ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศิลปะที่สวยงาม เหนือสิ่งอื่นใดก็คือผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่า และเป็นที่ทรงคุณค่าต่อแผ่นดิน ต่อชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และรู้คุณค่าของศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีศิลปินสาขาต่าง ๆ ที่สร้างผลงานอันน่าประทับใจเอาไว้อย่างมากมาย ศิลปะนอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงได้กำหนดให้มี "วันศิลปินแห่งชาติ" เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติแก่เหล่าศิลปินเป็นประจำทุกปี แต่เอ๊ะ...แล้ววันศิลปินแห่งชาติ มีประวัติความเป็นมายังไง แล้วมีเกณฑ์การคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ" ยังไงกันบ้าง มีกี่สาขา ... แล้วใครได้เป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๙ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากค่ะ
วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากในวันนี้เป็นวันที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ด้วยเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถล้ำเลิศในด้านศิลปกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านดนตรี และด้านประติมากรรม
ด้วยพระปรีชาสามารถดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมของประเทศ จึงเกิด "โครงการศิลปินแห่งชาติ" ขึ้น โดยมีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น มีผลงานเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ในศิลปะ ๓ สาขา คือ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง
มาถึงเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติกันบ้าง การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ นะ ต้องผ่านหลักเกณฑ์ ๓ ข้อใหญ่ ดังนี้ ...
๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ มี ๖ ประการ ได้แก่
- เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง
- เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง
- เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง
- เป็นผู้มีคุณธรรม ทุ่มเท และเสียสละเพื่องานศิลปะ
- เป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ
ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง
๓. การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ
ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับคุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ โดยจะทำการคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่
๑. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์
- วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย
- ประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย, มัณฑศิลป์, การออกแบบผังเมือง, การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น
๒. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ
๓. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
๓.๑ ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย
๓.๒ ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล
๓.๓ ภาพยนตร์และละคร
เอาล่ะค่ะเมื่อเราได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และเกณฑ์การคัดเลือกกันไปแล้ว ตอนนี้มาถึงผลการคัดเลือกกันบ้างว่า จะมีใครบ้างที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙"
เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๙ ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ได้รับการยกย่อง จำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย
๑. สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๔ คน ได้แก่
๑.๑ นางคำสอน สระทอง (ประณีตศิลป์-ทอผ้า)
๑.๒ นายเดโช บูรณบรรพต (ภาพถ่าย)
๑.๔ รองศาสตราจารย์เสนอ นิลเดช (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี)
๒. สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๔ คน ได้แก่
๒.๑ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ
๒.๒ นางชูวงศ์ ฉายะจินดา
๒.๔ ศาสตราจารย์พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย
๓. สาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๔ คน ได้แก่
๓.๑ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ดนตรีไทยสากล)
๓.๔ นายหะมะ แบลือแบ (มะยะหา) (การแสดงพื้นบ้าน ดีเกร์ฮูลู)
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ ๒๐,๐๐๐ บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๕๙ มีจำนวน ๒๗๘ คน เสียชีวิตไปแล้ว ๑๒๑ คน ยังมีชีวิตอยู่ ๑๕๗ คน
ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์พระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๙ และในวันดังกล่าวจะมีพิธีเปิดนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พร้อมงานเลี้ยงแสดงความยินดี ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย
จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทั่วไปเข้าชมนิทรรศการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ ๑ - ๑๐ มีนาคม ศกนี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือทาง เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม