x close

10 จุดเสี่ยงในโรงเรียน ที่มักเกิดอุบัติภัยกับเด็ก


10 จุดเสี่ยงในโรงเรียน ที่มักเกิดอุบัติภัยกับเด็ก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ในรั้วโรงเรียนมีบริเวณไหนบ้างที่ควรระวัง มาดู 10 จุดเสี่ยงที่โรงเรียนต้องป้องกันให้ดี ก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้เด็กได้รับอันตราย

          นอกจากบ้านแล้ว โรงเรียนก็ไม่ต่างจากบ้านที่สองของเด็ก ๆ เลยนะคะ เพราะตั้งแต่เช้าจรดเย็น เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่ในโรงเรียนทั้งนั้น แต่ด้วยนิสัยซุกซน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจทำให้พวกเขาประสบอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยที่มีสิทธิ์เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนก็เป็นได้

          แบบนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของโรงเรียนแล้วล่ะ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ได้ โดยเฉพาะ 10 จุดเสี่ยงต่อไปนี้ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะนำให้โรงเรียนต้องหมั่นตรวจสอบดูแลและเฝ้าระวังให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ไปดูกันว่ามีจุดไหนบ้าง


สนามเด็กเล่น

          พื้นที่สนามเด็กเล่นเป็นบริเวณที่เด็ก ๆ ชอบเป็นพิเศษ เพราะมีเครื่องเล่นให้สนุกกันเต็มที่ และยิ่งสนุกก็ยิ่งขาดความระวัง ดังนั้น สิ่งที่โรงเรียนต้องตรวจสอบและเฝ้าระวัง ก็คือ

          พื้นสนามเด็กเล่นต้องเป็นพื้นเรียบและปูด้วยวัสดุอ่อน เช่น ทราย ยางสังเคราะห์ เป็นต้น จะช่วยรองรับแรงกระแทก หากเด็กพลัดตกจากเครื่องเล่น

          จัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นส่วน ทำรั้วรอบสนามเด็กเล่น ป้องกันไม่ให้เด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

          ต้องตรวจสอบว่าเครื่องเล่นยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนาหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุนหรือเคลื่อนที่ได้ เช่น ลูกโลก ชิงช้า เพื่อไม่ให้เครื่องเล่นล้มทับเด็ก

          ควรจัดหาเครื่องเล่นที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเครื่องเล่นไม่ควรสูงเกิน 120 เซนติเมตร

          เครื่องเล่นกระดานลื่นต้องมีราวจับและแผงกันการพลัดตก

          เครื่องเล่นที่มีลักษณะเป็นลูกกรง ควรมีช่องว่างมากกว่า 23 นิ้ว เพื่อป้องกันศีรษะเด็กเข้าไปติด

          หมั่นตรวจสอบเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ หากพบเครื่องเล่นชำรุดควรรีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที

โต๊ะ-เก้าอี้

          เป็นอุปกรณ์สำคัญและใกล้ตัวเด็กนักเรียนมากที่สุด ดังนั้น โรงเรียนต้องตรวจสอบโต๊ะเก้าอี้ทุกตัวให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง นั่งแล้วไม่โยกเยก และที่สำคัญคือต้องไม่มีตะปูแหลมคมยื่นออกมา เพราะถ้าเด็กกระโดดเล่นอาจพลัดตกลงมาโดนตะปูทิ่ม ได้รับบาดเจ็บได้

สระน้ำหรือบ่อน้ำ 

          หากโรงเรียนใดมีสระน้ำหรือบ่อน้ำ ควรทำรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ และติดตั้งป้ายเตือนอั
นตรายจากการเล่นบริเวณริมน้ำไว้ด้วย เพื่อป้องกันเด็กลงไปเล่นน้ำ หรือพลัดตกน้ำเสียชีวิต

อาคารเรียน

          บางโรงเรียนมีอาคารเรียนขนาดใหญ่ และมีความสูงหลายชั้น หากเด็กเผลอพลัดตกลงมาก็เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงต้องป้องกันความเสี่ยงไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คือ

          หากอาคารเรียนมีความสูงมากกว่า 2 ชั้น ควรจัดให้มีลูกกรงเหล็กปิดระเบียง ประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันเด็กปีนป่ายเล่นและพลัดตกลงมา

          ติดตั้งป้ายในจุดเสี่ยงอันตราย เช่น บริเวณไหนมีพื้นลื่น บันไดชัน สระน้ำลึก ฯลฯ

          จัดให้มีครูดูแลความปลอดภัยของเด็กในโรงเรียน พร้อมประสานเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่เด็ก

ตู้น้ำดื่ม หรือแท็งก์น้ำ

          ได้ยินข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่ามีเด็กนักเรียนมาดื่มน้ำที่ตู้น้ำเย็นแล้วถูกไฟช็อตเสียชีวิต หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยอีก สิ่งที่โรงเรียนต้องทำก็คือ

          ติดตั้งสายดิน เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

          หมั่นตรวจสอบตู้น้ำดื่มให้อยู่ในสภาพปลอดภัย

          สอนให้เด็กใช้ตู้น้ำดื่มอย่างถูกวิธี โดยแนะนำให้เด็กใช้แก้วรองน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่ม แต่ห้ามใช้ปากดูดน้ำจากก๊อกตู้น้ำดื่มอย่างเด็ดขาด เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดได้

สนามกีฬา

          สถานที่วิ่งเล่น และเล่นกีฬาของเด็ก ๆ หากมีหลุมมีบ่อ เด็ก ๆ อาจสะดุดหกล้มจนบาดเจ็บได้ ดังนั้น ต้องคอยหมั่นตรวจสอบสภาพสนามอยู่เสมอ ไม่ให้มีเศษวัสดุของมีคมตกอยู่ในพื้นที่ พร้อมกับดูแลรักษาพื้นสนามไม่ให้หญ้าขึ้นรก เพราะหญ้ารกอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ

อาคารที่กำลังก่อสร้าง

          หากสถานศึกษาไหนกำลังมีการก่อสร้างอาคารภายในบริเวณ ควรจัดทำรั้วกั้นหรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้างไว้ด้วย พร้อมกับติดตั้งป้าย และประกาศเตือนไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นในบริเวณดังกล่าว เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระจก กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น 

บันได

          เด็กหลายคนชอบวิ่งเล่นขึ้น-ลงบันได ดังนั้น โรงเรียนต้องสอนเด็กไม่ให้วิ่งเล่นบริเวณบันได เพราะอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังต้องซ่อมแซมบันไดให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะบันไดที่เป็นไม้ เพราะบันไดไม้อาจถูกปลวกกัดกินจนผุพัง ถ้าเด็กไปยืนพิง หรือกระโดดเล่นบนบันได อาจตกบันไดได้รับบาดเจ็บ

เครื่องใช้ไฟฟ้า

          เครื่องใช้ไฟฟ้าก็เป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายคนหลงลืมไป โดยเฉพาะปลั๊กไฟที่มีการติดตั้งอยู่ทั่วโรงเรียน ดังนั้น ต้องป้องกันไม่ให้เด็กได้รับอันตรายจากไฟดูด ดังเช่น 

          ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

          ติดตั้งปลั๊กไฟให้อยู่ในระดับที่พ้นจากมือเด็ก แต่หากปลั๊กไฟอยู่ในระดับที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กใช้นิ้วแหย่ปลั๊กไฟเล่น ซึ่งอาจทำให้ถูกไฟดูดเสียชีวิตได้

          หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต 
สระน้ำหรือบ่อน้ำ

          หากโรงเรียนใดมีสระน้ำหรือบ่อน้ำ ควรทำรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ และติดตั้งป้ายเตือนอันตรายจากการเล่นบริเวณริมน้ำไว้ด้วย เพื่อป้องกันเด็กลงไปเล่นน้ำ หรือพลัดตกน้ำเสียชีวิต

ประตูโรงเรียน

          ส่วนใหญ่แล้วประตูทางเข้าโรงเรียนจะมีขนาดใหญ่และหนัก นี่จึงเป็นจุดอันตรายที่เด็ก ๆ ทุกคนต้องเดินผ่าน ดังนั้นควรตรวจสอบตามนี้

          ต้องตรวจสอบว่าอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ โดยเฉพาะรางและล้อเลื่อน มีน็อตยึดติดอย่างแน่นหนาหรือไม่

          หากชำรุด หรือผุกร่อน ต้องแจ้งให้ช่างผู้ชำนาญการมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที

          ทำเสาครอบประตู เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก

          ผู้ดูแลต้องดูแลเด็กไม่ให้ปีนป่ายประตูและกำแพงโรงเรียน เพื่อป้องกันการพลัดตกหรือถูกประตูและกำแพงล้มทับ


          จะเห็นว่าทั้ง 10 จุดเสี่ยงอยู่รอบตัวเด็ก ๆ ทั้งนั้นเลย เช่นนี้แล้ว โรงเรียนต้องดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้ใช้ชีวิตการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนอย่างมีความสุข และสร้างความสบายใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองด้วยค่ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 จุดเสี่ยงในโรงเรียน ที่มักเกิดอุบัติภัยกับเด็ก อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2557 เวลา 15:02:53 60,182 อ่าน
TOP