x close

ถวัลย์ ดัชนี กับผลงานบ้านดำ เชียงราย มรดกทรงคุณค่าทางศิลปะ


พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thawan-duchanee.com, รายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์โดย คุณเรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            ถวัลย์ ดัชนี กับผลงานบ้านดำ หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย ที่ทุ่มเทสร้างนานกว่า 25 ปี จนกลายเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางศิลปะ

            นับเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ต่อวงการศิลปะของไทย เมื่อนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 74 ปี ทิ้งไว้เพียงผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจ ที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางงานศิลปะให้อยู่กับคนไทยตลอดกาล

            สำหรับหนึ่งในผลงานล้ำค่าที่ อ.ถวัลย์ ได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกอันทรงคุณค่า คือ "บ้านดำ" หรือ "พิพิธภัณฑ์บ้านดำ" ในตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่นอกจากจะเป็นบ้านพักอาศัยในปัจจุบันและสถานที่ทำงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งรวมงานศิลปะอันทรงคุณค่า รวมถึงของสะสมล้ำค่าต่าง ๆ มากมายของ อ.ถวัลย์

            โดย อ.ถวัลย์ จบปริญญาบัณฑิตเกียรตินิยม จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จบปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ปริญญาเอกด้านอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ โดยเป็นหมู่อาคารจำนวน 42 หลัง ในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ อาคารเหล่านั้นสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือที่ออกแบบสร้างสรรค์โดย อ.ถวัลย์ อันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีโทนสีดำเป็นหลัก

            ภายในอาคารแต่ละหลังใช้เป็นที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่แสดงความเป็นตัวตนของ อ.ถวัลย์ ไว้อย่างชัดเจน อาทิ งานไม้แกะสลัก ศิลปะจากเขาสัตว์ หัวควาย เขาควาย กระดูกสัตว์ หนังเสือ ศิลปะงานจัดวางงานไม้แกะสลักอันงดงาม งานปูนปั้นอันวิจิตร งานศิลปะที่แฝงไว้ด้วยปรัชญา และห้องน้ำที่ตกแต่งอย่างวิจิตรแปลกตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบ้านดำแกลลอรี่ เป็นสถานที่จัดแสดงภาพวาดและผลงานศิลปะของ อ.ถวัลย์ ดัชนี รวมถึงมีรอยฝ่ามือประทับของ อ.ถวัลย์ ให้ได้ชม

            ส่วนผลงานภาพวาด ได้แก่ ผลงาน มารผจญ 1 และ มารผจญ 2 ขนาดใหญ่ความยาว 3 เมตร ซึ่งแสดงไว้ที่อาคารส่วนหน้าของบ้านดำ โดยภาพนี้เป็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตที่อาจารย์ถวัลย์ได้วาดขึ้น



อ.เฉลิมชัย อาลัย ถวัลย์ ดัชนี

            ขณะที่ทางด้าน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เปิดใจว่า "การจากไปของอาจารย์ถวัลย์ หรือพี่หวันนั้นทำให้ผมรู้สึกเสียใจ เพราะพี่หวันถือเป็นศิลปินแห่งชาติที่มีฝีมือสูงส่งยิ่งใหญ่มากระดับโลกของจริงและถือเป็นศิลปินแห่งชาติตัวจริงเสียงจริงที่ผมและศิลปินทั้งหลายคนให้ความสนใจและเคารพ โดยผลงานของอาจารย์ถวัลย์ไม่ใช่มีให้เฉพาะคนไทยแต่ให้กับคนทั้งโลก ดังนั้นจึงถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และผมบอกได้เลยว่าบุคคลคนนี้ยิ่งใหญ่จริง ๆ เพราะได้นำผลงานทางศิลปะของตนเองไปสู่ซีกโลกทุกซีกโลกได้"




พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย

พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จ.เชียงราย


            สำหรับประวัติ นายถวัลย์ ดัชนี ปัจจุบันอายุ 74 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต. สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม) นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี


            ประวัติการศึกษา

            พ.ศ. 2485–2491 ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

            พ.ศ. 2492–2498 ศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

            พ.ศ. 2498–2500 ศึกษาระดับครูประถมการช่าง (ปปช.) จากโรงเรียนเพาะช่าง

            พ.ศ. 2500–2505 ศึกษาปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

            พ.ศ. 2506–2412 ศึกษาระดับปริญญาโท ทางด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (RIJKS AKADEMIE VAN BEELDEN DE KUNSTEN AMSTERDAM NEDERLAND)


            ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

            นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียวประเทศญี่ปุ่นและแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย

            เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2500 ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง

            โดย ถวัลย์ ดัชนี จัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา 5 ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

            ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ดังนี้

            พ.ศ. 2497 นิทรรศการศิลปะของโรงเรียนเพาะช่าง

            พ.ศ. 2498 นิทรรศการแสดงของนักเรียนเพาะช่างที่เด่นด้านจิตรกรรม ณ หอศิลปแห่งชาติโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

            พ.ศ. 2499 นิทรรศการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ, นิทรรศการแสดงภาพของนักเรียน โรงเรียนเพาะช่างประจำปี, แสดงเดี่ยวงานจิตรกรรม ประติมากรรมนูนต่ำ เครื่องหนัง เครื่องไม้ไผ่ เครื่องโลหะ ณ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย, ร่วมแสดงผลงานจิตรกรรมไทยกับอินสนธิ์ วงสาม ปรีชา บางน้อย ณ ทำเนียบทูตไทย นายบุณย์ เจริญชัย เอกอัครราชทูตไทย

            พ.ศ. 2508 กรุงปารีส (ปัจจุบันกระทรวงต่างประเทศ นำภาพเขียนขนาดใหญ่จากประเทศฝรั่งเศสมาประดับไว้ที่กรมพิธีการทูต กรุงเทพฯ)

            พ.ศ. 2509 นิทรรศการแสดงกลุ่มนักศึกษาภายหลังปริญญาตรี ของราช วิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม, นิทรรศการมหกรรมศิลปไทย หอศิลป กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

            พ.ศ. 2510 นิทรรศการแสดงเดี่ยว ณ หอศิลปแห่งชาติร่วมสมัย จัดโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม

            พ.ศ. 2511 นิทรรศการแสดงเดี่ยวหอศิลปแห่งชาติ กรุงอัมสเตอร์ดัม

            พ.ศ. 2512 เดินทางกลับประเทศไทยแวะศึกษาจิตรกรรมที่ประเทศอิตาลีระยะหนึ่งและได้ก่อสร้างบ้านพักส่วนตัวครั้งแรกที่บ้านเกิด จังหวัดเชียงราย, จัดนิทรรศการการงานศิลปะรวบยอด เพาะช่าง ศิลปากร อัมสเตอร์ดัมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม

            พ.ศ. 2514 นิทรรศการแสดงเดี่ยว สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ, นิทรรศการแสดงเดี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นิทรรศการแสดงเดี่ยว บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2515 นิทรรศการแสดงเดี่ยว ศูนย์วัฒนธรรมเยอรมัน กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2516 นิทรรศการแสดงเดี่ยว ศูนย์วัฒนธรรมเยอรมัน ร่วมกับ บริติชเคาน์ซิล ที่บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2517 นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลปแห่งชาติ ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ศูนย์การศึกษาตะวันตก - ตะวันออก มหาวิทยาลัยฮาวาย, นิทรรศการแสดงเดี่ยว การแสดงศิลปกรรมครั้งแรก ที่ได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ณ หอศิลปแห่งชาติ

            พ.ศ. 2520 เยรูซาเล็ม อิสราเอล หอศิลปเมืองอายน์คาเร็ม อิสราเอล และเป็นแขกพำนัก ณ มิชเคนอทชาอานานิม อาศรมรังสรรค์สันติภาพ เยรูซาเร็ม อิสราเอล

            พ.ศ. 2521 นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลป เมืองซานดาม เนเธอร์แลนด์, นิทรรศการแสดงเดี่ยว พิพิธภัณฑ์ศิลปแห่งชาติ ซูริค สวิตเซอร์แลนด์, นิทรรศการแสดงเดี่ยว หอศิลป กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์

            พ.ศ. 2525 นิทรรศการแสดงเดี่ยว บริติชเคาน์ซิล กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2526–2527 แสดงกลุ่มศิลปกรรมไทย ทูบิงเก้น เยอรมัน

            พ.ศ. 2529–2530 เป็นผู้แทนจากประเทศไทย ไปปฏิบัติงานจิตรกรรมร่วมสมัยกับ 17 ชาติในเอเชียที่กวนตัน มาเลเซีย คลับเมดแห่งมาเลเซีย, เข้าร่วมประชุมด้านจิตรกรรมที่ มาดริด สเปน, นิทรรศการแสดงเกี่ยวกับศิลปกรรมไทย สถาบันวัฒนธรรมเยอรมนี ณ นคร ซานฟรานซินโก สหรัฐอเมริกา

            พ.ศ. 2531 นิทรรศการแสดงเดี่ยว สภาศิลปกรรมไทย กับพิพิธภัณฑ์ศิลป เมืองพาซาเดน่า ณ ลอสแอนเจลิส

            พ.ศ. 2532 นิทรรศการศิลปกรรมไตยวน การแสดงกลุ่มศิลปะของศิลปินล้านนา จากเชียงราย 5 คน ครั้งแรก ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2536–2537 แสดงนิทรรศการเดี่ยวที่หอศิลป มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย

            พ.ศ. 2540 เป็นตัวแทนศิลปินไทย 1 ใน 10 ไปแสดงงานศิลปะเปิดสถานทูตไทยใหม่ที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นศิลปินไทยตัวแทนคัดเลือกผู้เดียวจากสหประชาชาติ แสดงรูปที่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก

            พ.ศ. 2541 ออกแบบและร่วมมือกับจังหวัดเชียงรายทำตุงทองคำ ขนาดเท่าพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ

            พ.ศ. 2542 นิทรรศการเดี่ยวครบ 5 รอบ ถวัลย์ ดัชนี ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า บ้านดำ นางแล ไร่แม่ฟ้าหลวง เปิดหอศิลปส่วนตัวถวัลย์ ดัชนี โดยนักสะสมภาพชาวเยอรมัน ดร.ยอร์กี้ วิกันธ์ ประธานกรรมการ บริษัทแก้ว มึนเช่น เมืองมึนเช่น (นครมิวนิค) เยอรมนี

            พ.ศ. 2543 นิทรรศการย้อนถวัลย์ ดัชนี 60 ผลงาน 60 ชิ้น จากอายุ 16 ถึง 60 บ้านดำ นางแล เปิดหอศิลปถวัลย์ ดัชนี 1 ตึกยูคอม กรุงเทพฯ งานแสดงรวมกลุ่มจิตรกรนานาชาติ ลิสบอน พิพิธภัณฑ์ศิลปินร่วมสมัยโปรตุเกส เป็นตัวแทนจิตรกรเชียงราย เขียนรูปพลังแผ่นดิน เป็นราชพลีแก่แผ่นดินเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมแสดงในงานสล่าชาวเชียงราย สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงราย

            พ.ศ. 2544 เป็นตัวแทนจิตรกรไทยร่วมกับ 70 จิตรกร จาก 25 ชาติทั่วโลก แสดงงานศิลปะ และเป็นศิลปินในพำนักที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเลเซีย ที่เกาะลังกาวี ประสานงานกับดาโต๊ะอิบราฮิบ ฮุสเซ็น ศิลปินแห่งชาติมาเลเซีย นิทรรศการเดี่ยว พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมืองฟุกุโอกะ ถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลศิลปวัฒนธรรมแห่งอาเชียน จิตรกรคนแรกและคนเดียวในโลกตะวันออกที่ได้รับรางวัลนี้ในฐานะจิตรกร นับตั้งแต่สิบสองปีของรางวัลฟุกุโอกะ นิทรรศการแสดงเดี่ยวพุทธปรัชญาเซ็นปรากฏรูปในงานศิลปร่วมสมัยต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชินี มากาเรตเต้ เจ้าชายเฮนดริกและมกุฎราชกุมารเฟเดอริดแห่งเดนมาร์ก ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

            นอกจากการแสดงผลงานแล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ของการสร้างงานศิลปะ ถวัลย์ ดัชนี ยังมีผลงานติดตั้งแสดงถาวรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้

            พ.ศ. 2503 ภาพเขียนสีน้ำมัน 10 ภาพ ซื้อโดยพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประดับที่โรงพิมพ์สยามรัฐ, งานจิตรกรรมวิทยานิพนธ์ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซื้อโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 12 ภาพ ประดับที่สถานทูต

            พ.ศ. 2505 ไทยบูไอโนสแอร์เรส อาร์เจนตินา นครเวียนนา ออสเตรีย และนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ

            พ.ศ. 2506 นิทรรศการเดี่ยว ณ นครกัวลาลัมเปอร์ ซื้อโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง สิงคโปร์ ตามลำดับ

            พ.ศ. 2507 ผลงานวาดเส้นและจิตรกรรมขนาดใหญ่ ซื้อโดย ธนาคารเชสแมนฮัตตัน นครจาการ์ตา อินโดนีเชีย 5 ภาพ ปัจจุบันเป็นผลงานในการสะสมของโซธปี้ สิงคโปร์ ประมูลมาจากอินโดนีเซีย หนึ่งในงานกิจกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดของเอเชีย

            พ.ศ. 2508–2509 เขียนภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ประดับสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

            พ.ศ. 2510–2511 เขียนภาพประดับผนังปราสาทอาชิลล์ คลารัค คณบดีทูต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยที่เมืองโอดอง ลัวร์แอตแลนติก เมืองแองชีนีฝรั่งเศส ภาพกิจกรรม 26 ภาพ คัดเลือกเข้าแสดงนิทรรศการเดี่ยว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ สเตเดลิกซ์ นครอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เขียนภาพการกำเนิดจักรวาล สำหรับสำนักกลางคริสเตียน ประเทศไทย กรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2512–2513 มีผลงานสะสมอยู่ในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑ์ศิลปพื้นบ้าน นครฮัมบวร์ก เยอรมนี

            พ.ศ. 2515 มีผลงานเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์นครลอสแอนเจลิส เคาน์ตี้มิวเซียมและในหอศิลปแห่งซานฟรานซิสโก เบย์เอเรีย มิวเซียมจากการแสดงนิทรรศการแสดงเดี่ยวที่ฮาวายและซานฟรานซิสโก

            พ.ศ. 2517–2518 ได้รับเชิญให้เป็นจิตรกรในพำนัก ที่เยอรมนี และอังกฤษ ผลงานวาดเส้นสะสมไว้ในหลายพิพิธภัณฑ์ศิลปแห่งเยอรมนี ที่นครดือซัลดอร์ฟ บอนน์ โคโลญจน์ และมิวนิค ตลอดจนงานวาดเส้นในคฤหาสน์ส่วนตัวของอดีตผู้อำนวยการบริติชเคาน์ซิล ประจำประเทศไทย มร.มัวรีช คาร์คิฟ สโนเฮาส์ ออกซฟอร์ด

            พ.ศ. 2519–2520 ผลงานสะสมในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน พิพิธภัณฑสถานเมืองซานดาม เนเธอร์แลนด์ เขียนภาพ ประดับขนาดใหญ่ทั้งห้องในปราสาท ครอททอร์ฟ เยอรมนี

            พ.ศ. 2521 ผลงานจิตรกรรมซื้อโดย พิพิธภัณฑ์ศิลปร่วมสมัยนานาชาติ ที่เมืองวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

            พ.ศ. 2523 เขียนภาพประดับขนาดใหญ่ ประดับบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย

            พ.ศ. 2525 ผลงานวาดเส้นสามรูปใหญ่ เป็นงานสะสมในธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ออกมาเป็นการ์ดวันวิสาขบูชา โดยศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล

            พ.ศ. 2527–2528 ออกแบบตราพระราชลัญจกร ตำหนักแกรนด์ซัน ให้แก่จอห์น เดอซาลิส เคาน์ เดอ ซาลิส ลอนดอน อังกฤษ เขียนภาพประดับอีกห้องในปราสาทครอททอร์ฟ เยอรมนี

            พ.ศ. 2529–2530 ออกแบบตราสารให้แก่ เคาน์ ออฟเปอรสคอรฟ ปราสาทซอนเนนพลาส นครซูริค เขียนภาพกิจกรรมขนาดใหญ่ประดับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำศาลาไม้ สมาคมไทย-เยอรมัน ที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน กรุงเทพฯ ทำศาลาไม้ในสวนหลวง ร.9 ศาลาพุฒ - จันทร์ สถาปัตยกรรมล้านนา

            พ.ศ. 2531–2532 ผลงานสะสมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาซาเดน่า สหรัฐอเมริกา

            พ.ศ. 2533 ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นจิตรกรในพำนักและนิทรรศการศิลปกรรมเดี่ยวนับเป็นจิตรกรคนที่สามแห่งเอเชียต่อจากจีน และฟิลิปปินส์ ณ เมืองฟูกุโอกะ พิพิธภัณฑ์ศิลปร่วมสมัยและที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น นครโตเกียว งานจิตรกรรมห้าชิ้น สะสมโดยพิพิธภัณฑ์ฟูกุโอกะ

            พ.ศ. 2534 ได้รับเชิญจากปราสาทอัลสตริมมิค นครโคเบล็นซ เยอรมนีเขียนภาพภูมิจักรวาลตามไตรภูมิของปกิรณัมไทย และเป็นจิตรกรในพำนัก มหาวิทยาลัยศิลปะนานาชาติ ที่นครเทรีย เยอรมนี

            พ.ศ. 2535 ได้รับเชิญจากรัฐบาลตุรกี ให้เป็นตัวแทนศิลปินไทย สาขาจิตรกรรม ไปร่วมงานศิลปกรรมร่วมสมัย ที่นครอิสตันบูล อัลทานญ่า และดูงานสถาปัตยกรรมในกรีก โรม และอียิปต์

            พ.ศ. 2536 ได้รับเชิญจากรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นจิตรกรในพำนักของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เดินทางไปทัศนศึกษาทั่วทวีปออสเตรเลีย ตั้งแต่อลิชสปริง ซิดนีย์ แคนเบอร่า ยูลาล่า เพิร์ท ไปจนถึงอาร์เนมแลนด์

            พ.ศ. 2537 เป็นจิตรกรในพำนักที่วัดโอคัง วัดทาชิงลังโป มหาวิหารเคียน เชชิกัตเชและมหาวิหารไปทาละ ประเทศทิเบต พำนักบนเทือกเขาหิมาลัย บนยอดเขาภูมัจฉา ปูเร เนปาล เพื่อศึกษาภาพเขียนจิตรกรรม ตันตริกของพุทธศาสนานิกายมหายาน และศึกษาปฏิจสมุปบาทแบบมหายาน

            พ.ศ. 2538 เขียนภาพประดับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นงานสะสมถาวรประจำธนาคารได้รับเชิญจากธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์ รังสรรค์งานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย (15 เมตรx 25 เมตร) ประดับที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สาธรซิตี้ เรียลตี้ และสร้างงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม แกะสลักไม้ ศิลาศิลป์สู่ภูสรวงประดับที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน

            พ.ศ. 2539 เริ่มงานสะสมถาวรกับบริษัทยูคอมประเทศไทย ผลงานและชื่อเสียงของถวัลย์ ดัชนี ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากเอกสารสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมายสิ่งพิมพ์ดังกล่าว อาทิ

            1. ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรรมไทยสากลวิญญาณตะวันออก (พิมพ์ 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน) โดยกิลเบิร์ท บราวน์สโตน

            2. ภาพร่างเส้นใยวิญญาณ ถวัลย์ ดัชนี (ภาษาเยอรมัน) โดยอูลลิซ ชาร์คอสสกี้

            3. งานจิตรกรรม งานแกะไม้ งานภาพลายเส้นของถวัลย์ ดัชนี พิมพ์ที่สหรัฐอเมริการะหว่าง พ.ศ. 2509 – 2512 ยุคปลายสมัยศิลปากร – อัมสเตอร์ดัม

            4. หนังสืออ้างอิงชีวประวัติเล่มแรกของจิตรกรไทยที่มีชีวิตในประวัติศาสตร์วงการศิลปะลายเส้น พุทธปรัชญานิกายหินยาน ทศชาติชาดก โดย ดร.เคล้าส์ เว้งค์

            5. ชีวิตและงานของถวัลย์ ดัชนี ระหว่าง พ.ศ. 2505 - 2535 (ภาษาอังกฤษ) โดย รัสเซล มาร์คัสฯลฯ


            ผลงานเผยแพร่ในสื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์หลายรายการ ดังนี้

            1. ภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องแรกโดยยูซิสแห่งประเทศไทย 2505 ภาพยนตร์สารคดีศิลปร่วมสมัย ปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซ็น 2512 สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน มิวนิค เยอรมนี

            2. ภาพยนตร์เสี้ยวรังสรรค์ของถวัลย์ ดัชนี โดยบรรจง โกศัลวัฒน์ อำนวยการสร้างโดย สฤษฏิเดช สมบัติพานิช 2518

            3. ภาพยนตร์สารคดี ศิลปวัฒนธรรม ทีวีเยอรมันจากนครโคโลญจน์ เยอรมนี 2528 เรื่องราว รูปเขียน สัญลักษณ์ ความหมาย ปรัชญาและพลังรังสรรค์ของถวัลย์ ดัชนี ในปราสาท ครอททอร์ฟ เยอรมนี

            4. ภาพยนตร์สารคดี ศิลปวัฒนธรรมไทยแลนด์พาโนรามา โดย บีบีซี อังกฤษ 2532 เรื่องราวการนำเสนอ พลังเนรมิต ความฉับพลันของสภาวะจิต ความขัดแย้งระหว่างอุปาทานขันธ์สมมุติสัจจะและปรมัติสัจจะ

            5. ภาพยนตร์สารคดีชีวิต ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรในพำนักมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย 2537 เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัย สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ความคิดศรัทธา และความเห็นชอบในอริยมรรคของ ถวัลย์ ดัชนี

            6. รายการชีพจรลงเท้า 3 ครั้ง หนึ่งในร้อย ที่นี่กรุงเทพ ศิลปวัฒนธรรมบันเทิง มาลัยเก้าเกียรติยศ ตลอดจนรายการหลากหลายกับงานศิลปะ บทกวีรวมเล่มภาษาอังกฤษ โดยถวัลย์ ดัชนี และเพื่อนทั้งสาม อดุล เปรมบุญ. ประพันธ์ ศรีสุตา. ผดุงศักด์ ขัมภรัตน์ 2512

            7. บทความเกี่ยวกับศิลปะวิจารณ์ ของถวัลย์ ดัชนี ในดำแดงปริทัศน์ของโรงเรียนเพาะช่าง 2513–2515

            8. บทวิจารณ์งานศิลปกรรมบัวหลวง ในฐานะกรรมการตัดสินศิลปกรรมระหว่างปี 2528–2533 จากนั้นได้มอบให้ผู้อื่นทำหน้าที่เขียนบทวิจารณ์แทนรางวัลและเกียรติคุณที่เคยได้รับ


            นายถวัลย์ ดัชนี ได้รับรางวัลทางศิลปะ ดังนี้

            พ.ศ. 2503 รางวัลที่ 2 การประกวดศิลปกรรม ณ วังสวนผักกาด

            พ.ศ. 2505 รางวัลที่ 1 การประกวดศิลปกรรม จัดโดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ

            พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

            พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะภาคตะวันออกไปแสดงผลงานที่นิวยอร์ก ปารีส โรม ลิสบอน แคนเบอร่า และโตเกียว ตามลำดับ

            พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกจาก FUKUOKA ASIAN CULTURE PRIZE COMMITTEE ให้รับรางวัล Arts and Culture Prize ค.ศ. 2001






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถวัลย์ ดัชนี กับผลงานบ้านดำ เชียงราย มรดกทรงคุณค่าทางศิลปะ อัปเดตล่าสุด 4 กันยายน 2557 เวลา 13:36:24 44,988 อ่าน
TOP