x close

นิรโทษกรรมสุดซอย...กฎหมายล้างผิด ดูชัด ๆ ใครได้ประโยชน์?

นิรโทษกรรมสุดซอย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra, เฟซบุ๊ก สุเทพ เทือกสุบรรณ, เฟซบุ๊ก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, เฟซบุ๊ก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), เฟซบุ๊ก องค์การพิทักษ์สยาม, เฟซบุ๊ก วราเทพ รัตนากร, parliament.go.th, วิกิพีเดีย


            นิรโทษกรรมสุดซอย หากผ่านฉลุยทุกด่าน ทุกอย่างกลับไปเริ่มต้นใหม่ จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองคนไหน ได้รับอานิสงส์ รอดพ้นจากคดีความบ้าง?

            "นิรโทษกรรมสุดซอย"...คำนี้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองส่งท้ายปี 2556 เมื่อ นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...  ได้เสนอแปรญัตติเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ในมาตรา 3 จากเดิมที่ระบุว่า "ให้การกระทำที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เข้าข่ายนิรโทษกรรม" กลายเป็น.... 

            "ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมุนมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำทำตามวรรคหนึ่ง ไม่ร่วมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"

            โดยการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาดังข้างต้นที่ให้นิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงแกนนำและผู้สั่งการด้วยนั้น ก็ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) กลุ่มหน้ากากขาว บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนนักวิชาการกลุ่มต่าง ๆ ที่มองว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ครอบคลุมมากเกินไป อีกทั้งยังสอดไส้ให้ลบล้างคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

            แม้กระทั่งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และประชาชนที่สูญเสียญาติพี่น้องไปจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงรอบปีนั้น ก็ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะมองว่า การนิรโทษกรรมที่เรียกว่า "เหมาเข่ง" หรือ "สุดซอย" ที่เป็นการเซตซีโร่ (Set Zero) นั้น แม้จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยได้ แต่ก็ยังมีอานิสงส์ไปถึงผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อกลางปี 2553 พ้นข้อกล่าวหาไปด้วย และไม่สามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เพราะทุกอย่างเป็นโมฆะไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ นปช. ยอมรับไม่ได้

            ประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทั่งนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านการนิรโทษกรรมสุดซอย รวมทั้งการแสดงออกในเชิงต่อต้านรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งกระปุกดอทคอมจะลองมาเจาะลึกกันดูว่า หาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่านทะลุซอยได้จริง ๆ จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องในทางการเมืองรายใดได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้กันบ้าง


1. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ ชินวัตร

            พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับประโยชน์จากข้อความที่ระบุว่า "ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556"

            โดยคดีทางการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวข้องก็คือ คดีตากใบ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้เดินขบวนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชายท้องถิ่น 6 คนที่ถูกจับกุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ก่อนจะมัดมือไพล่หลังแล้วนำผู้ถูกจับกุมขึ้นรถบรรทุกซ้อนกันหลายชั้น ภายหลังพบว่ามีผู้ที่ถูกจับกุมหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ และถูกทุบตี โดยมีรายงานว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 78 คน

            ขณะที่คำว่า "องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549" นั้นหมายถึง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นผู้ตั้งขึ้น ให้ตรวจสอบเรื่องที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำการให้รัฐเสียหาย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูก คตส. ชี้มูลว่ามีความผิดในฐานทุจริตหลายคดี เช่น

            คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการโทรคมนาคมของพม่า โดยคดีนี้ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 เนื่องจากหลบหนีคดี

            คดีทุจริตหวยบนดิน จากการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) โดยศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 เพื่อให้มาฟังการพิจารณาคดี

            คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป หรือคดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีนี้ศาลได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เพื่อติดตามตัวมาฟังพิจารณาคดีนัดแรก

            คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ แต่กลับไปทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ก่อนที่ในวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะได้พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี

            คดีร่ำรวยผิดปกติ โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล จำนวน 46,373,687,454.74 บาท

            นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ประโยชน์จากข้อความในร่าง พ.ร.บ. ที่ว่า "รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556" เพราะหมายถึงคดีที่ คตส. ซึ่งหมดวาระในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ส่งต่อมาให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบัน รับผิดชอบแทน อันจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับประโยชน์อีกหลายคดี เช่น

            คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อกว่า 9,000 ล้านบาท ใหับริษัท กฤษดามหานคร ซึ่งมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารฯ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

            คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ อันสืบเนื่องจากคดีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องต่องศาลฎีกา ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้ ถึง 6 ครั้ง โดยศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้


2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

            นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

            ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้เตรียมยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกลับ ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และกลั่นแกล้งบุคคลอื่น เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า สำนวนของอัยการสูงสุดไม่ได้ระบุถึงกองกำลังชุดดำที่ปรากฏตัวขึ้นระหว่างการชุมนุม เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องสั่งการเช่นนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

            อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านฉลุย ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จะได้รับอานิสงส์ให้รอดพ้นจากคดีนี้ไปด้วย แม้ว่าทั้งสองยืนกรานว่าพวกตนไม่มีความผิด และจะขอต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด


3. แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

            กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มมีบทบาทขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตั้งแต่กลางปี 2547 แต่แสดงบทบาทให้เด่นชัดขึ้นในช่วงปี 2549 กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนจะยุติบทบาทไปถึง 2 ปี แล้วกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้งในช่วงปี 2551 เพื่อต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเรียกร้องให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออก

            ภายหลัง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ตกเป็นจำเลยคดีก่อการร้าย คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง อีกทั้งยังถูกบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดสนามบิน


4. แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

            กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง มีบทบาทในการชุมนุมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ และต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 พร้อมกับขับไล่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2552 เรื่อยมาจนถึงกลางปี 2553 ที่กลุ่ม นปช. รวมตัวชุมนุมใหญ่กลางแยกราชประสงค์ เพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่รัฐบาลจะใช้แผนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ และสลายการชุมนุม จนเกิดการจลาจลขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

            ขณะที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ได้ก่อเหตุเผาศาลากลางจังหวัด ซึ่งภายหลังผู้ก่อเหตุก็ถูกจับกุมดำเนินคดี เช่นเดียวกับแกนนำ นปช. หลายคน ที่ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีเช่นกัน จากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง และคดีก่อการร้าย ซึ่งก็มีแกนนำหลายคนถูกศาลสั่งจำคุก เช่น นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ก่อนจะได้รับการประกันตัวในภายหลัง


5. แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)





            ในปี 2555 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ได้ประกาศชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมองว่า รัฐบาลบริหารที่ผิดพลาด อีกทั้งยังไม่ยอมปราบปรามผู้ที่จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน จึงได้ประชาชนออกมาชุมนุมกันครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งมีคนมาเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้ เสธ.อ้าย นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง พร้อมกับปิดการจราจรโดยรอบที่ชุมนุมและทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 พฤศจิกายน

            กระทั่งในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน ได้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมจนต้องมีการใช้แก๊สน้ำตา สุดท้ายแล้วในตอนเย็น เสธ.อ้าย จึงขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุม โดยให้เหตุผลถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นหลัก และจะไม่ขอเป็นผู้นำการชุมนุมอีก ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้น กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้แจ้งว่ามีผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง จำนวน 127 คน


6. นายวราเทพ รัตนากร และนายสมใจนึก เองตระกูล

วราเทพ รัตนากร - นายสมใจนึก เองตระกูล

            ทั้ง 2 คน ตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูก คตส. ยื่นฟ้องในฐานะที่เป็นผู้เสนอโครงการ ขณะที่ นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ถูกฟ้องในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

            ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2552 ศาลได้ตัดสินให้จำคุกนายวราเทพ และนายสมใจนึก เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมกันนี้ยังพิพากษาให้จำคุก นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี เช่นกัน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่


7. นายประชา มาลีนนท์ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ

ประชา มาลีนนท์
 
            จากคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. มูลค่า 6,800 ล้านบาท ซึ่ง คตส. ส่งต่อให้ ป.ป.ช. พิจารณา ก่อนจะชี้มูลความผิด ภายหลังศาลได้พิพากษาให้จำคุก นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี พร้อมกับออกหมายจับ ขณะที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี 


8. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

            จากคดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกกล่าวหาร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งคดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คดียังอยู่ในระหว่างการไต่สวน


9. นายวัฒนา เมืองสุข

วัฒนา เมืองสุข

            จากคดีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย คตส. ได้ส่งไม้ต่อให้ ป.ป.ช. พิจารณา ก่อนจะชี้มูลความผิดนายวัฒนา ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ ซึ่งคดีนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวน


10. นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์

บรรณพจน์ ดามาพงศ์

            จากคดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาท ที่ถูก คตส. ฟ้องเป็นจำเลย ร่วมกับ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ซึ่งต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา ให้จำคุก 2 ปี 

            ภายหลัง ทั้ง 3 คนได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลอาญา โดยสั่งยกฟ้องคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ส่วนนายบรรณพจน์ให้คงโทษจำคุกไว้ แต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี 

            นอกจากบุคคลข้างต้นและคดีความดังกล่าวจะเป็นโมฆะแล้ว นักวิชาการหลายคนก็มองด้วยว่า น่าจะยังมีอีกหลายคดีความที่อยู่ในการพิจารณาและไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด อย่างเช่น คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งคดีบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่มีผู้ร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา แน่นอนว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ผู้ที่ถูกชี้มูลจากคดีดังกล่าวก็ย่อมได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้ด้วย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิรโทษกรรมสุดซอย...กฎหมายล้างผิด ดูชัด ๆ ใครได้ประโยชน์? อัปเดตล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:23:37 244,673 อ่าน
TOP