x close

วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันที่ 5 เม.ย.


          วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน โดยประวัติวันเช็งเม้ง เป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน ซึ่งวันนี้มีตำนาน ความหมาย ความสำคัญ วิธีทำความสะอาดฮวงซุ้ย หรือวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้างในวันเช็งเม้ง เรามีข้อมูลมาฝาก

วันเช็งเม้ง
   
            วันเช็งเม้ง หรือเทศกาลเช็งเม้ง เป็นการทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษ โดยถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฌาปนกิจ เนื่องจากตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า "สร้างหลุมศพไม่ต้องสร้างเนินสุสาน" ดังนั้นจึงไม่เคยมีบันทึกถึงการทำความสะอาดเนินสุสานมาก่อน

            แต่ในเวลาต่อมาเมื่อเริ่มมีความนิยมสร้างหลุมศพโดยสร้างเนินสุสานด้วยในภายหลัง จึงทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้ที่สุสานเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเพณีที่ละเว้นไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และในวันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน

            ส่วนความเป็นมาของ วันเช็งเม้ง ตลอดจนตำนานหรือการประกอบพิธีกรรมในวันเช็งเม้งจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ลองไปดู ประวัติวันเช็งเม้ง ประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน ที่เรานำมาฝากกันเลย

ตำนานการเกิดวันเช็งเม้ง


            ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้น หนีภัยออกนอกแคว้นไปมีชีวิตตกระกำลำบากนอกเมือง โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้

            เจี้ยจื่อทุยมีจิตใจเมตตาถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของเขาเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิต ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นนาม จิ้นเหวินกง และได้สถาปนาตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือพระองค์ แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงเพิ่งนึกขึ้นได้จึงต้องการตอบแทนบุญคุณเจี้ยจื่อทุย โดยจัดหาบ้านให้เขาและมารดาเข้ามาอยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่ทว่าเจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ

            จิ้นเหวินกงได้คิดแผนเผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีคำสั่งให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ และให้รับประทานแต่อาหารสด ๆ และเย็น ๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหันสือเจี๋ย ซึ่งเป็นวันสุกดิบก่อนวันเช็งเม้ง 1 วัน

            เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีวันหันสือเจี๋ยต่อเนื่องไปจนถึงวันเช็งเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเช็งเม้งวันเดียว การไหว้เจี้ยจื่อทุยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นการไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษแทน

ความหมาย วันเช็งเม้ง


            ชิงหมิง (qing-ming) หรือ เชงเม้ง หรือ เช็งเม้ง เป็นชื่อของสารท (1 ปี มี 24 สารท) โดยคำว่า "เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และคำว่า "เม้ง" หมายถึง สว่าง เมื่อนำคำว่า "เช็งเม้ง" มารวมกันแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ 

            ทั้งนี้ วันเช็งเม้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

วันเช็งเม้ง
ภาพจาก : Chaloemwut / Shutterstock.com

วันเช็งเม้ง


            สำหรับวันเช็งเม้งในประเทศจีนนั้น จะเริ่มต้นช่วงวันที่ 4-5 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 19-20 เมษายน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศจะเริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอย ๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง และด้วยบรรยากาศดังกล่าวนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ "เช็งเม้ง"

            ขณะที่ประเทศไทย เทศกาลเช็งเม้งอยู่ในช่วงวันที่ 4-5 เมษายน ของทุกปี และช่วงเวลาในเทศกาลเช็งเม้งมี 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน โดยให้นับวันก่อนถึงเทศกาลเช็งเม้ง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน

            แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจร จึงทำให้มีการขยายช่วงเวลาเทศกาลเช็งเม้งในประเทศไทย ให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ คือ ช่วงระหว่างวันที่ 15 มีนาคม - 8 เมษายน ขณะที่ภาคใต้ อาทิ จังหวัดตรัง จะจัดเทศกาลเช็งเม้งเร็วกว่าที่อื่น 1 วัน คือ วันที่ 4 เมษายน ของทุกปี

ความสำคัญวันเช็งเม้ง


            วันเช็งเม้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของชาวจีน โดยก่อนวันพิธีจะมีการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ

            หลังจากนั้นในวันพิธีจะมีการเซ่นไหว้อาหารหวานคาวที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ และเป็นการส่งอาหารให้ทุกปี เพื่อมิให้อดอยากเมื่อไปอยู่อีกภพหนึ่ง คนจีนส่วนใหญ่จะหยุดงานมาร่วมพิธีกันพร้อมหน้าพร้อมตา หรือถือว่าเป็นวันพบญาติของคนจีนก็ว่าได้

ประเพณีการทำความสะอาดฮวงซุ้ย


            เริ่มมาจากการที่พระเจ้าฮั่นเกาจู ปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นแล้ว เกิดระลึกถึงบุญคุณบิดา มารดาที่เสียชีวิตไปแล้วที่บ้านเกิด จึงเร่งรัดกลับบ้านเกิด แต่ทว่าป้ายชื่อของฮวงซุ้ยแต่ละที่เลือนรางเต็มทนจากสงคราม พระเจ้าฮั่นเกาจูจึงอธิษฐานต่อสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นบนฟ้าแล้วให้ลมพัดปลิวไป ถ้ากระดาษตกที่ฮวงซุ้ยไหนถือว่าเป็นฮวงซุ้ยของบิดามารดาของพระองค์ และเมื่อดูป้ายชื่อชัด ๆ แล้วก็พบว่าเป็นฮวงซุ้ยของบิดามารดาพระองค์จริง ดังนั้น ประเพณีการทำความสะอาดฮวงซุ้ยและโปรยกระดาษสีบนหลุมศพก็เริ่มมาจากตรงนี้เอง

ประเพณีปฏิบัติในวันเช็งเม้ง


การทำความสะอาดสุสาน


            ลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียวหรือสีทองขลิบเขียว ขณะที่ป้ายชื่อคนเป็นให้ลงสีแดง แต่ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น

            สำหรับการตกแต่งสุสานนั้นอาจใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง โดยสุสานคนเป็นให้ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตายสามารถใช้สายรุ้งสีอะไรก็ได้ แต่ห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่าเป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อถือว่าเป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว

กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล


การจัดวางของไหว้ (เรียงลำดับจากป้าย)


            - เทียน 1 คู่ + ธูป 5 ดอก (อาจปักลงบนฟักได้)

            - ชา 5 ถ้วย

            - เหล้า 5 ถ้วย

            - ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ควรงดเนื้อหมู เพราะเคยมีปรากฏว่าเจ้าที่เป็นอิสลาม)

            - กระดาษเงิน กระดาษทอง
  

กราบไหว้ ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ บรรพบุรุษ


            การจัดวางของไหว้

            - ชา 3 ถ้วย

            - เหล้า 3 ถ้วย

            - ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ของไหว้ ตามความเชื่อประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นขนมถ้วยฟู)

            - กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ

            - เทียน 1 คู่ + ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก

            หมายเหตุ : ห้ามวางของตรงแท่นหน้า เจี๊ยะปี (ป้ายหินที่จารึกชื่อบรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้า-ออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่เก้าอี้นั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

อาหารที่ใช้ในการประกอบพิธีเช็งเม้ง มีรายละเอียดดังนี้


            1. ไก่ต้ม 1 ตัว

            2. หมูสามชั้นต้ม 1 ชิ้น (โดยประมาณขนาด 1/2 กิโลกรัมขึ้นไป)           

            3. เส้นบะหมี่สด

            4. ขนม 3 อย่าง คือ เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า (ขนมกู้)

            5. ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย)

            6. สับปะรด 2 ลูก (ใช้ทั้งก้านและหัวจุก)
   
            7. น้ำชา

            8. ธูปเทียน, กระดาษเงิน, กระดาษทอง, ประทัด

วันเช็งเม้ง

การทำพิธีเช็งเม้ง


            ให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้ และเมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการแย่งชิง (ผู้ตีวงล้อมต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น)

            ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงกินอาหารกันต่อ เพื่อแสดงความสมัครสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ

วันเช็งเม้ง
ภาพจาก : minniemayme / Shutterstock.com

ประโยชน์ของการไปไหว้บรรพบุรุษวันเช็งเม้ง


            1. เพื่อรำลึกถึงคุณความดีที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ ได้ดูแลเรา ลำบากเพื่อให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต "เราสบาย เพราะพ่อแม่ บรรพบุรุษลำบาก"

            2. เป็นศูนย์รวมตระกูล ผังตระกูล โดยทั่วไปการไหว้ที่ดีที่สุดต้องนัดหมายไปไหว้พร้อมกัน (วันและเวลาเดียวกัน) ทำให้ลูกหลานที่อยู่กระจายกันไปได้มาพบปะสังสรรค์กันพร้อมหน้า เป็นการสร้างความสามัคคี สร้างจุดศูนย์รวม กล่าวได้ว่าเป็น "วันรวมญาติ"

            3. เป็นกรอบถนนชีวิตของลูกหลานทุกคน "พ่อแม่ตายแล้ว ยังกำหนดชะตาชีวิตลูกหลาน" เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เน้นความกตัญญูที่มีต่อบุพการี และลูกหลานควรปฏิบัติตาม

            4. เป็นการเตือนสติตน ความตายต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน
 
            อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันรูปแบบการไหว้วันเช็งเม้งของชาวจีนในแต่ละพื้นที่จะต่างกันออกไป แต่เชื่อว่า ความหมายของ "วันเช็งเม้ง" ยังคงไว้ในเรื่องของการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่ลูกหลานรุ่นหลังให้เห็นถึงประวัติและคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีเช่นทุกวันนี้

     
เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง ปฏิทินวันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และ วันสำคัญ 2567 เพิ่มเติม


ขอบคุณข้อมูลจาก : chula.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันเช็งเม้ง 2567 ตรงกับวันที่ 5 เม.ย. อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2567 เวลา 15:04:26 283,379 อ่าน
TOP