เปิดวิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ชี้ วัดพระธรรมกาย เป็นอันตรายต่อศาสนา


เปิดวิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ชี้ วัดพระธรรมกาย เป็นอันตรายต่อศาสนา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก กรณี ธรรมกาย

            ชาวเน็ตแชร์วิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชี้ วัดพระธรรมกายประพฤติวิปริต ปลอมปนคำสอนลัทธิตัวเองลงในพระไตรปิฎก มุ่งเน้นแต่เรื่องนิพพาน ใช้เรื่องบุญเป็นสินค้า เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

            ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา มีข่าวคณะครูในจังหวัดอุบลราชธานีออกมายื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 เพื่อขอปฏิเสธไม่เข้ารับการอบรมจริยธรรมกับศูนย์ปฏิบัติธรรมกาย ตามที่มีรายชื่อที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จัดให้ ขณะที่ก่อนหน้านั้น ก็มีครูหลายคนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาร้องเรียนกับมูลนิธิแห่งหนึ่งว่าถูกบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรม โครงการโรงเรียนในฝัน กับเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติธรรมกายเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว

            ข่าวเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่ออกมาบ่อยครั้งในลักษณะนี้ ก็ทำให้เฟซบุ๊ก กรณี ธรรมกาย หยิบยกวิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย" ที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง) หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี เคยจัดทำไว้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง และข้อความดังกล่าวกำลังถูกแชร์ต่อกันไปทั่วโลกไซเบอร์

            โดย ท่าน ว.วชิรเมธี ได้วิเคราะห์สาระสำคัญที่ศึกษาพบจากกรณีวัดพระธรรมกายไว้ทั้งสิ้น 7 ข้อ สรุปสั้น ๆ ได้ว่า วัดพระธรรมกายทำให้พระธรรมวินัยวิปริต และประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย อีกทั้งยังพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก นำคำสอนของลัทธิตัวเองมาปลอมปนในพระไตรปิฎก พร้อมกับยกเรื่องการทำบุญมาเป็นสินค้า

            นอกจากนี้ วัดพระธรรมกายยังนำเอาลัทธิทุนนิยมมาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหมดนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐาน เพราะหากวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศไทยต้องสูญสิ้นได้

            บทคัดย่อวิทยานิพนธ์เรื่อง "บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย" โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง)
 

            จากการศึกษาบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เฉพาะกรณีธรรมกายเป็นหลัก และกรณีอื่น ๆ มีกรณีสันติอโศก เป็นต้น เป็นองค์ประกอบทำให้ผู้วิจัยได้ข้อค้นพบที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญของงานวิจัยเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้

            1. กรณีธรรมกายหมายถึงชื่อเรียกโดยรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น พฤติการณ์ทั้งหมดที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีสองลักษณะเท่านั้น คือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

            2. การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตน หรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศให้มีฐานะสำคัญ ถึงขนาดที่ใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นขึ้นมาอ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่องนิพพาน เป็นต้น การพยายามให้อรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า บุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่ง และเมื่อทำบุญและอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่าง ๆ ได้อย่างปาฏิหาริย์

            3. การประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลัก ได้แก่ การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่มีความโดดเด่นอยู่ที่ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งการระดมทุนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และในทางเกียรติคุณชื่อเสียง แต่วิธีเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติชนิดที่ปราศจากการจัดตั้ง หรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง

            4. พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่สำนักตั้งเอาไว้ ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้นอันตรธานไป และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิวิธีที่ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงายไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้

            5. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เห็นว่า การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตก็ดี การประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสถาบันสงฆ์ และต่อสังคมไทย ท่านจึงได้อุทิศตนเองออกมาทำหน้าที่ในการรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยการชี้แจงแสดงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาผ่านหนังสือชื่อ "กรณีธรรมกาย" และผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่าง ๆ

            6. สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) สามารถดำเนินบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นเพราะท่านเจริญรอยตามพุทธจริยาและปฏิปทาของบุรพาจารย์ทั้งหลายแต่ปางก่อน และเพราะท่านประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การมีจิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธ การถือธรรม และถือประโยชน์สุขของมหาชนเป็นใหญ่ การเป็นภิกษุผู้เปี่ยมด้วยกตัญญุตาธรรมต่อพระพุทธศาสนา และการมีคุณสมบัติของชาวพุทธชั้นนำตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้อย่างครบถ้วน

            7. ในกรณีธรรมกายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ทำบทบาทที่สำคัญสองประการด้วยกัน บทบาทประการที่หนึ่งก็คือ การทำหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม และบทบาทประการที่สองก็คือ การได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างของชาวพุทธชั้นนำ ผู้มีศักยภาพพร้อมเต็มที่ที่จะทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน บทบาททั้งสองประการนี้นอกจากจะช่วยให้กรณีธรรมกายคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาพระธรรมวินัยแก่ชาวพุทธร่วมสมัย และแก่อนุชนในภายหลังได้อย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่บุรพาจารย์ทั้งหลายได้เคยทำเอาไว้ในอดีตอีกด้วย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดวิทยานิพนธ์ ว.วชิรเมธี ชี้ วัดพระธรรมกาย เป็นอันตรายต่อศาสนา อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15:30:58 179,240 อ่าน
TOP
x close