x close

ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ


 ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายกฯ นำ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ เรียบร้อยแล้ว
ภาพ ครม. ใหม่ ถ่ายรูปหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งได้มีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว

          ทวิตเตอร์ @teeratr ของนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  รายงานข้อความว่า วันนี้ (30 มิถุนายน 2556) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเตรียมนำ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์วันนี้ 18.00 น. โดยยกเลิกกำหนดการที่เหลือที่มุกดาหาร และจะกลับมาใหม่คืนนี้

          ซึ่งเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. ก็มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากมุกดาหารมุ่งหน้าเข้า กทม. เพื่อเข้าเฝ้าฯ ในเวลา 18.00 น. แล้ว

          ทั้งนี้ ก่อนพา ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ นายกรัฐมนตรี ได้นำ ครม. ใหม่ มาถ่ายรูปหมู่ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีการประกาศลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีรายชื่อดังนี้


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : นายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

           นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดวันที่ 21 มิถุนายน 2510 เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28, นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสังกัดพรรคเพื่อไทย, กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม

           สำหรับประวัติในเรื่องครอบครัว และการศึกษานั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุตรของเลิศ และยินดี ชินวัตร (สกุลเดิม ระมิงค์วงศ์) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สิงห์ขาวรุ่น 21) เมื่อปี พ.ศ. 2531 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2533

           และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในธุรกิจซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ผู้เป็นพี่ชาย และภายหลังเป็นประธาน บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

           จนกระทั่งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2554 พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพันตำรวจโท ทักษิณ ได้เสนอชื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2554 ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง นับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภา จากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล : รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (เดิมชื่อ นิวัฒน์ บุญทรง) เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2491 เป็นบุตรของนายเจริญ กับนางบุญเลียบ บุญทรง สมรสกับนางบุณย์พัชรี บุญทรงไพศาล (เดิมชื่อ สุขุมาลย์ บุญทรง) จบการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)

          ทั้งนี้ ก่อนทำงานด้านการเมือง นายนิวัฒน์ธำรง เคยเป็นอดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) รับผิดชอบด้านภาพลักษณ์ และกิจกรรมสัมพันธ์ จนกระทั่งในปี 2554 นายนิวัฒน์ธำรง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2554 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการปรับคณะรัฐมนตรีเดือนมกราคม 2555 โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นายนิวัฒน์ธำรง ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อเปิดทางให้สมาชิกในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

ตำแหน่งทางการเมือง :


          - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 18 มกราคม 2555


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

พลตํารวจเอกประชา พรหมนอก : รองนายกรัฐมนตรี

          พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2485 ที่จังหวัดนครราชสีมา สมรสกับ คุณหญิงวารุณี พรมหมนอก (สกุลเดิม บำรุงสวัสดิ์) มีบุตร-ธิดา 4 คน

          สำหรับ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ได้เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรก เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2540 ภายหลังเกษียณราชการแล้ว ต่อมา ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ต่อมา ได้ย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคแทนที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ที่ประกาศลาออกไป และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

          ซึ่งภายหลังรัฐบาลนายสมชาย ต้องพ้นวาระไป เนื่องจากคดียุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องว่างลง ส่งผลให้ พลตำรวจเอกประชาประชา ได้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนต่อไป จากการสนับสนุนของนายเสนาะ เทียนทอง และพรรคเพื่อไทย แต่ปรากฎว่า เสียงที่เลือก พลตำรวจเอกประชาประชา แพ้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยคะแนน 198 ต่อ 235 เสียง

          ต่อมา พลตำรวจเอกประชา ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน ในเดือนเมษายน 2554 และเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554


ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม 2554
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดำรงตำแหน่ง 14 มิถุนายน  2543 – 9 กุมภาพันธ์ 2544 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดำรงตำแหน่ง 24 กันยายน – 2 ธันวาคม 2551 สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
          - อธิบดีกรมตำรวจดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2539 – 16 ตุลาคม 2541
          - ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำรงตำแหน่ง 16 ตุลาคม 2541 – 30 กันยายน 2543
          - หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินดำรงตำแหน่ง 9 ธันวาคม 2551 – 27 มีนาคม 2552


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา : รองนายกรัฐมนตรี

          นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา เกิดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2499 ที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรของ นายสุรินทร์ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.สมุทรสาคร หลายสมัย ในสังกัดพรรคกิจสังคม จบการศึกษาชั้นชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 35  ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโท Master of Comparative Law จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน

          สำหรับการทำงานนั้น นายพงศ์เทพ เป็นอดีตผู้พิพากษามาก่อน จนกระทั่งได้ตัดสินใจเข้าสู่วงการเมืองโดยลาออกจากราช​การ และลงสมัครรับ​เลือกตั้ง ส.ส.กรุง​เทพฯ ​เขต 8 ในสังกัด พรรคพลังธรรม ​เมื่อ 2 กรกฎาคม 2538 ​แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จังหวัดสมุทรสาคร

          และต่อมา นายพงศ์เทพ ได้ตัดสินใจเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย ในตำแหน่งรอง​เลขาธิ​การพรรค และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในสมัยรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

          จนกระทั่งในปี 2550 นายพงศ์เทพ ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง เมื่อปี 2549 ซึ่งหลังจากพ้นการถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว นางพงศ์เทพ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2556 ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว


ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รองนายกรัฐมนตรีอยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 27 ตุลาคม 2555
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำรงตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ 2544 – 5 มีนาคม 2545 สมัยพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 5 มีนาคม 2545 – 3 ตุลาคม 2545 สมัยพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดำรงตำแหน่ง 3 ตุลาคม 2545 – 8 กุมภาพันธ์ 2546 สมัยพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ : รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

          นายสันติ พร้อมพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 เป็นบุตรของนายโซกเฮี้ยง แซ่เล้า กับนางซิวแฮ้ แซ่ลิ้ม สมรสกับนางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ (สกุลเดิม ทองแถม) มีบุตรด้วยกัน 2 คน

          สำหรับประวัิติการศึกษานั้น นายสันติ พร้อมพัฒน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2545) ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2547) และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 11 (2549-2550)

          และนายสันติ ได้เริ่มเข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรก ด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกชวลิต ยงใจยุธ) ในปี 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ จากนั้น ได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งและเป็น ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ 2 สมัย คือ ในปี 2538 และปี 2539 จากนั้น นายสันติ จึงได้ย้ายเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพรรคไทยรักไทย และลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี 2548 และระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในปี 2550 จนกระทั่ง ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

          นอกจากนี้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ยังเป็นหนึ่งในแนวร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม  2554
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดำรงตำแหน่ง 6 กุมภาพันธ์ – 9 กันยายน 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี


 ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

          พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2480 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพลโทอรรถ และนางจำรูญ ศศิประภา เป็นพี่ชายของพลเอกอัครเดช ศศิประภา ด้านชีวิตครอบครัวได้สมรสกับคุณหญิงอรพรรณ ศศิประภา ธิดาของจอมพลประภาส จารุเสถียร กับท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร มีบุตรธิดา 4 คน

          สำหรับการศึกษานั้น พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 8 (จปร.8-ร่วมรุ่นเดียวกับ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา) ในปี พ.ศ. 2504 เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 48 หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 33 นอกจากนั้น ยังผ่านการอบรมหลักสูตรพลร่ม และพลจู่โจม จากศูนย์การทหารราบ กองทัพบก สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

          ขณะที่งานทางการเมือง พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ได้ก้าวเข้าสู่งานการเมืองโดยการร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย จนกระทั่งในปี 2544 จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 23 และได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.

          จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2555 พลเอกยุทธศักดิ์ ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน พลเอกยุทธศักดิ์ กลับถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี


ตำแหน่งทางการเมือง :

           - รองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 18 มกราคม – 27 ตุลาคม 2555
           - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม 2554 – 18 มกราคม 2555
           - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมดำรงตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ 544 – 11 มีนาคม 2548 สมัยพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นางเบญจา หลุยเจริญ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

          นางเบญจา หลุยเจริญ เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2496 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี บัญชีบัณฑิต และนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 13 จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลักสูตรปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.4616)

          สำหรับการทำงานนั้น นางเบญจา หลุยเจริญ ได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ทั้งยัง เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร และตำแหน่งสำคัญ ๆ อีกหลายตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งสุดท้ายคือ อธิบดีกรมศุลกากร ก่อนจะลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2556

ประวัติการทำงาน :

          - อธิบดีกรมศุลกากร
          - พ.ศ. 2554 อธิบดีกรมสรรพสามิต
          - พ.ศ. 2551 รองปลัดกระทรวงการคลัง
          - พ.ศ. 2548 ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
          - พ.ศ. 2546 รองอธิบดีกรมสรรพากร


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นางปวีณา หงสกุล : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

          นางปวีณา หงสกุล เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครหลายสมัย เป็นที่รู้จักในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ดำเนินงานในนามมูลนิธิปวีณา


          นางปวีณา หงสกุล เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2492 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน บิดา คือ น.อ. (พิเศษ) เพิ่ม หงสกุล และมารดา คือ นางเกยูร หงสกุล

          สำหรับการทำงานทางการเมืองนั้น นางปวีณา หงสกุล ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ทั้งสิ้น 6 สมัย (2531-2549) และดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการเมือง อาทิ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลการท่องเที่ยว) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคหญิงคนแรกของพรรคชาติพัฒนา

          นอกจากนี้ นางปวีณา เคยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ได้เบอร์ 5 และครั้งที่ 2 คือ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2547 โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ได้เบอร์ 7 ซึ่งในครั้งนี้ นางปวีณา ได้คะแนนเป็นอันดับ 2

          หลังจากนี้ นางปวีณา ได้เข้าสังกัดกับทางพรรคไทยรักไทย อันเนื่องจากพรรคชาติพัฒนาได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ซึ่ง นางปวีณา ได้ลงเลือกตั้งในเขตสายไหม และได้รับการเลือกตั้ง

          จนกระทั่งในปี 2550 นางปวีณา ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ภายหลังจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคชาติไทย รวมทั้งทำกิจกรรมทางสังคมที่ทุกคนรู้จักกันดีในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ดำเนินงานในนามมูลนิธิปวีณา

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 9 กรกฎาคม 2542 – 6 มิถุนายน 2543 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายวราเทพ รัตนากร : รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          นายวราเทพ รัตนากร เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2507 ที่จังหวัดกำแพงเพชร สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2529 ประกาศนียบัตรสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความจากสภาทนายความ ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) วิทยาลัยแทมป้าฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ปี 2535 ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พ.ศ. 2554 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน(วตท.) รุ่น 10 และปัจจุบันกำลังศึกษาดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          ด้านบทบาททางการเมืองของนายวราเทพนั้น ได้เริ่มทำงานฝ่ายบริหาร เมื่อปี 2538 ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาลสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และสร้างผลงานเข้าตาประชาชนตามนโยบายพรรคไทยรักไทยสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรจนกระทั่ง ในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในคดียุบพรรคการเมือง ในปี 2549

          ซึ่งหลังจากพ้นเวลา 5 ปี ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกตำแหน่ง หนึ่ง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - พ.ศ. 2538-2541 กรรมการบริหารองค์การรัฐสภาอาเซียน
          - พ.ศ. 2538 เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
          - พ.ศ. 2539 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)
          - พ.ศ. 2542 กรรมการบริหารและโฆษกพรรคความหวังใหม่
          - พ.ศ. 2544-2548 และ 2549 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร สมัยแรก สมัยที่สอง)
          - พ.ศ. 2550 กรรมการมูลนิธิไทยคม และ เจ้าของสำนักงานกฎหมาย วราเทพ รัตนากร
          - พ.ศ. 2555 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร )


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายพ้อง ชีวานันท์ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

          นายพ้อง ชีวานันท์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2490 เป็นบุตรของนายศุลี และนางมาลี ชีวานันท์ มีพี่น้อง 5 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา

          สำหรับการเข้าสู่งานการเมืองนั้น นายพ้อง ได้เข้ามาช่วยงานนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี 2525 และครั้งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

          ซึ่งหลังจากที่นายมนตรี วางมือทางการเมือง นายพ้อง จึงถอยจากวงการการเมืองไประยะหนึ่ง ก่อนที่ในปี 2544 จะกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมารวม 4 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 อยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 3 กรกฎาคม 2554


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2505 ที่อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของนายชัยวัฒน์ กับนางสุภาพร เกษมทองศรี สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาเขตบพิตรพิมุข ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ต่อมาจึงได้เข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา (วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักวรรดิ) เมื่อปี 2529 และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2541

          สำหรับบทบาททางการเมืองนั้น นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างปี 2539-2540 ต่อมาในปี 2542 เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในปี 2544 ต่อมาในปี 2546 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

          จนกระทั่งในปี 2550 นายวิเชษฐ์ ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 และในปี 2555 นายวิเชษฐ์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดำรงตำแหน่ง 8 พฤศจิกายน 2546 – 11 มีนาคม 2548 สมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายยรรยง พวงราช : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

          นายยรรยง พวงราช เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2495 จบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบได้เป็นเนติบัณฑิตไทยในปีเดียวกัน (2517) Master of Laws จาก New York University (U.S.A.) (2521) (ทุนรัฐบาลไทย) วปรอ. 4212

          และปัจจุบัน นายยรรยง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน


ประวัติการทำงาน :

          - ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา กรมทะเบียนการค้า (2533-2534)
          - รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ (2534-2535)
          - รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (2535-2538)
          - รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ (2538-2539)
          - ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ ระดับ 10 (2539-2541)
          - ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ (2541-2542)
          - รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (2543-2544)
          - อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (2544-2546)
          - รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการค้าต่างประเทศ) (2546-2548)
          - รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการค้าในประเทศ) (2548-2550)
          - อธิบดีกรมการค้าภายใน (2550-2552)
          - ปลัดกระทรวงพาณิชย์


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

          นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2499 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายวันชัย นางสมรวย เตชะธีราวัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาด้านบริหารรัฐกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          สำหรับการทำงานด้านการเมืองนั้น นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 สังกัดพรรครวมไทย ต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม และพรรคชาติพัฒนา

          ต่อมาในปี 2538 สังกัดพรรคนำไทย และได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรค จากนั้นในปี  2539 ย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองพร้อมกับกรรมการบริหารพรรค 111 คน

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (24 เมษายน 2548 - 30 พฤษภาคม 2550)


ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายชัยเกษม นิติสิริ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

          นายชัยเกษม นิติสิริ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2491 จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนการศึกษา ประเภทเรียนดี จากมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ต่อมาศึกษาระดับปริญญาโท L.L.M. จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุด) และทุนของมูลนิธิ Starr ประเทศสหรัฐอเมริกา) และจบการศึกษาเนติบัณฑิต ไทยจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

          สำหรับการทำงานนั้น นายชัยเกษม เคยรับราชการเป็นอัยการสูงสุด และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส (ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด) สำนักงานอัยการสูงสุด ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์หลักประเทศไทย ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)


รม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

ร้อยตํารวจเอกเฉลิม อยู่บํารุง : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

           ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2490 จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเข้ารับราชการตำรวจที่มีตำแหน่งเป็นสารวัตรกองปราบฯ นั้นได้เคยเป็นทหารยศสิบโทมาก่อน แต่ด้วยเหตุผลทางด้านช่องทางการหาเงินจึงได้โอนย้ายตัวเองเข้าสังกัดตำรวจ ในการทำงานการเมืองเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และขณะที่กำกับดูแลหน่วยงานแห่งนี้ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม มีชื่อเรียกสั้น ๆ จากสื่อมวลชนว่า "เหลิม" หรือ "เหลิมดาวเทียม" เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีในแวดวงสื่อมวลชนถึงการควบคุมการนำเสนอข่าวด้วยตนเองของ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม ซึ่งในบางครั้งถึงกับเข้าไปสั่งการในห้องตัดต่อเอง จนคนในช่อง 9 เรียกว่า "บรรณาธิการเฉลิม"

           ทั้งนี้ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองที่โดดเด่นด้านการพูดและลีลาการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเชื่อได้ และหลายครั้งมีการใช้คำพูดที่ฟังดูรุนแรง ซึ่ง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เคยกล่าวถึงตัวเองไว้ว่า "ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม"

           สำหรับบทบาททางการเมืองนั้น ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2526 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในปี  2529 ได้ก่อตั้ง พรรคมวลชน และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค โดยมีฐานเสียงสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะเขตภาษีเจริญและเขตบางบอน

           โดยหลังการรัฐประหารในปี 2549 ร้อยตำรวจเอก เฉลิมตัดสินใจเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชาชน และในช่วงปลายปี 2550 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย ร้อยตำรวจเอกเฉลิม ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วน ลำดับที่ 2 กลุ่มจังหวัดที่ 6 (กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และ สมุทรปราการ) และได้รับเลือก ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการยุบพรรคพลังประชาชน ร้อยตำรวจเอกเฉลิม ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - รองนายกรัฐมนตรีอยู่ในวาระเริ่มดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม  2554
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดำรงตำแหน่ง 24 กันยายน – 19 ธันวาคม  2551 สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำรงตำแหน่ง 6 กุมภาพันธ์ – 2 สิงหาคม 2551 สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2538 – 24 พฤศจิกายน 2539 สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี


 ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          นายพีรพันธุ์ พาลุสุข เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2489 เป็นบุตรของนายบิน และนางห่ม พาลุสุข สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Diploma International Institute of Public Administraiton Paris ด้านการทูต (ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส) และปริญญาเอกสาขากฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส สมรสกับรองศาสตราจารย์ดารณี พาลุสุข ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          สำหรับเส้นทางการเมืองนั้น นายพีรพันธุ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคชาติไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 ของเขต (มี ส.ส.ได้ 3 คน) ต่อมาปี 2528 อดีต ส.ส. ถึงแก่กรรม นายพีรพันธุ์ จึงลงเลือกตั้งซ่อมในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาอีก 2 สมัย คือ พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และปี 2531 สังกัดพรรคประชาชน แต่สอบตกในการเลือกตั้งสองครั้ง และถัดมาในปี 2535 นายพีรพันธุ์ ได้ย้ายเข้าสังกัดพรรคความหวังใหม่ จนปี 2538 จึงได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคชาติไทย

          ช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2544-2548 นายพีรพันธุ์ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วย และที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งปี 2550 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องถึงปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย

          ปัจจุบัน นายพีรพันธุ์ มีบทบาทเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ประวัติการทำงาน :

          นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 6 สมัย คือ

          - การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยโสธร พ.ศ. 2528 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
          - การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
          - การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคประชาชน
          - การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคชาติไทย
          - การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคพลังประชาชน
          - การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคเพื่อไทย


 ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของนายอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี กับนางเฉลียว ฉายแสง

          และขณะที่ยังเรียนชั้นปีที่ 4 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ" ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา เรียนต่อระดับปริญญาเอก จนสอบประมวลความรู้ (Comprehensive) แต่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากต้องกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.

          สำหรับเส้นทางการเมืองนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรกจากการชักชวนของผู้เป็นพ่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2529 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ฉะเชิงเทรา สมัยแรก และสมัยที่ 2 ในปี 2531 ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาโดยตลอด จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2544 จาตุรนต์ ได้เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งภายหลังรัฐประหาร พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรครักษาการแทน

ตำแหน่งทางการเมือง :

          - ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีระหว่าง 3 ตุลาคม 2545 – 19 กันยายน  2549 สมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่าง 2 สิงหาคม  2548 – 19 กันยายน  2549
          - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระหว่าง 5 มีนาคม  – 3 ตุลาคม  2545


 ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ

นายสรวงศ์ เทียนทอง : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

          นายสรวงศ์ เทียนทอง (ชื่อเล่น : บอย) เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2518 เป็นบุตรคนโตของนายเสนาะ เทียนทอง กับนางอุไรวรรณ เทียนทอง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Johnson & Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา

          สำหรับเส้นทางการเมืองนั้น นายสรวงศ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้วครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ในสังกัดพรรคประชาราช ซึ่งมีนายเสนาะ เทียนทอง บิดา เป็นหัวหน้าพรรค และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม ในสังกัดพรรคเพื่อไทย

          ปัจจุบัน นายสรวงศ์ เทียนทอง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แทน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว


          ส่วนรายชื่อของบุคคลที่ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี มีดังนี้

            ร้อยตํารวจเอก เฉลิมอยู่บํารุง รองนายกรัฐมนตรี

            นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

            นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

            นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี

            พลอากาศเอกสุกําพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

            นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

            นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

            นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

            นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

            พลตํารวจโทชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

            พลตํารวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

            นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

            นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

            นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

            นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

          สามารถดูรายชื่อของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และรัฐมนตรีที่ถูกปรับให้พ้นจากตำแหน่งได้ที่ ราชกิจจานุเบกษา


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ราชกิจจานุเบกษา, วิกิพีเดีย


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra, ครอบครัวข่าว 3, เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang, เฟซบุ๊ก ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข, กรมการปกครอง, khonthai.com, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, รัฐสภาไทย, สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ, เฟซบุ๊ก ส.ส.พ้อง ชีวานันท์, เฟซบุ๊ก วราเทพ รัตนากร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม ปู 5 ประวัติ ครม.ยิ่งลักษณ์ 5 พร้อมรูปภาพ หลังโปรดเกล้าฯ โพสต์เมื่อ 30 มิถุนายน 2556 เวลา 16:47:32 31,235 อ่าน
TOP