทหารมังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล ชาตินักรบ ผู้ไม่ยอมสยบต่อโชคชะตา โพสต์เมื่อ 9 พฤษภาคม 2556 เวลา 09:28:13 8,805 อ่าน
TOP