ขนมไหว้พระจันทร์
ของไหว้พระจันทร์ 2559 ต้องเตรียมอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องมีขนมไหว้พระจันทร์ด้วย แล้ววิธีไหว้พระจันทร์ต้องทำอย่างไรบ้างล่ะ เรามีคำตอบ
วันไหว้พระจันทร์ เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานนับพันปี โดยมีความเชื่อว่าวันไหว้พระจันทร์คือวันที่ครอบครัวจะได้อยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจีน ซึ่งวันไหว้พระจันทร์ 2559 นี้ ตรงกับวันที่ 15 กันยายน 2559
ทั้งนี้แม้วันไหว้พระจันทร์จะเป็นเทศกาลของชาวจีน แต่ปัจจุบันก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ร่วมทำพิธีไหว้พระจันทร์ด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ ดังนั้นหากปีนี้บ้านไหนมีความตั้งใจจะไหว้ขอพรจากพระจันทร์อยู่ละก็ ต้องเตรียมของไหว้ต่าง ๆ ให้พร้อมดังนี้ค่ะ
ของไหว้พระจันทร์ ใช้อะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปแล้วในการไหว้พระจันทร์จะใช้ของไหว้คล้ายกับการไหว้เจ้าทั่วไป คือ
- ธูป เทียน กระถางธูป
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
- ดอกไม้สด 1 คู่
- น้ำชา
- น้ำบริสุทธิ์
- ผลไม้ต่าง ๆ โดยนิยมใช้ผลไม้ที่มีชื่อและมีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น ทับทิม หมายถึงลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง, แอปเปิล หมายถึงความสงบสุข, องุ่น หมายถึงความเพิ่มพูน, ส้ม หมายถึงความเป็นมงคล, สาลี่ หมายถึง ขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต รวมทั้งส้มโอ แต่ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียางหรือมีหนาม
- อาหารเจชนิดแห้ง เช่น เห็ดหอม วุ้นเส้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีของไหว้ที่สำหรับใช้ในพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ คือ
- ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง ขนมโก๋สีขาว ควรเลือกที่มีรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์
- โคมไฟ สำหรับจุดไฟเปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว
- ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ตลับแป้ง น้ำหอม อันเป็นการสื่อว่ามีเสน่ห์สวยงามเหมือนพระจันทร์ที่เปรียบเป็นเพศหญิง
- อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
*หมายเหตุ : บางตำราอาจระบุให้จัดของไหว้เป็นผลไม้ 5 ชนิด ขนมหวาน 5 ชนิด อาหารเจ 5 ชนิด แต่ในบางตำราอาจระบุให้ใช้เลข 4 ซึ่งเป็นเลขคู่ โดยจัดของไหว้เป็นผลไม้ 4 ชนิด ขนมหวาน 4 ชนิด อาหารเจ 4 ชนิด ซึ่งก็แล้วแต่ศรัทธา
ไหว้พระจันทร์ใช้ธูปกี่ดอก ?
โดยส่วนใหญ่ตำราต่าง ๆ มักแนะนำให้จุดธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอกก็ได้ โดยมีคำแนะนำว่า หากไหว้ด้วยผลไม้ 5 ชนิด ก็ควรใช้ธูป 5 ดอก แต่ถ้าบ้านไหนใช้ธูปพิเศษ เช่น ธูปมังกรก็จุดธูปดอกใหญ่ดอกเดียวได้
พิธีไหว้พระจันทร์ ต้องทำอะไรบ้าง ?
ก่อนหน้านี้ ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าพระจันทร์ถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้นจึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นกัน แต่มักให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้คนแรก ซึ่งในการไหว้พระจันทร์จะต้องทำพิธีดังนี้
1. ไหว้เจ้าในช่วงเช้า จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
2. ไหว้บรรพบุรุษ จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
3. ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ เมื่อดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า
สำหรับสถานที่ไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำควรเลือกที่กลางแจ้ง อาจเป็นลานบ้าน หน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้ ตั้งโต๊ะทำซุ้มต้นอ้อยให้เสร็จเรียบร้อยในช่วงพระอาทิตย์ตกดินหรือตอนหัวค่ำ ก่อนพระจันทร์จะลอยสูงเกินขอบฟ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะก่อนที่พระจันทร์จะเลยศีรษะไป หรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีควรนำของไหว้มาทาน โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ที่ควรนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และควรแบ่งให้แต่ละชิ้นมีขนาดเท่ากัน เพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนอาหารอื่น ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องทานทั้งหมด อาจเก็บไว้บางส่วน หรือนำไปแจกญาติ ๆ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากบ้านไหนไม่สะดวกไหว้พระจันทร์ทั้ง 3 เวลา ก็สามารถเลือกไหว้พระจันทร์เฉพาะตอนค่ำ หรือหากไม่มีของไหว้ชุดใหญ่ก็สามารถใช้ของไหว้ชุดเล็ก โดยเน้นขนม ผลไม้ รวมทั้งของใช้ส่วนตัวผู้หญิงมาร่วมไหว้ด้วยได้เช่นกัน
บทสวดพระคัมภีร์แม่พระจันทร์
บทสวด "พระคัมภีร์แม่พระจันทร์"
ไถ่ อิม ผ่อ สัก เฮี่ยง ตัง ไล้
โชย เต๊ง ตี่ เง็ก กิ๋ว เต่ง ไค
จับ บ่วง โป้ย โซย จู ผ่อ สัก
จู ฮุก ผ่อ สัก เหลียง เปียง ไป๊
จู จุง ฮุก เก่ง บ่อ ฮุ้ง ตี่
ฉุก จุ้ย โน้ย ฮวย หมั๋ว ตี่ ไค
ท้าว ตั่ว ฉีก จั๊ง จู ป้อ ถะ
พั้ว ซอ สี่ ไก่ งั้ง กวง เม็ง
เจก ฮุก ป่อ ตับ ที ตี่ อึง
หยี่ ฮุกป่อ ตับ แป๋ บ้อ อึง
ต่อ แซ แป่ บ้อ เจ็ง ฮก ซิ่ว
ก่วย สี่ แป่ บ้อ จ๋า เถี่ยว แซ
นำ มอ ฮุก นำ มอ หวบ
นำ มอ ออ นี ถ่อ ฮุก
ที ล๊อ ซี้ง ตี่ หล่อ ซี้ง
นั้ง หลี่ หลั่ง หลั่ง หลี่ ซิง
เจก เฉียก ใจ เอียง ฮ่วย อุ่ย ติ๊ง
อู่ หนั่ง เนี่ยม ติ๊ก ฉีก เพียง ไถ่ อิม เก็ง
แซ ซี่ ปุก ตะ ตี่ เง็ก มึ้ง
โชย เต๊ง ตี่ เง็ก กิ๋ว เต่ง ไค
จับ บ่วง โป้ย โซย จู ผ่อ สัก
จู ฮุก ผ่อ สัก เหลียง เปียง ไป๊
จู จุง ฮุก เก่ง บ่อ ฮุ้ง ตี่
ฉุก จุ้ย โน้ย ฮวย หมั๋ว ตี่ ไค
ท้าว ตั่ว ฉีก จั๊ง จู ป้อ ถะ
พั้ว ซอ สี่ ไก่ งั้ง กวง เม็ง
เจก ฮุก ป่อ ตับ ที ตี่ อึง
หยี่ ฮุกป่อ ตับ แป๋ บ้อ อึง
ต่อ แซ แป่ บ้อ เจ็ง ฮก ซิ่ว
ก่วย สี่ แป่ บ้อ จ๋า เถี่ยว แซ
นำ มอ ฮุก นำ มอ หวบ
นำ มอ ออ นี ถ่อ ฮุก
ที ล๊อ ซี้ง ตี่ หล่อ ซี้ง
นั้ง หลี่ หลั่ง หลั่ง หลี่ ซิง
เจก เฉียก ใจ เอียง ฮ่วย อุ่ย ติ๊ง
อู่ หนั่ง เนี่ยม ติ๊ก ฉีก เพียง ไถ่ อิม เก็ง
แซ ซี่ ปุก ตะ ตี่ เง็ก มึ้ง
ขนมไหว้พระจันทร์ สำคัญอย่างไร ?
ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake) เป็นของไหว้ที่ขาดไม่ได้ในการเซ่นไหว้เทพเจ้าดวงจันทร์ คนจีนเรียกว่า "เยี่ยปิ้ง" มีความหมาย คือ ความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ และความสมหวัง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี สมัครสมาน กลมเกลียวของครอบครัวดังลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ที่เป็นทรงกลม ซึ่งสมัยก่อนจะมีไส้หวาน หรือสอดไส้ด้วยธัญพืชที่มีรสหวานเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการสอดไส้อื่น ๆ ให้น่าทานขึ้น เช่น ไส้หมูแฮม หมูหยอง ไข่เค็ม ฯลฯ มักจำหน่ายล่วงหน้าก่อนวันไหว้พระจันทร์
การที่เรารู้เบื้องลึกเบื้องหลังและประวัติของแต่ละเทศกาล ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจในแก่นแท้ของประเพณีนั้นมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เป็นเพียงการบูชาพระจันทร์เพียงเท่านั้น แต่ยังสื่อความหมายดี ๆ ที่สนับสนุนให้ครอบครัวเกิดความรักความกลมเกลียวแฝงอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
sinsae.com, baanmaha.com