ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากบนสื่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและส่งต่อข่าวสารนั้นให้กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดายเพียงปลายนิ้วคลิก อย่างไรก็ตาม ปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่หากข่าวสารที่เราส่งต่อไปนั้นเป็นเพียงเรื่องลวง ดังจะเห็นว่ามีบ่อยครั้งที่เกิดกระแสการแชร์ต่อข่าวเท็จที่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือมุ่งทำลายชื่อเสียงแก่ใครหลายคน ขณะที่ข่าวปลอมบางอย่างยังอาจสร้างความแตกตื่นแก่คนในสังคมอีกด้วย
ปัญหาข่าวปลอม (Hoax) หรือการสร้างข่าวหลอก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วโลก อาทิ ข่าวด้านการเมืองที่มุ่งสร้างความแตกแยก ข่าวหลอกลวงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนดัง หรือแม้แต่ข่าวแปลก ๆ ที่ล้อประเด็นความเชื่อต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักว่าควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใด ๆ ที่ได้รู้ วันแห่งการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ "วันชัวร์ก่อนแชร์" (International Fact-Checking Day : IFCN) จึงได้เกิดขึ้น โดยยึดเอาวันที่ 2 เมษายน หรือวัดถัดจาก วันโกหก (April Fools' Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันสำคัญดังกล่าว
สำหรับ "วันชัวร์ก่อนแชร์" ถือกำเนิดขึ้นจากการรณรงค์ของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างประเทศแห่งสถาบันพอยน์เตอร์ (International Fact-Checking Network at Poynter) ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งได้ร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนในหลายประเทศทั่วโลก ทำภารกิจรับมือและต่อต้านกระแสการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเช็กข้อมูลต่าง ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงไร และยังได้แนะวิธีการสังเกตเว็บข่าวปลอมไว้ให้อีกด้วย โดยเข้าไปศึกษาได้ที่ factcheckingday.com
ทั้งนี้ แม้ว่า วันชัวร์ก่อนแชร์ จะตรงกับวันที่ 2 เมษายน แต่ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะมีการไตร่ตรองในข่าวสารต่าง ๆ ที่รับรู้ ว่าควรจะเชื่อหรือส่งต่อไปหรือไม่เพียงไร เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าข่าวหลอกลวงที่เราแชร์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก factcheckingday.com, poynter.org, americanpressinstitute.org, knightcenter.utexas.edu