
จากกรณีที่ในโลกโซเชียลมีเดียกำลังมีกระแสความห่วงใยเรื่องพื้นที่ผืนป่าในประเทศไทย ประกอบกับมีเพจดังในเฟซบุ๊กบางเพจนำภาพและข้อมูลต่าง ๆ มาตีแผ่ข้อมูลให้สังคมรับทราบ
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ผู้สื่อข่าวกระปุกดอทคอม รายงานว่า น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เปิดเผยว่า จากข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของไทยล่าสุดปี 2557-2558 พบว่า พื้นที่ป่าไม้จะมีอยู่ 31.62 ของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 2556 ร้อยละ 0.05 อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ตัวเลขสถิติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.05 เป็นเพราะว่าป่าไม้ในส่วนของพื้นที่ "ป่าชายเลน" นั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ใน "ป่าที่เป็นเขา" ในตอนบนของประเทศนั้นมีอัตตราลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากพื้นที่ป่ายังอยู่ในระดับนี้ เท่ากับว่าในทุก ๆ 1 ชั่วโมง ป่าก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่องประมาณ 26 สนามฟุตบอล และหากอัตราการทำลายป่ายังคงที่อยู่ในระดับนี้อีก 100 ปีข้างหน้า ป่าของไทยก็จะหมดไป


หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบฯ ระบุว่า จากการจัดอันดับ 5 จังหวัดที่มีป่าไม้ลดลง ในปี 2557-2558 มีดังนี้
1. ระยอง ลดลงร้อยละ 10.23
2. สงขลา ลดลงร้อยละ 7.52
3. ศรีสะเกษ ลดลงร้อยละ 5.84
4. สุรินทร์ ลดลงร้อยละ 4.61
5. บึงกาฬ ลดลงร้อยละ 4.01
ส่วน 5 อันดับที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอันดับ 1 ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร เพิ่มร้อยละ 298.48
2. สมุทรปราการ เพิ่มร้อยละ 72.02
3. สมุทรสาคร เพิ่มร้อยละ 70.21
4. สมุทรสงคราม เพิ่มร้อยละ 33.49
5. พิจิตร ร้อยละ เพิ่มร้อยละ 12.43

โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่วิเคราะห์มาจากกรมป่าไม้ ซึ่งจะมีการอับเดทในทุก ๆ ปี ซึ่งสาเหตุที่ตัวเลขป่าไม้ในกรุงเทพฯ สูงขึ้นเป็นผลมาจากการรณรงค์ปลูกป่าชายเลนที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี
น.ส.อรยุพา ระบุเพิ่มเติมถึงสถิติป่าไม้ของปี 2557-2558 ในระดับภาค เทียบกับปี 2551 ว่า ภาคตะวันออกป่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.17 ภาคกลางและภาคตะวันตก ป่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.65 ในขณะเดียวกันพื้นที่ป่าในภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลดลงร้อยละ 3.88 ภาคใต้ ลดลงร้อยละ 3.06 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงร้อยละ 1.87 ส่วนกรณีที่ปี 2543 ตัวเลขพื้นที่ป่าโดดสูงขึ้น เพราะในปีดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนวิธีการแปรภาพถ่ายดาวเทียมใหม่ ที่สามารถตรวจสอบพื้นที่ป่าในพื้นที่เล็ก ๆ ได้มากขึ้น ทำให้ตัวเลขสูงขึ้น โดยจะเป็นการตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ที่มีพืชและไม่ยืนต้ปกคลุมต่อเนื่องขนาด ไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ หากน้อยกว่านั้นก็จะถูกนำมาคิด
นอกจากนั้น น.ส.อรยุพายังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข้อถกเถียงกับในโลกออนไลน์เรื่องภาพ ถ่ายดาวเทียมที่มีการนำเสนอเป็นช่วงเวลาที่ป่าปลัดใบทำให้ไม่เห็นพื้นที่ป่าสีเขียวในภาพ ว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงป่าผลัดใบหรือไม่ภาพถ่ายจากดาวเทียมก็สามารถดูได้ เพราะภาพถ่ายดาวเทียมนั้นจะสะท้องแสงคลื่นจากคลอโรฟิลล์ในใบไม้แม้ว่าใบไม้ จะผลัดใบหรือมีสีน้ำตาลก็ตาม สรุปง่าย ๆ คือจะไม่เห็นต้นไม้เป็นสีเขียวก็ต่อเมื่อตายแล้วเท่านั้น