x close

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เขียนบทความตอบ ดร.โสภณ กรณีเขื่อนแม่วงก์

เขื่อนแม่วงก์

เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ LadyBimbettes สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เขียนบทความ ตอบ ดร.โสภณ พรโชคชัย กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ย้ำเลิกทำลายป่าเพื่ออ้างการพัฒนาเสียที

          หลังจากวันที่ 4 ตุลาคม 2556 มีการเปิดเผยบทความแสดงความคิดเห็นจาก ดร.โสภณ พรโชคชัย ว่าผู้ที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น พยายามโกหกและบิดเบือนข้อมูลของการสร้างเขื่อน โดยนำเหตุผลเรื่องความไม่คุ้มค่ามาอ้าง รวมถึงจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่า ซึ่งเหตุผลที่อ้างมานั้น ดูไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใด ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น (โสภณ พรโชคชัย อัดคนค้านเขื่อนแม่วงก์ อย่าเอาความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผล)

          วันที่ 8 ตุลาคม 2556 ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนบทความตอบ ดร.โสภณ พรโชคชัย กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมทั้งย้ำว่าให้เลิกทำลายป่าเพื่ออ้างการพัฒนาเสียที โดยบทความดังกล่าวมีดังนี้

          จากกรณีที่ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ได้เขียนบทความลงในเว็บประชาไท ข้าพเจ้าในฐานะผู้เขียนบทความที่ท่านได้อ้างถึงสองบทความ คิดว่าจะเป็นการเสียมารยาทถ้าหากมีผู้ใหญ่มาตักเตือนแล้วไม่ออกมาไขข้อข้องใจให้ชัดเจน จึงเขียนบทความนี้เพื่อตอบท่าน โดยข้อแบ่งเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ

          1. เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดเล็กและมีปริมาณการกักเก็บน้ำแค่ 1% ของปริมาณน้ำท่วมในคราวนั้นถูกต้องแล้วครับ และทุกครั้งที่ผมได้อ่านหรือฟังการบรรยายของ คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ คุณศศินจะพูดต่อทุกครั้งว่านอกจากช่วยน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้แล้ว ยังช่วย อ.ลาดยาว ก็ไม่ได้มากนัก เนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อนรับน้ำจากผืนป่าที่สมบูรณ์ซึ่งค่อย ๆ ปล่อยน้ำออกมาและมีพื้นที่รับน้ำไม่มากนัก (ในวันที่น้ำหลากท่วม อ.ลาดยาว ภาพถ่ายจากลำน้ำแม่วงก์ตรงจุดที่จะมีการสร้างเขื่อนน้ำยังไม่ได้ไหลแรงอะไรและยังใสอยู่เลยครับ) ในขณะที่น้ำที่ไหลท่วม อ.ลาดยาว จุดที่มีชาวบ้านออกมาเรียกร้องต้องการเขื่อนมากที่สุดนั้น เป็นน้ำหลากมาจากทุ่งฝั่งตะวันตกและเหนือของอำเภอ ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ที่เขื่อนแม่วงก์ช่วยเหลืออะไรได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อมูลของกรมชลฯ ที่ระบุว่า ถึงแม้จะมีเขื่อนแม่วงก์ก็ช่วยอำเภอลาดยาวได้แค่ 20% เมื่อพูดถึงตรงนี้คุณศศินจะพูดต่อว่า ถ้าจะช่วยแค่ 20% ไปขุดคลองให้ระบายน้ำออกจากอำเภอให้ดีขึ้น 20% ได้ใช้อาทิตย์หน้าเลยในขณะที่เขื่อนแม่วงก์ต้องรออีกตั้ง 8 ปี และใช้งบประมาณมากกว่ากันมหาศาล ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องพื้นที่รับน้ำของลำน้ำแม่วงก์มีอยู่ในบทความนี้ครับ siamensis.org

          2. เรื่องบ้านของเสือ เวลานักอนุรักษ์บอกว่าป่าบริเวณนั้นเป็นบ้านแหล่งใหญ่ที่สุดของเสือ เราไม่ได้มองแต่พื้นที่บริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนแค่ 13,000 ไร่ ตามที่ท่านเข้าใจ เราไม่ได้มองแค่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ครับ เรามองป่าตะวันตกทั้งผืน  ส่วนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อะไรทั้งหลายนั้นมนุษย์ไปตีเส้นเอง เสือไม่รับรู้ครับ ป่าผืนนี้เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นจุดที่มีเสืออาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เสือห้วยขาแข้งกับเสือแม่วงก์/คลองลาน จริง ๆ แล้วก็เป็นเสือประชากรเดียวกัน แต่เสือในป่าแม่วงก์และคลองลานเคยหมดไปเนื่องจากการถูกล่าและบุกรุก เมื่อเราดูแลรักษาอย่างดี เสือจากห้วยขาแข้งจึงกลับขึ้นมาอาศัยอยู่ในแม่วงก์ เสือตัวหนึ่งมีอาณาเขตการหากินกว้างมาก จึงไม่แปลกถ้ามันจะลงมาถึงบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่ราบริมแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเหยื่อมาก

          ส่วนข้อมูลจำนวนเสือในป่านั้น ได้มาด้วยการสำรวจโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพ แล้วใช้ลายของเสือมาจำแนกเสือแต่ละตัว ซึ่งนักวิจัยพบ "อย่างน้อย" 12 ตัว เป็นไปไม่ได้ที่จะวางกล้องดักถ่ายเสือได้ทั้งป่า ตัวเลขนี้จึงเป็นตัวเลข "อย่างน้อย" ซึ่งการมีเสือก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องออกมากินหมา กินควาย ขบคนตามที่ท่านจินตนาการ เสือ สัตว์ป่าทุกชนิด กลัวคนโดยสัญชาติญาณ ไม่จำเป็น ไม่ถูกบีบคั้นจริง ๆ  มันไม่ออกมาหรอกครับ พวกเสือตามข่าวที่ท่านยกมา ส่วนใหญ่ดูสภาพการแล้วว่าน่าจะเป็นเสือหลุด มีตัวที่เบตงที่ไม่แน่ใจเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเสือป่าก็น่าเสียดายเหลือเกินเพราะเป็นเสือโคร่งชนิดย่อยของทางใต้ที่เหลืออยู่น้อยมาก

          ในกรณีของเสือนี้ นักอนุรักษ์มิได้ห่วงแต่แค่เรื่องการสูญเสียถิ่นอาศัยจากการสร้างเขื่อนเท่านั้น แต่ห่วงเรื่องการถูกล่าในระหว่างที่มีการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งจะมีคนเข้าไปเป็นจำนวนมากในพื้นที่ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นเขตอุทยานฯ ชั่วคราว ห่วงทางรถที่จะมีการตัดเข้าไปเพิ่มเติมในป่าเพื่อตัดไม้ว่าต่อไปจะถูกใช้เป็นเส้นทางล่าสัตว์ หวงเรื่องอ่างเก็บน้ำที่จะทำให้การเดินทาง(ทางเรือ)เข้าไปทางตอนในของป่าเพื่อไปล่าสัตว์ง่ายขึ้น อ้างอิง : wwf.panda.org

          3. ตัวเลขจำนวนต้นไม้ เป็นตัวเลขที่ผมอ้างอิงจาก EIA ที่จัดทำโดยบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดยกรมชลประทาน ตัวเลขนี้เป็นการประเมินตามหลักวิชาการป่าไม้ของผู้ทำรายงาน ผมมิได้นึกขึ้นมาเองแต่อย่างใดครับ ซึ่งจะขอชี้แจงต่อในกรณีที่ท่านเคยถามว่าเอาข้อมูลจากไหนมาต้านเขื่อน ในเมื่อยังไม่มีการเผยแพร่ EHIA ขอเรียนว่าโครงการนี้ได้มีการทำการศึกษา EIA ไปแล้วในปีพ.ศ. 2555 ซึ่งก็ได้ครอบคลุมเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ได้นำมาใช้ในการคัดค้าน ส่วนกรณีของ EHIA เป็นการถูกสั่งให้ไปทำในส่วนของ H หรือส่วนของ Health เพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้น ข้อมูลในส่วนเดิมอื่น ๆ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก คือ ทางด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าคุณภาพของชีวิตนั้นเชื่อว่าไม่ได้มีใหม่หรือมีการแก้ไขมากนัก จึงเชื่อว่าใช้อ้างอิงในการคัดค้านได้ครับ ทั้งนี้ ถ้ากรมชลประทานจะยอมให้พวกเราช่วยตรวจสอบ EHIA ฉบับปัจจุบันก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

          4. คลองส่งน้ำมิได้เป็นคำขู่แต่เป็นเรื่องจริงครับ คลองส่งน้ำชุดนี้ มีความกว้าง 50 เมตร มูลค่าก่อสร้างสูงกว่าค่าสร้างเขื่อนครับ ตัวลำน้ำแม่วงก์ตรงจุดที่จะสร้างเขื่อนยังกว้างไม่ถึง 50 เมตร เลยด้วยซ้ำ คงไม่มีลำน้ำคูคลองใด ๆ ในพื้นที่แถวนั้นกว้างขนาดนั้นแล้ว จึงเชื่อได้ว่ามันกินพื้นที่ทำกินชาวบ้านแน่ ๆ และก็น่าสนใจว่าถ้าหากทำคลองส่งน้ำกว้าง 50 เมตร สูง 20 เมตร ทับลงไปบนเส้นทางน้ำหลากทางระบายน้ำเดิม (ตามที่มีการแนะนำ) น้ำฝนหรือน้ำที่หลากมาจะไหลไปทางไหน คลองส่งน้ำนี้จะกีดขวางการไหลของน้ำทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่าปกติหรือไม่ ? และจะกักให้พื้นที่ที่ซึ่งเคยได้รับน้ำหลากไม่ได้รับน้ำหรือไม่ ?

          เรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้าน ยังมีตรงบริเวณที่จะใช้ปลูกป่าทดแทนอีก 35,000 ไร่ ซึ่งระบุว่าเป็นพื้นที่รกร้างหรือป่าเสื่อมโทรม แต่ถ้าดู Google Earth จะพบว่าพื้นที่ที่จะใช้ปลูกป่าทดแทนเป็นพื้นเกษตรกรรมทั้งสิ้น ผมเห็นด้วยถ้าหากจะมีการยึดที่ดินป่าที่ถูกบุกรุกคืนมาเพื่อปลูกป่า แต่การจะอ้างว่าจะไม่มีใครเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว ไม่มีการจ่ายค่าเวนคืน และไม่เคยมีการพูดถึงเลยจากกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการสร้างเขื่อน ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับคนชายขอบเหล่านั้น อ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม : siamensis.org และ siamensis.org

          5. เรื่องทุจริต เห็นด้วยกับท่านครับ

          ในส่วนเรื่องการล่ารายชื่อเพื่อการคัดค้านการสร้างเขื่อน ซึ่งท่านได้นำไปเปรียบเทียบว่าจะล่ารายชื่อผู้ที่อยากได้เขื่อนนั้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

          1. ป่าแม่วงก์ เป็น "อุทยานแห่งชาติ" ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน เป็นสมบัติของสาธารณะที่เราใช้ร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ผมจึงคิดว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจในครั้งนี้ เราไม่สามารถให้สิทธิ์ “คนบ้านใกล้” มาตัดสินใจใช้ทรัพยากรส่วนรวมเพียงกลุ่มเดียวได้ เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ก็เหมือนกับคนในซอยบ้านผม วันหนึ่งรุกขึ้นมาบอกว่า จะปิดซอยในบริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นส่วนสาธารณะประจำซอย ผมก็คงไม่สามารถทำได้ แม้นว่าจะเป็นซอยหน้าบ้านผม อุทยานแห่งชาติก็เป็นของสาธารณะอย่างหนึ่งเช่นกัน

          2. ผมไม่เชื่อว่าชาวบ้านที่อยากได้เขื่อนได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจอย่างครบถ้วน แค่ที่ผมได้ฟังจากคลิปที่มีการปราศรัยโดยนักการเมืองกลุ่มที่ต้องการสร้างเขื่อน ก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นการนำความจริงแค่ส่วนเดียวมาพูด ผมเคยได้สัมผัสกับชาวบ้านกลุ่มนี้มาแล้วและเชื่อว่ายังมีข้อมูลอีกมากที่พวกเขายังไม่ทราบ แน่นอนว่าถ้ามีคนมาบอกว่ามีเขื่อนแล้วน้ำจะไม่ท่วม จะมีน้ำใช้หน้าแล้ง ใคร ๆ ก็ต้องอยากได้ แต่มันเป็นความจริงเพียงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นถ้าหากได้มีการศึกษารายละเอียดของโครงการอย่างถ่องแท้ บางทีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแต่ไม่ครอบคลุม ก็ไม่ต่างอะไรกับการโกหก

          3. กลุ่มต่อต้านเขื่อนพูดอยู่เสมอว่าไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่ป่าแต่สัตว์ ไม่สนใจคน แต่เราเชื่อว่าโครงการนี้ช่วยชาวบ้านไม่ได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง เราเชื่อว่ามีโครงการที่สามารถใช้งบประมาณน้อยกว่านี้และช่วยชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านี้ เรื่องน้ำท่วม อ.ลาดยาว ได้ยกตัวอย่างไปแล้วว่าสร้างทางระบายน้ำให้ดีก็ช่วยได้และเร็วกว่า จะสร้างคลองระบายน้ำอีกสักคลองดักไว้ทางด้านเหนือให้น้ำหลากอ้อมไป ก็คงใช้ที่ดินและงบประมาณไม่มากนัก เรื่องน้ำแล้งต้องชี้แจงว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้แล้ง มีฝนมีน้ำ เพียงแต่ไม่มีที่กักเก็บ ดังนั้น การสร้างบ่อน้ำขนาดเล็ก/กลางไว้ตามหัวไร่ปลายนาเพื่อกักเก็บน้ำหลาก สร้างฝายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำเป็นช่วง ๆ ก็น่าจะเป็นหนทางที่สามารถทำได้และใช้งบประมาณน้อยกว่าครับ ทั้งนี้ ผมไม่ได้เป็นวิศวกรชลประทานไม่กล้าออกความเห็นมากไปกว่าที่มีอยู่ใน EIA แต่ก็เชื่อว่าเรามีคนดีมีฝีมือที่แก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในแถบนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งเขื่อนแม่วงก์ครับ

          สุดท้ายนี้ขออนุญาตเรียนท่าน ดร.โสภณ ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีคนเคารพนับถือมาก การที่ท่านยอมรับว่า "ต้องศึกษาข้อมูลมากกว่านี้" แต่ออกมาเขียนบทความกล่าวหาว่าผู้อื่นว่าโกหกบิดเบือนนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่อันมีวิจารณญาณอันดีพึงกระทำ จึงเรียนมาด้วยความเคารพครับ

          ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์
          8 ตุลาคม 2556

          (เขียนที่เมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีพื้นที่ป่าปกคลุมประเทศถึง 67% ก็ยังเจริญได้ เลิกทำลายป่าเพื่ออ้างการพัฒนาเสียทีเถิดครับพี่น้อง)


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
siamensis.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เขียนบทความตอบ ดร.โสภณ กรณีเขื่อนแม่วงก์ อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2556 เวลา 18:50:33 28,605 อ่าน
TOP