รฟม. เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ทุบทิ้งสะพานรัชโยธิน-เกษตร ปลายปี 57

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส
 
          ผู้ว่าการ รฟม. ลุยเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยเริ่มเปิดประมูลการก่อสร้าง และเตรียมทุบสะพาน สะพานรัชโยธิน-เกษตร ช่วงปลายปี 57
 

          เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร โดยเผยว่า ในปี 2557 นี้ นอกจากการเปิดประมูลการก่อสร้าง ก็จะมีการเวนคืนที่ดินไปพร้อม ๆ กัน เพราะคาดว่า พ.ร.ฎ.เวนคืน จะประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปีนี้
 
           สำหรับที่ดินที่ต้องเวนคืนจะเป็นบริเวณจุดขึ้น-ลงสถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร จำนวน 262 แปลง โดยเป็นอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อ 275 หลัง มีค่าเวนคืน 7,863 ล้านบาท จะใช้เวลา 1 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2558 ส่วนการเซ็นสัญญาก่อสร้างคาดว่าจะเป็นปลายไตรมาส 3
 

           ทั้งนี้ งานแรกที่ต้องทำคือย้ายระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางเส้นทางอยู่ นั่นก็คือการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และแยกเสนา-เกษตร ซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 4 หลังเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว และคาดว่า อย่างช้าคือเริ่มดำเนินการในต้นปี 58
 
            สำหรับรูปแบบที่จะมาทดแทนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน คือการสร้างอุโมงค์ทางลอด อยู่บนแนวถนนรัชดาภิเษก ส่วนแนวถนนพหลโยธินจะเป็นโครงสร้างตอม่อรถไฟฟ้าที่จะสร้างยกระดับตลอดทั้งสาย โดยรูปแบบการก่อสร้างบริเวณแยกนี้ จะเหมือนกับอุโมงค์แยกห้วยขวางและแยกสุทธิสาร ส่วนแยกเสนา-แยกเกษตร จะปรับลดเหลือเฉพาะสะพานเล็ก ๆ ข้ามแยก เพื่อให้พื้นที่มีเพียงพอที่จะสร้างสถานีในบริเวณดังกล่าว
 
           โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสปัจจุบันที่สถานีหมอชิต วิ่งตรงไปตามเกาะกลางของถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ ไปจนถึงพหลโยธินซอย 66 แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไปด้านซ้าย ไปจนถึงอนุสาวรีย์หลักสี่ แล้ววกกลับมาอยู่บนเกาะกลางถนนพหลโยธิน ตรงไปจนสิ้นสุดเขตกองทัพอากาศ แล้วเลี้ยวขวาตัดเข้าถนนลำลูกกา จนสิ้นสุดปลายทางที่คูคต บริเวณลำลูกกาคลอง 2
 
          โดยตลอดเส้นทางนี้มีทั้งหมด 16 สถานี ประกอบด้วย

            1. สถานีห้าแยกลาดพร้าวอยู่หน้าห้างเซ็นทรัล เป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพหลโยธิน

            2. สถานีพหลโยธิน 24 บริเวณซอยพหลโยธิน 24

            3. สถานีรัชโยธิน ใกล้ซอยพหลโยธิน 30

            4. สถานีเสนานิคม บริเวณซอยพหลโยธิน 34

            5. สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ด้านข้าง ม.เกษตรศาสตร์

            6. สถานีกรมป่าไม้ บริเวณซอยพหลโยธิน 45 แยก 2

            7. สถานีบางบัว ตั้งอยู่หน้า ม.ศรีปทุม
 
            8. สถานีกรมทหารราบที่ 11 บริเวณซอยพหลโยธิน 53

            9. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่

            10. สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ บริเวณซอยพหลโยธิน 59

            11. สถานีสายหยุด บริเวณซอยพหลโยธิน 69

            12. สถานีสะพานใหม่ ตั้งอยู่บริเวณตลาดยิ่งเจริญ

            13. สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช

            14. สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ

            15. สถานีกิโลเมตรที่ 25

            16. สถานีคูคต จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้ ๆ
 
           ทั้งนี้ อาคารจอดแล้วจร จำนวน 2 แห่ง จะอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 25 โดยสามารถจอดรถได้ประมาณ 1,042 คัน และบริเวณใกล้กับสถานีตำรวจภูธรคูคต ซึ่งสามารถจอดรถได้ประมาณ 713 คัน
 

           อย่างไรก็ดี นายยงสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า รถไฟฟ้าสายนี้จะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างเต็มสูบตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 ดังนั้นใครที่อยู่ในแนวเส้นทางก่อสร้างดังกล่าว คงต้องอดใจรอกันอีกสักนิด
 
ติดตามข่าว ปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ทั้งหมด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รฟม. เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ทุบทิ้งสะพานรัชโยธิน-เกษตร ปลายปี 57 อัปเดตล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10:19:17 28,954 อ่าน
TOP
x close