พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ 10 รัชสมัยแห่งความร่มเย็นใต้พระบรมโพธิสมภาร



         ร่วมเรียนรู้พระราชประวัติพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี


  
          กรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่เราเรียกกันว่ากรุงเทพมหานคร เป็นราชธานีของไทยที่อุดมด้วยความรุ่งเรืองมาตลอดเวลากว่า 240 ปี ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ วันนี้กระปุกดอทคอมขอพาทุกท่านไปเรียนรู้พระราชประวัติพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของทั้ง 10 รัชกาล ที่ได้ทรงนำพาประเทศชาติพ้นอุปสรรคและวิกฤตต่าง ๆ มาได้ จนทำให้ประเทศชาติเป็นปึกแผ่นอย่างในทุกวันนี้กันค่ะ

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ภาพจาก dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นพระโอรสของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับราชการในตำแหน่งพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และได้รับการปูนบำเหน็จเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในปี พ.ศ. 2310 พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายหลังเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจากทรงปราบจลาจลในกรุงธนบุรีได้สำเร็จ

          ตลอดช่วงรัชสมัยนอกจากจะทรงเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระราชกรณียกิจของพระองค์ยังถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325 และทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในปีเดียวกัน ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การชำระพระไตรปิฎกและการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ รวมทั้งนำพาชัยชนะแห่งสงครามเก้าทัพมาสู่สยามอีกด้วย

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประชวรด้วยโรคชรา กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ขณะพระชนมพรรษา 73 พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติ 28 ปี

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (ฉิม) พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ณ นิวาสสถานตำบลอัมพวา สมุทรสงคราม หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352

          ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้ในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้นถือเป็นยุคทองของวรรณคดีเลยก็ว่าได้ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครทรงคุณค่าไว้มากมาย นอกจากนี้ยังทรงฟื้นฟูประเพณีวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2360 จนกลายเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ด้วยโรคพิษไข้ ขณะพระชนมพรรษา 57 พรรษา รวมระยะเวลาครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ยกย่องพระเกียรติคุณพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของในอภิลักขิตสมัยครบรอบ 200 ปี

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (หม่อมเจ้าทับ) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทับ และได้รับพระราชทานพิธีโสกันต์เป็นการพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี พ.ศ. 2349 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

          พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ในช่วงตลอดรัชสมัยคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร พระองค์ได้ทรงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากรแบบเดิม และทรงทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2369 ทำให้การค้าขายของประเทศรุดหน้าไปอย่างมาก ทางด้านศาสนาทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดและพระพุทธรูปจำนวนมาก ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนาและศิลปกรรมต่าง ๆ มากมาย

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมพรรษา 64 พรรษา ครองสิริราชสมบัติ 27 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า ซึ่งแปลว่า พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้นพระชนมพรรษาได้ 21 พรรษา ได้ออกผนวชตามพระราชประเพณี แต่ผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงออกผนวชต่อจนกระทั่งรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต จึงทรงลาสิกขาและเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394

          พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การรักษาเอกราชของชาติ เนื่องจากในช่วงรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส เข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนแถบนี้ จึงทำให้พระองค์มีพระราชดำริในการเปิดสัมพันธภาพกับประเทศตะวันตก นำมาสู่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398

          ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังได้ทรงวางรากฐานความเจริญก้าวหน้าแบบอารยประเทศมากมาย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องวิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้น และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านดาราศาสตร์ก็คือการพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระองค์ทรงพยากรณ์ไว้ได้อย่างแม่นยำ

          หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประชวรด้วยพระโรคไข้มาลาเรีย และเสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ขณะพระชนมพรรษาได้ 64 พรรษา รวมระยะเวลาครองราชย์ทั้งหมด 17 ปี และด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลไทยจึงได้มีมติให้กำหนดวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเทิดพระเกียรติให้พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์

          ต่อมาในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคม และการสื่อสาร ประจำปี พ.ศ. 2546-2547


รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยในช่วง 5 ปีแรกในรัชกาล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน

          ตลอดรัชกาลของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ภัยจากการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น จึงทำให้พระองค์มีพระราชดำริในการปฏิรูปบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จประพาสยังต่างประเทศอย่างเป็นทางการ

          ทั้งนี้ พระองค์ได้ทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาทุกข์สุขของราษฎร และพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ก็คือ การเลิกทาสและระบบไพร่ อันเป็นประเพณีที่มีมาอย่างช้านาน และมีพระราชดำริให้ริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับชั้นเพื่อพัฒนาคนทุกหมู่เหล่าให้กลายเป็นกำลังของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยพระโรคพระวักกะ (ไต) พิการ เมื่อทรงพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา รวมระยะเวลาครองสิริราชสมบัติ 42 ปี

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกประชาราษฎร์ นอกจากนี้รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์

          หลังจากพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์มีพระราชดำริที่จะพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์จึงได้ทรงวางแผนในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการศึกษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา และประกาศให้การศึกษาในระดับชั้นประถมเป็นการศึกษาภาคบังคับ อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ พระองค์มีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติจากเดิมที่มีรูปช้าง เป็นธงไตรรงค์แบบในปัจจุบัน ทรงส่งทหารไปฝึกยังต่างประเทศ และไปร่วมรบในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นที่มาของการแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงในเวลาต่อมา

          นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่าประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ จึงทรงให้จัดตั้งองค์การลูกเสือและเสือป่าขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดตั้งดุสิตธานีขึ้นเพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย และนำผลที่ได้มาปรับใช้ในการบริหารประเทศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ทรงจัดตั้งคลังออมสินขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ฝึกการเก็บสะสมทรัพย์ ยกเลิกการพนันบ่อนเบี้ยทุกชนิด และทรงจัดตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทยขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านเมือง ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังทรงพัฒนาด้านการคมนาคม โดยการปรับปรุงและขยายกิจการรถไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งพระราชทานนามสกุลเพื่อให้คนไทยมีนามสกุลใช้

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา รวมระยะเวลาครองสิริราชสมบัติ 15 ปี

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 และเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษาได้ 32 พรรษา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468

          ในช่วงตลอดรัชสมัย พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายทั้งในด้านการศึกษาและศาสนา ซึ่งในด้านการศึกษา พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ส่วนในด้านศาสนา พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยสมบูรณ์ ที่มีชื่อเรียกว่า "พระไตรปิฎกสยามรัฐ"

          พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน แต่ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญกลับทรงถูกคัดค้านจากขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ในวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

          หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศในแถบยุโรป และประทับที่ประเทศอังกฤษเพื่อทรงเข้ารับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 รวมเวลาครองราชสมบัติ 9 ปี 3 เดือน 4 วัน และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะพระชนมพรรษา 48 พรรษา

รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ภาพจาก : dreamloveyou / Shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร) ทรงเป็นพระโอรสองค์แรกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) กับหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ โรงพยาบาลเมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี และเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะพระชนมพรรษาได้ 8 ปี 5 เดือน 11 วัน

          ในช่วงรัชสมัยของพระองค์อยู่ในช่วงภาวะสงคราม ทั้งสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงทำให้โดยส่วนใหญ่แล้วพระองค์จะประทับอยู่ในต่างประเทศเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียน โดยเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 13 พรรษา และครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 โดยในการเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งที่ 2 พระองค์ได้เสด็จฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาล

          ในช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ในประเทศไทย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในหลายจังหวัด และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เสด็จประพาสสำเพ็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างคนไทยและคนจีนหลังจากเกิดความร้าวฉาน

          จนกระทั่งในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาเอก พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในที่บรรทม ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 20 พรรษา 9 เดือน รวมระยะเวลาครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย ซึ่งล้วนแต่สร้างคุณอนันต์ให้แก่ราษฎรชาวไทย พระราชทานโครงการในพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ทรงตรากตรำพระวรกายทรงงานอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย แม้ในยามที่ประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างหนักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "เกษตรทฤษฎีใหม่" เพื่อให้พสกนิกรได้พึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง จนได้รับการยกย่องจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
 
          ในด้านพระปรีชาสามารถ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทั้งในด้านดนตรี กีฬา และด้านภาษา พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไว้มากกว่า 40 เพลง และทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนถึง 18 ชิ้น ในด้านกีฬา พระองค์โปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ โดยทรงเป็นตัวแทนของประเทศไทยแข่งเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งในครั้งนี้พระองค์ทรงชนะเลิศเหรียญทอง โดยทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
 
          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระอาการประชวร ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 และเสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาที ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองพระราชสมบัติได้ 70 ปี

 

รัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพจาก : SPhotograph / shutterstock.com

          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

          พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หลังจากสิ้นสุดการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมด้วยพระราชวิริยอุตสาหะ เพิ่มพูนความรู้ และพระประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัท การบินไทย และทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 พระองค์ทรงมีพระปรีชาชาญด้านการบิน รอบรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จนได้รับพระนามให้เป็น "เจ้าฟ้านักบิน" นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ด้านสังคม การศึกษา การเกษตรกรรม ศาสนา การแพทย์และสาธารณสุข กีฬา เป็นต้น และยังมีโครงการในพระราชดำริมากมาย 

          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และได้ทรงแต่งตั้งเป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ 10 รัชสมัยแห่งความร่มเย็นใต้พระบรมโพธิสมภาร อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2567 เวลา 16:25:25 495,380 อ่าน
TOP
x close